Sunday, January 06, 2019

GIRL (2018, Lukas Dhont, Belgium/Netherlands, A+30)


GIRL (2018, Lukas Dhont, Belgium/Netherlands, A+30)

1.งดงามน้ำตาไหล เหมือนเป็นภาคสองของหนังสารคดีเรื่อง VALENTIJN (2007, Hetty Nietsch, Netherlands, A+30) ที่ติดตามชีวิตของเด็กชายวัย 10-12 ขวบที่เริ่มใช้ puberty inhibitors เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ขั้นตอนการแปลงเพศเป็นสตรีในอนาคต

2.พอดู GIRL ไปได้ 15 นาที ใจเราก็ภาวนาให้หนังจบโดยเร็วที่สุด เพราะเรารักตัวละครนางเอกมากๆ ดูแล้วนึกถึงเพื่อนคณะอักษรคนนึง เพราะฉะนั้นเราก็เลยภาวนาให้หนังจบโดยเร็ว เพื่อที่นางเอก (ที่ดูมีความอ่อนหวาน เปราะบาง) จะได้ไม่เผชิญความยากลำบาก หรือความชิบหายใดๆในชีวิต 555

คือ "การมีชีวิตเป็นตัวละครในหนัง narrative" มันทำให้เราคาดเดาล่วงหน้าได้ว่า นางเอกที่มีชีวิตค่อนข้างลงตัว มีพ่อที่ใจกว้าง ดีเลิศประเสริฐศรี ในช่วงต้นเรื่อง มีโอกาสสูงมากๆที่เธอจะต้องเจออุปสรรคแรงๆในชีวิต เจอความทุกข์มากๆในเวลาต่อมา ตามขนบการเล่าเรื่องของหนัง ก่อนที่ทุกอย่างจะคลี่คลายในตอนจบ หรือไม่นางเอกก็ตายตอนจบ อะไรทำนองนั้นน่ะ แต่พอเรารักตัวละครนางเอกมากๆตั้งแต่ช่วงต้นเรื่อง เราก็เลยไม่อยากให้นางเอกเจออะไรเลวร้ายทั้งสิ้นในเวลาต่อมา เราอยากให้หนังรีบจบโดยเร็ว เธอจะได้ไม่ต้องเจออะไรซวยๆ แล้วยิ่งเธอมีชีวิตอยู่ในหนังยุโรปด้วยแล้ว โอกาสที่เธอจะเจออะไรโหดๆก็มีเยอะกว่าในหนังอเมริกันด้วย (ดูอย่าง IRREVERSIBLE ของ Gaspar Noe และ A WEDDING ของ Stephan Streker สิคะ)

3.พอดูหนังจบแล้ว ทำให้รู้สึกว่า แต่ละสังคมมันก็มีข้อดีข้อเสียของมันเอง 555 คือตอนแรกเราจะรู้สึกว่า สังคมในหนังเรื่องนี้มัน “อารยะ” มากๆ และมันมีวิธีการจัดการกับประเด็นยากๆในแบบที่น่าสนใจดี อย่างเช่น ตอนที่ครูให้โหวตเรื่องการใช้ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าของนางเอก

 แต่พอดูจบแล้ว เราจะสงสัยว่า ถ้าหากนางเอกเกิดในไทย เธอจะเจอปัญหาแบบเดียวกับในหนังเรื่องนี้หรือเปล่า คือเรารู้สึกว่า สังคมเบลเยียมในหนังมันดูดีกว่าสังคมไทยในแง่นึง แต่สิ่งหนึ่งที่สังคมเบลเยียมในหนังเรื่องนี้ไม่มี ก็คือ “แก๊งกะเทยในโรงเรียนมัธยม” 555 เพราะฉะนั้นเราก็เลยรู้สึกว่า ถ้าหากนางเอกเกิดในไทย เธอก็คงจะมีเพื่อนกะเทยมากมายในโรงเรียนมัธยมไปแล้ว เธอจะรู้สึกว่า เธอไม่โดดเดี่ยว มีเพื่อนๆมากมายที่เป็นแบบเดียวกับเธอ และรอการแปลงเพศแบบเดียวกับเธอ และเพื่อนๆในแก๊งของเธอก็มีสิทธิเชิดชูเธอให้เป็นราชินีประจำกลุ่มด้วย เพราะเธอสวยซะขนาดนั้น แล้วเธอจะรู้สึกกดดันแบบในหนังเรื่องนี้ไหม ถ้าหากเธอเกิดในไทย

ก็เลยรู้สึกว่า GIRL เป็นหนังที่งดงามมากๆ และมันก็อาจจะสะท้อนความแตกต่างทางสังคมด้วย เพราะเราว่ากะเทยวัยมัธยมในไทย มักจะมีปัญหาเรื่องพ่อแม่ญาติโกโหติกาไม่ยอมรับ แต่จะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่อง “ขาดเพื่อน” เพราะฉะนั้นสถานการณ์แบบใน GIRL ก็เลยเหมือนเป็นอะไรที่น่าสนใจดีสำหรับเรา เพราะมันเป็นปัญหาที่เกิดในโลกที่ศิวิไลซ์มากๆแล้ว ซึ่งมันจะมีลักษณะแตกต่างจากปัญหาสำหรับกะเทยในสังคมอื่นๆ ทั้งสังคมไทย, สังคมฟิลิปปินส์ (ลองดูหนังอย่าง ASTRI & TAMBULAH), สังคมอิหร่าน (ลองดูหนังอย่าง BE LIKE OTHERS), ฯลฯ

No comments: