Saturday, February 21, 2015

THIS IS MY {DAY} LIGHT (2015, Wannasak Sirilar + Paksupa Polpatpootanun, stage play, A+25)

THIS IS MY {DAY} LIGHT (2015, Wannasak Sirilar + Paksupa Polpatpootanun, stage play, A+25)

--ชอบโครงสร้างของเรื่องมากๆ คือโครงสร้างของเรื่องนี้เป็นเรื่องสั้นๆของผู้คน 12 คนที่เกี่ยวข้องกับอพาร์ทเมนท์แห่งหนึ่ง โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่การฆาตกรรมหญิงสาวคนนึงในอพาร์ทเมนท์แห่งนั้น (ถ้าหากเราเข้าใจไม่ผิด) ซึ่งโครงสร้างแบบนี้ทำให้เรานึกถึงหนังอย่าง 9-9-81 (2012) และ THE DEAD GIRL (2006, Karen Moncrieff)

อย่างไรก็ดี เนื้อหาของละครเวทีเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องผีหรือเรื่องสยองขวัญ แต่เป็นการนำเสนอเสี้ยวชีวิตเล็กๆของคนที่เกี่ยวข้องกับอพาร์ทเมนท์แห่งนี้ และเราก็รู้สึกว่าละครเรื่องนี้นำเสนอเสี้ยวชีวิตต่างๆออกมาได้อย่างมีเสน่ห์, น่าประทับใจ และเพลิดเพลินดี

เราว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้ละครเรื่องนี้มีเสน่ห์ ก็คือมันไม่ได้พยายามจะตลกมากเกินไปด้วยแหละ คือเราว่ามันตลกในระดับพอเหมาะ แต่ถ้าหากมันจงใจจะตลกมากกว่านี้ สมดุลทางอารมณ์มันจะเสียไป

--ชอบช่วงที่เดย์ ฟรีแมนรับบทเป็นพระมากๆ เพราะเราว่า moment ตรงนี้มันมีพลังที่น่าสนใจของความเป็นละครเวที ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาพยนตร์ไม่สามารถให้ได้ ซึ่งสิ่งที่เราว่าน่าสนใจมากๆในฉากนี้ ก็คือ “การที่นักแสดงต้องใช้พลังทางจิตที่กล้าแข็งมากๆในการกลั้นหัวเราะให้ได้” 555

คือในฉากนี้เดย์ ฟรีแมนรับบทเป็นพระที่สงบสำรวมน่ะ แต่มันมีความฮาอยู่ในฉากนี้ และทั้งเรากับผู้ชมคนอื่นๆก็หัวเราะกันอย่างรุนแรงในฉากนี้ และเราก็รู้สึกว่าเดย์ ฟรีแมนต้องใช้พลังทางจิตที่กล้าแข็งมากๆในการกลั้นหัวเราะให้ได้ในฉากนี้ คือถ้าหากเราต้องแสดงในบทเดียวกับเดย์ ฟรีแมนในฉากนี้ เราไม่สามารถกลั้นหัวเราะได้อย่างแน่นอน เราต้องหลุดออกจากบทแน่ๆ

คือเรารู้สึกว่าคลื่นเสียงหัวเราะของผู้ชมในฉากนี้มันรุนแรงมากๆน่ะ และนักแสดงต้องมีกำแพงทางจิตบางอย่างที่เข้มแข็งมากๆในฉากนี้ ถึงจะกลั้นหัวเราะเอาไว้ได้ และสามารถแสดงเป็นพระที่สงบสำรวมต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

คือเราว่าสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นในการชมภาพยนตร์น่ะ เพราะเสียงหัวเราะของผู้ชมในขณะชมภาพยนตร์ มันไม่สามารถกระทบตัวภาพยนตร์ได้ แต่เสียงหัวเราะของผู้ชมขณะชมละครเวที มันมีพลังที่สามารถทำลายล้างการแสดงที่เกิดขึ้นต่อหน้าเราได้อย่างมากๆ เราก็เลยรู้สึกว่า moment ตรงนี้มันน่าสนใจมากๆ

ถ้าเปรียบเทียบง่ายๆก็เหมือนกับว่า มันเหมือนเราได้เห็น “ตุ๊กกี้” รับบทเป็นนางเอกของหนังเรื่อง THE BABADOOK น่ะ คือถ้าหากตุ๊กกี้รับบทเป็นนางเอก THE BABADOOK ในสื่อภาพยนตร์ มันก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ถ้าหากตุ๊กกี้รับบทเป็นนางเอก THE BABADOOK ในสื่อละครเวที และผู้ชมหัวเราะไม่หยุดต่อหน้าการแสดงของเธอ แต่ตุ๊กกี้ก็สามารถคุมการแสดงของตัวเองให้อินกับบทนางเอก THE BABADOOK ต่อไปได้ เราว่ามันเป็นสิ่งที่ยากมากๆ

--ชอบช่วงที่เป็นร้านเสริมสวยด้วย ดูแล้วนึกถึงละครทีวียุคเก่าๆอย่าง “จิตไม่ว่าง 24” (1981, สมชาย นิลวรรณ) ที่มันนำเสนอความประสาทแดกของตัวละครหญิงชิบหายๆหลายๆตัวน่ะ คือพอดูฉากนี้ในละครเวทีเรื่องนี้แล้ว มันทำให้เรารู้สึกว่าละครเวทีเรื่องนี้สามารถดัดแปลงเป็น “ละครทีวี” ได้เลย โดยอาจจะตั้งชื่อเรื่องว่า “อพาร์ทเมนท์นรก” 555

คือเราว่าละครเวทีเรื่องนี้มันนำเสนอตัวละครที่มีเสน่ห์น่าสนใจหลายๆตัวน่ะ และมันทำให้เราเชื่อในแง่นึงว่า ตัวละครเหล่านี้ มันมีชีวิตของมันจริงๆ และมันน่าจะมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมากมายอยู่ในชีวิตของตัวละครเหล่านี้และในชีวิตของคนอื่นๆในอพาร์ทเมนท์แห่งนี้ด้วย เราก็เลยรู้สึกว่า ละครเวทีเรื่องนี้มันสามารถดัดแปลงเป็นละครทีวีได้ง่ายมาก เพราะโครงสร้างของเนื้อเรื่องมันดีมาก และตัวละครของมันน่าสนใจมากๆ

--แต่สาเหตุที่ทำให้เราชอบละครเวทีเรื่องนี้แค่ในระดับ A+25 หรือชอบเกือบสุดๆ แต่ยังไม่ถึงขั้น “ชอบสุดๆ” นั้น อาจจะเป็นเพราะว่าเราเป็นคนที่ชอบ tragedy มากกว่า comedy น่ะ เพราะฉะนั้นในฉากจบของเรื่องนี้ เราก็เลยรู้สึกว่ามันให้อารมณ์ค่อนไปในทาง comedy มากไปหน่อยถ้าหากวัดจากรสนิยมส่วนตัวของเรา


แต่เราก็บอกไม่ถูกนะว่า จริงๆแล้วเราอยากให้ฉากจบมันออกมาเป็นยังไง เราบอกได้แต่ว่า เรารู้สึกเหมือนกับว่าด้วยโครงสร้างของเนื้อเรื่องแล้ว เราอยากให้ฉากจบมันออกมาในแนว “สะเทือนใจ” น่ะ แต่พอมันออกมาเป็นแบบนี้แล้ว เราก็เลยรู้สึกว่ามันก็โอเคนะ แต่มันไม่ได้ฟินสุดๆสำหรับเราเท่านั้นเอง

No comments: