Desirable Actor: Poodit Koonchanasongkram – EMPRESS DOWAGER TZU-HSI
THE MUSICAL (2014, Kriangsak Silakong, stage play, A+25)
สิ่งหนึ่งที่เราชอบสุดๆในซูสีไทเฮา เดอะ มิวสิคัล
ก็คือการที่ละครเวทีเรื่องนี้มีโครงสร้างบางอย่างที่ทำให้เรานึกถึง BREMEN FREEDOM (1972, Rainer
Werner Fassbinder) ซึ่งเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่เราชื่นชอบที่สุดในชีวิต
และ “เพลิงพ่าย” (1990) ซึ่งเป็นหนึ่งในละครทีวีที่เราชื่นชอบที่สุดในชีวิต
และสิ่งนั้นก็คือการที่ละครเวที/ภาพยนตร์/ละครทีวี 3 เรื่องนี้
ต่างก็เล่าเรื่องของนางเอก ที่ไล่ฆ่าตัวละครประกอบไปทีละคน ทีละคน
และกว่าเรื่องราวจะจบลง เราก็นับกันไม่หวาดไม่ไหวเลยทีเดียวว่านางเอกฆ่าตัวละครไปแล้วกี่คนกันแน่
ถ้าหากให้เราประเมินอย่างคร่าวๆ นางเอกเพลิงพ่ายน่าจะฆ่าตัวละครอื่นๆทั้งทางตรงและทางอ้อมไปประมาณ
5 คน, นางเอก BREMEN FREEDOM ฆ่าคนไปประมาณ 15 คน
(สร้างจากเรื่องจริง) ส่วนตัวละครซูสีไทเฮาในละครเวทีเรื่องนี้ ฆ่าคนไปประมาณ 10
คน (แม่ของตุงจี่ฮ่องเต้, เซียนเฝ็งฮ่องเต้, อ๋อง 3 คน, อันเตไฮ หัวหน้าขันที, ตุงจี่ฮ่องเต้,
ซูอันไทเฮา, พระสนมเจ็งไฝ และกวางสูฮ่องเต้)
เราไม่เคยรู้ประวัติของซูสีไทเฮามาก่อน พอมาได้ดูละครเวทีเรื่องนี้
เราก็เลยชอบมากๆที่ละครเวทีเรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกว่า
จริงๆแล้วซูสีไทเฮาก็มีความคล้ายคลึงกับฆาตกรโรคจิตเป็นอย่างมาก แต่ซูสีไทเฮาอาจจะต่างจากฆาตกรโรคจิตอย่างนางเอก
BREMEN FREEDOM, BAISE-MOI หรือ MONSTER (2003, Patty Jenkins) ในแง่ที่ว่า
ซูสีไทเฮาฆ่าคนไปมากมายเพื่อรักษาอำนาจของตนเอง และเธอก็มักจะอ้างว่าเธอ “รักชาติ”
อยู่เสมอ ซึ่งความรักชาติของซูสีไทเฮานี้ทำให้เธอแตกต่างจากฆาตกรโรคจิตคนอื่นๆอย่างเห็นได้ชัด
แต่มันก็ไม่ได้ทำให้เธอดูดีกว่าฆาตกรโรคจิตคนอื่นๆแต่อย่างใดในสายตาของเรา
ตอนนี้เราตัดสินใจไม่ได้ว่าระหว่างซูสีไทเฮากับเจ้านางปิ่นมณี (วาสนา
พูนผล) ในละครทีวีเรื่อง “เพลิงพระนาง” ใครเป็นตัวละครราชินีที่ชั่วช้าสารเลวกว่ากัน
ส่วนสิ่งที่เราไม่ชอบมากที่สุดใน “ซูสีไทเฮา เดอะมิวสิคัล”
ก็คือเพลงเพลงหนึ่งที่ใช้ในฉากจบของเรื่อง
ซึ่งเป็นเพลงที่ออกมาในแนวเชิดชูความรักชาติของซูสีไทเฮา อย่างไรก็ดี
เราไม่ได้อารมณ์เสียอะไรกับเพลงนี้มากนัก เพราะเราคิดว่าเพลงนี้อาจถูกใส่เข้ามาเพื่อประนีประนอมกับอะไรบางอย่าง
และในแง่นึง เราก็มีตอนจบของซูสีไทเฮาในจินตนาการของเราเองอยู่แล้ว
เรารู้สึกดีใจมากๆที่ได้ดูละครเวทีเรื่อง SISTERS OF THE REVOLUTION (2014,
Ninart Boonpothong, A+20) ที่เล่าเรื่องภรรยาของซุนยัดเซ็นกับภรรยาของเจียงไคเช็คในเวลาไล่เลี่ยกัน
เรารู้สึกว่าละครเวทีสองเรื่องนี้มันช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกันเป็นอย่างมาก
และสำหรับเราแล้ว เรารู้สึกว่าละครเวทีเรื่อง SISTERS OF THE REVOLUTION นี่แหละ คือตอนจบที่แท้จริงของซูสีไทเฮา เดอะ มิวสิคัล
เพราะมันเล่าถึงผู้หญิงคนสำคัญของประเทศจีนในเวลาที่ต่อเนื่องกัน
เล่าถึงความทะเยอทะยานและความรักชาติของผู้หญิงเหล่านี้ และการนำละครเวทีสองเรื่องนี้มาประกบกัน
มันก็ช่วยให้ภาพที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับ “ประเทศในยุคราชวงศ์และการล่มสลายของราชวงศ์”
ด้วย
มีสิ่งที่น่าเปรียบเทียบกันมากมายระหว่างละครเวทีสองเรื่องนี้
ซึ่งเราชอบมากๆทั้งสองเรื่อง เราชอบความอลังการของซูสีไทเฮา เดอะ มิวสิคัล
และเราก็ชอบความ minimal ทางฉากและโปรดักชั่นของ SISTERS OF THE
REVOLUTION เราชอบความพยายามที่จะเล่าประวัติอันยาวนานของซูสีไทเฮา
และเราก็ชอบการเล่าเจาะเฉพาะช่วงเวลาสำคัญบางช่วงในชีวิตของตัวละครใน SISTERS
OF THE REVOLUTION
การได้ดูละครเวทีสองเรื่องนี้ในเวลาไล่เลี่ยกันทำให้เราอดไม่ได้ที่จะจินตนาการถึงละครเวทีเรื่องที่สามในหัวของเราเอง
และในจินตนาการของเรานั้น ภรรยาของซุนยัดเซ็นกับภรรยาของเจียงไคเช็ค
กำลังหัวเราะเยาะหยันซูสีไทเฮาอย่างสะใจ
No comments:
Post a Comment