Thursday, August 12, 2021

TRUE MOTHERS (2020, Naomi Kawase, Japan, A+30)

 

TRUE MOTHERS (2020, Naomi Kawase, Japan, A+30)

 

1.ชอบที่หนังเรื่องนี้นำเสนอ “หญิงสาวที่ตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์” ในหลากหลายรูปแบบ คือมีทั้งคนที่ดู innocent มาก ๆ แบบ Hikari (Makita Aju) และหญิงสาวกร้านโลก รวมทั้งหญิงสาวที่ดูเหมือนจะไม่ได้รู้สึกอาลัยใยดีต่อลูกที่เธอให้กำเนิดแต่อย่างใด คือแทนที่หนังจะนำเสนอตัวละคร “สาว innocent” เพียงอย่างเดียว หนังกลับเลือกที่จะยอมรับความจริงที่ว่า ผู้หญิงแต่ละคนแตกต่างกันไป มีหลากหลายรูปแบบ และบางทีเราไม่ควรมองผู้หญิงที่ตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ในแบบเหมารวม เพราะมันมีทั้งคนที่ไม่อยากทิ้งลูกจริง ๆ และมันก็มีคนที่อยากทิ้งลูกจริง ๆ ด้วย

 

จุดนี้ทำให้นึกถึงหนังที่ชอบสุด ๆ เรื่อง GOD’S OFFICES (2008, Claire Simon, France) ที่นำเสนอเรื่องราวของสำนักงานสังคมสงเคราะห์แห่งหนึ่งที่ช่วยเหลือผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ คือเรารู้สึกว่าจริง ๆ แล้ว GOD’S OFFICES คงจะสนับสนุนสิทธิในการทำแท้ง เพราะตัวละครในหนังพยายามให้คำแนะนำหญิงสาวหลายคนให้ได้ทำแท้งอย่างถูกกฎหมายในฝรั่งเศส หรือให้คำแนะนำหญิงสาวบางคนให้ไปต่างประเทศ ถ้าหากหญิงสาวคนนั้นมีอายุครรภ์นานเกินกว่าที่กฎหมายฝรั่งเศสอนุญาตให้ทำแท้ง แต่กฎหมายสเปนยังคงอนุญาตให้ทำแท้งได้อยู่ อะไรอย่างนี้เป็นต้น

 

แต่ถึงแม้ GOD’S OFFICES ดูเหมือนจะสนับสนุนสิทธิในการทำแท้ง เราก็ชอบสุด ๆ ที่หนังเรื่องนี้ยอมรับความจริงที่ว่า “ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ” เพราะในหนังเรื่องนี้มีตัวละครโสเภณีสาวคนนึงที่มาที่สำนักงานนี้หลายรอบ เพื่อขอความช่วยเหลือในการทำแท้ง คือเหมือนในหนังเรื่องนี้เธอทำแท้งไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งมั้ง และเราก็ได้แต่สงสัยว่า ทำไมเธอไม่กินยาคุมให้ดี โดยเฉพาะถ้าหากเธอทำงานเป็นโสเภณีแบบนี้ คือเราชอบที่ GOD’S OFFICES นำเสนอความจริงตามความเป็นจริงน่ะ ไม่ใช่พยายามนำเสนอแต่ “ข้อดีของสิทธิในการทำแท้ง” เพียงอย่างเดียว แต่นำเสนอทั้งข้อดีและข้อเสียของสิทธิดังกล่าวด้วย ถึงแม้หนังอาจจะสนับสนุนสิทธิในการทำแท้งก็ตาม

 

เราก็เลยชอบ TRUE MOTHERS กับ GOD’S OFFICES มาก ๆ ในแง่นี้ ที่หนังนำเสนอตัวละครผู้หญิงหลากหลายรูปแบบ และมีทั้งตัวละครผู้หญิงที่น่าสงสารจริง  ๆ และตัวละครผู้หญิงที่อาจจะไม่ได้ต้องการความสงสารเห็นใจจากผู้ชมแต่อย่างใดด้วย

 

2.ชอบที่ TRUE MOTHERS ทำให้เราเห็นใจทั้งตัวละครแม่ผู้ให้กำเนิดและแม่บุญธรรม แทนที่จะนำเสนอตัวละครในแบบขาวจัด-ดำจัด เพื่อให้คนดูตัดสินเข้าข้างใครได้ง่าย ๆ หนังเลือกที่จะทำให้เราเห็นใจตัวละครทั้งสองฝ่าย เข้าใจความลำบากใจและความทุกข์ของทั้งสองฝ่าย เพราะเราว่าชีวิตจริงของมนุษย์มันก็มักจะเต็มไปด้วย dilemma แบบนี้แหละ

 

3.ชอบตัวละครเพื่อนร่วมงานของ Hikari มาก ๆ เธอดูเหมือนเป็นหญิงสาวที่พร้อมจะถลำลึกเข้าสู่ด้านมืดแบบตัวละครในหนังอย่าง BAISE-MOI (2000, Virginie Despentes, Coralie Trinh-Thi) ได้ หรือเหมือนเป็นญาติห่าง ๆ ของตัวละครในหนังของ Nagisa Oshima หรือ Shohei Imamura

 

4.เมื่อวานเพิ่งได้อ่านเรื่อง “แม่มดประเภทต่าง ๆ” จากเพจ Witches Thailand ไป พออ่านแล้วก็รู้สึกว่า Naomi Kawase กับ Agnès Varda เป็น “แม่มดขาว” 55555 เพราะหนังของสองคนนี้มักจะมี “ความสว่างทางจิตใจ” สูงมาก ๆ เราว่าหนังของ Kawase มีความสว่างทางใจมากกว่าหนังของ Varda อีก แต่อันนี้ไม่เกี่ยวกับความชอบของเราที่มีต่อหนังนะ เพราะโดยปกติแล้วเราจะถูกโฉลกกับหนังด้านมืดแบบหนังอย่าง BAISE-MOI มากกว่า

 

5.ชอบ “ความเป็นมนุษย์” หรือ “ความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์” ในหนังของ Kawase มาก ๆ และเราว่าจุดนี้ทำให้หนังเรื่องนี้แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจากหนังเรื่องอื่น ๆ ที่เราเคยดูมาที่มีบางอย่างใกล้เคียงกัน เพราะตอนที่เราดูหนังเรื่องนี้ เราจะนึกถึง GOD’S OFFICES ที่เราเพิ่งเขียนถึงไปแล้วข้างต้น กับนึกถึง INSTANT FAMILY (2018, Sean Anders) น่ะ ซึ่งเป็นหนังที่เราชอบสุด ๆ ทั้งสองเรื่อง แต่ GOD’S OFFICES กับ INSTANT FAMILY มันเป็นหนังที่มุ่งความสนใจไปยัง “กระบวนการ” หรือ “ระบบ” น่ะ โดย GOD’S OFFICES เน้นตีแผ่กระบวนการต่าง ๆ ในการช่วยเหลือหญิงสาวให้ได้ทำแท้ง ส่วน INSTANT FAMILY เหมือนเป็นหนัง “คู่มือในการขอบุตรบุญธรรมและเลี้ยงบุตรบุญธรรม” คือหนังสองเรื่องนี้ให้ความสำคัญกับการ “ทำให้คนดูเข้าใจระบบและกระบวนการต่าง ๆ ในสังคม” เป็นหลักน่ะ

 

ซึ่งจริง ๆ แล้ว TRUE MOTHERS จะเลือกผลักหนังไปในทิศทางนั้นก็ได้ เพราะหนังก็นำเสนอตัวละครหญิงสาวหลากหลายรูปแบบที่ตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์อยู่แล้ว แต่หนังกลับทำให้เรารู้สึกว่า แทนที่หนังจะโฟกัสไปที่ “กระบวนการ” หรือ “ระบบ” แบบ INSTANT FAMILY หนังกลับมีสายตาหรือมุมมองที่อ่อนโยนมาก ๆ ต่อตัวละคร เหมือนมองตัวละครในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่น่าเห็นอกเห็นใจไปเกือบหมด ซึ่งเราว่ามันเป็นมุมมองหรือสายตาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ Kawase เหมือนหนังของเธอให้ “สัมผัสที่นุ่มนวลอ่อนโยนมาก ๆ” ในแบบที่เราไม่ค่อยรู้สึกจากหนังเรื่องอื่น ๆ

 

6.อีกสิ่งที่ชอบมาก ๆ ก็คือว่า TRUE MOTHERS มันไม่สั่งสอนศีลธรรมด้วย คือคนดูก็รู้ได้เองแหละว่า ถ้ามี sex โดยไม่ป้องกันแล้วชีวิตมันจะลำบากยังไง โดยที่หนังไม่ต้องมาชี้นิ้วสั่งสอน

 

คือตอนที่ดูหนังเรื่องนี้เราจะนึกถึง “กว่าจะรู้เดียงสา” (1987, Chana Kraprayoon) ตลอดเวลา 5555  แต่เราว่า “กว่าจะรู้เดียงสา” มันเหมือนจะมีท่าทีสั่งสอนศีลธรรมอยู่บ้างนะ ถ้าจำไม่ผิด แต่ถ้าจำผิดก็ขออภัยด้วย

 

ตอนดู TRUE MOTHERS เราจะนึกถึงการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง “สัญญากุ๊กกิ๊ก” ของ Shibata Ayuko ที่เราเคยอ่านในปี 1983 ด้วย เป็นการ์ตูน 9 เล่มจบที่เล่าเรื่องของหญิงสาวชายหนุ่มในวัยไฮสกูลที่มีความสัมพันธ์กันจนตั้งครรภ์ แต่จำได้ว่าในเล่มจบนี่คือ ตัวละครเด็ก ๆ ในโรงเรียนออกมาประท้วงผู้บริหารโรงเรียนที่จะไล่นางเอกออกจากโรงเรียนเพราะตั้งครรภ์ท้องโตน่ะ คือการ์ตูนจบลงด้วยการที่เด็ก ๆ ประท้วงต่อต้านผู้บริหารโรงเรียนจนได้รับชัยชนะ นางเอกก็เลยเรียนหนังสือได้ต่อไปแม้จะตั้งครรภ์ท้องโต แล้วนางเอกก็คลอดลูก and live happily ever after with her handsome husband and child

 

คือพอย้อนคิดไปแล้วก็พบว่า เอ๊ะ “สัญญากุ๊กกิ๊ก” ซึ่งเป็นการ์ตูนญี่ปุ่นในปี 1983 นี่มันแตกต่างจากนิยายไทยในยุคนั้นมาก ๆ หรือเปล่านะ เพราะนิยายไทยในยุคนั้นทั้ง “กว่าจะรู้เดียงสา” ของโบตั๋น และ “สองชีวิต” ของทมยันตี (ถ้าจำไม่ผิด) ตัวละครหญิงสาวที่ตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์นี่เจอความชิบหายของชีวิตอย่างรุนแรงมาก ๆ ทั้งนั้นเลย ในขณะที่ “สัญญากุ๊กกิ๊ก” นี่จบแบบ happily ever after 55555

 

แต่ถ้าเราจำไม่ผิด ทั้ง “กว่าจะรู้เดียงสา” และ “สองชีวิต” นี่ ตัวนิยายก็ไม่ได้มองนางเอกในแง่ลบมากนักนะ คือถึงแม้ชีวิตนางเอกในนิยายทั้งสองจะดูเหมือนถูกลงโทษอย่างรุนแรง (ถ้าจำไม่ผิด) แต่ตัวนิยายก็ดูเหมือนจะประณามพ่อแม่เด็กที่ไม่ให้อภัยลูก และสังคมที่ไม่เปิดโอกาสให้หญิงสาวเหล่านี้ได้ใช้ชีวิตต่อไปอย่างปกติมากกว่า

 

แต่ถ้าเราจำอะไรผิด ก็ขออภัยด้วยนะ สามารถแจ้งมาได้ว่าเราจำอะไรผิดไปบ้าง

 

7.จุดเล็ก ๆ ที่โดนเราอย่างสุด ๆ ใน TRUE MOTHERS คือตัวละครหญิงสาวตั้งครรภ์คนนึงที่ดีใจมาก ๆ ที่ได้กินเค้กก้อนกลม ๆ เป็นครั้งแรก (เหมือนทาง Baby Baton ทำเค้กวันเกิดให้เธอ ถ้าจำไม่ผิด) เพราะมันทำให้เราคิดถึงตัวเองในวัยเด็กมากๆ

 

เพราะในวัยเด็กของเรานั้น เราจำได้ว่า เราก็ไม่เคยได้กินเค้กก้อนกลม ๆ เหมือนกัน จนกระทั่งเราอายุ 12 ปี คือเหมือนตอนเด็ก ๆ เราได้เห็นเค้กก้อนกลม ๆ ก็แต่เฉพาะในร้านเบเกอรี่ และในละครทีวีกับการ์ตูนน่ะ แต่ทางบ้านเราจน ครอบครัวเราก็เลยไม่เคยซื้อเค้กแบบนี้มากินกัน ตอนเด็ก ๆ เราก็เลยได้แต่มองเค้กก้อนกลม ๆ สวย ๆ ในร้านเบเกอรี่ แต่ไม่เคยได้กินเลย คือตอนนั้นเราใฝ่ฝันอยากกินเค้กแบบนี้มาก ๆ แต่ไม่มีเงินพอจะซื้อกิน ตอนนั้นเราได้กินแต่เค้กก้อนเล็ก ๆ ที่ตัดเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมในร้านเบเกอรี่หน้าปากซอยน่ะ

 

แต่พอเราอายุ 12 ปี เหมือนตอนนั้นทางบ้านเราซื้อ “หม้อความดัน” อะไรสักอย่างมามั้ง และไอ้หม้อความดันนี้มันใช้ทำขนมเค้กได้ ตอนนั้นบ้านเราก็เลยชอบซื้อแป้งขนมเค้กมาทำกินกันเองโดยใช้หม้อความดันนี้ เราก็เลยได้กินเค้กก้อนกลม ๆ ใหญ่ ๆ เป็นครั้งแรกตอนราวอายุ 12 ปี หลังจากได้แต่ “เฝ้ามอง” ในร้านเบเกอรี่มาเป็นเวลานาน

 

พอ TRUE MOTHERS นำเสนอตัวละครหญิงสาวคนนี้ ที่ดีใจที่ได้กินเค้กกลม ๆ เป็นครั้งแรกในชีวิต เราก็เลยนึกถึงตัวเองมาก ๆ

 


No comments: