Sunday, September 23, 2012

ON IMPROVISATION AND OTHER THINGS


ข้อความข้างล่างก็อปปี้มาจากที่เขียนคุยกับเพื่อนใน Facebook ครับ:

--ดีใจมากครับที่ได้รู้ว่าน้องจะมีอะไรใหม่ๆมาให้ดู ถ้าน้องมีไอเดียอะไรตอนนี้ น้องก็ควรทำตามไอเดียนั้นหรืออย่างน้อยก็จดบันทึกไอเดียนั้นเอาไว้นะครับ เพราะวัยของน้องเป็นวัยที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงมาก

อันนี้พี่เขียนจากประสบการณ์ของพี่เองน่ะครับ ช่วงที่พี่อยู่มัธยมปลายกับเรียนปริญญาตรีในมหาลัย เป็นช่วงที่พี่กับเพื่อนๆมีความคิดสร้างสรรค์สูงมาก พี่จำได้ว่าช่วงนั้นเพื่อนๆพี่สามารถคิดค้นคำศัพท์ใหม่ๆประหลาดๆหรือคำด่าแบบใหม่ๆออกมาพูดกันได้ทุกวัน แต่ตอนแรกพี่ไม่คิดจะจดคำศัพท์เหล่านั้นเอาไว้ เพราะนึกว่ามันไม่ใช่สิ่งที่น่าจะลืมได้ง่ายๆ แต่ตอนหลังพี่เริ่มเฉลียวใจและเริ่มจดบันทึกศัพท์แปลกๆที่เพื่อนๆพูดกัน แต่ก็จดได้เพียง 1% ของที่เคยพูดกันมาเท่านั้น ส่วนอีก 99% ก็หายสาบสูญไปตลอดกาล

ปัจจุบันนี้พี่ผ่านพ้นช่วงเวลานั้นมาได้ราว 20 ปีแล้ว และพี่ก็ค้นพบว่าเพื่อนๆพี่ในยุคปัจจุบันแทบไม่สามารถคิดค้นศัพท์ใหม่ๆได้อีกต่อไป ไม่รู้ว่าความสามารถด้านนี้มันหายไปตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่เหมือน "ความคิดสร้างสรรค์" บางอย่างในตัวเรามันค่อยๆหายไปเรื่อยๆเมื่อเราเริ่มแก่ขึ้น หลังจากที่มันขึ้นไปแตะจุดสูงสุดตอนเราอายุ 15-23 ปี

เพราะฉะนั้นถ้าน้องมีไอเดียอะไรในช่วงนี้ อย่างน้อยก็ควรจดบันทึกไอเดียเหล่านั้นเอาไว้นะครับ :-)

--น้องสอบเข้ามศว.จะเรียนคณะไหนเหรอครับ ถ้าได้เรียนด้านภาพยนตร์และสื่อดิจิตอล ในวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม ของมศว.ประสานมิตรก็จะดีมากๆเลยนะครับ เพราะจะได้ตรงกับที่น้องชอบ และนิสิตคณะนี้อย่างคุณอุกฤษณ์ สงวนให้ ก็ทำหนังสั้นที่ดีมากๆออกมาแล้วถึง 3 เรื่อง

แต่ถึงน้องไม่ได้เรียนคณะนี้ ก็เรียนคณะไหนก็ได้ครับที่จบออกมาแล้วมีเงิน ฮ่าๆๆ เพราะปัญหานึงสำหรับคนทำหนังนอกกระแสบ้านเราก็คือเงินทุนครับ พี่เห็นนิสิตด้านภาพยนตร์หลายคนทำหนังที่ดีมากๆตอนเป็นนิสิต แต่พอเรียนจบแล้วก็ไปเป็นแอร์โฮสเตส หรือไปทำงาน+เรียนต่อด้านอื่นๆ แล้วก็ไม่ได้ทำหนังอีกเลยเพราะไม่มีเงินทุน+แรงใจ เพราะฉะนั้นถึงน้องไม่ได้เรียนด้านภาพยนตร์ แต่ได้เรียนสาขาวิชาที่จะช่วยให้มีเงินทุนสำหรับทำหนังในยามว่าง นั่นก็อาจจะเป็นสิ่งที่ดีในอีกทางหนึ่งก็ได้นะครับ ฮ่าๆๆ เพราะถ้าเรามีเงินทุนเป็นของตัวเอง เราก็จะสามารถทำหนังในแบบที่เราชอบได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องง้อนายทุนแต่อย่างใด

Alexander Kluge ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้กำกับที่พี่ชื่นชมมากๆ เขาก็ไม่ได้เรียนด้านภาพยนตร์ครับ เขาจบปริญญาเอกด้านกฎหมาย แต่หนังของเขาพิศวงพิสดารมากๆ ส่วน Krzysztof Zanussi ผู้กำกับชาวโปแลนด์ที่ทำหนังดีมากๆ เขาก็เรียนจบด้านฟิสิกส์กับปรัชญามา

สรุปว่าพี่ขออวยพรให้น้องได้เรียนคณะที่ต้องการนะครับ ถ้าน้องได้เรียนด้านภาพยนตร์ พี่ก็จะดีใจมากๆ แต่ถึงน้องได้เรียนด้านอื่นๆ พี่ก็มั่นใจว่ามันจะไม่เป็นอุปสรรคสำหรับน้องแต่อย่างใด ถ้าหากน้องรักจะทำหนังจริงๆ โดยเฉพาะหนังทดลอง

--คู่ของ Godard กับ Karina นี่เป็นคู่ที่เริ่ดมากที่สุดในวงการเลยนะครับ พี่ก็ขอเป็นกำลังใจให้น้องได้เจอนักแสดงคู่บุญแบบนี้เช่นกัน โกดาร์ดนี่หาเมียได้ดีมากๆเลย เพราะเมียอีกคนของเขาที่ชื่อ Anne-Marie Mieville ก็เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่น่าสนใจมากๆ พี่ยังไม่เคยได้ดูหนังที่ Anne-Marie Mieville กำกับแบบเดี่ยวๆ แต่ได้ยินว่าหนังของเธอน่าสนใจมากๆ โดยเฉพาะเรื่อง WE'RE STILL HERE (1997, 80min) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับแม่บ้านสองคนที่คุยกันขณะทำงานบ้าน แต่บทสนทนาที่แม่บ้านสองคนคุยกันนี้จริงๆแล้วดัดแปลงมาจากบทสนทนาระหว่างเพลโตกับโสคราตีส !!!!!

--ใช่แล้วครับ พี่สนับสนุนให้น้องเล่นหนังที่ตัวเองกำกับเอง เพราะมันจะช่วยลดปัญหาในการกำกับการแสดงลงไปได้มากๆเลย และพี่ก็คิดว่าน้องแสดงได้ดีมากใน THE WIND

หนังบางเรื่องที่ผู้กำกับเล่นเองกำกับเองนี่มันก็สุดยอดมากๆ อย่างเช่น ACTRESSES (2007, Valeria Bruni Tedeschi), THE BRIDGES OF MADISON COUNTY (1995, Clint Eastwood), F FOR FAKE (1973, Orson Welles), "I, YOU, HE, SHE" (1976, Chantal Akerman),PERFUMED NIGHTMARE (1977, Kidlat Tahimik) และ THE WITCH (2009, Alwa Ritsila) ฮ่าๆๆ หนังอย่าง ACTRESSES, PERFUMED NIGHTMARE และ THE WITCH นี่มันต้องอาศัยความบ้าคลั่งทางการแสดงอย่างรุนแรงมากๆ ซึ่งถ้าผู้กำกับไม่ได้เล่นเอง มันคงไม่สามารถถ่ายทอดอารมณ์บ้าคลั่งออกมาได้ขนาดนี้

--ส่วนที่น้องเขียนว่า "การ ไปถ่ายอะไรมาก็ได้ แล้วมา Montage มาลำดับเวลาใหม่ หรือใส่เนื้อหาเพิ่มเติมลงไปให้เกิดเนื้อเรื่องใหม่ขึ้นมา มันง่ายที่ในขั้นตอนการถ่าย แต่มันสนุก ตื่นเต้น ท้าทายในเวลาที่เราได้ตัดต่อและสร้างเนื้อหาครับ
" ทำให้นึกถึงสิ่งที่พี่สนธยา ทรัพย์เย็นเคยพูดหลังจากดูหนังของคุณ Sasithorn Ariyavicha เลยครับ คุณ Sasithorn เขากำกับหนังเรื่อง BIRTH OF THE SEANEMA (2004, 70min) ซึ่งเป็นหนังไทยที่พี่ชอบที่สุดในชีวิต แล้วหลังจากการฉายหนังเรื่องนี้ ก็มีการเสวนากัน และก็เลยทำให้ได้รู้ว่าวิธีการทำหนังของคุณศะศิธรนั้นตรงข้ามกับผู้กำกับทั่วๆไป เพราะผู้กำกับทั่วๆไป เขา "คิดก่อนถ่าย" นั่นก็คือเขาคิดเขียนบทก่อน แล้วค่อยออกไปถ่ายหนังเพื่อนำมารองรับบทที่คิดไว้แล้ว

แต่ของคุณ Sasithorn หรือผู้กำกับหนังทดลองบางคนนั้น เขา "ถ่ายก่อนคิด" ครับ นั่นก็คือเขาจะพกกล้องติดตัวเสมอ และเมื่อเขาเจออะไรที่น่าสนใจ เขาก็จะถ่ายหรือบันทึกภาพเหตุการณ์นั้นไว้ในทันที พี่คิดว่าวิธีการแบบนี้มันเป็นการให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึกและจิตใต้สำนึกเป็นสำคัญครับ เมื่อเราเจออะไรที่มันกระทบใจเราปุ๊บ เราก็ถ่ายมันไว้ก่อนในทันที แล้วเราค่อยนำมันมาร้อยเรียงเข้าด้วยกันเป็นหนังในภายหลัง ซึ่งหนังที่ออกมาจะดีหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถเชิงกวีของเรา ซึ่งพี่คิดว่า Sasithorn Ariyavicha, Teeranit Siangsanoh และ Wachara Kanha ทำสิ่งนี้ได้ดีมากๆ ส่วนผู้กำกับหนังฝรั่งที่ทำหนังแบบนี้ก็น่าจะมีเช่น Jonas Mekas ที่กำกับหนังเรื่อง AS I WAS MOVING AHEAD OCCASIONALLY I SAW BRIEF GLIMPSES OF BEAUTY (2000, 320min) ซึ่งพี่ยังไม่ได้ดู แต่เห็นเขาบอกว่าหนังที่มีความยาว 5 ชั่วโมง 20 นาทีเรื่องนี้รวบรวมมาจากเศษฟิล์มเศษโฮมวิดีโอ แต่เขาสามารถนำเอาเศษโฮมวิดีโอเหล่านี้มาเรียงร้อยต่อกันให้เป็นหนังที่พิลาศพิไลสุดๆได้

"Mekas beautifully edits together the scraps of film that fell to his cutting room floor while he was working on projects he "perceived" as important, not realizing that what was truly important were the details that he missed, that he left out in favor of the shot in focus, the shot in composition. He strings together these family films of his children, his wife, his friends, New York during a lightning storm, all while narrating the film from what seems to be "His Death Bed." This film is by far one of the more touching, more emotional films I have ever seen. It is an homage to life as much as it is a recognition that beauty lies in the places we least expect it and as we walk we may occasionally catch brief glimpses of it, if we are lucky enough to have our eyes that wide open.
"

ส่วนผู้กำกับคนล่าสุดที่ดูเหมือนจะทำหนังแนวนี้ก็คือ Jon Lazam จากฟิลิปปินส์ครับ พี่เพิ่งได้ดูหนังของเขาในเทศกาลหนังสั้นปีนี้ เขาเป็นผู้กำกับที่น่าจับตามองจริงๆ

--ส่วนวิธีการทำหนังของน้องนั้น พอได้ฟังแล้วก็เลยทำให้เข้าใจขึ้นมาบ้างว่าทำไมหนังของน้องมันถึงได้มีความพิสดารในแบบที่พี่ชอบ เพราะพี่ชอบวิธีการทำหนังแบบด้นสดแบบนี้แหละครับ มันเหมือนเป็นวิธีการที่ถ่อมตัวดี เพราะวิธีการแบบนี้ผู้กำกับจะต้องคอยสังเกตสิ่งต่างๆและเปิดใจยอมรับสิ่งต่างๆที่จะเข้ามาให้แรงบันดาลใจแก่ตัวเอง

หนังต่างประเทศที่พี่ชอบเป็นอันดับสองของปีที่แล้ว ก็คือเรื่อง OUT 1: NOLI ME TANGERE (1971, Jacques Rivette, 773min) ครับ หนังเรื่องนี้มีความยาว 12 ชั่วโมง 53 นาที และเกิดจากการด้นสดของผู้กำกับกับนักแสดงไปเรื่อยๆ และมันก็ออกมาสุดยอดมากๆ

อันนี้เป็นสิ่งที่ Jacques Rivette เขาพูดไว้ในปี 1974 ครับ

"ผมใช้วิธีการกำกับแบบนี้กับหนัง 3 เรื่องแล้ว โดยใช้วิธีการนี้กับหนังเรื่อง L'AMOUR FOU มากกว่าใน CELINE AND JULIE GO BOATING และใช้วิธีการนี้กับหนังเรื่อง OUT 1 มากที่สุด ผมเกลียดความรู้สึกที่ว่าทุกอย่างถูกกำหนดไว้ตายตัวแล้ว และไม่มีอะไรที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งในระหวางการถ่ายทำและการตัดต่อ ผมปฏิเสธ "บทภาพยนตร์" โดยสิ้นเชิง หรืออย่างน้อยก็ปฏิเสธสิ่งนี้ตามความหมายปกติของมัน ผมชอบใช้สิ่งที่เรียกว่า "โครงเรื่อง" มากกว่า เพราะสิ่งนี้บ่งชี้ถึงพลวัตร, แนวคิดหรือหลักการมากมายที่เราสามารถใช้เป็นจุดตั้งต้น เพื่อที่เราจะได้ค้นหาวิธีการที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ในการถ่ายทำ ตอนนี้ผมต้องการให้ตารางการถ่ายทำของผมสั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ และต้องการให้ช่วงเวลาในการตัดต่อนานที่สุดเท่าที่จะทำได้"

"I have been going in this direction for three films now, in L'Amour Fou more than in Celine et Julie, and in Out 1 most of all. I hate to have the feeling, either during the shooting or the editing, that everything is fixed and nothing can be changed. I reject the word 'script' entirely -- at any rate in the usual sense. I prefer the old usage -- usually scenario -- which it had in the Commedia dell'Arte, meaning an outline or scheme: it implies a dynamism, a number of ideas and principles from which one can set out to find the best possible approach to the filming. I now prefer my shooting schedules to be as short as possible, and the editing to last as long as possible."

No comments: