MALADY OF US (2017, Tanakit Kitsanayunyong, 10min, A+30)
โรคของฉันเธอเขาท่านเหล่านั้น
ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่นี่
1.ดีใจสุดๆที่คุณ Tanakit กลับมาทำหนังเปรี้ยงๆอีกครั้ง เพราะเราเคยชอบหนังของเขาเรื่อง QUOTATION
MARK (อัญประกาศ) (2010) กับ
HI-DEFINITION GIRL (หญิงสาวแห่งความคมชัด) (2011) มากๆ
แต่หลังจากนั้นเขาก็แทบจะไม่ได้ทำหนังเปรี้ยงๆออกมาอีก
และดูเหมือนจะหายสาบสูญไปจากวงการหนังสั้นเหมือนกับนักศึกษามหาลัยส่วนใหญ่ที่เลิกทำหนังสั้นไปหลังจบการศึกษาแล้ว
เพราะฉะนั้นการที่เขาสร้างหนังเรื่องนี้ออกมาก็เลยเป็นที่น่าดีใจมากสำหรับเรา
2.พอได้ดูเรื่องนี้แล้วก็ชอบสุดๆเลยนะ
เพราะหนังเรื่องนี้มีความเป็นกวีที่เข้าทางเรามากๆ
และมันก็ดูเหมือนจะสอดแทรกประเด็นการเมืองเข้ามาด้วย
มันก็เลยไม่ใช่หนังกวีที่ลอยๆเป็นนามธรรม
เพ้อถึงหญิงสาวและการทำหนังเพียงอย่างเดียว แต่มีประเด็นทางการเมืองมาช่วย shape
ให้หนังดูไม่เบาหรือลอยฟุ้งจนเกินไป
หรือดูมีอะไรที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
เราเข้าใจว่าหนังเรื่องนี้ทำส่งโครงการ Ryuichi
Sakamoto ที่มี Apichatpong Weerasethakul อยู่ในโครงการด้วยนะ
และลักษณะข้างต้นที่เราบรรยายมา คือ ความเป็นกวี (หรือความเป็นหนังทดลอง) +
ความเป็นการเมือง มันก็คือองค์ประกอบหลักของหนัง Apichatpong นั่นแหละ เพราะฉะนั้นเราก็เลยรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ค่อนข้างตอบโจทย์ได้ดีทีเดียว
คือมันมีองค์ประกอบหลักที่สามารถเทียบเคียงได้กับหนังของเจ้ย
และเราว่าหนังมันก็ใช้เพลงของ Ryuichi Sakamoto ได้ดีด้วย
คือ “อารมณ์” ของเพลงกับภาพมันไปด้วยกันได้ดีในระดับนึงน่ะ และ “จังหวะ” ของภาพกับเพลงก็ไปด้วยกันได้ดีในระดับนึงเช่นกัน
3.จุดเด่นที่สุดของหนังเรื่องนี้คือการใช้ภาพแบบ
superimposition
ในหลายๆซีน และมีการใช้ split screen มาด้วยในบางซีน
รวมทั้งการใช้ text แทนเสียงของตัวละคร และเราก็ชอบการใช้
superimposition ในหนังเรื่องนี้มากๆ
คือจริงๆแล้วมันเป็นเทคนิคที่เราชอบมากๆน่ะ แต่ส่วนใหญ่มันจะพบแค่ในหนังทดลองของบางคนเท่านั้น
เพราะการ superimposition ส่วนใหญ่มันไม่ช่วยในการเล่าเรื่อง
(ยกเว้นในหนังยุคเก่า ที่มีการ superimposition ใบหน้าตัวละครกับเหตุการณ์ที่อยู่ในความคิด/ความทรงจำของตัวละคร)
แต่มันเป็นเทคนิคที่ก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรงบรรยายไม่ถูกสำหรับเรา
เวลาเราเห็นภาพเคลื่อนไหวสองหรือสามภาพซ้อนทับกัน
และเราว่ามันเป็นหนึ่งในเทคนิคที่มีแต่สื่อภาพยนตร์เท่านั้นที่จะทำได้ดีน่ะ
ในขณะที่สื่อวรรณกรรมทำแบบนี้ไม่ได้
คือการใช้ superimposition
ที่เราชอบสุดๆ อาจจะพบได้ในหนังของ Peter Tscherkassky,
Etant Donnes และ Wachara Kanha และเราก็แทบไม่เห็นผู้กำกับหนังไทยใช้เทคนิคนี้น่ะ
เราก็เลยดีใจมากๆที่หนังเรื่องนี้นำเทคนิคนี้มาใช้ และใช้ได้ดีมากๆด้วย
4.เราว่า superimposition และ split screen ในหนังเรื่องนี้สร้างความประทับใจให้กับเราใน 3 ด้านหลักๆนะ
4.1 ความงาม
คือเราว่าหลายๆซีนในหนังเรื่องนี้มันถ่ายมางามน่ะ
แม้แต่ซีนที่ไม่ได้มี superimposition อย่างเช่นซีนหญิงสาวยืนข้างหน้าต่างที่มีผ้าม่านพลิ้วไหว
แต่เวลาจะเอาซีน 2-3 ซีนมาวางซ้อนทับกัน
มันยิ่งยากเข้าไปอีกในการจะทำให้มันออกมาดูงดงามเวลาซ้อนทับกันแล้ว
แต่หนังเรื่องนี้ก็ทำได้สำเร็จ คือซีนต่างๆเวลาซ้อนทับกันแล้วมันอาจจะไม่ได้ดู
“งดงามมากขึ้น” ในทาง visual แต่มันก็ยังคงดูงดงามในระดับนึงอยู่ดีในหนังเรื่องนี้
4.2 ความหมาย
เราว่าการซ้อนทับกันในบางซีนของหนังเรื่องนี้
คำนึงถึง “ความหมาย” เป็นหลัก มากกว่าความพยายามจะทำให้ภาพดู visually beautiful มากขึ้นเวลาซ้อนทับกันแล้วน่ะ
ซึ่งตรงนี้จะแตกต่างจากหนังของ Etant Donnes คือหนังของ Etant
Donnes มัน superimposition กันหนักมาก
แต่มันซ้อนทับกันแล้วมันยิ่ง “visually beautiful” แต่มันอาจจะไม่ได้เน้นการสร้างความหมายแบบในหนังเรื่องนี้น่ะ
คือในหนังเรื่องนี้
มีบางฉากที่เราว่ามัน superimposition แล้วมันกระตุ้นความคิดเราให้เราตีความน่ะ
ไม่ว่าผู้กำกับจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม อย่างเช่น
4.2.1 ฉากที่ภาพนกหวีดสีแดง,
ศาลพระภูมิ กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยซ้อนทับกัน 3 layers คือแค่เจอฉากนี้ตอนต้นเรื่อง
เราก็กราบแล้ว ชอบมากๆที่คิดฉากแบบนี้ขึ้นมาได้
ส่วนผู้ชมแต่ละคนจะตีความฉากนี้อย่างไร ก็แล้วแต่ผู้ชมแต่ละคนจะตีความ
4.2.2 ฉากที่เราชอบสุดๆในหนังเรื่องนี้ ก็คือฉาก
รถยางแบนจอดอยู่ใต้ต้นเฟื่องฟ้า (ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด)
ที่ซ้อนทับกับภาพวิวท้องถนนที่แล่นไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ และมี text พูดเรื่องการหยุดทุกสิ่งเมื่อเวลา
08.00 น.มาถึง
คือแค่ภาพรถยางแบนจอดอยู่ใต้ต้นเฟื่องฟ้า
มันก็เป็นภาพที่เข้าทางเราสุดๆแล้วน่ะ
เราว่าภาพนี้มันทรงพลังมากๆโดยตัวมันเองอยู่แล้ว ภาพรถที่หมดสภาพแล้ว
ไปต่อไปไม่ได้ และถูกทิ้งให้อยู่ใต้ธรรมชาติ แต่พอเอาภาพนี้มาซ้อนทับกับวิวท้องถนน
มันก็เลยยิ่งทรงพลังขึ้นอีกหลายเท่า เพราะมันเป็นความขัดแย้งกันที่น่าสนใจมากๆ
ความขัดแย้งกันระหว่างรถที่วิ่งไม่ได้
กับวิวท้องถนนที่ไหลผ่านไปเรื่อยๆไม่หยุดหย่อน
เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าการซ้อนทับภาพรถยางแบนกับวิวท้องถนนเข้าด้วยกันสื่อถึงอะไร
แต่เราว่ามันกระตุ้นความคิดมากๆ และโดยส่วนตัวนั้น เราคิดถึงประเทศชาติของเรา
ประเทศชาติที่ระบบการปกครองเหมือนอยู่ในยุคเมื่อหลายสิบปีก่อน
ยุคที่ประชาชนยังไม่มีสิทธิมีเสียง และการพัฒนาทุกอย่างถูกหยุดเอาไว้ ในขณะที่เวลาและโลกทั้งใบกำลังก้าวรุดหน้าไปเรื่อยๆอย่างไม่หยุดยั้ง
ฉากรถยางแบนกับวิวท้องถนนก็เลยเป็นหนึ่งในฉากที่เราชอบที่สุดในปีนี้ไปเลย
ประเด็นเรื่อง
“การหยุดนิ่งของประเทศชาติ” นี้ อาจจะสื่อผ่านทางการหลับใหลของคนหลายๆคนในหนังเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
ซึ่งสิ่งนี้อาจจะสอดคล้องกับหนังเรื่อง CEMETERY OF SPLENDOUR ด้วย
4.2.3 อีกฉากที่กระตุ้นความคิดเรามากๆในหนังเรื่องนี้
ก็คือฉากที่มีการซ้อนทับภาพเมืองใหญ่จากระยะไกล กับภาพวงกลมหลากสีเข้าด้วยกัน
คือในฉากนี้เราจะเห็นตึกต่างๆมากมายอยู่ริมขอบล่างของภาพ
แต่ตรงจุดที่เราควรจะเห็นท้องฟ้าและพระอาทิตย์ลอยอยู่เหนือตึกต่างๆนั้น เรากลับเห็นวงกลมหลากสีแทน
คือฉากนี้เราไม่รู้ว่ามันสื่อความหมายอะไร และภาพมันก็ไม่ได้ “สวย” แบบตามขนบด้วย
แต่มันเป็นภาพที่เตะตาตรึงใจมากๆ และเราว่าการ superimposition ในฉากนี้มันกระตุ้นความคิดผู้ชมได้ดีมาก
4.3 ความเป็นกวี
คือเราว่าหลายๆฉากในหนังเรื่องนี้
พอมันซ้อนทับกันแล้วมันให้อารมณ์งดงามแบบกวีนะ
คือมันเป็นการซ้อนทับกันแล้วเราไม่รู้ว่า “มันจะสื่อความหมายอะไร” และ
“ภาพมันก็ไม่ได้ดูงดงามมากขึ้นด้วย”
แต่มันเป็นการซ้อนทับกันแล้วก่อให้เกิดอารมณ์งดงามแบบกวีขึ้นมาน่ะ อย่างเช่นภาพกิ่งไม้ใบหญ้าเวลาซ้อนทับกับภาพอื่นๆในหนังเรื่องนี้
เราว่าหนังเรื่องนี้สร้างอารมณ์แบบกวีออกมาได้งดงามพอสมควรเลยทีเดียว
และมันเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ง่ายๆด้วย
คือมันมีหลายฉากในหนังเรื่องนี้ที่อาจจะเป็นการซ้อนภาพธรรมดาสองภาพเข้าด้วยกันน่ะ
อย่างเช่นภาพคนนอนคุดคู้ที่ซ้อนทับกับภาพน้ำตก, ภาพคนนอนหลับบนโซฟาที่ซ้อนทับกับภาพต้นไม้ใบหญ้า
ฯลฯ คือถ้าหากภาพเหล่านี้มันอยู่เดี่ยวๆ ไม่ถูกซ้อนทับกับภาพอื่นๆ
เราก็อาจจะอ่านความหมายภาพพวกนี้แบบ literally ในตอนแรก อย่างเช่น “อ๋อ
เราเห็นคนนอนคุดคู้”, “อ๋อ เราเห็นน้ำตก”, “เราเห็นน้ำวน”,”เราเห็นคนในอ่างอาบน้ำ”
แล้วอาจจะพยายามหาทางเชื่อมโยงภาพที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกันเหล่านี้เข้าด้วยกัน แล้วถึงจะเกิดอารมณ์แบบกวีขึ้นมา
แต่พอภาพเหล่านี้ถูกซ้อนทับกันไปเลย
มันก็เหมือนมันเกิดอารมณ์กวีขึ้นในฉากนั้นเลยโดยทันที เหมือนอารมณ์กวีมันทวีคูณเป็นสองเท่ากว่าวิธีการข้างต้น
คือพอเราเห็นภาพราวเสื้อผ้าซ้อนทับกับภาพกิ่งก้านใบไม้ปุ๊บ
หัวสมองเราจะรับรู้ภาพที่เห็นในทันทีว่า “มันไม่ได้ต้องการนำเสนอข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาแน่ๆ”
หรือเปรียบเทียบง่ายๆก็เหมือนกับว่า
เราเห็นประโยคที่แตกต่างกันสองประโยคเขียนซ้อนทับกันอยู่น่ะ และพอเราเห็นประโยคสองประโยคเขียนซ้อนทับกันอยู่
เราก็จะอ่านทั้งสองประโยคไม่ออก แต่จะต้องใช้อีกระบบหนึ่งในหัวหรือในจิตเราไปสัมผัสรสชาติ,
อารมณ์ หรือความงามจาก “สิ่งที่เราอ่านไม่ออก” นั้นแทน และเราก็เรียกอารมณ์ของ “ความสุขที่ได้สัมผัสอะไรที่งดงามแต่อยู่เหนือความเข้าใจของเรา”
นี้ว่าอารมณ์กวี และเราว่า superimposition ในหลายๆฉากในหนังเรื่องนี้ให้อารมณ์แบบนี้
คือจริงๆแล้วหลายๆฉากมันอาจจะมี “ความหมาย” ก็ได้นะ แต่พอเราตีความมันไม่ออก
เราไม่รู้ว่า “น้ำ” ที่ปรากฏอยู่ในหลายๆฉากในหนังเรื่องนี้สื่อถึงอะไรกันแน่ เราก็เลยหันไปจับอารมณ์กวีในหลายๆฉาก
แทนที่จะพยายามตั้งหน้าตั้งตาตีความมัน
5.สาเหตุที่เราชอบฉาก “รถยางแบนใต้ต้นเฟื่องฟ้า”
กับฉาก “วงกลมหลากสีเหนือหมู่ตึกในเมืองใหญ่” มากที่สุดในหนังเรื่องนี้
นอกจากจะเป็นเพราะว่ามัน thought provoking มากๆทั้งสองฉากแล้ว ยังเป็นเพราะว่า
มันดู unique หรือไม่คล้ายกับหนังเรื่องอื่นๆที่เราเคยดูมาด้วย
คือจริงๆแล้วเราว่าหนังทั้งเรื่องนี้ถ่ายงามมาก
ทรงพลังมากๆในหลายๆฉากน่ะ แต่ถ้าหากถามว่าทำไมเราชอบสองฉากข้างต้นมากที่สุด
มันก็เป็นเพราะว่าฉากอื่นๆบางฉากในหนังเรื่องนี้ มันไปคล้ายกับหนังเรื่องอื่นๆโดยไม่ได้ตั้งใจน่ะ
คือมันสวยหรือทรงพลังในตัวมันเองน่ะแหละ
แต่พอมันไปคล้ายฉากที่เราเคยเห็นในหนังเรื่องอื่นๆมาแล้ว
พลังของมันก็เลยลดลงไปหน่อยในสายตาของเรา
ตัวอย่างของฉากที่คล้ายกับหนังเรื่องอื่นๆโดยไม่ได้ตั้งใจ
ก็มีเช่น
5.1 ฉากแมงกะพรุน ที่ทำให้นึกถึง PULMO MARINA (2010, Aurelien
Froment) และ IN APRIL THE FOLLOWING YEAR, THERE WAS A FIRE
(2012, Wichanon Somumjarn)
5.2 ฉาก split
screen ที่มีบันไดเลื่อนอยู่ตรงกลางในหนังเรื่องนี้ ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง
12:12 (Youngjeong Oh) คือจริงๆสองฉากนี้มันก็ไม่ได้คล้ายกันมากนะ
แต่หัวสมองเรามันเชื่อมโยงสองฉากนี้เข้าด้วยกันเองโดยอัตโนมัติน่ะ
คือพอเห็นฉากบันไดเลื่อนในหนังเรื่องนี้ปุ๊บ หัวสมองของเราก็จะคิดทันทีว่า “เอ๊ะ
เราเคยเห็นอะไรคล้ายๆกันนี้จากที่ไหนน้า” และเราว่าการที่หัวสมองของเราพยายามจับคู่ภาพจากหนังเรื่องต่างๆเข้าด้วยกันเองแบบนี้มันสนุกดี
555
5.3 การใช้ภาพ “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย”
พร้อมกับมี text ที่ระบายความคิดถึงผู้หญิงคนนึงที่จากไป มันทำให้เรานึกถึงหนังเรื่อง
“คิดถึงนะ เป็นประโยคบอกเล่า ไม่ต้องการคำตอบ แต่ต้องการคนได้ยิน” (2015,
Watcharapol Saisongkroh)
5.4 การใช้ภาพ “เมืองกลับหัว” ในช่วงท้ายหนังเรื่องนี้
ทำให้เรานึกถึงหนังเรื่อง ON SACRED LAND (1983-1984, Peter Kennedy &
John Hughes) ที่นำเสนอความพยายามของคนขาวในการ civilize ชาวอะบอริจินส์ในออสเตรเลีย
แต่ที่เราลิสท์ “ฉากต่างๆที่คล้ายกันโดยไม่ได้ตั้งใจ”
มานี้ เราไม่ได้ต้องการจะบอกว่านี่คือ “ข้อเสีย” ของหนังเรื่องนี้นะ
เพราะมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่เราจะสร้างหนังสักเรื่องขึ้นมา
โดยที่ทุกซีนของหนังเรื่องนั้นต้องไม่ซ้ำกับภาพยนตร์ทุกเรื่องที่เคยสร้างขึ้นมาแล้วบนโลกนี้
มันไม่มีทางเป็นไปได้ และเราก็ไม่สนับสนุนให้ใครทำแบบนั้นด้วย
แต่ที่เราลิสท์ฉากต่างๆ 4 ฉากข้างต้นมานี้ เพราะเราว่ามันสนุกดีสำหรับเรา ที่หัวสมองของเรามันเชื่อมโยงหนังหลายๆเรื่องเข้าด้วยกันเองโดยอัตโนมัติ
โดยที่ผู้กำกับไม่ได้ตั้งใจ และเราแค่ต้องการจะบอกว่า เพราะเหตุใดฉาก “รถยางแบนใต้ต้นเฟื่องฟ้า”
กับฉาก “วงกลมหลากสีเหนือหมู่ตึกในเมืองใหญ่”
ถึงเป็นฉากที่เราชอบที่สุดในหนังเรื่องนี้เท่านั้นแหละ
6.อย่างไรก็ดี
ถึงแม้เราอาจจะชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ
แต่มันก็อาจจะไม่ได้ติดอันดับหนึ่งประจำปีของหนังสั้นไทยที่เราได้ดูในปีนี้นะ
คือเราว่าหนังเรื่องนี้อาจจะมีจุดที่พัฒนาได้อีกน่ะ มันยังไม่ได้ “สุดยอด”
ซะทีเดียวหากวัดจากอารมณ์ความรู้สึกของเรา
จุดที่ทำให้หนังเรื่องนี้ไม่ได้
“สุดยอด” ซะทีเดียวสำหรับเรา มันอาจจะเกิดจากการที่เรา “ตีความ”
หนังเรื่องนี้ไม่ได้ในหลายๆฉากน่ะ
เพราะฉะนั้นผู้ชมคนอื่นๆอาจจะไม่มีปัญหานี้เหมือนเราก็ได้
ถ้าหากผู้ชมคนนั้นตีความหนังเรื่องนี้ได้หมด
คือเวลาที่เราดูหนังเรื่องนี้
เรารู้สึกเหมือนกับว่า “ความเป็นกวี” กับ “ความเป็นการเมือง”
มันอาจจะส่งเสริมกันและกันก็จริง แต่บางทีมันก็อาจจะขัดแข้งขัดขากันเองด้วย
รอบแรกที่เราดูหนังเรื่องนี้
เราพยายามจะตีความแต่ละฉากนะ แต่ก็พบว่าหลายๆฉากในหนังเรื่องนี้เราตีความมันไม่ได้
เพราะฉะนั้นพอเราดูหนังเรื่องนี้รอบสอง เราก็เลยพยายามไม่ตีความมัน
ลองปล่อยอารมณ์กับจิตของเราให้ไปกำซาบรสชาติความเป็นกวีจากหนังเรื่องนี้แทน
แต่ก็พบว่ามันก็ "ไม่สุด” สำหรับเราน่ะ
เราก็เลยแอบตั้งสมมุติฐานขึ้นมาเองว่า
หรือว่าหนังเรื่องนี้มันอาจจะเป็น “ส่วนผสมที่ยังไม่ลงตัวที่สุด”
สำหรับผู้กำกับคนนี้หรือเปล่า แต่สมมุติฐานของเราอาจจะผิดก็ได้นะ
คือเหมือนกับว่า อารมณ์กวีของหนังเรื่องนี้มันไปได้ไม่สุด
เพราะมันถูกถ่วงด้วยเรื่องการเมืองมากเกินไป โดยเฉพาะในฉากที่ขึ้น text เรื่องเรือดำน้ำน่ะ
คือแทนที่หนังเรื่องนี้จะสามารถสื่ออารมณ์กวีได้สุดๆ “ความพยายามจะยัดสาระการเมือง” เข้าไปในหนัง กลับไปขัดแข้งขัดขาอารมณ์กวีในหนังเรื่องนี้ในบางครั้ง
หรือถ้าหากหนังเรื่องนี้จะนำเสนอประเด็นการเมือง
การใช้วิธีการนำเสนอแบบเชิงกวีแบบนี้ มันก็ไปขัดขวางการนำเสนอประเด็นการเมืองด้วยเช่นกัน
เพราะผู้ชมหลายคนก็คงตีความไม่ได้
เราก็เลยรู้สึกว่า
ถึงแม้เราจะชอบองค์ประกอบความเป็นกวีและความเป็นการเมืองในหนังเรื่องนี้
แต่มันก็เหมือนองค์ประกอบสองอย่างนี้ มันยังไม่ลงตัวแบบสุดๆซะทีเดียวน่ะ
มันยังมีการขัดแข้งขัดขากันเองอยู่ และถ้าหากให้เราเดาเอาเอง
เราว่าถ้าหากหนังเรื่องนี้ลดความเป็นการเมืองลง
และหันไปเน้นอารมณ์กวีมากขึ้นอีกหน่อย บางทีมันอาจจะออกมาลงตัวกว่านี้ก็ได้
คือเราว่าผู้กำกับแต่ละคนที่ทำหนังที่มี
“ความเป็นกวี+ความเป็นการเมือง” อยู่ในหนังเรื่องเดียวกัน มันอาจจะต้องใช้ “สัดส่วน”
ที่ต่างกันไปสำหรับแต่ละคนน่ะ
แล้วหนังมันจะออกมาทรงพลังที่สุดสำหรับผู้กำกับคนนั้น ยกตัวอย่างเช่น
6.1 Apichatpong Weerasethakul +
Chulayarnnon Siriphol เราว่าผู้กำกับสองคนนี้เหมือนทำหนังที่มีความเป็นกวี
50% มีความเป็นการเมือง 50 % แล้วอาจจะออกมาลงตัวมากๆ
อย่างเช่น CEMETERY OF SPLENDOUR และ A BRIEF HISTORY
OF MEMORY (2010, Chulayarnnon Siriphol)
6.2 Manasak Khlongchainan, Wachara Kanha และ Viriyaporn Boonprasert อาจจะเป็นแบบความเป็นกวี
70% และความเป็นการเมือง 30% แล้วจะออกมาลงตัวมากๆ อย่างเช่น VR (2017,
Manasak Khlongchainan), ภาษาที่เธอไม่เข้าใจ (2014, Wachara
Kanha), HUNGARY MAN BOO (2012, Viriyaporn Boonprasert) คือเวลาดูหนังพวกนี้เราจะรู้สึกทึ่งกับความเป็นหนังทดลองของมันมากกว่าสารทางการเมืองที่เราได้รับจากหนัง
6.3 Taiki Sakpisit, Eakalak
Maleetipawan, Somchai Tidsanawoot, Sukrit
Wongsrikaew เราว่าสี่คนนี้เหมาะจะทำหนังที่มีความเป็นกวี 90%
และความเป็นการเมือง 10% แล้วจะออกมาลงตัวมากๆ
อย่างเช่น อนาลัยนคร (2017, Taiki Sakpisit), BOYS ARE BACK IN TOWN (2015,
Eakalak Maleetipawan), PRAYOON (2016, Somchai Tidsanawoot), PUSSY’S THRONE
(2016, Sukrit Wongsrikaew) คือเวลาดูหนังของ 4 คนนี้แล้ว
เราจะแทบตีความมันไม่ออกเลย แม้จะรู้ว่ามันเป็นหนังการเมือง แต่หนังของ 4
คนนี้ก็ทรงพลังอย่างสุดขีดคลั่งอยู่ดี แม้เราจะตีความมันแทบไม่ออก
6.4 ผู้กำกับที่ตรงกันข้ามกับข้อ
6.3 อาจจะเป็น Patana Chirawong ที่กำกับหนังอย่าง ปราสาทเสือ (2016) ที่มีความเป็นการเมือง 90% และมีความเหวอ 10%
แต่ก็ออกมาทรงพลังสุดๆเช่นกัน คือดูปราสาทเสือแล้วเราได้ข้อมูลเยอะ
ได้ประเด็นเยอะ และก็มีฉากเหวอๆงงๆแทรกเข้ามาเล็กน้อย แต่มันก็ออกมาลงตัวในแบบของมันเองมากๆ
แต่เราว่าไอ้เรื่อง “ส่วนผสมที่ยังไม่ลงตัว”
ใน MALADY
OF US นี่มันก็เป็นแค่ความเห็นของเราคนเดียวน่ะแหละ
ผู้ชมคนอื่นๆอาจจะมองว่ามันลงตัวอย่างสุดๆแล้วก็ได้ และเราเองก็รู้สึกแบบนี้กับหนังทดลองของนักศึกษาคนอื่นๆด้วย
คือเรื่องแบบนี้มันต้องอาศัยการฝึกฝีมือ ทดลองทำหนังกันต่อไปเรื่อยๆน่ะแหละ
แล้วอาจจะค้นพบส่วนผสมที่เหมาะกับตัวเองที่สุดหลังจากได้ทดลองทำหนังไปแล้วหลายเรื่อง
อย่างในปีนี้ หนังเรื่อง “ปัจจุบันผ่านพ้น”
(2017,
Yannawat Phuenudom, A+25) ก็ไม่ค่อยลงตัวในความเห็นของเรานะ
คือมันมีความเป็นการเมืองที่ชัดเจน
และมีความเป็นกวีสูงมากอยู่ในหนังเรื่องเดียวกัน
แต่เราว่ามันผสมกันออกมาแล้วลักลั่นยังไงไม่รู้ เราก็เลยยังไม่ได้ชอบ “ปัจจุบันผ่านพ้น”
ในระดับ A+30
สรุปว่ายังไงก็ชอบ MALADY OF US อย่างสุดๆน่ะแหละ
มันเป็นหนึ่งในหนังที่งดงามที่สุดที่เราได้ดูในปีนี้
และก็หวังว่าจะมีการผลิตหนังสั้นไทยแบบนี้ออกมาอีกเยอะๆนะ
No comments:
Post a Comment