Thursday, November 25, 2004

NADIA FARES IS THE BEST

วันนี้ได้ดูหนังชุด ID SWISS (1999) ที่สถาบันเกอเธ่ ซ.สาทร 1 มาค่ะ หนังชุดนี้ประกอบด้วยหนังสั้น 7 เรื่องด้วยกัน เรียงตามลำดับความชอบส่วนตัวได้ดังนี้

1.MIXED UP (A+++++)—NADIA FARES
เรื่องของสาวลูกครึ่งอียิปต์-สวิสที่เดินทางไปหาพ่อในอียิปต์หลังพลัดพรากจากกันนาน 15 ปี หากดูจากเนื้อหาเกี่ยวกับการย้อนกลับไปหารากเหง้าของตัวเองในแอฟริกาเหนือแล้ว หนังเรื่องนี้อาจมีบางส่วนที่ทำให้นึกถึง EXILS (2004, TONY GATLIF, A+/A) แต่บทบรรยาย, การถ่ายภาพ, การใช้เสียงดนตรีในหนังเรื่องนี้ กลับทำให้อารมณ์ของหนังออกไปในทาง BEAU TRAVAIL (1999, CLAIRE DENIS, A+++++) มากกกว่า ฉากที่ลืมไม่ลงในหนังเรื่องนี้คือฉากที่คุณยายของเธอ (ถ้าดิฉันเข้าใจไม่ผิด) พูดพร่ำถึงเรื่องการเดินฝ่าห้วงมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาลขึ้นไปทางทิศเหนือเรื่อยๆ เรื่อย ๆ เรื่อยๆ

2.TRAIN FANTOME (A)—THOMAS THUMENA
หลังจากเกิดสงครามกลางเมืองอันโหดร้ายในบอสเนีย ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ก็ไปสัมภาษณ์ทหารเกณฑ์หนุ่มแน่นหล่อเหลาชาวสวิสมากมายหลายคนว่าอาจจะเกิดสงครามกลางเมืองในสวิตเซอร์แลนด์ได้หรือไม่ เพราะสวิตเซอร์แลนด์ก็ประกอบไปด้วยคนที่พูดกันหลายภาษาหลายเชื้อชาติเหมือนกับยูโกสลาเวีย และสิ่งที่น่าตกใจก็คือทหารหนุ่มหล่อชาวสวิสหลายคนตอบว่า “เป็นไปได้” และความเป็นไปได้ที่ชาวสวิสจะรบราฆ่าฟันกันเองอย่างนองเลือด สูงกว่าความเป็นไปได้ที่สวิตเซอร์แลนด์จะถูกประเทศอื่นมารุกรานอีกด้วย

3.WAS WIE WANN WOHIN GEHORT (A)—WAGEH GEORGE
เรื่องของชายอียิปต์ที่กำลังจะแต่งงานกับสาวสวิส หนังทำออกมาน่ารักดี

4.RACLETTE CURRY (A-)—KAMAL MUSALE
เรื่องของผู้ชายคนหนึ่งที่มีพ่อเป็นนักกายกรรม/พ่อครัวชาวอินเดีย และแม่เป็นชาวสวิส

5.HOME ALONE (A-)—CHRISTIAN DAVI
เรื่องของบ้านพักคนชราในสวิตเซอร์แลนด์ที่มีพ่อครัวเป็นชาวตุรกี

6.HOPP SCHWYZ (B+)—FULVIO BERNASCONI
ความขัดแย้งระหว่างชาวสวิสที่พูดอิตาลีกับชาวสวิสที่พูดภาษาอื่นๆ หนุ่มๆที่มาเตะฟุตบอลในหนังเรื่องนี้น่ารักดีค่ะ

7.MAKING OF A JEW (B)--STINA WERENFELS
หญิงสาวคนหนึ่งกับความสับสนเกี่ยวกับชาติกำเนิดของตัวเอง, ต้นตระกูลของตัวเอง และศาสนาของตัวเอง

รู้สึกว่านิตยสาร Pulp เล่มเดือนต.ค.จะมีหนังสือแถมที่มีข้อมูลเกี่ยวกับ JEALOUSY IS MY MIDDLE NAME ด้วยค่ะ แต่ดิฉันยังไม่ได้อ่านเลย เรื่องย่อของ JEALOUSY IS MY MIDDLE NAME รู้สึกว่าจะเกี่ยวกับหนุ่มน้อยคนหนึ่งที่เพิ่งเลิกกับแฟนสาว หลังจากนั้นเขาก็ได้ทำงานในนิตยสารชั้นนำ และรู้สึกสนใจในตากล้องหญิงของนิตยสารนั้น ต่อมาเขารู้ว่าบก.ของเขาเป็นคนที่เคยแย่งแฟนเก่าของเขาไป และตอนนี้บก.คนนั้นก็สนใจในตัวตากล้องหญิง เขาต้องการแก้แค้นบก. เพราะฉะนั้นเขาก็เลยพยายามทำตัวเป็นก้างขวางคอไม่ให้บก.จีบตากล้องหญิงคนนั้นได้สำเร็จ

นักวิจารณ์บางคนแสดงความเห็นว่าสิ่งที่น่าสนใจใน JEALOUSY IS MY MIDDLE NAME ก็คือการที่ความสัมพันธ์ระหว่างพระเอกกับบก.ที่ไปๆมาๆกลับเหมือนกับเป็นคู่รักกันซะเอง ถึงแม้ว่าทั้งสองจะไม่ได้มีเซ็กส์กันก็ตาม

อ่านคำวิจารณ์นี้แล้วก็ทำให้นึกไปถึงหนังไอซ์แลนด์เรื่อง A MAN LIKE ME (2002, ROBERT I. DOUGLAS, A-) ที่เข้ามาฉายที่สยามดิสคัฟเวอรีในเดือนต.ค.ปีก่อนค่ะ เพราะก่อนจะเข้าไปดูหนังเรื่องนี้ นึกว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังโรแมนติกเกี่ยวกับหนุ่มอ้วนชาวไอซ์แลนด์กับหญิงสาวชาวจีน แต่ปรากฏว่าผิดคาด และเป็นการผิดคาดในทางที่ดีอย่างมากๆ เพราะพอเนื้อเรื่องผ่านไปได้ราวครึ่งชั่วโมง อยู่ดีๆสาวชาวจีนคนนั้นก็หนีกลับไปเมืองจีน และหนังก็หันมาเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของหนุ่มอ้วนกับหนุ่มหล่อที่เป็นเพื่อนของเขาแทน ในขณะที่เมียของหนุ่มหล่อจะเกลียดชังหนุ่มอ้วนมากและพยายามกีดกันสามีผู้หล่อเหลาของเธอไม่ให้สนิทกับเพื่อนชายคนนี้ ตัวละครในเรื่องนี้ไม่ได้เป็นโฮโมเซ็กชวลก็จริง แต่คนดูหลายคนคงรู้สึกได้ว่าจริงๆแล้วพระเอกนางเอกของหนังเรื่องนี้คือหนุ่มหล่อกับหนุ่มอ้วน ในขณะที่บรรดาตัวละครผู้หญิงในเรื่องนี้คือนางอิจฉาหรือตัวละครที่ทำให้ชีวิตของผู้ชายยุ่งยากวุ่นวายโดยไม่มีความจำเป็น

ROBERT I. DOUGLAS ผู้กำกับหนังเรื่องนี้เกิดปี 1973 และตอนนี้กำลังกำกับหนังเกี่ยวกับทีมฟุตบอลเกย์อยู่ รู้สึกว่า BIOSCOPE เคยพูดถึงโครงการหนังเกย์ฟุตบอลเรื่องนี้ไปบ้างแล้ว

หนังทีมฟุตบอลเกย์เรื่องนี้นำแสดงโดย BJORN HLYNUR HARALDSSON รู้สึกว่าเขาจะเกิดปี 1974 และสูง 190 ซม.

ส่วนเรื่องปัญหาหลักในการศึกษาดนตรีคลาสสิคที่น้อง Matt เขียนมานั้น พี่ก็รู้สึกอย่างเดียวกันค่ะกับการอ่านนิตยสารเกี่ยวกับดนตรีแดนซ์ที่พี่ชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็น MIXMAG หรือ DJ เพราะอ่านแล้วก็อยากฟังเพลงที่พวกเขาบรรยายถึงอย่างมากๆ แต่จะให้ไปซื้อซีดีมาฟังตามนั้นก็คงไม่มีเงิน และอ่านอย่างเดียวมันก็ไม่ได้รับอรรถรสด้วย เพราะในความเห็นส่วนตัวของพี่ การถ่ายทอดความงดงามของ “เสียงดนตรี” ออกมาเป็น “คำพูดหรือตัวอักษร” มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย ในขณะที่หนังสือเกี่ยวกับภาพยนตร์นั้น อ่านแล้วยังได้รับอรรถรสความสนุกเพลิดเพลินอยู่บ้าง ถึงแม้เราจะไม่รู้จักหนังเรื่องนั้นก็ตาม เพราะภาพยนตร์หลายเรื่องยังมี “เนื้อเรื่อง” และมี “ภาพ” ซึ่งพอจะถ่ายทอดออกมาเป็น “ถ้อยคำ” ได้บ้าง แต่ “เสียงดนตรี” นั้น แทบจะแทนที่ด้วยถ้อยคำบรรยายไม่ได้

ดิฉันเพิ่งอ่าน “สิทธารถะ” ฉบับแปลไทย ไปเมื่อไม่กี่ปีก่อน แต่กลับจำคำพูดอะไรในหนังสือไม่ได้เลยค่ะ เคยดูหนังสองเรื่องที่สร้างจากบทประพันธ์ของ HESSE ซึ่งก็คือ SIDDHARTHA (1972, CONRAD ROOKS, B+/B) ที่ตัวหนังดูสวยงามในระดับปานกลาง กับ STEPPENWOLF (1974, FRED HAINES, A) ที่ตัวหนังดูพิสดารพันลึกระทึกมาก ไม่ทราบอีกแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นในหนังเรื่องนี้ รู้สึกว่า STEPPENWOLF เป็นหนังที่ดูรอบเดียวคงยากจะเข้าใจอะไรได้ นอกจากว่าจะอ่านตัวนิยายมาก่อน

ยังไม่เคยดู MASTER AND MARGHERITA (1972, ALEKSANDAR PETROVIC) ค่ะ แต่อยากดูหนังเรื่องนี้มาก เพราะอ่านบทความเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ในหนังสือ “บุ๊คไวรัส” เล่ม 1 ของคุณสนธยา ทรัพย์เย็น แล้วรู้สึกว่านี่เป็นหนังที่พลาดไม่ได้อีกเรื่องนึง

เกี่ยวกับเรื่อง INCEST รู้สึกว่าหนังที่พูดถึงประเด็นนี้จะมีอยู่หลายเรื่องเหมือนกัน ส่วนใหญ่จะพูดถึงพ่อกับลูกสาว หรือพ่อเลี้ยงกับลูกเลี้ยง หนังกลุ่มนี้เท่าที่ดิฉันพอนึกออกก็มี

1.PRIEST (ANTONIA BIRD, A+++++)
2.THE FINAL CUT (2004, OMAR NAIM, A+)
3.TWIN PEAKS (TV SERIES) (1990, DAVID LYNCH, A+)
4.NATURAL BORN KILLERS (OLIVER STONE, A)
5.BLISS (1997, LANCE YOUNG, B+)

ส่วนในนิยายเรื่อง BAISE-MOI (A+++++) ของ VIRGINIE DESPENTES นั้น ถ้าจำไม่ผิด มีตัวละครผู้หญิงคนนึงที่เคยมีเซ็กส์กับพ่อตัวเองด้วยค่ะ ผู้หญิงคนนี้มาเจอกับนางเอก 2 คนในเรื่องด้วยบังเอิญ และเล่าประวัติชีวิตของเธอให้นางเอกฟัง MANU ซึ่งเป็นหนึ่งในนางเอกพอรู้เรื่องนี้เข้า ก็ถึงกับอุทานว่า “โอ้ มันช่างเท่อะไรเช่นนี้” (ดิฉันจำไม่ได้ค่ะว่า BAISE-MOI เวอร์ชันภาพยนตร์มีเนื้อหาตรงส่วนนี้ด้วยหรือเปล่า)

No comments: