Monday, April 26, 2021

KETEKE

 KETEKE (2017, Peter Sedufia, Ghana, A+30)


1.น่าจะเป็นหนังจากประเทศ Ghana เรื่องที่สามที่เราได้ดู ต่อจาก COBRA VERDE (1987, Werner Herzog) และ MY WHITE BABY (2008, Akosua Adoma Owusu) ที่เคยมาฉายที่พารากอน

2. ช่วงแรก ๆ ดูแล้วนึกถึงละครเวทีแนวแอบเสิร์ดแบบ WAITING FOR GODOT เพราะหนังเล่าเรื่องของสามีกับภรรยาท้องแก่ที่รอคอยรถไฟ ทั้งสองต้องการเข้าเมืองใหญ่เพื่อให้ภรรยาไปคลอดลูกที่โรงพยาบาล แต่รถไฟก็ไม่มาเสียที หรือบางทีก็มา แต่ทั้งสองก็วิ่งไปขึ้นไม่ทัน ทั้งสองคุยกันไปเรื่อย ๆ ถึงเรื่องต่าง ๆ แต่บทสนทนาในหนังเรื่องนี้ไม่ได้พิสดารแบบ WAITING FOR GODOT แต่เป็นการสะท้อนปัญหาในชีวิตสมรสเสียมากกว่า

3.สิ่งที่ทำให้ชอบหนังมาก ๆ ก็คือตอนแรกเรานึกว่าหนังจะเป็นแค่การสะท้อนปัญหาสังคมกับชีวิตสมรสผ่านทางบทสนทนาและสถานการณ์ที่คล้ายละครเวทีแนวแอบเสิร์ด แต่ไป ๆ มา ๆ ปรากฏว่าพอตัวละครเดินไปตามทางรถไฟไปเรื่อย ๆ ตัวละครสามีภรรยาก็เผชิญกับการผจญภัยที่นึกว่าหลุดออกมาจากละครจักร ๆ วงศ์ ๆ 5555 เพราะทั้งสองไปเจอหมู่บ้านอภินิหารต้องคำสาปอาถรรพณ์ และต้องรับมือกับพ่อมดที่อยากกินเด็กทารกเป็นอาหาร

การที่หนังเรื่องนี้มีความเป็นตำนานพื้นบ้าน อภินิหารเหนือจริงอยู่ด้วย ทำให้เรารู้สึกผิดคาดมาก ๆ และชอบหนังเรื่องนี้มาก ๆ

3.ช่วงท้ายของหนังก็ชอบมาก เพราะนางเอกสลบไปบนรถไฟหรืออะไรทำนองนี้ ทำให้เธอคลอดลูกไม่ได้ พนักงานรถไฟชาย 4 คนก็เลยต้องร้องเพลงประสานเสียงแบบวง BOYZ II MEN เพื่อกระตุ้นให้นางเอกฟื้นขึ้นมาคลอดลูกต่อ

4.เราดูหนังเรื่องนี้ในวันเดียวกับที่ดู MUSIC (2021, Sia) ก็เลยรู้สึกว่ามันตลกดี เพราะตัวละครพระเอกของ MUSIC ก็มาจาก Ghana และหนังทั้งสองเรื่องให้ความสำคัญกับดนตรีมาก ๆ เหมือนกัน

SANDEEP AUR PINKY FARAAR (2021, Dibakar Banerjee, India, A+30)

1.ชอบช่วง 20 นาทีแรกของหนังอย่างสุด ๆ เพราะมันทำให้เราหวาดกลัวและ “ทำตัวไม่ถูก” พอ ๆ กับฉากเปิดของ SCREAM (1996, Wes Craven) เลย

ฉากแรกของหนังเล่าเรื่องของหนุ่มหล่อ 4 คนที่นั่งรถไปด้วยกัน พวกเขาคุยกันไปเรื่อย ๆ อย่างเป็นธรรมชาติมาก ๆ และเราก็นั่งดูพวกเขาคุยกันด้วยความเพลิดเพลิน แต่หนังมีการใช้ “เสียง” ที่ประหลาดมากในฉากนี้ เพราะหนังจงใจให้คนดูได้ยินเสียงสนทนาแค่บางช่วงเท่านั้น เหมือนกับว่าฉากนี้กินเวลาราว 10 นาที แต่เราจะได้ยินเสียงหนุ่ม ๆ คุยกันทุกสองนาทีเว้นสองนาที อะไรทำนองนี้ ซึ่งมันทำให้เรารู้สึก “ตื่นตัว” มาก ๆ เพราะเราเหมือนถูกผลักให้เผชิญกับอะไรที่เราไม่เคยเจอมาก่อน

แล้วพอเราดูหนุ่ม ๆ เหล่านี้คุยกันไปได้ราว 10 นาที พวกเขาก็ถูกฆ่าตายหมดเลย

แล้วหนังก็ตัดไปเล่าเรื่องหญิงสาวคนนึงที่ไปกินข้าว และในอีกราว ๆ 5-10 นาทีต่อมา หญิงสาวคนนี้และคนดูก็เพิ่งรู้ตัวว่า เธอกำลังถูกกลุ่มฆาตกรตามฆ่าอยู่

เหมือนฉากเปิดหนังเรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นและหวาดกลัวสุดขีดน่ะ นึกถึงฉากเปิดของ SCREAM ที่ทำให้เรานึกว่า Drew Barrymore คือนางเอก แต่แล้วเธอก็ถูกฆ่าตายไปเลย 555 ฉากเปิดของ SANDEEP ก็คล้าย ๆ กัน เพราะมันทำให้เรานึกว่าหนุ่ม ๆ 4 คนนี้จะเป็นตัวละครสำคัญ เพราะหนัง treat พวกเขาคล้ายกับมนุษย์ปกติมาก ๆ โดยปล่อยให้พวกเขาคุยกันอย่างเป็นธรรมชาติไปเรื่อย ๆ ราว 5-10 นาทีก่อนจะฆ่าพวกเขาตายหมด

เราก็เลยชอบช่วงแรกของหนังเรื่องนี้มาก ๆ เหมือนมัน disorient เราได้อย่างรุนแรงสุดขีด

2.ช่วงต่อ ๆ มาของหนังก็ชอบมากนะ มันอาจจะไม่น่ากลัวเท่าช่วงแรกของหนัง แต่เราก็ว่ามันสนุกดี

3.ชอบการใช้ location เป็นพรมแดนระหว่างอินเดียกับเนปาลด้วย

SCHOOL’S BEST GHOSTS โรงเรียนอลวน ชมรมอลเวง (2021, Osann Jirawat Tosuwan, A+30)

1.เป็นหนังเพลงที่น่ารักมาก สารภาพว่าตอนดูช่วงแรกแอบลุ้นให้เป็นหนังเกย์ อยากให้พระเอกได้กับผีหนุ่ม 55555

2.เราชอบที่หนังให้ความสำคัญกับปมปัญหาชีวิตครอบครัวของพระเอกนะ เรื่องแม่พระเอกที่ใช้เงินสิ้นเปลือง เราว่าเนื้อหาตรงส่วนนี้มันทำให้ตัวละครพระเอกดูมีเลือดมีเนื้อ มีชีวิตจิตใจมากขึ้น เหมือนมันช่วยเพิ่มรสชาติที่ขมขื่นและความหนักหนาสาหัสของชีวิตจริงเข้ามาในหนัง และมันช่วยให้เรารู้สึกว่าพระเอกไม่ใช่ “ตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อความสมบูรณ์แบบของหนังเพลง” แต่ดูเป็นมนุษย์จริง ๆ มากขึ้น

YOUR NO.1 FANCLUB (2021, Run Sooknarong, 80min, A+10)
แฟนคลับอันดับหนึ่งของคุณ (รัณญ์ สุขณรงค์)

เหมือนหนังมีปัญหาในการผสม genre เข้าด้วยกัน 555 เพราะใจนึงหนังก็คงอยากเป็น romantic comedy ระหว่างคนกับผี แต่หนังดูเหมือนจะถูกถ่วงด้วยความเศร้าสร้อยของตัวละครพระเอกที่มีแม่สูญเสียความทรงจำ

คือใจนึงเราก็ชอบที่หนังให้ความสำคัญอย่างสุด ๆ กับความหม่นเศร้าทุกข์ใจของพระเอกนะ แต่มันเหมือนสองส่วนนี้มันยังเข้ากันไม่ค่อยได้น่ะ

MR. TISSUE (2021, Kanokpol Hansapinyo, 21min, A+30)

หนังการเมืองที่เล่าเรื่องผ่านทางตัวละครที่เป็นกลุ่มผู้บริหารบริษัทที่มาประชุมกันและด่าทอกันอย่างรุนแรง เหมือนหนังพยายามเน้นสไตล์ที่เก๋ไก๋ เพราะรู้ว่า substance ของตัวเองอาจจะไม่ได้ลึกซึ้งหรือรุนแรงมากเท่ากับหนังการเมืองเรื่องอื่น ๆ ซึ่งเราก็ว่าสไตล์ของหนังก็ออกมาดูน่ารักดี

ตัวละครหญิงที่ถูกเซ็นเซอร์หน้าและถูกบิดเบือนเสียงตลอดเวลาก็เป็นตัวละครที่จำง่ายมาก คือการออกแบบตัวละครให้ออกมาแบบนี้อาจจะไม่ใช่อะไรที่ลึกซึ้ง แต่มันก็ดู memorable ดีน่ะ

คิดว่าทีมงานหนังเรื่องนี้เหมาะจะทำงานโฆษณามาก ๆ

No comments: