--ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ดิฉันมีเวลาว่างออกไปดูหนังฉายฟรีตามสถาบันต่างๆ เป็นประจำ อาจจะเป็นเพราะว่าดิฉันยังไม่มีเครื่องเล่นดีวีดีค่ะ :-) จริงๆก็กะว่าจะซื้อเครื่องเล่นดีวีดีตั้งนานแล้ว แต่ก็ยังมองไม่เห็นเลยว่าตัวเองจะมีเวลาว่างมานั่งดูดีวีดีเมื่อไหร่ อย่างไรก็ดี ดิฉันมักจะระบายความรู้สึกอยากดูดีวีดีด้วยการแนะนำดีวีดีออกใหม่ให้คนอื่นๆอ่าน เพราะถึงตัวเองไม่ได้ดูเอง แต่การได้กระตุ้นให้คนอื่นๆไปหามาดูก็เป็นการระบายความอยากได้ดีเหมือนกัน
--ลืมบอกคุณเต้ไปว่าที่คุยกันวันนั้น ดิฉันจำผิด ดิฉันนึกว่าคุณเต้ได้ดูหนังเรื่อง box ไปแล้ว ก็เลยคุยอะไรไปมากมายโดยตั้งอยู่บนความเข้าใจผิดว่าคุณเต้ได้ดูหนังเรื่องนั้นไปแล้ว พอคุยเสร็จ ก็เลยนึกขึ้นมาได้ว่า เอ๊ะ ที่จริงแล้วคุณเต้อาจจะยังไม่ได้ดูหนังเรื่องนั้นนี่นา หวังว่าคุณเต้คงไม่งุนงงกับการคุยกันวันนั้นมากนัก :-)
--ตอนนี้รู้สึกว่ายิ่งได้ดูหนังของ “ทศพล บุญสินสุข + อุรุพงศ์ รักษาสัตย์ + ศาสตร์ ตันเจริญ” มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งรู้สึกอยากกราบเท้า 3 คนนี้มากเท่านั้น ทั้ง 3 คนนี้ทำหนังออกมาได้ตรงใจดิฉันมากๆ
--หลังจากได้ดูหนังสั้นรอบแรกและรอบสองในปีนี้ ก็พบว่ามันเหมือนกับปีก่อนๆในแง่ที่ว่า หนังที่ดิฉันชอบในระดับ A+ มักจะตกรอบแรกกันเกือบหมด และหนังส่วนใหญ่ที่เข้ารอบสองดิฉันมักจะชอบในระดับประมาณ B+ (แต่ดิฉันไม่ค่อยได้เอ่ยถึงชื่อหนังสั้นของไทยที่ดิฉันชอบในระดับต่ำกว่า A ลงไป เพราะอยากจะเขียนถึงหนังที่ชอบสุดๆมากกว่า)
--ถึงแม้หนังที่ดิฉันชอบสุดๆมักจะตกรอบแรกกันเกือบหมดในทุกๆปี แต่ดิฉันก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา เพราะความรู้สึกชอบของดิฉันไม่ขึ้นอยู่กับหลักเหตุผลอะไรทั้งสิ้น นอกจากว่าดูแล้วตัวเองรู้สึกถูกใจ, มีความสุขเท่านั้นเอง ซึ่งนั่นคงไม่เกี่ยวข้องแต่อย่างใดกับเกณฑ์ในการตัดสินหนังของคนอื่นๆ
--ได้ดู THE AUDIENCE ของคุณทศพล บุญสินสุขในวันเสาร์ที่ผ่านมา แล้วก็ต้องตกใจมากเมื่อพบว่าหนังเรื่องนี้มันมีเสียงประกอบตลอดทั้งเรื่องเลยนี่นา ทั้งๆที่ในการฉายรอบแรกหนังเรื่องนี้ไม่มีเสียงเลย แสดงว่ารอบแรกเกิดความผิดพลาดในการฉาย
--ดิฉันชอบ THE AUDIENCE เวอร์ชันผิดพลาดทางเทคนิคเป็นอย่างมาก แต่ในเวอร์ชันสมบูรณ์นั้น ดิฉันก็ยังชอบในระดับ A+ เหมือนเดิม เพียงแต่ว่ามันไม่เปิดกว้างทางจินตนาการมากเท่าเวอร์ชัน “ใบ้”
--THE AUDIENCE ไม่ใช่หนังเล่าเรื่อง แต่ดูเหมือนจะมีโครงสร้างบางอย่างใกล้เคียงกับหนังเล่าเรื่องโดยบังเอิญ (หรือจงใจก็ไม่รู้) เพราะหนังเรื่องนี้เหมือนกับจะแบ่งเป็น 3 องก์ และมีฉากที่ดิฉันรู้สึกว่าให้อารมณ์ PEAK คล้ายกับเป็นฉากไคลแมกซ์ในองก์ที่สาม นั่นก็คือฉากที่กล้องบุกเข้าไปในงานที่คนกำลังเต้นรำกันสุดเหวี่ยง
--ถ้าเข้าใจไม่ผิด ผู้กำกับหนังเรื่อง THE AUDIENCE โผล่หน้ามาแวบนึงในหนังด้วย
หนังที่ได้ดูในวันอาทิตย์
1.ครึ่งชีวิตคาร์บอน 14 (2005, PANLOP HORHARIN, A+)
ดูหนังเรื่องนี้ช่วงท้ายแล้วนึกถึง DAYS OF BEING WILD + IN THE MOOD FOR LOVE
2.THE ORDINARY ROMANCE (2005, TEEKHADET WATCHARATHANIN, A+)
3.กล่องความทรงจำ (เด็กภูเก็ต, A)
สิ่งหนึ่งที่รู้สึกฮามากในหนังเรื่องนี้ก็คือดิฉันไม่แน่ใจว่าดิฉันเข้าใจหนังเรื่องนี้ผิดหรือเด็กๆเข้าใจศัพท์ภาษาอังกฤษผิด เพราะหนังเรื่องนี้มีฉาก “1 year ago”, “2 years ago” และ “3 years ago” และดิฉันก็ดูด้วยความงุนงงว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับฉากย้อนอดีต หรือว่าที่จริงแล้วฉากเหล่านี้มันเป็นฉาก “อีก 1 ปีถัดจากนี้”, “อีก 2 ปีถัดจากนี้” และ “อีก 3 ปีถัดจากนี้” มากกว่า แต่เด็กๆใส่คำภาษาอังกฤษผิดก็เลยทำให้ฉาก FLASH FORWARD กลายเป็นฉาก FLASHBACK ไปโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือดิฉันเข้าใจหนังเรื่องนี้ผิดเองก็ไม่รู้
หนังเริ่มเรื่องด้วยเด็กหญิงกลุ่มหนึ่งฝังกล่องความทรงจำไว้ในผืนทราย หลังจากนั้นหนังก็ค่อยๆย้อนอดีตไปเป็นเมื่อ 3 ปีก่อน และจบลงด้วยฉากที่เด็กหญิงคนหนึ่งพยายามขุดกล่องความทรงจำขึ้นมา บางทีเด็กๆอาจจะตั้งใจทำให้หนังเรื่องนี้เป็นหนัง SURREAL ก็ได้นะ ด้วยการแสดงให้เห็นว่า “การขุดกล่องขึ้นมาจากดิน” เกิดขึ้นก่อน “การฝังกล่องลงไปในดิน” :-)
ไม่ว่าความแปลกประหลาดนี้จะเกิดจากความตั้งใจ, ไม่ตั้งใจ หรือเกิดจากความเข้าใจผิดของดิฉัน ดิฉันก็ชอบความแปลกประหลาด (โดยบังเอิญ ?) ในหนังเรื่องนี้มากค่ะ
4.หน้าที่ (เด็กภูเก็ต, A-)
5.ความหวัง (เด็กภูเก็ต, A-)
6.เทพยุทธพิศดาร (เด็กภูเก็ต, A-)
7.นภากระจ่าง (B+)
8.มายา (B+)
9.ช่องว่างระหว่างมวน (B+)
10.แอปเปิล ออฟ ดิ อาย (B+)
11.The Toilet (ทิวา เมยไธสง, B+)
12.Stray Bullet (2001, ทิวา เมยไธสง, B+)
13.The Coin (ทิวา เมยไธสง, B)
14.ความนัยของถุงเท้าขาวกับกุหลาบแดง (2000, ทิวา เมยไธสง, B)
15.พันตา (2000, ทิวา เมยไธสง, B)
FAVORITE ACTOR
PLEO SIRISUWAN—THE ORDINARY ROMANCE
--หนังฟิลิปปินส์เรื่อง RED SAGA ที่ได้ดูมา จัดเป็นหนังการเมืองที่ทำออกมาได้ทรงพลังพอสมควร
--รู้สึกว่าฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ชอบทำหนังเมโลดรามา, หนังเกย์ และหนังการเมือง
--เมื่อพูดถึงหนังการเมืองในฟิลิปปินส์ ดิฉันมักจะนึกถึง
1.IMELDA (2003, RAMONA S. DIAZ, A) ที่พูดถึงอิเมลดา มาร์กอส
2.FIGHT FOR US (LINO BROCKA, A-) ที่พูดถึงเหตุการณ์เลวร้ายในยุคของนางคอราซอน อาควินโน
(ข้อมูลจากนสพ.กรุงเทพธุรกิจในปี 2002)
ผู้สนใจภาพยนตร์จากประเทศฟิลิปปินส์ไม่ควรพลาดชมภาพยนตร์เรื่อง Fight For Us ที่จะเปิดฉายที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันอาทิตย์ที่ 1 ก.ย.2002 เวลา 13.00 น.
Fight For Us เป็นภาพยนตร์ปี 1989 ที่สร้างจากเรื่องจริง และมีเนื้อหาเกี่ยวกับจิมมี คอร์เดโร อดีตนักบวชที่เพิ่งพ้นคุกหลังจากถูกคุมขังในสมัยรัฐบาลของประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส อย่างไรก็ดี จิมมีพบว่ากลุ่มปกครองกลุ่มใหม่กลับทารุณกรรมครอบครัวของเขาและพี่น้องทั้งหมู่บ้าน โดยกลุ่มปกครองนี้อ้างว่าต้องการสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคมและไม่ต้องการความเห็นที่แตกต่าง
Fight For Us ได้เข้าฉายในสาย Directors' Fortnight ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในปี 1989 และเป็นผลงานการกำกับของลิโน บร็อคกา ซึ่งเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวฟิลิปปินส์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก เขาเคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์จากเรื่อง Jaguar ในปี 1980 และ Bayan Ko: My Own Country (1984) นอกจากนี้ ภาพยนตร์เรื่อง Angela Markado (1983) ยังทำให้เขาได้รับรางวัลในเทศกาลภาพยนตร์ 3 ทวีปที่เมืองนองท์ด้วย
ลิโน บร็อคกา (1940-1991) เกิดในครอบครัวที่ยากจนในชนบท เขาเคยทำงานเป็นมิชชันนารีให้กับนิกายมอร์มอนในชุมชนโรคเรื้อน และมีชื่อเสียงโด่งดังเมื่อภาพยนตร์เรื่อง Insiang (1978) ของเขาได้รับเลือกให้เข้าฉายในเมืองคานส์ ทั้งนี้ ภาพยนตร์ของบร็อคกามักมีเนื้อหาสะท้อนสังคมและแสดงความเห็นอกเห็นใจคนยากจนและชนชั้นแรงงาน เขาเคยถูกจับขังคุก และพยายามต่อต้านกระบวนการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์มาโดยตลอด โดยภาพยนตร์บางเรื่องของเขาเคยถูกสั่งห้ามฉายในประเทศฟิลิปปินส์ด้วย
ราอูล ซาการ์บาร์เรีย โรโก รมว.ศึกษาธิการของฟิลิปปินส์ เคยอำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง You Are Weighed in the Balance But Are Found Wanting (1974) ที่กำกับโดยบร็อคกา โดยภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับความป่วยไข้ของสังคม
(ภาพยนตร์เกย์เรื่อง Macho Dancer ที่กำกับโดยลิโน บร็อคกา มีจำหน่ายแล้วในรูปแบบวิดีโอและดีวีดี)
--หลังจากที่วงการภาพยนตร์สร้างหนังที่โจมตีหญิงเหล็กอิเมลดา มาร์กอสกับคอราซอน อาควิโนไปแล้ว ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าท่านประธานาธิบดีกลอเรีย มาคาปากาล “โอ๊ยโหย๊ยโหย” (อิอิ) จะถูกวงการภาพยนตร์หยิบมาโจมตีเมื่อใด
--หนังฟิลิปปินส์ที่อยากดูมากในตอนนี้คือ Evolution of a Filipino Family ซึ่งมีความยาว 9 ชั่วโมงเต็ม
Evolution of a Filipino Family เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ซึ่งปกครองประเทศโดยใช้กฎอัยการศึกเป็นเวลาถึง 15 ปี โดยจุดศูนย์กลางของเรื่องนี้คือครอบครัวกัลลาร์โด ซึ่งเลี้ยงชีพด้วยการทำไร่
นอกจากการปกครองของมาร์กอสแล้ว ครอบครัวกัลลาร์โดยังต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆอีกมากมาย ซึ่งรวมถึงกลุ่มกบฏ, อาชญากรรมที่เพิ่มสูงขึ้น และสภาพบ้านเมืองที่ยุ่งเหยิงวุ่นวายขึ้นเรื่อยๆ โดยสมาชิกเพศชายในครอบครัวนี้เริ่มทิ้งครอบครัวไป ในขณะที่สมาชิกเพศหญิงส่วนใหญ่มีชะตาชีวิตที่ดีกว่าและยังคงปักหลักอยู่ในชนบท
Evolution of a Filipino Family เป็นภาพยนตร์ขาวดำที่ใช้เวลาถ่ายทำนาน 8 ปีและแทบไม่มีการใช้ดนตรีประกอบ ทางด้านนักวิจารณ์ให้ความเห็นว่าฉากเด่นในภาพยนตร์เรื่องนี้คือฉากที่ตัวละครได้วิทยุมาและเริ่มติดละครวิทยุ ซึ่งฉากดังกล่าวเป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่าวิถีชีวิตของตัวละครเปลี่ยนแปลงไปแล้ว นอกจากนี้ ฉากเด่นอีกฉากคือฉากที่แมงมุมตัวหนึ่งกัดกินอีกตัวหนึ่ง โดยฉากดังกล่าวถูกตัดสลับเข้ากับฉากการต่อสู้ระหว่างครอบครัวกัลลาร์โดกับกลุ่มกบฏ
ลาฟ ดิอาซ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการนำเสนอบาดแผลทางใจที่ชาวฟิลิปปินส์ได้รับจากการปกครองของมาร์กอส โดยดิอาซมองว่ามาร์กอสสร้างความเสียหายต่อฟิลิปปินส์ไม่น้อยไปกว่าสเปน, สหรัฐ และญี่ปุ่นซึ่งเคยเข้ามายึดครองฟิลิปปินส์ในอดีต
ดิอาซซึ่งเกิดปี 1958 เคยกำกับภาพยนตร์เรื่อง The Criminal of Barrio Concepcion (1999), Burger Boys (1999), Naked Under the Moon (1999), Hesus the Revolutionary (2002) และ Batang West Side (2002) โดยเรื่องหลังนี้เคยได้รับรางวัลภาพยนตร์เอเชียยอดเยี่ยมในเทศกาลภาพยนตร์สิงคโปร์
ตอบน้อง merveillesxx
พูดถึงหนังเรื่อง LORELEI: THE WITCH OF THE PACIFIC OCEAN ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรือดำน้ำญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ก็เลยนึกถึงข่าวที่ได้อ่านมาค่ะ
ข่าวอยู่ที่นี่
http://fullcoverage.yahoo.com/s/nm/20050811/film_nm/japan_nationalism_movie_dc
LORELEI: THE WITCH OF THE PACIFIC OCEAN และหนังเรื่อง AEGIS OF THE DOOMED COUNTRY สร้างจากนิยายของ HARUTOSHI FUKUI เหมือนกัน และก็มีบางคนกังวลว่าความนิยมในหนังเกี่ยวกับทหารสองเรื่องนี้ เกิดขึ้นพร้อมกับกระแสชาตินิยมในญี่ปุ่นขณะนี้พอดี
ส่วนในเกาหลีใต้นั้น เมื่อต้นปีนี้ก็ได้ยินข่าวว่ามีละครโทรทัศน์ที่ออกชาตินิยมหน่อยๆได้รับความนิยมอย่างน้อย 2 เรื่องค่ะ ซึ่งก็คือเรื่อง Emperor of the Sea ที่เล่าเรื่องของแจง โบ-โก ซึ่งเป็นพ่อค้าที่มีอิทธิพลเหนือการค้าในเอเชียตะวันออกในเวลากว่า 1,100 ปีก่อน ส่วนอีกเรื่องมีชื่อว่า Immortal Admiral Yi Sun-shin ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับพลเรือเอกยี่ ซัน-ชิน ผู้บัญชาการกองทัพเรือเกาหลีในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นผู้ปฏิวัติการทำสงครามทางทะเลด้วยการใช้เรือชนิดใหม่ที่เรียกกันว่าเรือ "เต่า" จนเขาสามารถขับไล่ชาวญี่ปุ่นผู้รุกรานออกไปจากประเทศได้
ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรดิฉันก็ไม่รู้แน่เหมือนกัน เพราะหนังหรือละครเกี่ยวกับทหารบางเรื่อง ก็ไม่ได้มีความเป็นชาตินิยมเสมอไป หนังทหารบางเรื่องอาจจะสร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมสันติภาพก็ได้
อย่างไรก็ดี ดิฉันก็ได้แต่หวังว่ากระแสชาตินิยมในเอเชียตะวันออกจะไม่เพิ่มพูนไปกว่านี้อีก เพราะรู้สึกว่าละแวกนั้นดูตึงเครียดจังเลย แถมมีคู่ตบกันหลายคู่ด้วย
เท่าที่ดิฉันลองคาดเดาดูเล่นๆ (ถ้าผิดก็ต้องขออภัยด้วย) รู้สึกว่าละแวกนั้นมีคู่ตบกันดังต่อไปนี้
1.จีนตบกับญี่ปุ่นเรื่องแบบเรียนสงครามโลกครั้งที่สอง
2.เกาหลีใต้ตบกับญี่ปุ่นเรื่องแบบเรียนสงครามโลกและเรื่องสิทธิเหนือหมู่เกาะ Tokto หรือหมู่เกาะ Takeshima
3.เกาหลีเหนือตบกับญี่ปุ่น (ซึ่งจะเห็นได้จากหนังเรื่อง AEGIS OF THE DOOMED COUNTRY)
4.เกาหลีเหนือตบกับเกาหลีใต้
5.จีนพยายามกีดกันผู้ลี้ภัยจากเกาหลีเหนือไม่ให้ทะลักเข้ามาในจีน
6.สหรัฐตบกับเกาหลีเหนือเรื่องอาวุธนิวเคลียร์
7.จีนตบกับไต้หวัน
8.ท่าทีของสหรัฐที่มีต่อปัญหาจีนและไต้หวัน
สรุปว่างานนี้ตบกันแหลกค่ะ ตบกันแหลก
ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าจะมีหนังญี่ปุ่น, หนังเกาหลี, หนังจีน หรือหนังไต้หวันเกี่ยวกับอะไรทำนองนี้ออกมาหรือไม่ และรอดูว่าจะเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นมาหรือเปล่า (หวังว่าคงไม่เกิดนะ)
--AEGIS OF THE DOOMED COUNTRY กำกับโดย JUNJI SAKAMOTO ซึ่งเคยกำกับหนังการเมืองเรื่อง KT (2002) และหนังแปลกๆเรื่อง FACE (2000, A-)
AEGIS OF THE DOOMED COUNTRY
http://www.imdb.com/title/tt0457643/
FACE
http://bioscopemagazine.com/webboard/index-in.php?id=4033
--ในขณะที่เกาหลีใต้ผลิตหนังที่พูดถึงความขัดแย้งทางการเมืองออกมาหลายเรื่อง หนังเรื่อง UMMA เป็นหนังเกาหลีใต้ที่ดิฉันได้ดูเรื่องแรกที่พูดถึงความขัดแย้งทางศาสนาในเกาหลีใต้ แต่ยังดีที่เป็นความขัดแย้งทางศาสนาในระดับครัวเรือนเท่านั้น
Tuesday, August 16, 2005
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment