ชอบ DEAD POETS SOCIETY (1989, A+) มากเหมือนกันค่ะ ตอนจบของหนังเรื่องนี้ทำออกมาได้ซึ้งมากๆ หนังเรื่องนี้เป็นหนึ่งในหนังเรื่องแรกๆที่ดิฉันได้ยินเสียงคนดูในโรงหลายคนปรบมือให้ในตอนจบ (โดยที่ดิฉันไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ) ตอนนั้นดูที่โรงแมคเคนนา
หนังเรื่องอื่นๆที่ได้ยินเสียงคนดูในโรงปรบมือแล้วรู้สึกดีใจมากๆก็คือ
1.BRIDGES ON MADISON COUNTY (CLINT EASTWOOD, A+)
2. PRIEST (ANTONIA BIRD, A+, ดูที่ฮอลลีวู้ดสตรีท)
3.CARLA’S SONG (1996, KEN LOACH, A+, ดูที่ศาลาเฉลิมกรุง)
รู้สึกว่า CARLA’S SONG จะเป็นหนังที่ดิฉันปรบมือให้หนักที่สุดในชีวิต ปรบจนเจ็บมือเลย เพราะตอนนั้นอารมณ์มันพาไป และก็มีคนในโรงหลายคนช่วยกันปรบด้วย จริงๆแล้วยังมีหนังอีกหลายเรื่องที่อยากปรบมือให้ดังๆ แต่ไม่มีคนในโรงปรบมือกัน ดิฉันก็เลยไม่กล้าปรบมือแปะแปะอยู่คนเดียว และก็มีหนังอีกหลายเรื่องเหมือนกันที่คนดูปรบมือกันทั้งโรง แต่ดิฉันขี้เกียจร่วมด้วย สรุปว่าการได้ยินเสียงคนดูทั้งโรงปรบมือให้หนังที่เรารัก เป็นประสบการณ์ที่ดีต่อความทรงจำมากๆค่ะ
ลองมองดูหนัง 4 เรื่องนี้แล้ว รู้สึกว่าตอนจบของหนัง 4 เรื่องนี้ให้อารมณ์ที่บรรเจิดมากๆ ผู้สร้างหนังทั้ง 4 เรื่องนี้จัดจังหวะอารมณ์ของตอนจบออกมาได้ถูกใจมากๆ และสิ่งที่อาจคล้ายกันอยู่บ้างก็คือ ตอนจบของหนัง 3ใน 4 เรื่องนี้จบลงด้วยการที่ตัวละครในเรื่องแสดงความเข้าอกเข้าใจหรือเห็นอกเห็นใจอีกฝ่ายหนึ่ง การที่ตัวละครคนหนึ่ง “รู้ซึ้งถึงหัวอก” ของตัวละครอีกตัวหนึ่งในตอนจบ เป็นจุดที่มักทำให้ดิฉันรู้สึก “จี๊ด” อย่างรุนแรงมากๆเลยค่ะ และมักเป็นจุดที่เรียกน้ำตาดิฉันได้จริงๆ ในช่วงท้ายของ DEAD POET’S SOCIETY ความเข้าอกเข้าใจกันระหว่างครูกับนักเรียนเป็นสิ่งที่ซึ้งมากๆ ในขณะที่ตอนจบของ PRIEST นั้นจะว่าไปแล้วก็ให้อารมณ์บางอย่างละม้าย DEAD POET’S SOCIETY เหมือนกัน เพราะตอนจบของ PRIEST จบลงด้วยการที่พระเอกของเรื่องถูกกระทำเหมือนกับเป็นคนนอก ถูกด่าว่าประณามเหยียดหยาม แต่ก็มีคนๆหนึ่งกล้าแสดงออกว่าเขาเห็นอกเห็นใจพระเอก ความเห็นอกเห็นใจที่ตัวละครตัวนั้นแสดงต่อพระเอกของ PRIEST ในตอนจบ การที่ตัวละครตัวนั้นกล้าเดินออกมากลางโบสถ์โดยไม่เกรงกลัวหน้าอินทร์หน้าพรหมหรือสายตาชาวบ้านร้านตลาดใดๆทั้งสิ้น การที่ตัวละครตัวนั้นรู้ดีว่าอะไรกันแน่คือสิ่งที่สำคัญ-- “หลักการ”, “กฎระเบียบ” หรือ “หัวใจ” –ทำให้ดิฉันรู้สึกจี๊ดเท่ากับการได้ฟังประโยค oh captain my captain ใน DEAD POETS SOCIETY เลยค่ะ
ส่วนตอนจบของ CARLA’S SONG นั้น ดิฉันก็ร้องไห้ให้กับประโยคสนทนาของ SCOTT GLENN กับ ROBERT CARLYLE ค่ะ ในช่วงท้ายของหนังสองเรื่องนี้ ตัวละครทั้งสองโต้ตอบกันด้วยประโยคบางประโยคที่ทำให้ดิฉันร้องไห้ออกมา รู้สึกว่า ROBERT CARLYLE จะพูดกับ SCOTT GLENN ว่า “I’M A BUS DRIVER.” ซึ่งถ้ามันออกมาอยู่นอกบริบท มันคงเป็นประโยคที่ไม่มีความหมายอะไรเลยเหมือนกับประโยค “OH CAPTAIN MY CAPTAIN” แต่พอมันไปอยู่ในบริบท พอมันไปอยู่ในฉากนั้น ในเวลานั้น ในจังหวะนั้น ในอารมณ์นั้น ประโยคที่ดูเหมือนธรรมดาๆอย่าง “I’M A BUS DRIVER.” และประโยค “OH CAPTAIN MY CAPTAIN” กลับกลายเป็นประโยคที่ทำให้ทำนบน้ำตาแตกออกมาได้
ประโยคที่ดูเหมือนธรรมดาอีกอันนึงที่ทำให้ดิฉันร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวรก็คือประโยคตอนจบของ THE LAST BOLSHEVIK (1992, CHRIS MARKER, A+++++) ในตอนจบของหนังเรื่องนี้ MARKER ถ่ายให้เห็นภาพเด็กๆรุมกันเหยียบย่ำอนุสาวรีย์ที่แตกหักของเลนิน ก่อนจะถ่ายให้เห็นภาพเด็กคนนึงกอดตุ๊กตาไดโนเสาร์และอมยิ้ม และในขณะเดียวกัน MARKER ก็พูดกับดวงวิญญาณของ ALEXANDER MEDVEDKIN ว่า “คุณมันเป็นไดโนเสาร์ แต่ดูสิ่งที่เด็กๆทำกับไดโนเสาร์สิ เด็กๆรักมัน” ประโยคนี้มันเป็นประโยคที่ธรรมดามากๆถ้าหากออกมาอยู่นอกบริบท—“เด็กๆรักไดโนเสาร์”—มันไม่เห็นจะเป็นประโยคที่พิเศษหรือมีคุณค่าอะไรตรงไหนเลย แต่พอมันใส่เข้าไปในจุดที่ถูกต้องลงตัวใน THE LAST BOLSHEVIK มันกลับกลายเป็นอะไรที่ซึ้งมากๆ ดิฉันเดาว่าจริงๆแล้วหัวใจของ CHRIS MARKER คงจะต้องการพูดกับดวงวิญญาณของ ALEXANDER MEDVEDKIN ว่า “ถึงคนจะเหยียบย่ำชิงชังคุณขนาดไหน ถึงคนจะประณามคุณว่าเป็นคนหัวโบราณคร่ำครึ ดูถูกเหยียดหยามคุณ หรือมองคุณในทางลบมากขนาดใดก็ตาม ผมก็ยังคงรักคุณอยู่เสมอ” แต่แทนที่ MARKER จะพูดออกมาตรงๆ เขากลับใช้ประโยคว่า “เด็กๆรักไดโนเสาร์” แทน และมันก็กลายเป็นสิ่งที่ซึ้งมากๆ (จริงๆแล้วประโยค “เด็กๆรักไดโนเสาร์” อาจจะไม่ได้มีความหมายอย่างนี้ หรืออาจจะมีความหมายมากกว่านี้ แต่ดิฉันก็ขอเลือกจดจำความประทับใจจากหนังเรื่องนี้ไว้ในรูปแบบนี้แล้วกันค่ะ)
วกกลับมาถึงโรบิน วิลเลียมส์ ตอนนี้ดิฉันรู้สึกชอบเขามากค่ะ ตอนช่วงทศวรรษ 1990 ดิฉันไม่ค่อยชอบเขามากเท่าไหร่ แต่หลังจากได้ดู INSOMNIA (2002, CHRISTOPHER NOLAN, A-), ONE HOUR PHOTO (2002, MARK ROMANEK, A-) และ THE FINAL CUT (2004, OMAR NAIM, A+) ดิฉันก็รู้สึกชอบหนังของเขามากๆ ดิฉันไม่ได้รู้สึกทึ่งในฝีมือการแสดงของเขา แต่ชอบหนัง 3 เรื่องนี้มากๆ เพราะมันเป็นหนังที่มี “ความวังเวง” อะไรบางอย่างที่โดนใจดี การที่ดิฉันชอบหนัง 3 เรื่องนี้ก็เลยพลอยทำให้รู้สึกดีกับโรบิน วิลเลียมส์ไปด้วย โดยเฉพาะใน THE FINAL CUT นั้น ดิฉันรู้สึกว่าเขาถ่ายทอดอารมณ์ “เหนื่อยหน่ายโลก” ออกมาได้อย่างถูกใจมากๆเลยค่ะ ความซังกะตายและความไร้ชีวิตชีวาของโรบิน วิลเลียมส์ใน THE FINAL CUT เป็นสิ่งที่เข้ากับบรรยากาศของหนังและถูกใจดิฉันมากๆ
Thursday, November 25, 2004
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment