Saturday, February 18, 2023

CLOSE (2022, Lukas Dhont, Belgium/Netherlands/France, A+30)

 

CLOSE (2022, Lukas Dhont, Belgium/Netherlands/France, A+30)

 

(ไม่เขียนถึงหนังนะคะ แต่เขียนถึงชีวิตตัวเองค่ะ 55555)

 

SPOILERS ALERT

--

--

--

--

--

--

--

--

--

--

--

1.ดูแล้วนึกถึง GIRL (2018, Lukas Dhont) มาก ๆ ในแง่ที่ว่า หนังทั้งสองเรื่องทำให้เราตั้งข้อสงสัยว่า ถ้าประเทศเขามี "วัฒนธรรมกะเทยเด็ก" ที่แข็งแรงมาก ๆ แบบในไทย ตัวละครนำทั้งใน GIRL และ CLOSE อาจจะหาที่ทางของตัวเองได้สบายมาก ๆ ตั้งแต่เด็กไหมนะ 555

 

คือกะเทยอย่างเราก็มีปัญหาชีวิตรุนแรงมากตั้งแต่เด็กนะ และก็เคยคิดฆ่าตัวตายบ่อยมาก ๆ ตั้งแต่เด็ก (แต่เป็นเพราะปัจจัยเรื่องความจนด้วย) แต่แก๊งเพื่อนกะเทยที่โรงเรียนคือสิ่งที่ช่วยชีวิตเราไว้ได้น่ะ คือเราคิดว่าการที่สังคมไทยบางส่วนมองว่ากะเทย และกะเทยเด็กเป็นเรื่องธรรมดา (อย่างน้อยก็สังคมในโรงเรียนของเราในทศวรรษ 1980) มันก็เลยเปิดโอกาสให้กะเทยอย่างเรา express yourself และหาเพื่อนหาฝูงที่เป็นแบบเดียวกันได้ง่ายมาก ๆ มันก็เลยไม่รู้สึกแปลกแยกหรือเป็นตัวประหลาดในโรงเรียน เพราะมันก็มีคนแบบเดียวกับเราหลายคน การไปโรงเรียนตอนม.1 ของเราคือการใส่ตุ้มหูไปเข้าแถวเคารพธงชาติด้วยความภาคภูมิใจและสนุกสนานในบางวัน และการถูกกลุ่มรุ่นพี่ผู้ชายลวนลามด้วยความเต็มใจของเราเอง (ถ้าเราเต็มใจให้เขาลวนลาม มันจะยังถือว่าเป็นการลวนลามได้ไหม 55555)  คือแน่นอนว่าเราก็ยังคงฝังใจกับการถูกเพื่อนผู้ชายบางคน bully ในวัยเด็ก แต่สถานการณ์ของเรามันก็แตกต่างกันมากกับความรู้สึกแปลกแยกแบบที่ตัวละครใน GIRL และ CLOSE ต้องเผชิญ หรือแบบที่ตัวละครใน WHAT SHE LIKES (2021, Shogo Kusano, Japan, A+30) ต้องเผชิญ

 

พอได้เห็นชีวิตของเกย์และกะเทยในประเทศอื่น ๆ มันก็ทำให้เราได้เปรียบเทียบความเหมือนและความต่างกับชีวิตของเราได้ดีมาก ๆ เหมือนกัน

 

2.รู้สึกเข้าใจตัวละครนำเด็กทั้งสองตัวมาก ๆ รู้สึกใจสลายกับเรมี่มาก ๆ ในฉาก

 

2.1 ฉากที่ Leo ไม่ยอม “ใช้โลกจินตนาการร่วมกัน” กับ Remi อีกแล้ว ตอนเล่นเกมข้าศึกบุก หรืออะไรทำนองนี้ คือเราว่าความสุขสุด ๆ อย่างหนึ่งในชีวิตของเราคือ “การที่เรากับเพื่อน ๆ เข้าใจในโลกจินตนาการเดียวกัน” น่ะ การที่คนเรามีเพื่อนที่แชร์โลกจินตนาการเดียวกันกับเราได้นี่ มันเป็นสิ่งที่ดีสุด ๆ เลย เพราะฉะนั้นการที่ Remi ยังคงมีความสุขกับการเล่นเกม “ข้าศึกในจินตนาการกำลังจะบุกมา” อยู่ แต่ Leo ปฏิเสธที่จะเล่นเกมนั้นด้วยแล้ว มันเลยทำให้เรารู้สึกเข้าใจความใจสลายของ Remi ในฉากนั้นมาก ๆ

 

2.2 ฉากที่ Remi ไปถาม Leo ว่า ทำไมไม่ยอม “รอ” เขาเหมือนวันก่อน ๆ ฉากนั้นน้อง Remi เล่นได้ใจสลายมาก ๆ เข้าใจความรู้สึก “น้อยเนื้อต่ำใจ” ของเขาในฉากนั้นอย่างรุนแรงมาก

 

3.รู้สึกเข้าใจ Leo ด้วย เราเดาว่าเขาเป็นคนที่ทำไปตาม survival instinct น่ะ คือเขาคงรู้สึกอยาก survive ในสังคมที่ล้อเลียนเกย์แบบนั้น เขาก็เลยพยายามตีตัวออกห่างจาก Remi

 

4.แน่นอนว่าดูแล้วนึกถึงเพื่อนผู้ชายคนหนึ่งที่เราแอบชอบในวัยเด็กด้วย เหมือนเราแอบหลงรักเพื่อนผู้ชายคนนี้มาตั้งแต่ป.5 จนถึงม.3 และเราก็สนิทกับเขาประมาณนึง จนอาจารย์ฝรั่งกับอาจารย์ผู้หญิงคนหนึ่งในโรงเรียนมาแสดงความไม่พอใจใส่เรา โดยหาว่าเราเป็นคู่เกย์กัน แต่เพื่อนผู้ชายคนนี้ (ซึ่งเป็น straight) ก็ไม่เห็นจะรังเกียจหรือพยายามตีตัวออกห่างอะไรจากเราแต่อย่างใด แต่เราต่างหากที่ตีตัวออกห่างจากเขา เพราะเราพบว่าการไปใช้เวลาเฮฮากับเพื่อนกะเทยและเพื่อนผู้หญิงเป็นสิ่งที่สนุกกว่าหลายเท่า 555

 

แต่สถานการณ์ของเรามันก็แตกต่างจากความสัมพันธ์กับ Remi และ Leo อยู่แล้วแหละ เพราะถึงแม้เราจะหลงรักเพื่อนผู้ชายคนนี้ แต่เราก็ไม่เคยคาดหวังอะไรจากเขามากไปกว่ามิตรภาพความเป็นเพื่อนอยู่แล้ว 555 เพราะเหมือนเรารู้อยู่แล้วว่าเขาน่าจะเป็น straight เราก็เลยไม่เคยหวังอะไรจากเขามากไปกว่า “ความเป็นเพื่อน” ในโลกแห่งความเป็นจริง ถึงแม้เราจะเก็บเอาเขามา “ฝันถึง”ตั้งแต่ตอนอยู่ป. 5

 

และจริง ๆ แล้วในตอนนั้นเราก็ไม่ได้หลงรักเขาแค่คนเดียว แต่เราตกหลุมรักลูกพี่ลูกน้องของเรา, ครูหนุ่มหล่อในโรงเรียน และเพื่อนหนุ่มในโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ด้วย เพราะฉะนั้น “เพื่อน” คนนี้ของเรา ก็เลยไม่ได้มีความสำคัญต่อเรามากเท่ากับที่ Leo มีความสำคัญต่อ Remi

 

5.หนังไม่ได้บอกว่าตัวละครฆ่าตัวตายด้วยวิธีการใด แต่ตอนมัธยมเราเคยวางแผนหลายครั้งว่าจะฆ่าตัวตายด้วยการเชือดข้อมือตัวเองในห้องน้ำ พอมาดูหนังเรื่องนี้เราก็เลยนึกถึงชีวิตตัวเองตรงจุดนั้นขึ้นมาด้วย

 

แต่ตอนประถมเราวางแผนว่าจะฆ่าตัวตายด้วยการเอาผ้าห่มรัดคอตัวเองตายนะ แต่เหมือนเราไปอ่านเจอจากที่ไหนสักที่ว่า ถ้าเอาผ้ารัดคอตัวเอง แล้วรัดไปเรื่อย ๆ เราก็จะสลบไปก่อน แล้วมือเราก็จะหมดแรง คลายออกจากผ้า แล้วเราก็จะกลับมาหายใจได้เองอีกครั้ง เพราะฉะนั้นการฆ่าตัวตายด้วยวิธีนี้มันจะไม่มีทางทำได้สำเร็จ เราก็เลยล้มเลิกความคิดนี้ไป แต่พอย้อนนึกไปถึงความคิดตัวเองในตอนนั้นแล้วก็ขำมาก

 

6.ฉากที่ Leo ฝึกฝนมุ่งมั่นเหลือเกินกับความพยายามจะเป็นนัก hockey ทำให้นึกถึงฉากที่นางเอกของ GIRL มุ่งมั่นเหลือเกินที่จะหมุน ๆ  ๆ ตัวด้วยความเร็ว 360 cycles ต่อวินาทีเพื่อจะเป็นนักบัลเลต์หญิงให้ได้ (ถ้าจำไม่ผิด) แต่เราจำไม่ได้แน่ชัดว่า “วิธีการถ่าย” ตัวละครทั้งสองตัวในหนังสองเรื่องนี้มันคล้ายกันหรือเปล่า มันหมุน ๆ กล้องหรืออะไรทำนองเดียวกันหรือเปล่า

 

7.หนึ่งในสิ่งที่เราชอบมาก ๆ ในการดู “ภาพยนตร์” คือการที่หนังหลาย ๆ เรื่องทำให้เราพบว่า บางทีแล้วเราก็ “ไม่เข้าใจแม้กระทั่งตัวเราเอง”

 

คือเหมือนช่วงที่ผ่านมามันมีหนังแนวซึ้ง ๆ ออกมาหลายเรื่อง อย่างเช่น AFTERSUN ซึ่งเราชอบสุด ๆ แต่เราก็ไม่ได้ร้องห่มร้องไห้หรือ “อิน” กับมันเป็นการส่วนตัว ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ตัวเราเองเข้าใจได้อยู่แล้ว เพราะพ่อของเราเสียชีวิตตั้งแต่เราอายุ 3 ขวบ เราก็เลยไม่มีประสบการณ์ร่วมกับ AFTERSUN

 

แต่อย่าง CLOSE ที่ดูเหมือนเข้าใกล้ชีวิตเรามาก ๆ กว่าหนังเรื่องอื่น ๆ ไป ๆ มา ๆ เราดูแล้วก็ไม่ได้ “อิน” กับมันมากนักแฮะ งงเหมือนกันว่าเป็นเพราะอะไร เพราะตามหลักเหตุผลแล้ว เราน่าจะอินกับมันอย่างรุนแรง เราน่าจะร้องห่มร้องไห้กับมัน

 

กลายเป็นว่าหนังที่ทำให้เราร้องห่มร้องไห้หนักสุดขีดในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ยังคงเป็น SAINT OMER (2022, Alice Diop) เราก็เลยงงมาก ๆ ว่าทำไม เป็นเพราะอะไร ทำไมเราถึงร้องห่มร้องไห้หนักสุดขีดกับ SAINT OMER แต่ไม่ร้องห่มร้องไห้กับ CLOSE ทั้ง ๆ ที่ตามหลักเหตุผลแล้ว เราน่าจะร้องห่มร้องไห้กับ CLOSE

 

แต่นี่แหละคือความงดงามของภาพยนตร์สำหรับเรา เพราะมันทำให้เราตระหนักว่า เราเองก็ไม่เข้าใจตัวเองอย่างถ่องแท้เช่นกัน

 

 

No comments: