143 SAHARA STREET (2019, Hassen
Ferhani, Algeria, documentary, 100min, A+30) (มีเขียนพาดพิงถึง
MINARI เล็กน้อย)
1. เราได้ดูหนังเรื่องนี้ที่ Alliance
มีสิทธิติดอันดับหนึ่งประจำปีไปเลย ชอบsubject และ landscape ของหนังอย่างรุนแรงมาก ๆ
หนังสารคดีเรื่องนี้เล่าเรื่องของคุณป้าชาวแอลจีเรียคนนึง
เธอชื่อ "มัลลิกา" สภาพคุณป้าเหมือนแม่ค้าขายข้าวแกงตามตรอกซอกซอยในเมืองไทย
รูปร่างคุณป้าดูท้วม ๆ แบบมาลี เวชประเสริฐ หรือนภาพร หงสกุล
คุณป้าที่ดูธรรมดาสุด ๆ คนนี้เปิดร้านกาแฟ/ร้านขายบุหรี่และดูแลกิจการตามลำพังอยู่คนเดียว
แต่สิ่งที่น่าสนใจมาก ๆ คือร้านกาแฟเล็ก ๆ ของเธอตั้งอยู่กลางทะลทราย sahara ที่เวิ้งว้างสุดลูกหูลูกตา หนักมาก
ๆ ไม่ทราบชีวิตอะไรอีกต่อไป
คือจริง ๆ แล้วร้านกาแฟของเธอตั้งอยู่
"ใกล้ถนนใหญ่" นะ แต่มันเป็นถนนใหญ่ที่ตัดผ่านทะเลทราย sahara ที่แทบไม่มีสิ่งมีชีวิตใด ๆ เลยน่ะ
แล้วก็จะมีรถบรรทุกขนสินค้า หรือรถอะไรต่าง ๆ วิ่งผ่านเป็นครั้งคราว หนุ่ม ๆ
คนขับรถบรรทุกที่คุ้นเคยกับป้ามัลลิกา ก็จะแวะมาทักทายป้า เพื่อซื้อกาแฟ, น้ำ, บุหรี่, ของกินเล็ก ๆ
น้อย ๆ
2. อย่างแรกที่ทรงพลังสุด ๆ เลย คือ landscape
น่ะ หนังชอบถ่าย extreme long shot ให้เราเห็นร้านกาแฟนี้ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางทะเลทรายที่กว้างใหญ่ไพศาล
แล้วมันทรงพลังมาก ๆ นึกว่า James Benning + Chantal Akerman + THE HILLS
HAVE EYES (1977, Wes Kraven) คือแค่ดูฉาก landscape ไปเรื่อย ๆ ก็ฟินสุด ๆ แล้ว
3.ลูกค้าของร้านก็น่าสนใจ โดยเฉพาะหญิงสาวชาวฝรั่งคนนึงที่ขี่
motorcycle ท่องเที่ยวคนเดียวไปทั่วทะเลทราย Sahara เธอกล้าหาญชาญชัยมาก ๆ ทำไปได้ยังไง ชีวิตของเธอคือการผจญภัยจริง ๆ
ฉากที่สาวฝรั่งนักผจญภัยคนนี้คุยกับคุณป้าก็น่าสนใจด้วย
เพราะสาวฝรั่งคนนี้พูดภาษาอังกฤษ แต่คุณป้ามัลลิกาพูดได้แต่ภาษาอาหรับกับภาษาฝรั่งเศส
ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้เลยต้องทำหน้าที่เป็นล่ามระหว่างสตรีทั้งสอง
4.แต่สิ่งที่ชอบที่สุดก็คือคุณป้ามัลลิกาคนนี้
เธอมีหลายฉากที่น่าจดจำสุด ๆ อย่างเช่น
4.1 ฉากที่มีคณะนักร้องนักดนตรีหนุ่มหล่อเข้ามาในร้าน
แล้วก็ perform การร้องเพลง+เล่นดนตรีต่อหน้ากล้อง
พวกเขาเป็นกลุ่มหนุ่ม ๆ แอลจีเรียที่น่ากินมาก ๆ เราก็ดูพวกเขาร้องเพลง+ เล่นดนตรี
+เต้นรำอย่างเพลิดเพลินไปเรื่อย ๆ แล้วเราก็ร้องวี้ดสุดเสียงในใจ
เมื่อคุณป้ามัลลิกาที่ offscreen ในตอนแรก
โผล่เข้าไปเริงระบำรำฟ้อนกับกลุ่มหนุ่มหล่ออย่างเมามัน ตายแล้วววววววว คุณป้าขา
เห็นตอนแรกหงิม ๆ นะคะเนี่ย สุดฤทธิ์ค่ะ คุณป้า
4.2 ฉากที่คุณป้าปะทะกับกลุ่มอิหม่ามอย่างรุนแรง
4.3 แต่ฉากที่หนักที่สุด อมตะ classic
มาก ๆ คือฉากที่มีลูกค้าชายวัยกลางคนเข้ามาในร้าน
เขาเล่าให้คุณป้าและผู้กำกับฟัง เรื่องที่เขาออกตระเวนตามหาน้องสาวที่หายสาบสูญไป
(ถ้าจำไม่ผิด) เรื่องราวที่เขาเล่ามันน่าสนใจมาก ๆ
แล้วคุณป้ามัลลิกาก็เลยเล่าประวัติชีวิตอันสุดแสนรันทดหดหู่ของเธอให้ลูกค้าคนนั้น
+ ผู้กำกับ +ผู้ชมฟัง
เธอเล่าเรื่องที่สมาชิกครอบครัวของเธอถูกฆ่าตายอย่างโหดเหี้ยมทารุณ มันหนักมาก ๆ
เธอเล่าประวัติชีวิตที่สุดแสนจะ tragic นี้ไปเรื่อย ๆ ราว 5-10 นาที
แล้วพอ
"ลูกค้าผู้ตามหาน้องสาวที่หายสาบสูญ" เดินออกจากร้านของเธอไป
เธอก็หันมาบอกผู้กำกับหนังเรื่องนี้ว่า เมื่อกี้เธอตอแหลหมด!!!!!!!!!!!
เราเดาว่าเธอคงไม่เชื่อเรื่องที่ลูกค้าเล่า เธอก็เลยแต่งเรื่องขึ้นมาสด ๆ
เล่าเป็นคุ้งเป็นแควราว 10 นาที
เพื่อเกทับว่าประวัติชีวิตเธอรันทดหดหู่กว่าเรื่องที่เขาเล่าเสียอีก
ตายแล้ววววววววววว
นึกไม่ถึงว่าคุณป้ามัลลิกาจะอิทธิฤทธิ์สูงขนาดนี้ หนักจริง ๆ เธอทำไปได้ยังไง
แต่พอมาคิดทีหลัง การที่คุณป้าอิทธิฤทธิ์สูงขนาดนี้
มันอาจจะเป็นสิ่งที่ช่วยอธิบายก็ได้ว่า
เพราะเหตุใดคุณป้าถึงเปิดร้านกาแฟและใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังมาได้เป็นเวลานานหลายปีกลางทะเลทราย
sahara คือถ้าคุณป้าเป็นหญิงชรา
"โง่ ๆ ซื่อ ๆ"
เธอก็ไม่น่าจะเอาตัวรอดกลางทะเลทรายมาได้นานหลายปีขนาดนี้หรอก มันต้องเป็นคนที่
"ทันคน" หรือเป็นคนที่มีพิษสงพอตัวบ้างแหละ
ถึงจะใช้ชีวิตอยู่กลางทะเลทรายตามลำพังได้นานหลายปีขนาดนี้
5. เราชอบหนังอย่างสุด ๆ ทั้งๆ
ที่เอาเข้าจริงแล้ว
หนังสารคดีเรื่องนี้ไม่สามารถเจาะลึกเข้าถึงจิตใจหรือตัวตนที่แท้จริงข้างในตัวคุณป้ามัลลิกาได้เลย
ในหนังไม่มีฉากที่คุณป้า "เปิดใจ" ใด ๆ ต่อตัวผู้กำกับหรือผู้ชมเลย
แต่แค่เราได้เห็นแค่ "เปลือกนอก" ของคุณป้า เราก็ประทับใจสุด ๆ แล้ว
พอดูจนจบแล้ว
เราก็พบว่าเราแทบไม่รู้ประวัติอะไรของคุณป้ามัลลิกาเลย ถ้าจำไม่ผิด เธอเล่าแค่ว่า
เธอเคยเปิดร้านขายของแบบนี้ "ในเมือง" แต่เธอถูกชาวบ้านบางคนหาว่าเธอทำตัวไม่ดี
เธอเลยย้ายออกมาอยู่กลางทะเลทราย sahara แบบนี้ ไม่ต้องยุ่งกับชาวบ้านชาวเมือง เธอบอกว่าเธอไม่ชอบอยู่ใน
"วงสังคมกลุ่มผู้หญิง" ด้วย
เธอดูสะดวกใจที่จะสนทนากับลูกค้าคนขับรถบรรทุกหนุ่ม ๆ มากกว่า
มีฉากนึงที่มีคนโทรศัพท์มาหาเธอ แล้วกล้องก็บันทึกการสนทนานี้ไว้
เราไม่แน่ใจว่าคนโทรมาเป็นใคร เหมือนจะเป็นลูกชายของเธอ
เขาขอร้องให้เธอกลับไปอยู่กับเขาที่บ้านเกิด กลับไปอยู่กับครอบครัวและญาติ ๆ
แต่เธอปฏิเสธหัวเด็ดตีนขาดว่าเธอไม่กลับไปอยู่กับลูกชายหรือครอบครัวเป็นอันขาด
เธอขอใข้ชีวิตอยู่กลางทะเลทราย sahara ตัวคนเดียวแบบนี้ดีแล้ว และพอจบบทสนทนาทางโทรศัพท์ เธอก็ไม่ยอมเล่าให้ผู้กำกับหรือผู้ชมฟังแต่อย่างใด
ว่าเพราะเหตุใดเธอถึงเลือกที่จะใช้ชีวิตแบบนี้
มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ในประวัติชีวิตของเธอ ผู้ชมไม่มีทางรู้ได้เลย
แต่เราว่าคนแบบนี้นี่แหละที่เป็น subject ที่เราสนใจสุด ๆ
6.หนังจบลงด้วยความเศร้า
เพราะมีปั๊มน้ำมันขนาดใหญ่จะมาเปิดข้าง ๆ ร้านของคุณป้า แล้วในปั๊มน้ำมันก็คงมีร้านขายของ
+ ร้านอาหารด้วย คุณป้าก็เลยกังวลว่าปั๊มน้ำมันจะมาแย่งลูกค้าของคุณป้าไปหมด
แล้วคุณป้าจะดำรงชีพอยู่ได้ยังไง แต่ลูกค้าบางคนก็ปลอบใจคุณป้าว่า
บางทีการที่ปั๊มน้ำมันมาเปิดใกล้ ๆ อาจจะทำให้มีรถมาจอดแถวนี้เยอะขึ้น
และอาจจะมีลูกค้ามาเข้าร้านคุณป้ามากขึ้นก็ได้
หนังจบลงตอนที่ปั๊มน้ำมันยังสร้างไม่เสร็จ
เราก็เลยไม่รู้ว่าชะตากรรมของคุณป้าจะเป็นอย่างไรต่อไป
ปั๊มน้ำมันจะมาแย่งลูกค้าคุณป้าไปหมด
หรือว่าจะทำให้กิจการของคุณป้าเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น เราก็ไม่รู้เหมือนกัน
แต่เราเป็นห่วงคุณป้ามาก ๆ
7.คิด ๆ ไปแล้ว สาเหตุนึงที่ทำให้เราถูกโฉลกกับหนังเรื่องนี้อย่างสุด
ๆ อาจจะเป็นสาเหตุที่คล้าย ๆ กับที่ทำให้เราชอบหนังเรื่อง MINARI (2020, Lee Isaac Chung) อย่างสุดๆ ก็ได้นะ เพราะหนังทั้งสองเรื่อง “ปลอบใจเราโดยไม่ได้ตั้งใจ” ว่า
การที่ชีวิตของเราไม่ได้เป็นเหมือนอย่างที่เคยใฝ่ฝันไว้
อาจจะเป็นสิ่งที่ดีแล้วก็ได้ 5555
เราว่าชีวิตของตัวละครใน MINARI มันคล้าย ๆ
กับความใฝ่ฝันของเราน่ะ คือเราอยากมีสามีหล่อ ๆ มีลูกชายคน ลูกสาวคน
แล้วใช้ชีวิตอยู่ในชนบทห่างไกลอย่างมีความสุข เพียงแต่ว่าใน MINARI มันไม่สุขจริง เพราะถ้ามึงจน มึงก็จะไม่มีวันมีความสุข 555
ส่วนชีวิตของคุณป้ามัลลิกาก็คล้าย ๆ
กับความฝันในบางอารมณ์ของเราเหมือนกัน เพราะในบางอารมณ์เราก็เบื่อโลก เบื่อสังคม
อยากมีบ้านเล็ก ๆ อยู่ห่างไกลจากมนุษย์ เหมือนกับว่ามีบ้านเล็ก ๆ น่าอยู่ ในหุบเขาที่เต็มไปด้วยมวลบุปผชาตินานาพรรณ
แล้วในรัศมี 1 กิโลเมตรรอบบ้านเราไม่ต้องมีบ้านคนอื่น ๆ อยู่เลยก็ได้
แต่ขอให้เราเดินทาง 5 นาทีแล้วถึงห้างมาบุญครองในทันที อะไรแบบนี้ 555555 คือเราอยากอยู่ห่างไกลจากมนุษย์
แต่เมื่อใดก็ตามที่ต้องการความสะดวกสบาย เราก็สามารถเข้าถึงมันได้ไม่ยาก
อะไรทำนองนี้
เราว่าคุณป้ามัลลิกาก็อาจจะมีอารมณ์คล้าย ๆ เราในมุมนี้ก็ได้ เธออาจจะเบื่อสังคมชาวบ้านผู้หญิงที่นินทาด่าทอกัน
เบื่อผู้คนบางกลุ่มในสังคมแอลจีเรียที่อาจจะมองพฤติกรรมของเธอในทางไม่ดี
เธอเลยเลือกที่จะออกมาใช้ชีวิตอยู่กลางทะเลทรายตามลำพังแบบนี้
(โดยที่เธอจะเข้าเมืองไปซื้อของเป็นระยะ ๆ เพื่อเอามาขายในร้าน)
แต่ปัญหามันก็เหมือนกับตัวละครใน MINARI นั่นแหละ นั่นก็คือว่า
ถ้าหากเราจน เราก็ต้องหาเงินมายังชีพ เราก็ต้องติดต่อกับมนุษย์
ต้องรับมือกับลูกค้า เอาใจลูกค้าอยู่ดี ถึงแม้เราจะอยู่กลางทะเลทรายตามลำพัง
เราก็ต้องหาเงินมายังชีพด้วยการเอาใจลูกค้าที่แวะเวียนมา
แล้วในที่สุดเราก็ต้องเผชิญกับภัยทุนนิยมที่มาในรูปของปั๊มน้ำมันด้วย
คือพอดู MINARI กับ 143 SAHARA STREET เราก็พบว่า
ตัวละครหรือ subject ในหนังสองเรื่องนี้ มันพยายามใช้ชีวิตคล้าย
ๆ กับความใฝ่ฝันของเราทั้งสองเรื่องเลยนะ เราก็เลยรู้สึกรักและผูกพันกับตัวละคร/subject
ของหนังทั้งสองเรื่องนี้มาก ๆ แต่ชีวิตของพวกเขาก็ไม่ได้มีความสุขมากนักน่ะ
เพราะฉะนั้นพอเราดูหนังสองเรื่องนี้ เราก็เลยอาจจะรู้สึกเหมือนได้รับการปลอบประโลมโดยไม่ได้ตั้งใจก็ได้ว่า
บางทีการที่เรา “ไปไม่ถึงดวงดาว” หรือการที่เราไม่สามารถทำตามความใฝ่ฝันของตัวเองได้นั้น
บางทีมันก็อาจจะไม่ได้เลวร้ายเกินไปนักก็ได้
No comments:
Post a Comment