ภาพยนตร์ที่ได้ดูในวันศุกร์ที่ 24 – เสาร์ 25 พ.ย. 2006
1.ANAT(T)A (2006, AKRITCHALERM KALAYANAMITR อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร + KOICHI SHIMIZU, A++++++++++++++++++++)
*****เวลาที่ควรใช้ในการชมภาพยนตร์เรื่องนี้ – ประมาณ 1 ชั่วโมง*****
นี่คือภาพยนตร์ที่เตรียมชิงตำแหน่งอันดับหนึ่งในใจดิฉันประจำปี 2006 ภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายที่ชั้น 7 หอกลาง จุฬา
ชื่อของภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการเล่นกับคำว่า “อนัตตา” ในภาษาไทย และ “ANATA” ในภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่า YOU ดิฉันไม่แน่ใจในความหมายของภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่เดาว่าคำว่า you ในที่นี้ อาจจะหมายถึงการที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ปล่อยให้ “ผู้ชม” แต่ละคนแต่งเรื่องในใจตัวเองได้ตามใจชอบ
ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการฉายภาพวิวทิวทัศน์ของกรุงเทพเป็นเวลาประมาณ 50-60 นาทีโดยไม่มีเนื้อเรื่องเลย บางภาพก็เป็นวิวบนรถเมล์, วิวสองข้างทางถนน, วิวแม่น้ำ, วิวในวัด, วิวท้องฟ้า, วิวกิ่งไม้ใบหญ้า แต่ที่สุดยอดที่สุดก็คือวิวพระอาทิตย์ขึ้นประมาณ 10 นาที และวิวอาทิตย์ตกประมาณ 10 นาที
อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญที่สุดในภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ใช่ภาพ แต่เป็นเสียง เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดโอกาสให้ผู้ชมทุกคนสร้างดนตรีประกอบขึ้นมาได้เอง โดยผู้ชมแต่ละคนสามารถเลือกกดปุ่มใดก็ได้ตามใจชอบจากปุ่มทั้งหมดราว 50 ปุ่มที่ห้อยระโยงระยางอยู่หน้าจอภาพยนตร์ โดยปุ่มแต่ละปุ่มจะแทนเสียงต่างๆกันไป ตั้งแต่เสียงหรีดหริ่งเรไร, เสียงหมาเห่า, เสียงนกแต่ละประเภท, เสียงรถตุ๊กๆ, เสียงประทัด, เสียงกุ๊งกิ๊ง โดยเมื่อผู้ชมกดปุ่มแต่ละปุ่มแล้ว โปรแกรมคอมพิวเตอร์จะทำการผสมเสียงต่างๆออกมาให้ได้ยิน ดังนั้นในการชมภาพยนตร์เรื่องนี้แต่ละครั้งแต่ละรอบ เสียงซาวด์แทรคที่ผู้ชมได้ยินจะไม่เคยซ้ำกันเลย
เสียงซาวด์แทรคแต่ละอย่างที่ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้นำมาให้เลือกกดนั้น ไพเราะเพราะพริ้งและช่วยกระตุ้นจินตนาการได้อย่างดีมากๆเลยค่ะ ฟังแล้วเพลินมากๆ
การได้นั่งดูพระอาทิตย์ค่อยๆขึ้นจากขอบฟ้าริมแม่น้ำ และการได้นั่งดูพระอาทิตย์ค่อยๆตกหายไปในหมู่เมฆเป็นเวลาราวสิบกว่านาทีในภาพยนตร์เรื่องนี้พร้อมกับได้ฟังดนตรีประกอบที่เลิศล้ำ เป็นประสบการณ์การชมภาพยนตร์ที่ให้ความสุขแก่ดิฉันมากที่สุดในปีนี้ค่ะ และทำให้ดิฉันได้ตระหนักว่าจริงๆแล้วความสุขที่สุดในชีวิตอยู่ใกล้ตัวอย่างแทบคาดไม่ถึงเลย
ปกติแล้วดิฉันรู้สึกชิงชังรังเกียจแสงอาทิตย์และพระอาทิตย์มากค่ะ เพราะพระอาทิตย์ขึ้นมักจะหมายถึงการต้องเริ่มลุกขึ้นมาทำงานที่น่าเบื่อ ห้องทำงานของดิฉันสามารถมองออกไปเห็นพระอาทิตย์ขึ้นได้ทุกวัน แต่ดิฉันต้องเริ่มทำงานตั้งแต่ 6 โมงเช้า เพราะฉะนั้นดิฉันจึงไม่เคยมีเวลาได้นั่งดูพระอาทิตย์ขึ้นในกรุงเทพพร้อมด้วยความรู้สึกที่เป็นสุขสบายใจแต่อย่างใด เพราะเมื่อใดก็ตามที่พระอาทิตย์ขึ้น นั่นก็หมายถึงว่าดิฉันต้องทำงานตัวเป็นเกลียวแล้ว
ระเบียงห้องนอนของดิฉันหันหน้าไปทางทิศตะวันตก แต่ดิฉันก็ไม่เคยได้ออกไปนั่งชมอาทิตย์ตกที่ระเบียงเลยค่ะ เพราะมีตึกอพาร์ทเมนท์มากมายบดบังไว้ไม่ให้ดิฉันได้มองเห็นท้องฟ้ายามเย็นอย่างถนัดๆ ปกติแล้วดิฉันจะได้มองเห็นความงามของท้องฟ้ายามเย็นก็เฉพาะตอนลงรถไฟฟ้าที่สถานีพญาไทตอนประมาณ 17.00-18.00 น.เท่านั้น เพราะวิวที่สถานีนี้สามารถมองออกไปเห็นท้องฟ้าทางทิศตะวันตกได้กว้างมากพอสมควร แต่ดิฉันก็ไม่เคยคิดที่จะนั่งเล่นอยู่บนสถานีเป็นเวลานานๆเพื่อมองการเคลื่อนไหวของพระอาทิตย์ เพราะพอตัวเองลงจากรถไฟฟ้าทีไร ก็จะรีบออกจากสถานีในทันที ไม่รู้ว่าเคยมีใครคิดจะนั่งชมวิวอยู่บนสถานีรถไฟฟ้าบ้างหรือเปล่า
ถึงแม้ดิฉันจะไม่ค่อยชอบพระอาทิตย์ในโลกแห่งความเป็นจริงมากนัก แต่คิดๆดูแล้วดิฉันก็พบว่าตัวเองมีความรู้สึกอย่างรุนแรงมากๆกับฉากพระอาทิตย์ที่ปรากฏในจอภาพยนตร์ อย่างเช่นใน
1.1 ตอนจบของ THE GREEN RAY (1986, ERIC ROHMER, A++++++++++) ที่นางเอกนั่งดูพระอาทิตย์ตกดิน และทำให้ THE GREEN RAY กลายเป็นหนึ่งในหนังที่ดิฉันชอบที่สุดในชีวิต และเป็นหนึ่งในหนังที่ทำให้ดิฉันร้องไห้หนักที่สุดในชีวิต
1.2 ฉากเปิดเรื่อง INDIA SONG (MARGUERITE DURAS, A++++++++++) ที่ฉายภาพพระอาทิตย์ค่อยๆเขยื้อนเป็นเวลาประมาณ 5 นาที พร้อมกับเสียงเพลงของหญิงวิกลจริต
1.3 ฉากสุริยคราสใน WOLF CREEK (2005, GREG MCLEAN, A++++++++++) ที่ติดอันดับหนึ่งในฉากที่ดิฉันชอบที่สุดในปีนี้
1.4 ฉากแสงอาทิตย์ลอดผ่านหน้าต่างใน WINDOWS (1999, APICHATPONG WEERASETHAKUL, A++++++++++) โดยไม่มีอะไรมากกว่านั้น เป็นเวลาประมาณ 22 นาที
1.5 ฉากคุณย่าจ้องพระอาทิตย์โผล่พ้นเหลี่ยมเขาใน SUGAR & SPICE: WHAT LITTLE GIRLS ARE MADE OF (A+)
สรุปว่า การได้ดู ANAT(T)A โดยเฉพาะการได้ดูพระอาทิตย์ค่อยๆขึ้น, ค่อยๆตก และการได้ดูก้อนเมฆแต่ละก้อนค่อยๆคืบคลานผ่านหน้าจอไป ทำให้ดิฉันได้รู้สึกขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งว่าจริงๆแล้วนั้น HEAVEN IS A PLACE ON EARTH (ตามที่ BELINDA CARLISLE ร้องเอาไว้ ฮ่าๆๆๆ) และยิ่งไปกว่านั้น หนังเรื่องนี้ทำให้ดิฉันรู้สึกอีกว่า จริงๆแล้วนั้น HEAVEN IS A PLACE IN BANGKOK หรืออยู่ในใจของใครก็ได้บนโลกนี้ ถ้าหากคนๆนั้นเรียนรู้ที่จะทำให้สวรรค์อยู่ในใจของตัวเอง และพบว่าคนเราไม่ต้องการอะไรมากมายเลยในชีวิตนี้ เพราะเพียงแค่การได้นั่งดูก้อนเมฆค่อยๆเขยื้อนไปเรื่อยๆ นั่นก็คือ “สวรรค์ที่สุดของที่สุด” แล้ว
ปกติแล้วดิฉันไม่ใช่คนที่มีความเป็นชาตินิยมเลย ดิฉันเป็นคนที่นิยมต่างชาติอย่างมากๆ แต่ก็งงกับตัวเองเหมือนกันว่าทำไมภาพยนตร์ที่ครองอันดับ 1 ในใจตัวเองตั้งแต่ปี 2004, 2005 และอาจจะรวมไปถึงปี 2006 กลับเป็นภาพยนตร์ของคนไทย โดยอันดับ 1 ประจำปี 2004 คือ BIRTH OF THE SEANEMA ของ SASITHORN ARIYAVICHA, อันดับ 1 ประจำปี 2005 คือ AFTERNOON TIME ของ TOSSAPHOL BOONSINSUKH และอันดับ 1 ประจำปี 2006 ก็อาจจะเป็น ANAT(T)A ของอัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร + KOICHI SHIMIZU นี่แหละ
ถ้าเข้าใจไม่ผิด ภาพที่นำมาใช้ในภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นฝีมือการถ่ายของคุณ NITIPHONG THINTHUPTHAI ซึ่งเคยกำกับภาพยนตร์เรื่อง OPPORTUNITIES (2005, A+) และ DUSK, DAWN (2004, A+++++)
http://www.thaiindie.com/filmmakers/Nitipong.html
ลักษณะแปลกๆของ ANAT(T)A ยังทำให้ดิฉันนึกถึงภาพยนตร์เรื่องอื่นๆอีกด้วย อย่างเช่น
1.6 FUMIYO IS A DESIGNER (2001, APICHATPONG WEERASETHAKUL, A)
หนังเรื่องนี้เปิดโอกาสให้ผู้ชมแต่ละคนแต่งเรื่องได้เอง
1.7 MASUMI IS A PC OPERATOR (2001, APICHATPONG WEERASETHAKUL, A)
หนังเรื่องนี้เปิดโอกาสให้ผู้ชมแต่ละคนแต่งเรื่องได้เอง
1.8 L’EXPERIENCE PREHISTORIQUE (2004, CHRISTELLE LHEUREUX, A++++++)
หนังเรื่องนี้เปลี่ยนเนื้อเรื่องไปเรื่อยๆในการฉายในแต่ละประเทศ
2.PUGILIST SERIES 449 (2006, ALEX DAVIES, A+++++++++++++++)
*****เวลาที่ควรใช้ในการชมภาพยนตร์เรื่องนี้—ประมาณ 30 นาที*****
ดูที่ชั้น 7 หอกลาง จุฬา ภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายภาพของนักมวยหญิงที่ชก 5 ยก เป็นจำนวน 2 ครั้งติดต่อกัน โดย 5 ยกแรกเป็นภาพของการชกแบบเร่งสปีดให้เร็วเกินจริง และ 5 ยกหลังเป็นภาพการชกแบบสโลว์ โดยเธอจะชกเข้าใส่กล้องตลอดเวลาราว 30 นาที
นี่เป็นภาพยนตร์ที่ดิฉันดูแล้วรู้สึก “เจ็บปวดทางร่างกาย” มากที่สุดในปีนี้ รู้สึกเจ็บปวดยิ่งกว่าดู MASTERS OF HORROR: IMPRINT (2006, TAKASHI MIIKE, A+) เสียอีก เพราะในขณะที่ IMPRINT ทำให้ดิฉันรู้สึกเจ็บปวดแบบหวาดเสียว แต่ IMPRINT ก็ยังฉายให้เห็นภาพของ “ตัวละคร” ขณะที่ถูกกระทำทารุณกรรม
แต่ PUGILIST SERIES 449 นี้ ไม่ได้ฉายให้เห็นภาพของ “ตัวละคร” ที่ถูกชกแต่อย่างใด ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ดิฉันรู้สึกว่า “ตัวเอง” ถูกชกอย่างตรงๆ จังๆ ไม่ใช่ “ตัวละคร” ที่กำลังถูกชก อย่างไรก็ดี ขณะที่ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ ดิฉันกลับรู้สึกมีความสุขมากๆ และทำให้คิดว่าตัวเองคงมีความเป็น MASOCHIST อยู่ในตัวไม่มากก็น้อย ถึงได้รู้สึกมีความสุขมากๆกับการชมภาพยนตร์เรื่องนี้
ขณะที่ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ ดิฉันไม่ทันได้สังเกตว่าผู้ชมคนอื่นๆมีอาการแบบเดียวกับดิฉันหรือเปล่า นั่นก็คือเผลอเอี้ยวตัวไปมาในบางครั้งเพื่อหลบ “หมัด” ที่พุ่งออกมาจากหน้าจอภาพยนตร์
จุดเด่นอีกอันนึงของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือการเล่นกับสปีดช้าเร็ว และจุดนี้ทำให้นึกถึงภาพยนตร์ที่ดิฉันชอบสุดๆเรื่อง TOTEM (2001, MAIDER FORTUNE, A+++++++++) ที่ฉายให้ภาพผู้หญิงสาวที่ทำอาการคล้ายๆกระโดดเชือก โดยที่สปีดของภาพจะค่อยๆช้าลงเรื่อยๆ
การได้ชมภาพยนตร์เรื่อง PUGILIST SERIES 449 นี้ทำให้นึกถึงความสุขสุดยอดที่ได้รับขณะชมภาพยนตร์เรื่อง PISCINE (2002, JEAN-BAPTISTE BRUANT + MARIA SPANGARO, A+++++++++++++++) เมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้วด้วย เพราะภาพยนตร์ 2 เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่ “ไม่มีอะไรเลย” นอกจากการให้ตัวละครทำอาการซ้ำไปซ้ำมาหลายรอบเป็นเวลานานมาก แต่ดูแล้วดิฉันกลับไม่รู้สึกเบื่อเลยแม้แต่นิดเดียว โดยใน PISCINE นั้น ผู้ชมจะได้เห็นตัวละครกลุ่มนึงเดินวนไปวนมาในสระว่ายน้ำเป็นเวลา 1 ชั่วโมงเต็ม
3.BASHING (2005, MASAHIRO KOBAYASHI, A+++++++++++++++)
หนังเรื่องนี้เป็นหนึ่งในหนังญี่ปุ่นที่ดิฉันชอบมากที่สุดในชีวิต
ชอบ FUSAKO URABE นางเอกหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ การแสดงของเธอในฉากงานศพเป็นหนึ่งในการแสดงของนักแสดงหญิงที่ดิฉันชอบที่สุดในปีนี้
บท “สาวหัวดื้อ” ของ FUSAKO URABE ใน BASHING ทำให้นึกถึงไปถึงบทนางเอกใน SOPHIE SCHOLL – THE FINAL DAYS (2005, MARC ROTHEMUND, A++++++++++) ที่แสดงโดย JULIA JENTSCH และบทนางเอกใน THE NASTY GIRL (1990, MICHAEL VERHOEVEN, A+) ที่แสดงโดย LENA STOLZE (LENA STOLZE เอง ก็เคยรับบทเป็น SOPHIE SCHOLL มาแล้วใน THE WHITE ROSE (1984, MICHAEL VERHOEVEN))
Sunday, November 26, 2006
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment