Sunday, September 09, 2018

PRATTHANA: A PORTRAIT OF POSSESSION (2018, Toshiki Okada, stage play, A+30)


PRATTHANA: A PORTRAIT OF POSSESSION (2018, Toshiki Okada, stage play, A+30)
ปรารถนา ภาพเหมือนของการเข้าสิง

1.สุดฤทธิ์มากๆ ชอบ "ช่วงเวลา" ในเนื้อเรื่องของละครมากๆ เพราะมันตรงกับช่วงเวลาในวัยสาวของเราพอดี (1992-2016) และชอบที่มันครอบคลุมระยะเวลาที่นานราว 24 ปีแบบนี้ มันก็เลยทำให้ละครเวทีเรื่องนี้แตกต่างจากหนังไทยแนวการเมืองเรื่องอื่นๆที่เราเคยดูมา เพราะหนังไทยแนวการเมืองส่วนใหญ่ จะเจาะเหตุการณ์เดียว หรือถ้าเป็นหนังที่ครอบคลุมระยะเวลานาน ก็จะไม่ได้ครอบคลุมช่วงเวลา 24 ปีที่เฉพาะเจาะจงนี้ อย่างเช่น FORGET ME NOT (2018, Chulayarnnon Siriphol) ก็พูดถึงเหตุการณ์ตั้งแต่ 50 ปีก่อน ส่วน SILENCE WILL SPEAK (2006, Punlop Horharin) ก็พูดถึงประวัติศาสตร์การเมืองไทย และพฤษภาทมิฬ แต่จบลงที่รัฐประหารปี 2006

พอตัวละครในละครเรื่องนี้ ใช้ชีวิตในช่วงเวลาเดียวกับเรา และพานพบประสบกับความผันผวนทางการเมืองไทยหลายๆครั้งในช่วงเวลาเดียวกับเรา เราก็เลยรู้สึกกับละครเริ่องนี้ในแบบที่แตกต่างไปจากหนังไทยเรื่องอื่นๆ มันเหมือนกับว่า เราได้กลายเป็น "ตัวละครเอก" ในเรื่องราวแบบ "สี่แผ่นดิน" หรือ "ร่มฉัตร" น่ะ เพราะปกติแล้ว เรื่องราว fiction แบบไทยๆที่มีความ epic แบบนี้ และพูดถึงชีวิตตัวละครท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองแบบนี้ มักจะมีตัวละครเอกที่เกิดตั้งแต่ยุค 50-100 ปีก่อนน่ะ แต่เรื่องราวใน "ปรารถนา" มันมีความ epic ในแบบของมัน แต่มันเป็นเรื่องร่วมสมัย ตัวละครเกิดในยุคสมัยเดียวกับเรา เราก็เลยรู้สึกดีกับมันมากๆ มันเหมือนกับว่าคนยุคเราซึ่งเคยมีสถานะเป็นลูกหรือหลานของพระเอกนางเอกในนิยายอีพิค ได้เลื่อนสถานะขึ้นมาเป็นพระเอกนางเอกเองแล้ว และความผันผวนในข่วง 24 ปีที่ผ่านมา ก็เหมือนกลายเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างมากช่วงนึง

2.ช่วงครึ่งแรกของละคร เราจะใจลอย คิดถึงชีวิตตัวเองในทศวรรษ 1990 บ่อยมากนะ เพราะว่า

2 1 เราไม่ค่อยเจอหนังไทยในยุคนี้ที่พูดถึงต้นทศวรรษ 1990 น่ะ เพราะผู้กำกับหนังสั้นไทยในยุคนี้ ต่างก็เล่าเรื่องในทศวรรษปัจจุบันเป็นหลัก ส่วนผู้กำกับหนังไทยที่มีอายุใกล้เคียงกับเรา อย่างเช่น ผู้กำกับกลุ่ม "แฟนฉัน" ก็ไม่ได้ทำหนังการเมือง โดยเฉพาะการเมืองในทศวรรษ 1990 จะมีก็แต่หนังที่พูดถึงวิกฤติต้มยำกุ้ง และ Hamer Salwala ที่ทำหนังที่พูดถึงพฤษภาทมิฬอย่างจริงจัง

ละครเวทีเรื่องนี้ ก็เลยเหมือนเป็นหนึ่งในละคร/หนังไม่กี่เรื่อง ที่กระตุ้นให้เราหวนรำลึกถึงช่วงเวลาในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ตอนที่เราดูละครเรื่องนี้ เราก็เลยนึกถึงอดีตของตัวเองตลอดเวลา

2.2 เราว่า form หรือ style ของละครเรื่องนี้ ก็อาจจะ "จงใจ" กระตุ้นให้ผู้ชมคิดถึงเรื่องอื่นๆที่ไม่ได้อยู่ในละครตรงหน้าด้วยนะ เพราะละครเรื่องนี้ ใช้นักแสดงสลับสับเปลี่ยนกันไปมา ในการเล่นเป็นตัวละครคนเดียวกัน ฉากของละคร ก็ไม่ได้พยายามลวงให้เรารู้สึกว่า เรากำลังอยู่ในสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์นั้นๆ เราว่าวิธีการเล่าเรื่องแบบนี้ ก็เลยไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่า เรากำลังดูเรื่องของใครคนใดคนหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจงเหมือนในละครทั่วๆไปน่ะ และพอเรารู้สึกว่า ตัวละคร A ในละครเรื่องนี้ มันไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาที่เฉพาะเจาะจง หรือไม่ใช่ คนๆหนึ่งที่มีความ unique จนคนอื่นไม่สามารถแทนที่ได้ (แบบตัวละครในเรื่อง fiction ทั่วไป) แต่เป็นเหมือนภาพแทนของจิตสำนึกของคนหลายๆคน ละครเรื่องนี้ก็เลยเหมือนกระตุ้นให้เราคิดถึงเรื่องของตัวเองในยุคสมัยนั้นๆตามไปด้วย

3.แต่พอช่วงครึ่งหลัง เราก็มีสมาธิกับละครมากขึ้น เพราะ "น้องน้ำ" หล่อ sexy น่ารักมากๆ 555

4.หากให้เทียบว่าดูละครเวทีเรื่องนี้แล้วนึกถึงหนังเรื่องไหน เราก็จะนึกถึงหนังต่างประเทศที่เล่าเรื่องชีวิตคนธรรมดาที่ผ่านช่วงเวลาต่างๆอย่างยาวนานนะ โดยที่ตัวละครในหนังไม่ได้เป็น hero หรือบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ แต่เป็นคนธรรมดาที่ต้องเผชิญกับความผันผวนทางการเมืองในหลายๆช่วงเวลา

หนัง/ละครทีวีที่เรานึกถึงมากที่สุดก็คือ BERLIN ALEXANDERPLATZ (1980, Rainer Werner Fassbinder, West Germany, 15hours 31mins) เพราะว่า

4.1 protagonist ของทั้ง BERLIN ALEXANDERPLATZ และ “ปรารถนา” ไม่ใช่ “คนดี” ในสายตาของเรา 555 แต่เป็นตัวละครสีเทาแก่มากๆ

4.2 เรื่องราวทั้งสองเรื่องนี้ ไม่ได้พูดถึงการเมืองแบบเพียวๆ แต่พูดถึง “ชีวิตของพระเอกที่เป็นคนธรรมดา” และ “ความสัมพันธ์ทางเพศของพระเอก” เป็นหลัก โดยที่การเมืองเป็น background

4.3 เรื่องราวทั้งสองเรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วง the rise of fascism เหมือนกัน โดยเนื้อหาของ BERLIN ALEXANDERPLATZ เกิดขึ้นในทศวรรษ 1920 จนกระทั่งฮิตเลอร์ขึ้นมาเรืองอำนาจ ส่วนเนื้อหาใน “ปรารถนา” ก็เกิดขึ้นในยุค the rise of fascism in Thailand ก็ว่าได้

นอกจาก BERLIN ALEXANDERPLATZ แล้ว ความ “ยิ่งใหญ่” ของปรารถนา ก็ทำให้เรานึกถึงหนังอย่าง A BRIGHTER SUMMER DAY (1991, Edward Yang, Taiwan, 3hours 57mins), EVOLUTION OF A FILIPINO FAMILY (2004, Lav Diaz, Philippines, 9hours), SUMMER PALACE (2006, Lou Ye, China, 2hours 38mins) , THE TIN DRUM (1979, Volker Schlöndorff, West Germany, 2 hours 22mins) และ UNDERGROUND (1995, Emir Kusturica, Yugoslavia, 2hours 50mins)  ด้วย เพราะหนังเหล่านี้ต่างก็สะท้อนชีวิตคนธรรมดาท่ามกลางความผันผวนของสังคมการเมืองเหมือนๆกัน และทั้งไต้หวัน, ฟิลิปปินส์, จีน, เยอรมนี และยูโกสลาเวีย ต่างก็เป็นประเทศที่เคยเผชิญกับความเลวร้ายของระบอบการปกครองของประเทศตนเองอย่างหนักหนาสาหัสเหมือนๆกันด้วย

เราก็เลยชอบ “ปรารถนา” ตรงจุดนี้มากๆด้วย เพราะมันทำให้เรานึกถึงหนังที่ยิ่งใหญ่กลุ่มนี้ ซึ่งดูเหมือนว่าอาจจะยังไม่มีหนังไทยที่สามารถทำได้ทัดเทียมถึงขั้นนั้น



No comments: