Wednesday, April 13, 2022

AND LIFE GOES ON (1992, Abbas Kiarostami, Iran)

 

AND LIFE GOES ON (1992, Abbas Kiarostami, Iran)

 

1.ในที่สุดก็ได้ดูครบทั้งไตรภาค เราเคยดูภาคสามที่ Alliance เมื่อราว 20 ปีก่อน จำไม่ได้ว่ามันมาฉายเนื่องในงานอะไร ส่วนภาคหนึ่งกับภาคสองก็เพิ่งได้ดูในปีนี้นี่แหละ

 

อาจจะชอบภาคสองมากที่สุดนะ และชอบภาคสามน้อยสุด

 

2.ชอบตัวสถานการณ์ในภาคสองมาก ๆ ที่เป็นชีวิตผู้คนหลังเผชิญกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ รู้สึกว่ามันเป็นสถานการณ์ที่หนักมาก ๆ ชีวิตผู้คนที่ต้องสูญเสียบ้านและญาติพี่น้องจำนวนมากไป

 

เหมือนเป็นหนังอิหร่านเรื่องเดียวด้วยมั้งที่เราได้ดูที่พูดถึงสถานการณ์แบบนี้ ซึ่งเราคิดว่าความที่มันทำออกมาเป็น fiction มันเลยทำให้หนังสามารถใส่ “ความหวัง” เข้าไปในหนังได้มากพอสมควร เพราะพอเรานึกเทียบกับหนัง “แผ่นดินไหว” ที่เกี่ยวพันกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวจริง ๆ (ไม่ใช่หนัง thriller แผ่นดินไหว) อย่างเช่นในญี่ปุ่น, จีน, อินโดนีเซีย, อิตาลี, ชิลี, ไฮติ, อินเดียแล้ว เราก็พบว่า ถ้าหากมันเป็นหนัง fiction หนังมันจะค่อนข้างมีความหวังสอดแทรกอยู่ในตอนจบของหนังน่ะ แต่ถ้าหากมันเป็นหนัง documentary/essay film หนังมันมักจะสิ้นหวังมาก ๆ

 

หนังแผ่นดินไหวเรื่องอื่น ๆ ที่เรานึกออก

 

2.1 ในกรณีญี่ปุ่นนั้น หนังเกี่ยวกับแผ่นดินไหวปี 2011 มีออกมาเยอะมาก อย่างที่เราลิสท์รายชื่อไปแล้วในนี้

https://www.facebook.com/photo/?fbid=10228471676360301&set=a.10227993335122069

 

2.2 ของจีนก็มี AFTERSHOCK (2010, Feng Xiaogang)

 

2.3 ของอินโดนีเซียมีหนังอย่าง BE QUIET, EXAM IS IN PROGRESS! (2006, Ife Ifansyah), CHILDREN OF MUD (2009, Daniel Rifki, ภูเขาไฟระเบิด)

 

2.4 ของอิตาลีมี GIBELLINA: THE EARTHQUAKE (2007, Joerg Burger, documentary) ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นหนังออสเตรีย แต่พูดถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวในอิตาลีในปี 1968 และพอมันเป็น “หนังสารคดี” มันก็เลยเศร้ามาก ๆ เพราะหนังมันพูดถึงความจริงที่ว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าวที่คร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก รัฐบาลก็เลยพยายามฟื้นฟูจิตใจผู้คนด้วยการนำผลงานศิลปะงดงามจำนวนมากไปติดตั้งไว้ตามจุดต่าง ๆ ในเมือง แต่ปรากฏว่าผลงานศิลปะเหล่านี้ไม่สามารถฟื้นฟูจิตใจผู้คนให้กลับมามีความสุขได้มากเท่าที่ควร หนักที่สุด

 

2.5 ของชิลีมี THREE WEEKS LATER (2010, José Luis Torres Leiva, documentary) ที่เคยมาฉายในกรุงเทพ

 

2.6 ของไฮติมี A STRANGE CATHEDRAL IN THE THICK OF DARKNESS (2011, Charles Najman, documentary) ที่สิ้นหวังที่สุด

 

2.7 ของอินเดียมี AFTERSHOCKS: THE ROUGH GUIDE TO DEMOCRACY (2002, Rakesh Sharma, India, documentary) ที่สิ้นหวังมาก ๆ ดูแล้วร้องห่มร้องไห้อย่างรุนแรง แต่หนังมันเศร้าไม่ใช่เพราะความเลวร้ายของแผ่นดินไหว แต่หนังมันแสดงให้เห็นว่านักการเมืองเข้ามาทำร้ายเอารัดเอาเปรียบประชาชนในอินเดียอย่างไรบ้างหลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหว

 

3.ชอบการ set โลก fiction ของมันที่ทาบทับกับโลกแห่งความเป็นจริงด้วย เพราะโลก fiction ของมันคือโลกที่เนื้อหาของหนังภาคแรกไม่ได้เกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง แต่เป็นโลกที่หนังภาคแรกมีสถานะเป็น “ภาพยนตร์” เพราะฉะนั้นโลก fiction ของมันก็เลยซ้อนเหลื่อมกับโลกแห่งความเป็นจริงอย่างน่าสนใจ

 

ดูแล้วก็เลยนึกถึง NEW NIGHTMARE (1994, Wes Craven) กับ BOOK OF SHADOWS: BLAIR WITCH 2 (2000, Joe Berlinger) ด้วย ที่เป็นหนังภาคต่อที่ set โลก fiction ในหนังของตัวเองด้วยการบอกว่าหนังภาคก่อน ๆ หน้านี้เป็นเพียงแค่ “ภาพยนตร์” เหมือนกัน แอบสงสาร BLAIR WITCH 2 มาก ๆ ที่ประสบความล้มเหลวอย่างรุนแรง

 

กลวิธีการสร้างโลก fiction ที่ซ้อนเหลื่อมกับโลกความเป็นจริงแบบนี้ ทำให้นึกถึง OCEAN’S TWELVE (2004, Steven Soderbergh) ด้วย ที่สร้างโลก fiction ที่ยอมรับว่ามีดาราชื่อ Julia Roberts กับ Bruce Willis อยู่ในโลกนั้น และคิดว่าหนังอย่าง THE UNBEARABLE WEIGHT OF MASSIVE TALENT (2022, Tom Gormican) ที่กำลังจะเข้าฉาย ก็คงสร้างโลก fiction ด้วยกลวิธีที่คล้าย ๆ กัน

 

4.สิ่งหนึ่งที่ชอบมาก ๆ ก็คือว่า มันเหมือนเป็นภาคกลับของ TASTE OF CHERRY (1997, Abbas Kiarostami) เพราะทั้งสองเรื่องเหมือนเป็น road movie ที่ตัวละครมีจุดประสงค์ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง เพราะตัวละครใน AND LIFE GOES ON พยายามแสวงหา “สัญญาณการมีชีวิตอยู่ของบุคคลอื่น” แต่ตัวละครใน TASTE OF CHERRY พยายามแสวงหา “ความตายของตนเอง”

 

5.ดูแล้วแอบนึกถึงฉากนึงใน MEMORIA (2021, Apichatpong Weerasethakul) ด้วย ซึ่งก็คือฉากที่เจสสิกาหาเอร์นันหนุ่มหล่อไม่เจอ แต่การแสวงหาของเธอก็ได้นำพาเธอไปสู่ดนตรีอันไพเราะของวงดนตรีวงนึง

 

ส่วนตัวละครใน AND LIFE GOES ON นั้น ก็ยังไม่เจอบุคคลที่ต้องการเจอในตอนจบของเรื่อง แต่พวกเขาก็เหมือนได้พบความงดงามของชีวิตของบุคคลต่าง ๆ ในระหว่างการเดินทาง

 

คือพอดูอะไรแบบนี้แล้ว เราก็มักจะนึกถึงชื่อหนังของ Jonas Mekas เรื่อง AS I WAS MOVING AHEAD OCCASIONALLY I SAW BRIEF GLIMPSES OF BEAUTY (2000, A+30) เพราะเรารู้สึกว่านี่คือความเป็นจริงของชีวิตเรา เหมือนเราอาจจะตั้งเป้าหมายอะไรบางอย่างในชีวิต แต่ความสุขของเราอาจจะไม่จำเป็นต้องเกิดจากการบรรลุเป้าหมายนั้นเพียงอย่างเดียวก็ได้ เพราะไม่เช่นนั้นชีวิตของเราก็อาจจะยากที่จะพบกับความสุขได้ บางทีความสุขของชีวิตเราก็รวมถึงการเก็บเกี่ยว brief glimpses of beauty ไปเรื่อย ๆ ด้วย อย่างเช่นก้อนเมฆรูปแปลก ๆ หรือแสงของท้องฟ้ายามเย็นในแต่ละวัน คือเอาจริง ๆ แล้วเป้าหมายในชีวิตของเราก็คือการมี “ความมั่นคงทางการเงิน” น่ะค่ะ ซึ่งจนป่านนี้กูมีอายุ 49 ปีแล้ว กูก็ยังไม่บรรลุเป้าหมายของชีวิต เพราะฉะนั้นความสุขที่กูพอจะหาได้จากชีวิตนี้ก็คือการเล่นกับตุ๊กตาหมี และมองก้อนเมฆ มองท้องฟ้า ดูภาพในกรุ๊ป  “คนเล่นกล้าม” กับ “บอดี้เวท มือเปล่า” อะไรไปเรื่อยๆ แบบนี้แหละค่ะ 55555

 

6.อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้คิดถึงตัวเองมาก ๆ ก็คือฉากที่ตัวละครยังคงตั้งใจจะดูการแข่งขันฟุตบอลต่อไป ถึงแม้เขาเพิ่งสูญเสียสมาชิกครอบครัวไปเป็นจำนวนมาก หรืออะไรทำนองนี้

 

เราว่าตรงนี้มันจริงมาก ๆ เพราะเราก็นึกถึงตัวเองเหมือนกัน อย่างบางทีเราได้รับข่าวร้ายอะไรมา เราก็จะช็อคในช่วงแรก และขั้นตอนต่อมาก็คือการวางแผน แก้ปัญหา เตรียม steps ต่าง ๆ ว่าจะรับมือกับปัญหานั้นยังไง และหลังจากนั้นพอเรามีเวลาว่าง เราก็จะชั่งใจว่า เราควรจะนั่งเศร้า นอนเศร้า ร้องไห้ไปเรื่อย ๆ หรือว่าจะกลับมาดูหนังเหมือนเดิมดี เพราะเรารู้ว่าเราคงไม่มีสมาธิดูหนังมากเท่าที่ควร

 

แต่เราก็ตัดสินใจกลับมาดูหนังเหมือนเดิมนะ ถ้าหากเรื่องเลวร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิตเรามันเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ด้วยการนั่งเศร้า นอนเศร้าต่อไปน่ะ คือเราก็ย้อนเวลากลับไปแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตไม่ได้ และเราก็ไม่มีอำนาจวิเศษที่จะไปแก้ไขชะตากรรมของบุคคลอื่น หรือแม้แต่ชะตากรรมของสมาชิกครอบครัวของตัวเองได้ คือเหมือนเรื่องบางเรื่องเราก็ต้องวางอุเบกขามั้ง (ไม่รู้ใช้คำถูกหรือเปล่า) คือพอเราวางแผนเสร็จเรียบร้อยแล้วว่า “สิ่งที่ดีที่สุดที่เราสามารถทำได้เพื่อทำให้สถานการณ์มันดีขึ้น” มีอะไรบ้าง และเตรียมพร้อมสำหรับการทำตามแผนการนั้นแล้ว เราก็พยายามจะไม่นั่งเศร้า นอนเศร้าเป็นชั่วโมง ๆ ต่อไปน่ะ เพราะชีวิตมนุษย์มันก็เป็นแบบนี้แหละมั้ง มีเจ็บ มีตาย เป็นเรื่องธรรมดา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรารู้ว่าเราทำดีที่สุดเท่าที่เราทำได้แล้ว ก็แล้วกัน หลังจากนั้นเราก็ต้องปล่อยวาง และพยายามจะดำเนินชีวิตต่อไป

 

ในส่วนประสบการณ์ของเราเองนั้น จำได้ว่ามีบางครั้งที่เคยคิดฆ่าตัวตาย แต่พอได้ดูหนังอย่าง DIARY OF A COUNTRY PRIEST (1951, Robert Bresson), EIKA KATAPPA (1969, Werner Schroeter) และ BLEED FOR THIS (2016, Ben Younger) มันก็เหมือนช่วยเยียวยาจิตใจเราให้ดีขึ้นมาได้

 

เพราะฉะนั้นพอเห็นฉากที่ตัวละครมุ่งมั่นจะดูฟุตบอลต่อไป เราก็เลยนึกถึงตัวเองมาก ๆ และทำให้นึกถึงหนังอย่าง MOTORCYCLE (2000, Aditya Assarat) ด้วย

 

TO PICK A FLOWER (2021, Shireen Seno, Philippines, documentary, A+30)

 

งดงามสุด ๆ ชอบที่หนังเหมือนตั้งต้นจากภาพถ่ายภาพนึง วิเคราะห์ผู้หญิงกับพืชในภาพถ่ายนั้น แล้วค่อย ๆ โยงไปพูดถึงเรื่องต่าง ๆ ที่น่าสนใจมากมายในประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิในการใช้ประโยชน์จากไม้ในป่า, เรื่องอาณานิคม, เรื่องของแม่ชี และเรื่องของชาวมุสลิม

 

ดูแล้วนึกถึง SCREEN GREEN (2015, Ho Rui An, Singapore) ในแง่ที่ว่า หนังทั้งสองเรื่องเหมือนเริ่มต้นด้วยการ focus ไปยังสิ่งที่ดูเป็นเพียงแค่ของประกอบฉากใน image เหมือน ๆ กัน ซึ่งในกรณีของ SCREEN GREEN นั้น หนังเน้นวิเคราะห์  ไม้ประดับที่ถูกนำมาใช้เป็นฉากหลังของ ลีเซียนหลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ในงานแถลงข่าวต่างๆ และหลังจากนั้นหนังก็สามารถนำพาเราไปยังประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจมากมาย

https://www.facebook.com/photo/?fbid=10213817152766370&set=a.10212224482110599

 

เหมือนในการทำหนังแบบนี้ ผู้กำกับต้องมีทั้งสายตาที่แหลมคมมาก ๆ สามารถสังเกตเห็นความน่าสนใจของ “สิ่งที่ดูเหมือนไม่สลักสำคัญอะไร” , สามารถบอกได้ว่า “สิ่งที่ดูเหมือนไม่สลักสำคัญ” นั้น สะท้อนอะไรออกมาได้บ้าง และพาคนดูไปรับรู้ชุดข้อมูลความรู้ที่ดีมาก ๆ คือนอกจากมีสายตาที่แหลมคมแล้ว ผู้กำกับต้องมีความรู้สูงมาก research ข้อมูลมาอย่างแน่นปึ้กสุดๆ ด้วย และที่สำคัญมาก ๆ ก็คือ ทั้ง Shireen Seno, Ho Rui An และผู้กำกับอย่าง Harun Farocki, Alexander Kluge ก็มีความสามารถเชิงกวีอย่างสุด ๆ ด้วย เพราะพวกเขาสามารถเรียงร้อยข้อมูลเหล่านี้ได้ออกมาอย่างงดงามราวกับบทกวีในหนังของพวกเขา

 

A FORECAST, A HAUNTING, A CROSSING, A VISITATION (2019, Emilia Beatriz, Kiera Coward-Deyell, 55min, A+30)

 

ยกให้เป็นหนึ่งในหนังที่ดูยากที่สุดเรื่องนึงในชีวิต เหมือนยากกว่าหนังเจ้ยประมาณ 10 เท่า 55555 ความยากในที่นี้ไม่ได้หมายถึงดูแล้วไม่มีความสุขหรือไม่บันเทิงนะ เพราะหนังยากสำหรับเราคือหนังที่เราดูแล้วมีความสุขสุด ๆ เพียงแต่ว่าเราเหมือนยังไม่เข้าใจมัน ซึ่งสำหรับเราแล้ว “ความไม่เข้าใจ=ความยาก=ความสนุกในอีกรูปแบบนึง” แต่เนื่องจากความสุขของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราก็เลยเข้าใจดีว่า ความยากอาจจะไม่เท่ากับความสนุกสำหรับคนอื่น ๆ แต่สำหรับเราแล้ว “ความยากมักจะเท่ากับความสนุก”

 

ถ้าเข้าใจไม่ผิด หนังเรื่องนี้พูดถึงการส่งจดหมายคุยกันระหว่างยูเรเนียม, สายน้ำ กับสายลมมั้ง  ซึ่งประเด็นที่คุยกันก็งงมาก เพราะนอกจากพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว มันยังพูดถึงอะไรอื่น ๆ ที่เราตามไม่ทันด้วย ทั้งเรื่องการทหาร, การแพทย์แบบสมุนไพร และเรื่องประวัติศาสตร์สก็อตแลนด์อะไรด้วยหรือเปล่า เราก็ไม่แน่ใจ

 

เราก็เลยเสียดายมากที่เราได้ดูหนังเรื่องนี้แค่รอบเดียว เลยเหมือนตามทันแค่ 5% ของข้อมูลในหนังเรื่องนี้ ส่วนข้อมูลอีก 95% นั้นเรายังตามไม่ทัน เพราะฉะนั้นหนังเรื่องนี้ก็เลยส่งผลกระทบต่อเราในแบบที่คล้าย ๆ กับหนังของ Jean-Luc Godard ในแง่นึงน่ะ คือหัวสมองของเราจะประมวลผลข้อมูลที่ได้รับจากหนังเพียงแค่ราว 5% ในการดูรอบแรก แต่พอเราได้ดูรอบสอง, รอบสามต่อไปเรื่อย ๆ หัวสมองของเราก็จะประมวลผลข้อมูลในหนังได้มากขึ้นเรื่อย ๆ

 

แต่หนังเรื่องนี้มีความเป็นกวีมากกว่าหนังของ Godard เยอะนะ

 

ส่วนหนังที่ยากที่สุดที่เราเคยดูมาในชีวิตก็ยังคงเป็นหนังเรื่อง THE SOCIETY OF THE SPECTACLE (1974, Guy Debord), A CRIME AGAINST ART (2007, Hila Peleg) และหนังอีกหลายเรื่องของ Jean-Luc Godard 55555

 

ส่วนหนังเจ้ยและหนังทดลองอีกหลาย ๆ เรื่องนั้น เรารู้สึกว่ามัน “ไม่ยาก” เท่ากับหนังกลุ่มข้างต้น เพราะถึงแม้เราดูแล้วไม่เข้าใจหนัง หนังมันก็มีอะไรอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกของเราได้อย่างรุนแรงน่ะ และเราเน้นดูหนังโดยมุ่งไปที่ “อารมณ์ความรู้สึก” มากกว่า “ความเข้าใจ” อยู่แล้ว หนังทดลองหลาย ๆ เรื่องก็เลยไม่ใช่สิ่งที่ดูยากสำหรับเรา

 

นาน ๆ ทีถึงจะได้ดูหนังที่ “ยากจริง” แบบ A FORECAST, A HAUNTING, A CROSSING, A VISITATION แบบนี้ ประทับใจมาก ๆ ค่ะ 55555

No comments: