Monday, December 29, 2008

SOVIET FILM PROGRAMS AT THAMMASAT UNIVERSITY

ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ร่วมกับสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เชิญชม



THE CLASSIC SOVIET UNION CINEMA
Original Stories & Literary Adaptations
อมตะหนังดังจากสหภาพโซเวียตแดนอดีต


ทุกวันอาทิตย์ระหว่างวันที่ 11 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2552 ตั้งแต่เวลา 12.30 น. เป็นต้นไป
ณ ห้องเรวัต พุทธินันท์ ชั้นใต้ดิน U2 หอสมุด ปรีดี พนมยงค์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
โทรศัพท์ 0-2613-3529 หรือ 0-2613-3530
ชมฟรี!!! (โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ห้องสมุดว่ามาชมภาพยนตร์ และกรุณาแต่งกายสุภาพ)


โปรแกรมเดือนมกราคม 2552: จากวรรณกรรมสู่แผ่นฟิล์ม LITERARY ADAPTATIONS
อาทิตย์ที่ 11 มกราคม 2552
A Tribute to Anton Chekov
12.30 น. The Lady with the Dog (1960) กำกับโดย Iosif Kheifits
14.00 น. My Tender and Affectionate Beast (1978) กำกับโดย Emil Loteanu

อาทิตย์ที่ 18 มกราคม 2552
12.30 น. They Fought for Their Motherland (1975) กำกับโดย Sergei Bondarchuk
15.00 น. Journey Beyond Three Seas (1957) กำกับโดย Vasili Pronin และ Khwaja A. Abbas



อาทิตย์ที่ 25 มกราคม 2552
12.30 น. The Forty-First (1956) กำกับโดย Grigori Chukhrai
14.30 น. The Flight (1970) กำกับโดย Alexandr Alov และ Vladimir Naumov

โปรแกรมเดือนกุมภาพันธ์ 2552: เรื่องเล่าแห่งยุคสมัย THE ORIGINAL STORIES
อาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552
The Georgian Gems
12.30 น. April (1961) กำกับโดย Otar Iosseliani
13.30 น. Repentance (1987) กำกับโดย Tengiz Abuladze

อาทิตย์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2552
12.30 น. Freeze-Die-Come to Life! (1989) กำกับโดย Vitali Kanevsky
14.30 น. The Asthenic Syndrome (1989) กำกับโดย Kira Muratova

อาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2552
12.30 น. Siberiade: Saga I (1979) กำกับโดย Andrei Konchalovsky
15.00 น. Siberiade: Saga II (1979) กำกับโดย Andrei Konchalovsky

ขอขอบคุณ ROGER TONGE สำหรับภาพยนตร์บางเรื่องในโปรแกรมนี้


เรื่องย่อภาพยนตร์

The Lady with the Dog (1960)

จากเรื่องสั้นชื่อเดียวกันของ Anton Chekov ผู้กำกับ Iosif Kheifits นำมาถ่ายทอดลงสู่แผ่นฟิล์มได้อย่างมีรสนิยมจนทำให้เรื่องราวความรักต้องห้ามระหว่างหนุ่มธนาคารผู้มั่งคั่งและหญิงสาวผู้จูงสุนัขซึ่งต่างก็มีคู่ครองแล้วกลายเป็นความปรารถนาอันแสนบริสุทธิ์จนต้องหยุดคิดถึงความผิดบาปกันทีเดียว ติดตามผลงานการแสดงอันยอดเยี่ยมของสองนักแสดงคู่ขวัญ Iya Savvina และ Alexei Batalov (ผู้กำกับเรื่อง The Overcoat) ที่จะทำให้มาตรฐานทางศีลธรรมใด ๆ จำต้องหมดความหมายไปเมื่อบุพเพสันนิวาสได้นำพาคู่แท้ให้มาบรรจบพบรัก หนึ่งในหนังที่แฟน ๆ In the Mood for Love ของ Wong Kar-Wai ไม่ควรพลาดชม!


My Tender and Affectionate Beast (1978)

สร้างจากนิยายเรื่อง The Shooting Party ของ Anton Chekov ซึ่งเคยมีแปลเป็นฉบับภาษาไทยโดย กำพล นิรวรรณ ด้วยชื่อ ‘ฆ่าปริศนา วันล่าสัตว์’ โดยสำนักพิมพ์รหัสคดี เล่าเรื่องราวระหว่าง Sergei ผู้ดีหนุ่มใหญ่กับ Olenka สาวรุ่นวัยสิบหกที่เป็นที่หมายปองของบรรดาหนุ่ม ๆ ทั้งหลายในละแวกนั้น เมื่อ Olenka ได้ตอบตกลงแต่งงานกับ Urbenin เจ้าของที่ดินแก่อ้วน(แต่รวย) หนุ่ม ๆ ทั้งหลายจึงต้องพบกับอาการอกหักฝันสลาย แต่หลังจากเธอได้พบและรู้จักกับ Sergei Olenka ก็ได้สารภาพกับ Sergei ว่าเธอรักเขาแต่เพียงผู้เดียว วันหนึ่งเมื่อกระสุนปริศนาจำนวนหนึ่งนัดลั่นดังขึ้น ชะตาชีวิตของตัวละครเหล่านี้ก็ล้วนมีอันต้องเปลี่ยนแปลงไป หนึ่งในภาพยนตร์แนวแนวเมโลดราม่าที่ทำออกมาเสียจนดูดีมีรสนิยม


They Fought for Their Motherland (1975)

ดัดแปลงจากบทประพันธ์ของ Mikhail Sholokhov ถ่ายทอดเหตุการณ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 1942 ทัพทหารโซเวียตกำลังล่าถอยด้วยความอ่อนแรง แต่เมื่อทัพนาซีเริ่มบุกรุกเมืองสตาลินกราด กำลังทัพที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิดก็รวบรวมแรงใจครั้งสุดท้ายต่อสู้เพื่อปกป้องแผ่นดินแม่จนทัพนาซีไม่สามารถตีนครได้ หนังสงครามเชิดชูวีรบุรุษชาติที่เปี่ยมไปด้วยความเป็นมนุษย์และเลือดเนื้อห่างขั้วจากลีลาอภิมหาฟุ้งฝันแบบ Hollywood กันอย่างสิ้นเชิง

Journey Beyond Three Seas (1957)

หนังร่วมทุนสร้างระหว่างโซเวียตและอินเดียผลงานการกำกับโดย Vasili Pronin และ Khwaja A. Abbas ที่หยิบยกเอาหนังสือบันทึกการเดินทางค้าขายจากยุโรปไปยังอินเดียในช่วงปี ค.ศ.1466-1472 ของ Afanasy Nikitin มาถ่ายทอดเป็นภาพเคลื่อนไหวอย่างยิ่งใหญ่อลังการ นำแสดงโดยนักแสดงฝ่ายชาย Oleg Strizhenov จากโซเวียตและนักแสดงฝ่ายหญิง Nargis จากอินเดีย เดิมทีหนังลูกผสมเรื่องนี้มีการสร้างทั้งในฉบับภาษารัสเซียและฮินดูควบคู่กัน แต่ฉบับที่จะนำมาฉายนี้เป็นฉบับที่รวมเอาช่วงตอนของทั้งสอง version มาเรียบเรียงใหม่จนกลายเป็นหนังฉบับสมบูรณ์


The Forty-First (1956)

สร้างจากนิยายชื่อเดียวกันของ Boris Lavrenyov บอกเล่าเรื่องราวในช่วงสงครามกลางเมืองในรัสเซีย เมื่อกองทัพ Red Army กำลังโซซัดโซเซอยู่ท่ามกลางพายุกลางทะเลทรายแคสเปี้ยนอันกว้างใหญ่ไพศาล Maria Filatovna ทหารหญิงกล้าหนึ่งเดียวในทัพที่เอาชีวิตข้าศึกมาแล้วจำนวน 40 ราย ได้จับตัวร้อยโท Vadim Nikolayevich จากทัพ White Army ไว้หลังจากที่เธอยิงเขาพลาดเป้า เมื่อทหารหญิงแกร่งกับร้อยโทหนุ่มจำต้องพลัดหลงอยู่ด้วยกันตามลำพังความรู้สึกห่วงหาอาทรกันตามประสามนุษย์ต่างเพศจึงเริ่มก่อตัวขึ้น ท่ามกลางความขัดแย้งด้านอุดมการณ์ทางการเมือง ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายภาพโดย Sergei Urusevsky ผู้เคยฝากผลงานอันน่าตื่นตะลึงอย่าง The Cranes Are Flying เอาไว้แล้ว


The Flight (1970)

นอกเหนือจากญี่ปุ่นแล้วคงจะมีแต่ชาติโซเวียตเท่านั้นที่พอจะทำหนังในระดับ Epic ได้น่าตื่นตาและตื่นใจไม่แพ้ Hollywood ภาพยนตร์เรื่อง The Flight โดย Alexandr Alov และ Vladimir Naumov คงจะใช้เป็นหลักฐานยืนยันได้เป็นอย่างดี จากบทประพันธ์ของ Mikhail Bulgakov ผู้กำกับทั้งสองได้บอกเล่าถึงความพ่ายแพ้ของทัพ White Army ในช่วงสงครามกลางเมืองรัสเซียช่วงปี ค.ศ. 1918-1921 ซึ่งเป็นเหตุให้เจ้าขุนมูลนายและชนชั้นสูงทั้งหลายต้องอพยพหนีออกจากประเทศไปอย่างหมดท่า หนังบอกเล่าประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญของรัสเซียด้วยลีลาขรึมขลังอลังการไปด้วยการกำกับภาพอันงดงามละลานตาในระดับน่าทึ่ง!


April (1961)

ผลงานภาพยนตร์ขนาดย่อมเรื่องแรกของผู้กำกับจอร์เจียผู้โด่งดัง Otar Iosseliani เล่าเรื่องราวเสียดสีเสียดแสบแบบน่ารักของคู่รักหนุ่มสาวที่มีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขตามอัตภาพกันอยู่แล้ว แต่การรุกคืบแห่งลัทธิบริโภคนิยมก็ยังไม่วายทำให้พวกเขาเกิดความละโมบโลภมากอยากได้อะไร ๆ เพิ่มเติม จนในที่สุดความไม่รู้จักพอเหล่านี้ก็ย้อนกลับมาทำให้ทั้งคู่ต้องระหองระแหงกัน หนังเกือบไร้บทสนทนาความยาว 45 นาทีเรื่องนี้เคยถูกแบนจากทางการโซเวียตมาแล้ว


Repentance (1987)

หนังตลกเย้ยหยันแดกดันการเมืองสุดวายป่วงฝีมือการกำกับของ Tengiz Abuladze หลังเสร็จสิ้นพิธีศพของ Varlam Aravidze นายกเทศมนตรีเมืองเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในแคว้นจอร์เจีย ก็เกิดเหตุการณ์ประหลาดขึ้นเมื่อศพของเขาถูกขุดขึ้นมาแล้วนำไปวางพิงต้นไม้ในสวนของบุตรชายของเขาอย่างมีปริศนา และไม่ว่าบรรดาญาติจะพยายามนำศพของ Varlam Aravidze กลับไปฝังใหม่เท่าไร ศพของเขาก็ต้องถูกขุดขึ้นมาเสียทุกครั้ง วันหนึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถรวบตัวมือดีที่ก่อเหตุประหลาดนี้ได้ เธอเป็นสตรีและเราจะได้ร่วมฟังคำให้การของเธอไปพร้อม ๆ กันว่าทำไมเธอจึงต้องจองเวรกับ Varlam Aravidze ถึงขนาดนี้ หนังเรื่องนี้สร้างเสร็จในปี 1984 แต่ถูกทางการโซเวียตแบนอยู่สามปีจึงจะมีโอกาสได้ออกฉายรอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปี 1987 และสามารถคว้ารางวัล Grand Prize of the Jury มาได้


Freeze-Die-Come to Life! (1989)

ภาพยนตร์ขาวดำที่นำพาเราไปสัมผัสกับชีวิตของ Valerka ลูกชายโสเภณีและ Galia เด็กหญิงขายน้ำชาจากไซบีเรียที่ต้องอาศัยอยู่ในเมืองเหมืองแร่เล็ก ๆ อันสุดเส็งเคร็งเมื่อช่วงปี ค.ศ. 1947 ในขณะที่หมู่บ้านยังเต็มไปด้วยรัสเซียอพยพและเชลยศึกชาวญี่ปุ่น เด็กทั้งสองได้คิดเกม Freeze, Die, Come-to-Life! ขึ้นมาเล่น ซึ่งสุดท้ายการเล่นเกมแบบเด็ก ๆ นี้ก็ได้นำพาพวกเขาให้เข้าไปพัวพันกับอาชญกรรมจริงที่เกิดขึ้นอย่างไม่ตั้งใจ


The Asthenic Syndrome (1989)

หนังสุดเหวอของผู้กำกับหญิง Kira Muratova เล่าเรื่องราวการเผชิญหน้ากับความสูญเสียของ Natasha หญิงสาวที่ต้องกลายเป็นม่ายหลังสามีตาย ก่อนที่จะผลักเธอออกมาให้รู้จักกับ Nikolai ครูหนุ่มผู้เย็นชาท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางการเมืองภายใต้การปกครองของ Mikhail Gorbachev กลายเป็นหนังสุดพิสดารพันลึกที่พลิกผันหักมุมบิดมิติตัวละครได้อย่างแปลกประหลาดน่าอัศจรรย์ หนังเรื่องนี้ได้เข้าร่วมประกวดและสามารถคว้ารางวัล Special Jury Prize จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองเบอร์ลินปี 1990 ได้สำเร็จ


Siberiade (1979) กำกับโดย Andrei Konchalovsky

ก่อนที่ Edgar Reitz จะทำหนังร่ายประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของเยอรมันนีในหนังชุดขนาดยาวเรื่อง Heimat (1984) นั้นผู้กำกับ Andrei Konchalovsky ได้เคยทำหนังแนวทางเดียวกันความยาว 5 ชั่วโมงที่เล่าถึงชะตาชีวิตครอบครัวไซบีเรียสองตระกูลตั้งแต่ช่วงเปลี่ยนศตวรรษมาจนถึงปลายยุค 1970s กินเวลาถึงสามช่วงอายุคนตั้งแต่การสร้างถนนเชื่อมต่อกับความเจริญในรุ่นที่หนึ่ง มาถึงการเฟื่องตัวของระบอบคอมมิวนิสต์ในรุ่นที่สอง จนถึงการค้นพบบ่อน้ำมันใต้สุสานฝังศพของบรรพบุรุษของทายาทรุ่นที่สาม นับเป็นหนังที่สะท้อนจิตวิญญาณแห่งความเป็นชนชาติไซบีเรียร่วมสมัยที่ทรงพลังมากที่สุดเรื่องหนึ่ง หนังเรื่องนี้ได้รับรางวัล Grand Prize of the Jury ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เมื่อปี 1979

No comments: