Monday, October 08, 2018

THE WALL (2018, Boonsong Nakphoo, A+30)


THE WALL (2018, Boonsong Nakphoo, A+30)
เณรกระโดดกำแพง

1.ดูแล้วนึกถึง I AM A SEX ADDICT (2005, Caveh Zahedi) ในแง่ที่ว่า หนังทั้งสองเรื่องมันเป็นหนังแนวอัตชีวประวัติเหมือนกัน แต่ไม่ได้ทำเป็นสารคดีแบบทื่อๆตรงๆ และหนังทั้งสองเรื่องต่างก็เป็นหนังที่เหมือนเปิดเปลือยปมในใจผู้กำกับออกมาอย่างรุนแรง เพียงแต่ว่าในกรณีของ THE WALL นั้น ผู้กำกับไม่ได้เป็น sex addict แต่เป็น filmmaking addict

ชอบหนังทั้งสองเรื่องนี้มากๆในแง่ที่ว่า มันเหมือนคว้านลึกลงไปในชีวิตจิตใจความทุกข์ความสุขของผู้กำกับออกมาอย่างหมดเปลือกน่ะ เหมือนผู้กำกับเปลือยร่างกายให้เราเห็นทุกสัดส่วน เพียงแต่ว่ามันไม่ใช่การเปลือยกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย แต่เป็นการเปลือยส่วนลึกในใจของตนเอง และประวัติของตนเองออกมา ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายนัก

2.หนังอีกเรื่องที่นึกถึงตอนดูหนังเรื่องนี้ ก็คือ THE LONG DAY CLOSES (1992, Terence Davies, UK) เพราะหนังทั้งสองเรื่องนี้สะท้อนชีวิตผู้กำกับตอนที่ยังเป็นเด็กเหมือนกัน โดย THE LONG DAY CLOSES เล่าถึงชีวิตผู้กำกับขณะที่มีอายุ 11 ปี และเด็กชายในหนังทั้งสองเรื่องนี้ต่างก็หลงใหลในภาพยนตร์อย่างรุนแรง และมีการนำคลิปภาพยนตร์เก่าๆมาใช้ประกอบหนังทั้งสองเรื่องนี้เหมือนกันด้วย หนังทั้งสองเรื่องนี้ต่างก็เป็นการสะท้อน “ความทรงจำ” ของผู้กำกับออกมาได้อย่างงดงามปนเศร้าสร้อย และอย่างทรงพลังมากๆ

3.ดูแล้วนึกถึงหนังสั้นนักศึกษากลุ่มที่เราชอบมากๆ กลุ่มนึง ซึ่งก็คือหนังกลุ่ม “บำบัดปมในใจผู้กำกับ” เพราะนักศึกษาบางคนทำหนังจากเรื่องส่วนตัว ประสบการณ์ชีวิตตนเอง โดยเฉพาะปมเศร้าปมทุกข์ที่ฝังลึกในใจตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องปัญหาครอบครัว และหนังกลุ่มนี้มีบางเรื่องที่ออกมาทรงพลังมากๆ ดีมากๆ เพราะมันเหมือนผู้กำกับกรีดเลือดกรีดหนองในใจตนเองใส่เข้าไปในหนัง และถ้าทำออกมาดีๆ มันจะก็ส่งทอดความเจ็บปวดเศร้าสร้อยมาถึงผู้ชมได้

แต่หนังกลุ่ม “ฟิล์มบำบัด” นี้เราไม่ค่อยได้เห็นในหนังโรงใหญ่หรือหนังยาวน่ะ เพราะพอมันเป็นหนังโรงใหญ่หรือหนังยาว ผู้กำกับส่วนใหญ่ก็มักเลือกที่จะพยายามเข้าถึงผู้ชมส่วนมาก และไม่กล้าใส่ตัวเองเข้าไปในหนังมากนัก

พอดู THE WALL เราก็เลยชอบมากๆตรงจุดนี้ด้วย เพราะเรารู้สึกว่าความทุกข์ของตัวละครในหนัง มันเหมือนเป็นการถ่ายทอดความทุกข์จริงๆของผู้กำกับหนังอินดี้ในไทยออกมาน่ะ และมันถ่ายทอดความฝันในวัยเด็กออกมาด้วย ในแง่นึงเราก็เลยรู้สึกราวกับว่า THE WALL มีลักษณะคล้ายเป็นการบำบัดใจผู้กำกับ หรือการระบายความในใจของผู้กำกับออกมา คล้ายๆกับหนังกลุ่มฟิล์มบำบัดของนักศึกษา

แต่สิ่งที่ดีมากๆในหนังเรื่องนี้ก็คือว่า คุณบุญส่งมีชีวิตที่แตกต่างเป็นอย่างมากจากนักศึกษาทำหนังส่วนใหญ่น่ะ เพราะฉะนั้นถึงแม้ THE WALL จะมี “พลังความทุกข์ความเศร้าของผู้กำกับ” อัดแน่นอยู่เหมือนหนังกลุ่มฟิล์มบำบัดของนักศึกษา ที่มักจะเล่าเรื่อง แม่ตาย, แม่ไม่รัก, พ่อตาย, พ่อไม่รัก, คิดถึงเพื่อนเก่า, คิดถึงแฟนเก่า, คิดถึงบ้านในชนบท ฯลฯ หนังเรื่องนี้ก็เล่าเรื่องที่แตกต่างจากหนังนักศึกษาเป็นอย่างมาก เพราะการที่ตัวละครเอกมีชีวิตที่ยากจนในวัยเด็ก และต้องบวชเณร แต่หลงรักการแสดงและภาพยนตร์ตั้งแต่ยังเป็นเณร มันเป็นชีวิตแบบที่เราไม่เคยพบในหนังไทยเรื่องอื่นๆ มาก่อนน่ะ และมันก็เลยเป็นข้อได้เปรียบอย่างนึงของหนังเรื่องนี้ และทำให้หนังเรื่องนี้โดดเด่นไม่ซ้ำแบบใคร

4.แต่สิ่งที่เราชอบที่สุดในหนังเรื่องนี้ คือการที่หนังเรื่องนี้ทำให้เราคิดถึงชีวิตตัวเองตลอดเวลาขณะที่ดูหนังไปด้วย 555

คือเราเป็นคนที่ชอบคิดถึงอดีตของตัวเองเมื่อ 30 ปีก่อนเป็นอย่างมาก สมัยที่เรายังเรียนมัธยมน่ะ คือพอเราอายุ 45 ปีแล้ว เรากลับพบว่า ช่วงเวลาที่เรามีความสุขที่สุดในชีวิต มันคือช่วงปี 1988-1989 ตอนที่เรายังเรียนชั้นม.4-ม.5 น่ะ เพราะฉะนั้น พอเรานั่งรถผ่านบริเวณโรงเรียนมัธยมของเรา เราก็มักจะรู้สึกเหมือนเห็นตัวเรากับเพื่อนๆในปี 1988-1989 เดินไปเดินมาอยู่แถวนั้น มันเหมือนกับว่า ความทรงจำของเราที่มีต่อปี 1988-1989 มันฝังแน่นมาก มันหลอนมากๆ มันไม่ยอมปล่อยเราไป จนบางทีเราก็อดคิดไม่ได้ว่า เราจะ exorcise ความทรงจำที่ฝังแน่นนี้ออกมาผ่านทางการสร้างเป็นภาพยนตร์ดีมั้ย เพื่อจะได้บันทึกความทรงจำที่ฝังแน่นนี้ ที่หลอกหลอนเราด้วยความหอมหวาน ความฟุ้งฝัน ความ innocence ความมองโลกในแง่ดี ความเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเองนี้ ออกไปจากตัวเรา บางทีพอเราถ่ายทอดมันออกมาเป็นภาพยนตร์ หรือเป็นตัวอักษรแล้ว เราอาจจะ make peace กับตัวเองได้มากขึ้น

เพราะพอเวลาผ่านไป สิ่งเหล่านั้นมันได้หายไปหมดแล้ว ความหอมหวานของวัยเยาว์ได้กลายเป็นความขมขื่น ความฟุ้งฝัน และจินตนาการที่ limiltess ได้กลายเป็นการยอมรับกับความจริงของชีวิต ความ innocence ได้กลายเป็นความหยาบกร้าน การมองโลกในแง่ดีได้กลายเป็นการมองโลกในแง่ร้าย และความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง ได้กลายเป็นการยอมรับว่าตัวเองมีความสามารถที่จำกัดจำเขี่ยมากเพียงใด ความฝันในวัยเยาว์ที่อยากมีผัวชาวสวีเดนหรือผัวชาวแคนาดาได้หมดไปจากใจเราแล้ว ตอนนี้ขอแค่ใช้ชีวิตได้ถึงตอนเย็นของแต่ละวัน โดยที่หมอนรองกระดูกยังไม่เคลื่อน กูก็พอใจกับชีวิตแล้ว

การที่หนังของคุณบุญส่งเรื่องนี้ มันมีความหลอนจากวัยรุ่น ความฝังใจกับชีวิตวัยรุ่นของตนเองเมื่อ 30 ปีก่อนอยู่ในหนัง มันก็เลยส่งผลกระทบกับเราอย่างรุนแรงมาก เพราะเราเองก็มีอาการคล้ายๆแบบนี้เหมือนกัน และมันเป็นสิ่งที่เราไม่พบในหนังนักศึกษาไทยด้วย เพราะนักศึกษามันยังอายุไม่ถึง มันยังไม่มีประสบการณ์ชีวิตที่ตัวเองเคยเป็นวัยรุ่นเมื่อ 30 ปีก่อน มันก็เลยไม่มีหนังสั้นหรือหนังยาวไทยที่มีลักษณะแบบนี้ หนังแบบนี้มันต้องอาศัยคนทำที่มันมีอายุถึงขั้นนึงจริงๆ มีประสบการณ์ชีวิตจริงๆ มี memory ที่ฝังใจจริงๆ มันถึงจะถ่ายทอดออกมาอย่างทรงพลังแบบนี้ได้

อย่างไรก็ดี THE WALL มันก็ต่างจากเราตรงที่ว่า ตัวละครเอกของ THE WALL ในปัจจุบันยังคงมี “ความฝัน” อยู่ ส่วนตัวเราในปัจจุบันนั้น ไม่มีความฝันใดๆหลงเหลืออยู่อีกต่อไปแล้ว

No comments: