CONCRETE ROOTS (2018, Achitaphon Piansukprasert, 90min, A+30)
รากพราย
1.หนังยาวเรื่องแรกที่เราได้ดูในปีนี้ ถือว่าหนักข้อมากทีเดียว เพราะมันเป็นหนังทดลองที่ไม่มีความประนีประนอมใดๆต่อผู้ชม
เราคิดว่าองค์ประกอบของหนังเรื่องนี้อาจจะแบ่งออกได้เป็น 4 ส่วนใหญ่ๆ ซึ่งก็คือ
1.1 ส่วนที่เป็นการจับภาพคนงานก่อสร้างขณะทำงานสร้างบ้านหลังหนึ่ง โดย focus ไปที่การผสมปูน
1.2 ส่วนที่เป็นการจับภาพกิจกรรมในวัดแห่งหนึ่ง
ที่มีการบูชาเจ้าแม่ตะเคียนทอง, เจ้าแม่สะไบทอง และเจ้าแม่สะไบเงิน โดยมีการ focus ไปที่เสาปูน
2-3 เสาที่วางนอนอยู่ และมีคนมาบูชาเสาปูนเหล่านี้
ซึ่งเราก็ไม่มีความรู้ว่ามันคืออะไร
มีใครรู้บ้างว่าเสาปูนที่คนบูชาในวัดมันคืออะไรกัน
1.3 ส่วนที่เป็นการจับภาพพืชและสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะปลาและนก
1.4 ส่วนที่เป็นหนังทดลองหลอนๆ
2.ถ้าจะถามว่าหนังเรื่องนี้สื่อถึงอะไร เราก็ตอบไม่ได้ 555
แต่ตอนที่ดูหนังเราก็ตระหนักถึงความจริงที่ว่า ทั้งบ้าน,อาคารที่เราอยู่อาศัย
หรือแม้แต่วัตถุบูชาบางอย่าง มันก็สร้างจากวัสดุพื้นฐานและแรงงานคนเหมือนๆกัน
บ้านที่เราอยู่ก็มาจากปูนและแรงงานของคนงานก่อสร้าง หรือ “วัตถุศักดิ์สิทธิ์”
ต่างๆ มันก็ทำจากอิฐ,หิน, ดิน, ทราย, ไม้, โลหะ อะไรพวกนี้ แต่เราว่าหนังอาจจะไม่ต้องการสื่อถึงอะไรพวกนี้หรอก
หนังมันคงมีอะไรมากกว่านั้น ซึ่งเราไม่รู้ว่าคืออะไร 555
3.องค์ประกอบที่ชอบที่สุดในหนัง ก็คือความเป็นหนังทดลองหลอนๆนี่แหละ
เพราะเรามีรสนิยมชอบอะไรแบบนี้ และจูนติดกับอะไรแบบนี้ได้ง่าย คือยอมรับเลยว่า
ช่วง 20 นาทีแรกที่เป็นการจับภาพคนงานก่อสร้างทำงานไปเรื่อยๆเนี่ย
เราปรับตัวให้เข้ากับหนังได้ยากมาก แต่พอหนังตัดไปเป็นการซูมเข้าไปหาอะไรสักอย่างในแมกไม้
(มันคืออะไร เราดูไม่ออก) พร้อมกับสร้างบรรยากาศหลอนๆขึ้นมา
เราก็จูนติดกับฉากนั้นในทันที
ชอบฉากที่ถ่ายตุ๊กตาบูชาด้วยอารมณ์หลอนๆด้วย ฉากที่เป็น graphic หลอนๆอะไรต่างๆ
เราก็ชอบมาก
รู้สึกด้วยว่า หนึ่งในลายเซ็นของ Achitaphon คือ “การสร้างความรู้สึกที่ว่า
มีคลื่นพลังงานอะไรบางอย่างที่มองไม่เห็น ลอยอยู่ในบรรยากาศ” ซึ่งเป็นสิ่งที่พบได้ในหนังเรื่อง
“หวีนางเงือก” และ “วิญญาณ” และก็พบได้ในหนังเรื่องนี้ด้วย
4.แต่ยอมรับเลยว่า เราจูนไม่ติดกับส่วน 1.1 และ 1.2 ที่เป็นการถ่ายคนงานก่อสร้างกับการถ่ายบรรยากาศในวัด
เหมือนมันหนักข้อเกินไปสำหรับเรา
แต่มันก็น่าสนใจดีที่มีคนเลือกใช้วิธีการแบบนี้ในการถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ออกมา
คือตอนที่ดู เราจะนึกไปด้วยว่า มันมีวิธีการใดๆอีกบ้างในการถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้
โดยวิธีการอื่นๆก็มีเช่น
4.1 การสัมภาษณ์คนงานก่อสร้างและคนขายวัตถุบูชาในวัดโดยตรง
ซึ่งเป็นวิธีการที่เหมาะ ถ้าหากผู้กำกับต้องการทำหนังที่เน้นการให้ “ข้อมูล”
แก่ผู้ชม
4.2 แต่ถ้าหากไม่ต้องการทำหนังที่เน้นการให้ข้อมูลโดยตรงแก่ผู้ชม
เราก็ให้ข้อมูลแก่ผู้ชมในทางอ้อมได้ ด้วยการ frame ภาพที่ดี เพราะการเลือก
frame ภาพที่ดีจะทำให้ซีนนั้นให้ได้ทั้งข้อมูล
และความสวยงามเพลินตา ดูได้นานๆไม่เบื่อ ซึ่งวิธีการแบบนี้สามารถศึกษาได้จากหนังอย่าง
OUR DAILY BREAD (2005, Nikolaus Geyrhalter) และ IN
COMPARISON (2009, Harun Farocki) ที่ถ่ายทอดวิธีการทำงานของคนงานเหมือนๆกัน
5.จริงๆแล้วก็คือว่า เรารู้สึกว่าส่วนที่เป็นการถ่ายคนงานก่อสร้างกับถ่ายบรรยากาศในวัด
มันเหมือนขาดมนต์เสน่ห์ทางภาพอยู่บ้างน่ะ แล้วพอเราดูหนังผ่านทางจอคอมพิวเตอร์
มันก็เลยยิ่งเหมือนต้องใช้ความอดทนในการดู แต่ถ้าดูทางจอใหญ่ๆ
อาจจะจูนติดกับมันง่ายขึ้น
คือเราว่า “มนต์เสน่ห์ทางภาพ”
ถ้าหากทำได้ มันก็จะทำให้หนังย่อยง่ายขึ้นสำหรับผู้ชมในวงกว้างนะ 555
คือนอกจากหนังของ Nikolaus Geyrhalter และ Harun Farocki แล้ว เราก็นึกถึงหนังอีกหลายๆเรื่องที่มันถ่าย “สิ่งของ” หรือ “สถานที่”
แบบจับจ้องไปที่สิ่งนั้นนานๆ โดยไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยน่ะ แต่หนังเหล่านี้มันมี “มนต์เสน่ห์ทางภาพ”
อย่างรุนแรง มันก็เลยสะกดเราได้อยู่หมัด หนังในกลุ่มนี้ก็มีเช่น HOTEL
MONTEREY (1973, Chantal Akerman), AGATHA AND THE LIMITLESS READINGS (1981,
Marguerite Duras), WINDOWS (1999, Apichatpong Weerasethakul), RUHR (2009, James
Benning) คือจะให้เราจ้องประตูลิฟท์ 10 นาที, จ้องหน้าต่าง 20
นาทีอะไรแบบนี้ เป็นสิ่งที่เราทำได้สบายมาก ถ้าหากหนังมันถ่ายทอดอะไรแบบนี้ออกมาได้อย่างมีมนต์สะกดจริงๆ
แต่พอให้เราต้องดูคนงานก่อสร้างทำงานแบบ “ดิบ” มากๆอย่างนี้ เราก็ยอมรับว่า
เราจูนติดได้ยากเหมือนกัน 555
6.แต่ก็ชอบหนังมากๆอยู่ดีนะ
ถือว่ามันเป็นการทดลองทำอะไรแปลกๆใหม่ๆที่น่าสนใจดี มีความเป็นตัวของตัวเอง และก็ไม่ประนีประนอมกับคนดูจริงๆ
เป็นหนังที่เราต้องใช้ความอดทนในการดูมากพอๆกับหนังอย่าง YOU HAVE TO WAIT,
ANYWAY (2007, Nawapol Thamrongrattanarit, 22min), THE RAPE OF BANGKOK ข่มขืนกรุงเทพ (2011, Wachara Kanha, Teeranit Siangsanoh, 90min) และ “นิราศเขาวงกต” (2014, Prap Boonpan, 268min) เพราะหนังเหล่านี้ก็ถ่ายทอดซีนต่างๆที่บางทีแทบไม่มีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้นเป็นเวลานานเหมือนๆกัน
และก็ไม่ได้เน้นความสวยงามด้านภาพมากนักด้วย แต่ก็ถือว่าชอบหนังกลุ่มนี้มากๆอยู่ดีน่ะแหละ
และบางทีการที่ต้องใช้ความอดทนในการดู ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้หนังมันน่าจดจำได้เหมือนกัน
No comments:
Post a Comment