Thursday, November 17, 2022

MOTHER'S FEET

 

MOTHER’S FEET (รัมดร สอและ, 18min, A+25)

 

1.เป็นหนังที่ชอบมากพอสมควร จุดแรกที่ชอบเลยคือประเด็นของหนัง ที่พูดถึงเรื่องที่พูดได้ยากในพื้นที่ที่เราไม่คาดคิดมาก่อน ซึ่งก็คือเรื่องผู้หญิงที่ถูกข่มขืน โดยหนังเหมือนโฟกัสไปที่ผู้หญิงที่ถูกคนในครอบครัวตัวเองข่มขืนจนตั้งครรภ์ และมีการพูดถึงประเด็นเรื่องการทำแท้งด้วย

 

ซึ่งเราว่าประเด็นนี้มันเป็นประเด็นที่ยากโดยตัวมันเองอยู่แล้ว (หมายถึงยากในการที่จะถ่ายทอดประเด็นนี้ออกมาเป็นภาพยนตร์) แต่สิ่งที่หนังเรื่องนี้ดึงความสนใจผู้ชมอย่างเราได้ตั้งแต่ต้นเรื่อง ก็คือการที่หนังเหมือนจะนำเสนอสถิติการล่วงละเมิดทางเพศหรืออะไรทำนองนี้ในจังหวัดยะลาตั้งแต่ต้นเรื่อง ซึ่งมันเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก ๆ เพราะเราไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมีการพูดถึงประเด็นนี้ในพื้นที่ส่วนใต้สุดของไทย เราก็เลยรู้สึกว่าหนังดึงความสนใจเราได้ตั้งแต่ต้นเรื่อง เพราะหนังพูดถึงประเด็นที่ยาก ในพื้นที่ที่เราไม่คาดคิด (ซึ่งก็คือส่วนใต้สุดของไทย)

 

2.โครงสร้างของหนังก็น่าสนใจมาก ๆ เพราะมันเหมือนเป็นหนังกึ่งสารคดี มีการสัมภาษณ์ความเห็นของนักวิชาการต่าง ๆ ตัดสลับกับส่วนที่เป็น fiction

 

เราชอบส่วนที่เป็นสารคดีมากพอสมควรนะ หลาย ๆ คนก็แสดงความเห็นที่สอดคล้องกับความเห็นของเรา อย่างเช่น การตั้งคำถามต่อความเชื่อที่ว่า การแต่งตัวล่อแหลมคือปัญหา เพราะสถิติบอกอยู่แล้วว่า ผู้กระทำส่วนใหญ่คือสมาชิกในครอบครัว หรือคนรู้จัก เพราะฉะนั้นสาเหตุมันจึงไม่ได้เกิดจากการแต่งตัวของผู้หญิง และการตั้งคำถามที่ว่า การแก้ปัญหาแบบสมัยก่อนด้วยการให้ผู้หญิงที่ถูกข่มขืนจนตั้งครรภ์แต่งงานออกจากบ้านไปนั้น เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องหรือไม่ หรือว่าเป็นการเพิ่มปัญหามากยิ่งขึ้นไปอีก

 

3.เราเดาว่าแกนหลักของหนังคือส่วนที่เป็นสารคดีนั่นแหละ แต่หนังเรื่องนี้ใส่ส่วนที่เป็น fiction เข้ามา เพื่อให้หนังมันไม่น่าเบื่อจนเกินไป เพราะถ้าหากหนังทั้งเรื่องมันมีแต่นักวิชาการผู้ชาย เป็น talking heads มาพูดต่อหน้ากล้องไปเรื่อย ๆ หนังมันอาจจะดูน่าเบื่อ

 

ซึ่งประเด็นนี้มันก็ยากจริง ๆ น่ะแหละถ้าหากจะทำออกมาเป็นสารคดีแบบเพียว ๆ ไม่มี fiction เจือปน เพราะในการจะพูดถึงประเด็นนี้นั้น ผู้สร้างหนังคงไม่สามารถไปสัมภาษณ์เหยื่อตัวจริงหรือครอบครัวของเหยื่อตัวจริงได้ หนังมันก็เลยไม่สามารถให้เหยื่อของกรณีแบบนี้มาถ่ายทอดเรื่องราวโดยตรงให้ผู้ชมฟังได้ (ซี่งถ้าหากทำได้มันก็จะทรงพลังสุด ๆ แต่เราก็เข้าใจดีว่ามันทำไม่ได้ในกรณีแบบนี้) และหนังก็เลยทำได้แค่ให้นักวิชาการมาพูด แต่พอมีนักวิชาการมาพูดเพียงอย่างเดียว หนังก็จะน่าเบื่อ หนังก็เลยต้องใส่ส่วนที่เป็น fiction เข้ามา

 

4.ซึ่งส่วนที่เป็น fiction ก็ทำออกมาได้ดีพอสมควรนะ แต่มันยัง “น้อย” ไปหน่อยสำหรับเรา เราก็เลยอาจจะยังไม่ได้ชอบหนังถึงขั้นสุด ๆ คือส่วนที่เป็น fiction มันทำให้เราเห็นภาพของสิ่งที่เกิดขึ้น ภาพของครอบครัวที่ประสบปัญหาแบบนี้ แต่มันยังไม่นานพอจนถึงขั้นที่จะทำให้เรามีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครน่ะ หรือยังไม่นานพอที่จะส่งผลกระทบทางอารมณ์อย่างรุนแรงกับเราน่ะ เหมือนส่วนที่เป็น fiction ยังเป็นเพียงแค่ “ภาพประกอบ” เวลาที่เราอ่านนิยายในนิตยสารหรืออะไรทำนองนี้ มันเหมือนช่วยให้เรารับสารจากผู้ให้สัมภาษณ์ได้ง่ายขึ้น แต่ตัวมันเองยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกของเรามากเท่าที่เราอยากให้เป็น คือถ้าหากหนังให้เวลากับส่วนที่เป็น fiction นานกว่านี้หน่อย เราอาจจะ “อิน” กับตัวละครได้มากขึ้น

 

5.แต่ถ้าหากหนังเรื่องนี้เป็น fiction แบบเพียว ๆ ไปเลย มันก็จะได้อย่างเสียอย่างเหมือนกันนะ คือเราก็อาจจะมีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครอย่างรุนแรง แต่เราก็อาจจะมองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์พิเศษ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน้อยมาก แบบ “หนี่งในล้าน” อะไรทำนองนี้

 

เพราะฉะนั้นเราก็เลยมองว่า ส่วนที่เป็นสารคดีมันก็มีข้อดีของมันแหละ เพราะส่วนที่เป็นสารคดีมันทำให้เราตระหนักว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นบ่อยกว่าที่เราคาดไว้ และมีประเด็นอะไรที่น่าสนใจบ้างสำหรับปัญหานี้

 

6.สรุปว่าก็ชอบหนังเรื่องนี้มากพอสมควรแหละ เราว่าทั้งส่วนที่เป็นสารคดีกับส่วนที่เป็น fiction ในหนังเรื่องนี้ต่างก็มีข้อดีของมัน แต่เราอยากให้ส่วนที่เป็น fiction ยาวกว่านี้อีกหน่อย เผื่อมันจะสะเทือนใจผู้ชมได้มากยิ่งขึ้นจ้ะ

 

 

THE NEGATIVE HANDS (1979, Marguerite Duras, France, 13min, A+30)

 

ชอบมาก ๆ ที่ Duras เคยพูดในทำนองที่ว่า เธอต้องการจะฆาตกรรมภาพยนตร์ 55555 แต่การดูหนังของเธอนี่แหละที่ช่วย restore my faith in cinema

No comments: