Tuesday, September 24, 2013

TYPHOON THE REMAINS (2013, Teerawat Mulvilai, stage play, A+30)

TYPHOON THE REMAINS (2013, Teerawat Mulvilai, stage play, A+30)
 
“Everyone learns—if he has any self-knowledge at all—that he has a blind spot at each stage of his life. Something he does not see. That is related to his perceptual capacity, his history. And a society or a civilization also has a blind spot. Precisely this blind spot brings about its self-destruction. In my opinion the task of literature is not only to describe it but to enter it, to go into the eye of the hurricane. This often happens by means of self-exploration, because, I, you, each of us, our education and socialization are all a part of this civilization. This blind spot has not been addressed by education, because education is concerned only with human reason.” Christa Wolf
 
“For the people, history is and remains a collection of stories.It is what people can remember and what is worth being told again and again: a retelling. The tradition flinches at no legend, triviality, or error, provided it has some connection with the battles of the past. Hence the notorious impotence of facts in the face of colorful pictures and sensational stories.” Hans Magnus Enzensberger
 
ดู TYPHOON THE REMAINS และฟังบรรยายหลังละครเวทีเรื่องนี้แล้ว อยู่ดีๆก็นึกถึงหนังเรื่อง THE PATRIOT WOMAN (1979, Alexander Kluge, A+30) ขึ้นมา เพราะเนื้อหาส่วนหนึ่งของ TYPHOON เกี่ยวกับปัญหาในการสอนประวัติศาสตร์ และประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ตรงกับใน THE PATRIOT WOMAN
 
หลังดู TYPHOON จบ เราก็เลยกลับไปพลิกๆอ่านหนังสือ FROM HITLER TO HEIMAT: THE RETURN OF HISTORY AS FILM ของ Anton Kaes อีกครั้ง เพราะหนังสือเล่มนี้พูดถึง THE PATRIOT WOMAN และก็เลยเจอ quotes สองอันข้างต้น ซึ่งมันทำให้เรานึกถึง TYPHOON THE REMAINS ด้วยเหมือนกัน เพราะเราว่า TYPHOON THE REMAINS มันพูดถึง blind spots หรือ blurred spots หลายจุดในประวัติศาสตร์ไทยและการศึกษาไทย อย่างเช่นเรื่องของกบฏ ร.ศ. 130 ซึ่งเราแทบไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย การที่เราได้ยินคำว่ากบฏ ร.ศ. 130 ในวันเสาร์ที่ผ่านมา อาจจะเป็นการได้ยินคำนี้ครั้งแรกในรอบหลายปีสำหรับเรา
 
เราว่า TYPHOON THE REMAINS ทำหน้าที่คล้ายๆ literature ที่ Christa Wolf พูด นั่นก็คือ enter the blind spot of the society, go into the eye of the hurricane  และทำในสิ่งที่การศึกษาไม่ได้ให้เรา ละครเวทีเรื่องนี้พูดถึงจุดบอดในประวัติศาสตร์ไทย, จุดบอดที่อาจจะสำคัญและร้ายแรงมากๆ พูดถึงประวัติศาสตร์ไทยที่ไม่ได้อยู่ในตำราเรียน และละครเวทีเรื่องนี้ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังทางอารมณ์ ความรู้สึกด้วย
 
ส่วน quote อันที่สองที่เรายกมา เพราะมันทำให้เรานึกถึงสิ่งที่ผู้บรรยายหลังไต้ฝุ่นพูดไว้ ที่ว่าคนไทยหลายคนรู้เรื่องของประวัติศาสตร์ในอดีตกาลนานมา อย่างเช่น นเรศวร ดีกว่ารู้เรื่องของกบฏ ร.ศ. 130 หรือเรื่องของ 6 ตุลาเสียอีก เมื่อเราพูดถึงปวศ. เรามักจะนึกถึง legend, colorful pictures และ sensational stories มากกว่า facts เหมือนอย่างที่ quote นี้กล่าวไว้
 
ไต้ฝุ่น THE REMAINS ทำให้เรานึกถึงประเด็นต่างๆดังต่อไปนี้ด้วย
 
1.เราชอบมากที่โจทย์ของละครเวทีเรื่องนี้น่าจะเป็นเพียงเรื่องของ 14 ต.ค. 2516 แต่ละครเวทีเรื่องนี้กลับเท้าความไปถึงอดีตตั้งแต่กบฏ ร.ศ. 130, มีการพูดถึงปัญหาในยุคปัจจุบัน และตอนจบของละครเวทีเรื่องนี้ ก็อาจจะเป็นการเสนอทางออกสำหรับอนาคตด้วย เราก็เลยชอบมากที่แทนที่ละครเวทีเรื่องนี้จะพูดถึงแค่เหตุการณ์เดียว แต่กลับพูดถึงทั้งอดีตก่อนเหตุการณ์นั้น, เหตุการณ์นั้น, เหตุการณ์หลังจากนั้น, ปัจจุบัน และอนาคต
 
2.เราชอบมากที่ละครเวทีเรื่องนี้ไม่ได้ออกมาเล่าว่า “ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ 14 ตุลา 2516 มีดังต่อไปนี้” เพราะเราว่าประเด็นพวกนี้สามารถหาอ่านได้จากที่อื่นๆ หรือดูได้จากหนังสารคดีอย่าง 14 OCTOBER (1973, Shin Klaipan, A+) ละครเวทีเรื่องนี้อาจจะพูดถึงความสำคัญของ fact, truth และ reality แต่ละครเวทีเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการให้ข้อมูล ABCDEFG.... กับผู้ชม และบอกว่านี่คือ fact ที่ผู้ชมต้องเชื่อ ละครเวทีเรื่องนี้ (และการเสวนาหลังละคร) ทำให้เราตระหนักว่า fact มันมีหลายแง่มุม และเราจะเข้าใกล้ truth ได้ก็ต่อเมื่อเรายอมรับ fact จากหลายๆแง่มุม และยอมรับว่าเรื่องทางปวศ.พวกนี้มันไม่ใช่สิ่งที่สิ้นสุด, หยุดนิ่ง และตายตัว ยังมีข้อมูลอีกหลายๆอย่างในปวศ.ที่เรายังพูดไม่ได้ ยังสอนไม่ได้ หรือยังคงรอการถูกขุดคุ้ยขึ้นมา เราควรเปิดใจยอมรับข้อมูลใหม่ๆและรับฟังการตีความปวศ.ใหม่ๆอยู่เสมอ และอย่าปักใจเชื่ออะไรง่ายๆ
 
“Prefer what is positive and multiple, difference over uniformity, flows over unities, mobile arrangements over system. Believe that what is productive is not sedentary but nomadic.” Michel Foucault
 
เราไม่แน่ใจเหมือนกันว่า quote ข้างต้นแปลว่าอะไร แต่มันทำให้เรานึกถึงสิ่งที่อ.ประจักษ์ ก้องกีรติพูดในงานเสวนาหลังละคร ที่ว่าเวลาเราศึกษาปวศ. เราต้องระลึกอยู่เสมอว่า มันไม่มีคำตอบเดียวตายตัว
 
(พูดถึงประเด็นที่ว่าคำตอบในปวศ.ไม่มีตายตัว มันทำให้เรานึกถึงหนังสารคดีเรื่อง “มิตรสหายท่านหนึ่ง” (2013, อภิชน รัตนาภายน + วัชรี รัตนะกรี, A+30) ที่เพิ่งออกอากาศทาง THAI PBS ในวันเสาร์ที่ผ่านมาด้วย หนังเรื่องนี้พยายามสอบถามผู้คนเกี่ยวกับเหตุการณ์ตอนที่จิตร ภูมิศักดิ์ถูกยิงตาย แต่ดูเหมือนชาวบ้านบางคนให้การไม่ตรงกัน (หรือเราฟังผิดเองก็ไม่รู้) และพอเราดูหนังเรื่องนี้จบ เราก็ไม่แน่ใจว่าตกลงความจริงมันคืออะไรกันแน่)
 
3.หนึ่งในสิ่งที่ชอบสุดๆในไต้ฝุ่น THE REMAINS คือการให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ของบุคคลธรรมดา คนที่อาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ก็ได้ และเราว่าจุดนี้มันทำให้เรานึกถึง THE PATRIOT WOMAN มากๆ
 
เราจำรายละเอียดฉากนี้ไม่ได้แล้ว ถ้าจำไม่ผิด ในฉากนี้จะมีตัวละครหลายคนที่ออกมาพูดว่า ในวันที่ 14 ต.ค. 2516 หรือ 6 ต.ค. 2519 พ่อแม่ของใครทำอะไรที่ไหนบ้าง แม่ของบางคนอาจจะอยู่ในอีสาน ใช้ชีวิตประจำวันไปตามปกติ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ ในขณะที่พ่อของบางคนอยู่ในกลุ่มกระทิงแดง ที่มีส่วนในการสังหารหมู่นักศึกษาธรรมศาสตร์
 
อีกฉากที่เราชอบมากด้วยเหตุผลคล้ายๆกัน คือฉากที่ตัวละครแต่ละคนออกมาพูดว่า “ฉันไม่เคยสนใจการเมือง จนกระทั่ง...”
 
เรายิ่งทึ่งขึ้นไปอีกที่ได้รู้ว่า เนื้อหาในบางส่วนของละครได้มาจากการสัมภาษณ์ทีมงานนักแสดง เราว่าส่วนนี้มันทำให้ละครเรื่องนี้ดู humanist มากๆสำหรับเรา เพราะแทนที่มันจะเป็นเพียงแค่ละครที่แสดงความเห็นทางการเมือง หรือ ละครสะท้อนปัญหาการเมืองไทย มันกลับมีแง่มุมเล็กๆของชีวิตมนุษย์ตัวเล็กตัวน้อยแทรกเข้ามาด้วย เหตุการณ์วันที่ 14 ต.ค. 2516 อาจจะเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญมากๆสำหรับประวัติศาสตร์ไทย แต่คนไทยบางคนที่อยู่เฉยๆนั่งเล่นใต้ร่มไม้ในจังหวัดบุรีรัมย์ในวันนั้น เขาก็มี “ประวัติศาสตร์ส่วนตัว” ของเขา เช่นกัน และประวัติศาสตร์ส่วนตัวของมนุษย์ธรรมดาแต่ละคน มันก็มีคุณค่าในตัวของมันเอง
 
จุดนี้ของ TYPHOON THE REMAINS ทำให้เรานึกถึง THE PATRIOT WOMAN เพราะ Gabi Teichert นางเอกของหนังเรื่องนี้เป็นครูสอนประวัติศาสตร์ที่ “The more she grows suspicious of the linear, radically reductionist explanations of history found in schoolbooks, the more she questions a job that calls on her to teach German history in neat 45-minute segments. When Gabi Teichert shows interest, for instance, in the hundreds of little everyday stories that have been excluded by the official historiography, she deals with German history in the spirit of Kluge’s project: “And what else is the history of a country but the vastest narrative surface of all? Not one story but many stories.” (ส่วนนี้ copy มาจากหนังสือ FROM HITLER TO HEIMAT จ้ะ)
 
4.ฉากที่ชอบที่สุดในเรื่องนี้คือฉากที่ตัวละครเดินแถวด้วยลักษณะคล้ายๆหุ่นยนต์หรือซอมบี้ ทุกคนเดินตามคนอื่นๆเป็นเส้นตรง และดูเหมือนจะเป็นการเดินหน้าไปเรื่อยๆ แต่อยู่ดีๆ มันก็เป็นการเดินถอยหลัง (เข้าคลอง) ตามๆกันไปเรื่อยๆ บางคนเดินไม่ไหว แต่ก็ต้องทนฝืนเดินต่อไปด้วยความทุกข์ทรมาน เราว่าฉากนี้มันตรงใจเรามากๆ
 
5.เราชอบช่วงแรกๆของละครมากกว่าช่วงหลังๆนะ เพราะช่วงแรกๆของละครมันเหมือนมีอารมณ์คลุ้มคลั่งฮิสทีเรียอยู่น่ะ การได้ดูอารมณ์คลุ้มคลั่งของตัวละครหรือการแสดงแบบ energetic มากๆในช่วงแรก มันเหมือนช่วยให้เราได้ระบายสิ่งที่เก็บกดไว้ หรือสิ่งที่เราอัดอั้นตันใจไว้ออกมาด้วยมั้ง ฮ่าๆๆ แต่ช่วงหลังๆของละครก็ดีนะ เพียงแต่ช่วงแรกๆมันดูน่าตื่นเต้นหรือเข้ากับอารมณ์ส่วนตัวของเรามากกว่า
 
6.เราชอบตอนจบของละคร ที่เหมือนกับการแสดงภาพของสังคมที่ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างได้ แต่ถึงแม้ละครเรื่องนี้จะจบในทางตรงกันข้าม เราก็คงชอบอยู่ดี สรุปว่าเราชอบตอนจบทั้งสองแบบแหละ ไม่ว่าจะจบในแบบ optimistic หรือ pessimistic
 
ตัวอย่างของหนังเกี่ยวกับปัญหาการเมืองไทยที่จบได้ pessimistic แต่โดนใจเราสุดๆ คือเรื่อง “วงกลม” (2012, กฤษณ เทพาคำ, A+30) เราไม่แน่ใจว่าจริงๆแล้วเราเข้าใจหนังเรื่องนี้ถูกหรือเปล่านะ แต่ภาพปล่องไฟและภาพป่าไม้ที่ถูกโค่นจนไม่เหลือต้นไม้สักต้นในหนังเรื่อง “วงกลม” มันทำให้เรานึกถึงการสังหารหมู่แบบรวันดาหรือเขมรแดงน่ะ เราก็เลยชอบหนังเรื่องนี้มากที่เหมือนจะเตือนว่า ปัญหาการเมืองไทยในอนาคตมันอาจจะไปถึงจุดที่กลายเป็นแบบรวันดาได้
 
7.ถ้าหากจะเทียบ TYPHOON THE REMAINS กับหนัง มันก็ทำให้เรานึกถึงหนังเรื่อง DIVINE INTERVENTION (2002, Elia Suleiman, A+30) ด้วย เพราะหนังเรื่องนี้นำเสนอปัญหาการเมือง แต่นำเสนอออกมาในแบบที่เป็น fragments ของเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่ไม่ปะติดปะต่อกัน และนำเสนอออกมาในแบบเซอร์เรียลเหมือนกัน
 
8.ชอบที่ TYPHOON THE REMAINS มีเนื้อหาบางส่วนพูดถึงปัญหา freedom of speech เพราะเราคิดว่านี่เป็นหนึ่งในปัญหาที่เลวร้ายที่สุดของสังคมไทย
 
จริงๆแล้วก็มีละครเวทีเรื่องอื่นๆที่พูดถึงปัญหา freedom of speech เหมือนกัน และเราว่าเป็นสิ่งดีที่คนในวงการละครเวทีให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ ละครเวทีเรื่องอื่นๆที่เราชอบมากที่เกี่ยวกับประเด็นนี้ก็มีเช่น
8.1 THE GIORDANO BRUNO PROJECT (2013, Jacopo Gianninoto + Nana Dakin + Sasapin Siriwanij)
 
8.2 LEAR AND HIS THREE DAUGHTERS (2012, Jarunan Phantachat)
 
8.3 A THREAD IN THE DARK (2011, สินีนาฏ เกษประไพ)
 
8.4 คิมจองอิลตายแล้ว (2013, รัฐพงศ์ ภิญโญโสภณ)
 
8.5 บางละเมิด (2012, อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์)
 
8.6 เปรตมือบาน (2012, ธนวัต กตาธิกรณ์)
 
สรุปว่าดู TYPHOON THE REMAINS แล้วทำให้นึกถึงหนังเยอรมันอย่าง THE PATRIOT WOMAN และ THE NASTY GIRL (1989, Michael Verhoeven, A+30) บางทีอาจจะเป็นเพราะว่าเยอรมนีก็เป็นประเทศที่มีปัญหาอย่างรุนแรงกับประวัติศาสตร์เหมือนกัน ในขณะที่คนเยอรมนีบางคนต้องยอมรับความจริงที่ว่าพ่อแม่ของเขาเคยเป็นนาซี เราก็ต้องยอมรับความจริงที่ว่าพ่อแม่ของเราบางคนเคยเชิดชูเผด็จการ, เคยยินดีกับการเห็นคอมมิวนิสต์ถูกฆ่า, เคยมีส่วนร่วมในการปลุกปั่นความเกลียดชังคอมมิวนิสต์ หรือพ่อแม่ของเราอาจจะมีความเห็นทางการเมือง+สังคมที่ตรงข้ามกับเราอย่างสิ้นเชิง
 
แต่อย่างหนึ่งที่อาจจะทำให้เยอรมนีดีกว่าเราก็คือว่า ประวัติศาสตร์ที่เลวร้ายของเยอรมนีน่าจะสามารถนำมาพูดถึงได้อย่างถูกกฎหมายเกือบทั้งหมดแล้ว แต่ประวัติศาสตร์ไทยอาจจะนำมาพูดได้เพียงแค่ 60 % เท่านั้น ตามที่ผู้เสวนาในงานได้กล่าวไว้
 
“Precisely this blind spot brings about its self-destruction.” Christa Wolf
 

No comments: