ตอบคุณโอลิเวอร์
ดีใจมากค่ะที่คุณโอลิเวอร์ชอบเพลง ONLY YOU ของ YAZOO
อีกเพลงนึงของ YAZOO ที่ดิฉันชอบมากคือ DON’T GO (1982) ค่ะ ดูมิวสิควิดีโอเพลงนี้ได้ที่
http://www.youtube.com/watch?v=JHm4mOwq624
ตอบคุณโจ
ช่วงนี้น้องเก้าอี้มีพนักไปเชียงใหม่ค่ะ
ความเห็นที่มีต่อหนังและละครเวทีที่ได้ดูในช่วงนี้
WHAT HAPPENED TO MAGDALENA JUNG?
--ตอนที่ดู WHAT HAPPENED TO MAGDALENA JUNG? จบ ก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าหนังเรื่องนี้มีสาระประโยชน์อะไรบ้าง รู้แต่ว่าได้รับความบันเทิงอย่างสุดขีดคลั่ง (เพราะดูแล้วแทบคลั่ง) จากหนังเรื่องนี้ แต่พอคุณ FILMSICK (FROM WEBBOARD BIOSCOPE) พูดถึงประเด็นเรื่องความวิเศษของภาพยนตร์ ก็เลยนึกขึ้นมาได้ว่านี่เป็นประเด็นที่น่าสนใจเหมือนกัน ชอบ “สเปเชี่ยล เอฟเฟคท์” ในหนังเรื่องนี้มากๆ มันเป็นสเปเชียล เอฟเฟคท์ที่ “ชั้นต่ำ” ที่สุด แต่ดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพสูงสุดในการส่งผลกระทบทางอารมณ์ต่อดิฉัน
--สามสาวหลังเครื่องบินในหนังเรื่องนี้เป็นอะไรที่ฮามากๆ ถ้าจำไม่ผิด ในขณะที่เหตุการณ์ในเครื่องบินพิสดารอยู่แล้ว ข้างนอกเครื่องบิน ยัยแมกดาลีน่าก็กำลังเหินเวหาอยู่อย่างไม่รู้อีโหน่อีเหน่ด้วย ตัดสินไม่ได้จริงๆว่าเหตุการณ์ข้างในหรือข้างนอกเครื่องบินที่เฮี้ยนกว่ากัน
--เทคนิคคนลอยผ่านฉากโดยไม่มีสาเหตุแบบใน WHAT HAPPENED TO MAGDALENA JUNG? นั้น เคยปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เยอรมันเรื่อง THE LAST HOLE (1981, HERBERT ACHTERNBUSCH, A+++++) ด้วย โดยในหนังเรื่องนี้ จะมีฉากตัวละครนั่งรถไฟ และอยู่ดีๆก็มี “ยักษ์” ลอยอยู่นอกหน้าต่างรถไฟไปโดยไม่มีสาเหตุ
http://www.imdb.com/title/tt0082651/
พูดถึงฉากคนลอยแล้ว ก็ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง SUICIDE ME หรือ “นายอโศกกับนางสาวเพลินจิต” (2003, ทศพล ศิริวิวัฒน์, B-) ที่มีฉากตัวประหลาดๆลอยอยู่นอกหน้าต่างในฉากนึง แต่ฉากดังกล่าวค่อนข้างชัดเจนว่าต้องการสื่อถึงความรู้สึกอะไร และเป็นฉากที่ให้อารมณ์เก๋ๆ ในขณะที่ฉากตัวละครลอยผ่านหน้าต่างใน WHAT HAPPENED TO MAGDALENA JUNG? กับใน THE LAST HOLE เป็นฉากที่ดิฉันไม่สามารถให้คำอธิบายได้แม้แต่นิดเดียวว่ามันหมายความว่าอะไร รู้แต่ว่ามันฮามากๆ
ลักษณะพิเศษของละครเวทีและภาพยนตร์ที่ฉายตามแกลเลอรี่
--พูดถึงละครเวทีเรื่อง “ความฝันกลางเดือนหนาว” ของคุณคำรณ คุณะดิลกแล้ว ก็ทำให้นึกถึงความวิเศษอย่างนึงของ “ละครเวที” ที่มักไม่ค่อยปรากฏในภาพยนตร์ นั่นก็คือการที่คนดูต้องตัดสินใจเอาเองว่าจะโฟกัสสายตาของตัวเองไปที่ตัวละครตัวใด
ปกติแล้วละครเวทีมักไม่ค่อยนำคุณสมบัติพิเศษข้อนี้มาใช้ เพราะละครเวทีโดยทั่วๆไปอาจจะมีตัวละครอยู่บนเวทีไม่กี่ตัว หรือมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นเพียงอย่างเดียวบนเวทีในแต่ละวินาที
แต่ละครเวทีบางเรื่องอาจจะมีการใช้ลักษณะพิเศษนี้ โดยบางทีผู้สร้างอาจจะไม่ได้ตั้งใจก็ได้ โดยในละครเวทีเรื่อง “ความฝันกลางเดือนหนาว”นั้น ดิฉันพบว่ามันมีลักษณะนี้อยู่อย่างเด่นชัดมาก เพราะเวทีของละครเรื่องนี้มันยาวมากๆ ดิฉันรู้สึกเหมือนกับว่าเวลาดิฉันดูภาพยนตร์หนึ่งเรื่อง สายตาของดิฉันจะมองออกไปข้างหน้าในรัศมีประมาณ 90-120 องศาเท่านั้น แต่ในการชม “ความฝันกลางเดือนหนาว” ดิฉันต้องพยายามกวาดสายตาของตัวเองให้ได้ 180 องศาตลอดเวลา เพื่อจะได้ทันสังเกตว่าตัวละครตัวใดมาแอบผลุบโผล่อยู่มุมซ้ายมุมขวาของเวทีบ้าง บางทีดิฉันมัวแต่มองด้านซ้ายของเวที ก็เลยไม่ทันสังเกตว่าเกิดอะไรขึ้นที่ด้านขวาของเวที ต้องใช้เวลาปรับตัวอยู่ระยะนึงถึงค่อยปรับ “การใช้สายตา” ของตัวเองให้เหมาะสมกับการดูละครเวทีเรื่องนี้ได้
ละครเวทีเรื่องอื่นๆอาจจะไม่ได้ใช้เวทีที่ยาวกะเหลนเป๋นแบบ “ความฝันกลางเดือนหนาว” แต่ก็มีลักษณะเด่นตรงที่มีตัวละครหลายตัวทำกิจกรรมของตัวเองบนเวทีพร้อมๆกัน โดยอาจจะไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกัน ดังนั้นพอเจอฉากแบบนี้ ดิฉันก็ต้องพยายามรวบรวม “สมาธิ” และคุม “ประสาท” ของตัวเองให้มากกว่าปกติ เพื่อจะได้จับความเคลื่อนไหวของตัวละครหลายๆตัวบนเวทีให้ได้พร้อมๆกัน จะได้ไม่ “พลาด” เหตุการณ์สำคัญไป
ละครเวทีที่ดิฉันเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ก็มีเช่น “โชคล้านดวง” (2003, กำกับการแสดงโดย LINDA HARDY, A+/A) หรือ LES BELLES SOEURS ที่ในบางฉากจะมีตัวละครราว 10 กว่าตัวมาทำกิจกรรมของตัวเองบนเวที
http://www.siamzone.com/movie/news/index.php?id=1461
หรือแม้แต่เรื่อง “สีดา: ศรีราม” (2005, พรรัตน์ ดำรุง, A+++++) ก็มีบางฉากที่ดิฉันรู้สึกว่าต้องแบ่งประสาทตัวเองเพื่อมองดูอากัปกิริยาของตัวละครสองตัวพร้อมๆกันบนเวที โดยเฉพาะในฉากที่ศศิธร พานิชนก กับจิดาภา ฝ้ายเทศปรากฏตัวพร้อมกันบนเวที และแต่ละตัวละครก็ทำลีลาของตัวเองไป โดยดูเหมือนไม่ข้องเกี่ยวซึ่งกันและกัน ซึ่งปกติแล้วการมองดูตัวละครสองตัวพร้อมๆกันบนจอภาพยนตร์ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากแต่อย่างใด เพราะภาพยนตร์มักจะมีการโฟกัสภาพ หรือทำส่วนนึงชัด ทำส่วนนึงเบลอเพื่อช่วยในการโฟกัสสายตาของคนดูอยู่แล้ว แต่ในการดูละครเวทีนั้น บางครั้งดิฉันพบว่าเป็นการยากที่จะตัดสินใจให้ได้ในแต่ละวินาทีว่า วินาทีไหนเราควรมุ่งความสนใจไปที่ตัวละครตัวไหนบนเวทีกันแน่ และสิ่งนี้ก็คืออรรถรสแบบนึงที่ดิฉันชอบมากๆในละครเวที
ส่วนในภาพยนตร์นั้น ดิฉันนึกไม่ค่อยออกเหมือนกันว่ามีเรืองไหนที่มีลักษณะแบบนี้บ้าง เพราะแม้แต่ในภาพยนตร์ที่มีตัวละครเยอะๆอย่างภาพยนตร์ของโรเบิร์ต อัลท์แมน ดิฉันก็รู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยประสบปัญหาในการตัดสินใจว่าฉากไหนเราควรใช้สายตาจับจ้องตัวละครตัวใดกันแน่
ภาพยนตร์ที่มีลักษณะแบบนี้ เท่าที่นึกออกก็อาจจะมี HIDDEN (2005, MICHAEL HANEKE, A+) กับฉากจบของเรื่อง ที่หนังไม่ได้บอกว่าเราควรมองไปที่จุดใดในภาพนั้น จนดิฉันเองก็เลยไม่ได้มองไปที่สิ่งสำคัญในภาพนั้น หรือไม่ทันสังเกตสิ่งสำคัญในภาพนั้น ต้องรอให้คุณเต้มาบอกในภายหลัง ดิฉันถึงได้รู้ว่าตัวเองมองพลาดไปแล้ว
ภาพยนตร์อีกเรื่องนึงที่ฝึกประสาทการใช้สายตาเล็กน้อย ก็อาจจะรวมถึง HOPE AND THE SOUND OF FALLING METAL (2006, RYAN GRIFFITH, A/A-) ที่เปิดฉายที่หอกลาง จุฬาในขณะนี้ เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายบนจอ 3 จอพร้อมกัน และภาพในแต่ละจอก็ไม่เหมือนกัน แต่ในการชมภาพยนตร์เรื่องนี้นั้น ผู้ชมจะค่อยๆดูทีละจอก็ได้ หรือจะพยายามใช้สายตาของตัวเองจับภาพบนจอทีเดียวพร้อมกันทั้ง 3 จอก็ได้ โดยต้องเลือกจุดยืนที่เหมาะๆหน่อย จะได้ดูภาพบนจอทั้ง 3 จอได้พร้อมกัน (สองจอเป็นจอวิดีโอบนพื้นห้อง อีกจอนึงเป็นเพียงผนังมุมกำแพงห้อง)
การชม HOPE AND THE SOUND OF FALLING METAL และต้องหา “จุด” ที่เหมาะๆในการยืนดูภาพยนตร์เรื่องนี้นั้น ทำให้นึกถึงลักษณะพิเศษอย่างนึงของภาพยนตร์ที่ฉายตามแกลเลอรี่ที่เคยได้ยินมา นั่นก็คือผู้ชมภาพยนตร์ตามแกลเลอรี่นั้น ต้องรู้จัก “จัดระเบียบตัวเอง” มากกว่าผู้ชมภาพยนตร์ตามโรงหนัง เพราะผู้ชมตามโรงหนังนั้นมีจุดนั่งดูที่ “คงที่” หรือ “ตายตัว” อยู่แล้ว และมักจะรอจนภาพยนตร์จบแล้วจึงค่อย “เลิกดู” แต่ผู้ชมภาพยนตร์ตามแกลเลอรี่นั้น จะต้องรู้จักเลือกหาจุดที่เหมาะสมในการดู video installation แต่ละเรื่อง เพราะ “วิดีโอจัดวาง” แต่ละเรื่อง ก็จะบังคับให้ผู้ชมต้องจัดวางตัวเองในจุดที่ต่างๆกันไปในการชมวิดีโอเรื่องนั้น นอกจากนี้ ผู้ชมภาพยนตร์ตามแกลเลอรี่ ต้องรู้จักจัดระเบียบตัวเองเช่นกันว่าควรจะเลิกดูภาพยนตร์เรื่องใดเมื่อใดดีถึงจะเหมาะสมกับตัวเอง เพราะภาพยนตร์หลายเรื่องที่ฉายตามแกลเลอรี่เป็นภาพยนตร์ที่ไม่มีเนื้อเรื่อง คุณจะดูแค่แป๊บเดียวก็ได้ หรือจะดูจนมันฉายวนกลับมายังจุดเดิมก็ได้ คุณต้องเลือกเอาเองหรือตัดสินใจเองตลอดเวลาว่าจะเลิกดูเมื่อใดดี และภาพยนตร์หลายๆเรื่องที่ฉายตามแกลเลอรี่ ก็เป็นภาพยนตร์ที่คุณไม่มีวันดูได้ “ครบทั้งเรื่อง” อยู่แล้วด้วย อย่างเช่น
1.24 HOUR PSYCHO (1993, DOUGLAS GORDON) ซึ่งเป็นการนำ PSYCHO (1960, ALFRED HITCHCOCK, A+) มายืดความเร็วให้กลายเป็นภาพยนตร์ที่มีความยาว 24 ชั่วโมง
http://arts.guardian.co.uk/gallery/image/0,8543,-10104531576,00.html
2.FIVE YEARS DRIVE BY (DOUGLAS GORDON) ซึ่งเป็นการนำ THE SEARCHERS (1956, JOHN FORD) มายืดความเร็วให้กลายเป็นภาพยนตร์ที่มีความยาว 5 ปี หรือประมาณ 43,824 ชั่วโมง (กรี๊ดดดดดด) โดยนักวิจารณ์บางคนให้ความเห็นว่า เนื่องจากภาพในภาพยนตร์เรื่องนี้มีความเคลื่อนไหวน้อยมาก ดังนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้จึงกลายเป็น "กึ่งภาพยนตร์ กึ่งประติมากรรม"
http://www.notam02.no/eart_in_public_space/index-e.php?side=verk_driveby-e&m=vp
การได้ “จัดระเบียบตัวเอง” ในการดูภาพยนตร์ตามแกลเลอรี่เป็นอีกสิ่งนึงที่ดิฉันชอบมากๆเลยค่ะ
Tuesday, November 28, 2006
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment