Tuesday, January 19, 2016

COP CAR (2015, Jon Watts, A+30)

COP CAR (2015, Jon Watts, A+30)

1.ชอบ landscape ในหนังเรื่องนี้มากๆ มันดูเป็นชนบทอเมริกาธรรมดา แต่ทำไมเราดูแล้วชอบมากก็ไม่รู้ เหมือนผู้กำกับมันดึงพลังบางอย่างออกมาจาก landscape ได้อย่างดีมากๆ แต่เราก็ชี้ชัดลงไปไม่ได้ว่า พลังที่เราชอบมากๆจาก landscape ในหนังเรื่องนี้มันคืออะไรกันแน่ หรือมันมีความพิเศษยังไงกันแน่ บอกได้แต่ว่า landscape ในหนังเรื่องนี้มันทรงพลังมากๆสำหรับเรา เราว่า landscape ในหนังเรื่องนี้มันทรงพลังกว่า landscape ในหนังอย่าง THE DRESSMAKER (2015, Jocelyn Moorhouse, A+30) ที่มีการออกแบบ “ภูมิทัศน์” เป็นอย่างดีเสียอีก

ในแง่นึงเราว่า landscape ใน COP CAR มันดูน่ารื่นรมย์ดีนะ มันดูเป็นธรรมชาติชนบทโล่งๆดี แต่ในอีกแง่นึง landscape แบบนี้ก็มักปรากฏอยู่ในหนังสยองขวัญด้วยเหมือนกัน และหนังเรื่องนี้ก็ดึงศักยภาพ “ความสยองขวัญ” ของ landscape ท้องถนนในชนบทออกมาได้อย่างสุดตีนมากๆในช่วงท้ายๆของเรื่อง

คือในขณะที่เรารู้สึกรื่นรมย์กับสภาพธรรมชาติชนบทอันร่มรื่นในช่วงต้นของเรื่อง เราก็เข้าใจตัวละครจริงๆว่า “แสงไฟของเมืองใหญ่” มันเป็นสิ่งที่น่าปรารถนามากขนาดไหนในช่วงท้ายของเรื่อง และเราก็ชอบที่หนังทำให้เรารู้สึกรุนแรงกับ “แสงไฟของเมืองใหญ่” ได้มากขนาดนี้

2.ชอบ character เด็กสองคนในเรื่องมากๆ คือมันคือขั้วตรงข้ามของตัวละคร “เด็กน้อยใสซื่อ” ในหนังอย่าง THE 5TH WAVE (2016, J Blakeson, B  ) น่ะ คือหนังฮอลลีวู้ดทั่วๆไปชอบสร้างตัวละครเด็กน้อยใสซื่อแบบใน THE 5TH WAVE ออกมา ซึ่งเป็นตัวละครแบบที่เราเบื่อมากๆ แต่พอเราเห็นตัวละครเด็กสองคนใน COP CAR เราก็รู้สึกว่าหนังน่าสนใจขึ้นมาทันที เพราะมันเป็นเด็กชายสองคนที่หนีออกจากบ้าน และคงผ่าน “ความเหี้ยห่าจัญไรของครอบครัวและชีวิต” มามากพอแล้ว คือหนังไม่ได้มีแฟลชแบ็คเล่าอะไรพวกนี้ตรงๆเลย แต่สิ่งที่สอดแทรกอยู่ในบทสนทนาของตัวละคร ก็ทำให้เราจินตนาการได้เองว่า เด็กสองคนนี้มันต้องมี “บาดแผลของชีวิต” มามากพอสมควร ก่อนที่หนังเรื่องนี้จะเริ่มต้นขึ้น และเราก็ชอบตัวละคร “เด็กน้อยกร้านโลก” แบบนี้มากๆ

3.ซึ่งอีกจุดที่ชอบมากในหนังเรื่องนี้ก็คือการที่มันทำตัวเข้ากับหลักการสำคัญที่ Ray Carney บอกไว้นั่นแหละ นั่นก็คือหลักการที่ว่า “ตัวละครมีตัวตนตั้งแต่ก่อนหนังเริ่ม” โดยเฉพาะตัวละคร 4 ตัวหลักของหนังเรื่องนี้ (เด็กน้อยสองคน, Kevin Bacon และคนท้ายรถ) และหนังไม่พยายามจะบอกเราว่า อดีตของตัวละครเหล่านี้สามารถสรุปให้เราฟังง่ายๆในเวลา 5 นาทีได้อย่างไร

คือเราชอบมากที่หนังทำให้เรารู้สึกอย่างรุนแรงว่า ตัวละครหลัก 4 ตัวในหนังเรื่องนี้ “มีชีวิตมาตั้งแต่ก่อนหนังเริ่ม” น่ะ ซึ่งหนังทำแบบนี้ได้สำเร็จ ผ่านทางการ hint อย่างชาญฉลาด และผ่านทางการให้ข้อมูลในระดับที่มากพอที่จะเข้าใจเนื้อเรื่อง แต่ไม่มากเกินไป

และมันน่าสนใจดีสำหรับเราในแง่ที่ว่า การที่หนังให้ข้อมูลน้อยกว่าปกติแก่คนดู เกี่ยวกับตัวละครหลัก 4 ตัวนี้ มันกลับทำให้เราเชื่อถือในตัวละครหลัก 4 ตัวนี้มากขึ้น และมองว่ามันเป็นตัวละครที่ใกล้เคียงกับมนุษย์จริงๆมากขึ้น หรือทำให้สถานการณ์ในหนังสมจริงมากขึ้น คือ “ยิ่งให้ข้อมูลน้อย ตัวละครกลับยิ่งเข้าใกล้ความเป็นมนุษย์มากขึ้น” คือมันดูเป็นอะไรที่ไม่น่าจะเป็นไปได้นะ แต่เราว่าหนังเรื่องนี้ทำได้สำเร็จในแง่นี้จริงๆ

4.คือเวลาที่เราดูหนังเรื่องนี้ เราจะนึกถึงหนังเรื่อง THE CALL (2013, Brad Anderson, A+30) ที่มีการลักพาตัวเด็กในรถยนต์ และนึกถึงหนัง thriller เรื่องอื่นๆด้วย แต่สิ่งที่ทำให้เราชอบ COP CAR มากๆ ก็คือการที่มันไม่ได้พยายามจะทำตัวตามสูตรหนัง thriller เป๊ะๆ และการที่มันทำให้เรารู้สึกอย่างรุนแรงว่า “ตัวละครมีชีวิตมาตั้งแต่ก่อนหนังเริ่ม” น่ะ

คือเอาง่ายๆ อย่างใน THE CALL ซึ่งเป็นหนังที่เราชอบสุดๆเหมือนกัน (แต่ด้วยเหตุผลที่ต่างกันไป) เราจะรู้สึกว่าทั้งตัวละครนางเอก, เหยื่อที่ถูกลักพาตัว และผู้ร้ายของเรื่อง “ได้รับการอธิบายชีวิตอย่างสมบูรณ์ในตัวหนังเองแล้ว” น่ะ เรารู้สึกว่าหนังให้ข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์เกี่ยวกับตัวละครหลักๆในหนังเรื่อง THE CALL หมดแล้ว ซึ่งมองเผินๆมันเหมือนจะเป็นสิ่งที่ดี, ถูกต้อง และสมควรทำ แต่ในอีกแง่นึง มันกลับทำให้เรารู้สึกว่า เรากำลังดู “ตัวละคร” ขณะที่ดูหนังเรื่อง THE CALL เรากำลังดู “ตัวละคร” ที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างดี เพื่อทำหน้าที่ตามบทบาทที่ตัวเองสมควรทำตามสูตรสำเร็จของหนัง thriller “อดีต” ของตัวละครหลักแต่ละตัวใน THE CALL ได้รับการออกแบบมาอย่างดีแล้วเพื่อให้สอดคล้องกับ genre หนัง

และเราว่าหนังหลายๆเรื่องก็ทำแบบ THE CALL นะ ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งผิด แต่มันน่าสนใจดี ที่พอหนังเหล่านี้ “ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอดีตของตัวละครในระดับที่มากพอสมควร” มันกลับทำให้เรารู้สึกว่า เรากำลังดู “ตัวละครที่ได้รับการออกแบบมาเป็นอย่างดี” อยู่ เพราะอดีตของตัวละครเหล่านี้ เป็นสิ่งที่สามารถสรุปรวบยอดได้อย่างง่ายๆ เพื่อป้อนเข้าสู่สมองผู้ชมได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว แต่พอ COP CAR “ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอดีตของตัวละครในระดับที่น้อยกว่าปกติ” มันกลับทำให้เรารู้สึกว่า ตัวละครในหนังเข้าใกล้ความเป็นมนุษย์จริงๆมากขึ้น เพราะเรามองว่าอดีตของมนุษย์แต่ละคน มันไม่ใช่สิ่งที่สามารถสรุปรวบยอดได้อย่างง่ายๆแบบที่หนังหลายเรื่องทำกัน

5.สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่า มันก็มีหนังหลายๆเรื่องที่อาจจะทำแบบ COP CAR นะ ที่เหมือนเล่าอดีตของตัวละครน้อยกว่าปกติ แต่ปกติแล้วมันไม่ใช่หนังที่กระเดียดไปทาง thriller แบบหนังเรื่องนี้น่ะ คือหนังที่ทำแบบนี้มันรวมถึงหนังชีวิตดราม่าอย่าง THOSE WHO LOVE ME CAN TAKE THE TRAIN (1998, Patrice Chereau) และ NO SCANDAL (1999, Benoît Jacquot) ที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนกันว่า ตัวละครมีอดีตที่น่าสนใจมากมายที่หนังไม่ยอมเล่าให้เราฟัง  แต่พอ COP CAR เอาวิธีการแบบนี้มาใช้กับหนังที่มีกลิ่น thriller มันก็เลยกลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจขึ้นมา

เราว่าการผสมผสาน “ความสมจริงแบบหนังชีวิต” เข้ากับ “เนื้อเรื่องที่เอื้อต่อการเป็นหนัง thriller” มันคือปัจจัยหลักอีกอันนึงที่ทำให้เราชอบหนังเรื่องนี้แบบสุดๆด้วยแหละ  คือถ้าหากหนังเรื่องนี้เป็นหนัง coming of age ธรรมดาไปเลย แบบ THE KINGS OF SUMMER (2013, Jordan Vogt-Roberts) เราก็คงไม่ชอบมันมากเท่านี้ หรือถ้าหากหนังเรื่องนี้ทำตัวเป็นหนัง thriller ไปเลย แบบ THE CALL หรือ INTENSITY (1997, Yves Simoneau, 187min, A+30) เราก็คงไม่ชอบมันมากเท่านี้ เพราะถ้าหากมันทำตัวเป็นหนัง thriller ไปเลย เราก็จะรู้สึกว่าเรากำลังดู “ตัวละครที่ทำหน้าที่ตามบทบาทในหนัง thriller อยู่” แต่พอ COP CAR ไม่ได้ทำตัว belong to genre แคบๆอันใดอันหนึ่งอย่างชัดเจน มันก็เลยทำให้เรารู้สึกว่า เรากำลังดู “จักรวาลที่มีความเป็นไปได้มากกว่าจักรวาลในหนัง thriller” ทั่วๆไป” และมันทำให้เรามีความสุขเวลาได้ดูอะไรแบบนี้

6.อีกจุดที่ชอบมากก็คือ เรารู้สึกว่า หนังเรื่องนี้ไม่ได้เน้นไปที่ “เด็กๆจะใช้ไหวพริบในการเอาตัวรอดได้อย่างไร” แบบในหนัง thriller ทั่วๆไป แต่เหมือนหนังจะเน้นไปที่ “ผู้ร้ายจะใช้ไหวพริบ ปฏิภาณในการเอาตัวรอดได้อย่างไร” มากกว่า ซึ่งเราว่ามันเป็นสิ่งที่หนังส่วนใหญ่ไม่ค่อยทำกัน ยกเว้นหนังของ Alfred Hitchcock

7.เราชอบที่หนังเรื่องนี้ตรึงความสนใจเราไว้ได้โดยตลอดด้วย ทั้งๆที่เราไม่ได้ identify กับตัวละครตัวใด หรือเข้าข้างตัวละครตัวใดเลย ซึ่งมันแตกต่างจากหนัง thriller ทั่วๆไปอย่าง THE CALL, INTENSITY หรือแม้แต่หนัง genre อื่นๆอย่าง SPOTLIGHT ที่มันจะมีตัวละครที่เรา “เข้าข้าง” ได้อย่างชัดเจน

ส่วนใน COP CAR นั้น แน่นอนว่าเราย่อมต้องเห็นว่า “เด็ก” ดีกว่า “ผู้ร้ายสองฝ่าย” ในเรื่อง แต่สิ่งที่เราชอบก็คือว่า มันเป็นการเปรียบเทียบระหว่าง ตัวละครที่เราเห็นว่า “ไม่ดี” ทั้ง 3 ฝ่ายน่ะ คือเราจะไม่ identify กับตัวเด็กอย่างแน่นอน เพราะเรารู้สึกว่าอีเด็กพวกนี้โง่มาก แส่หาเรื่องเอง มึงอยู่เฉยๆก็ไม่มีปัญหาแล้ว และมึงก็สามารถยุติปัญหาได้ง่ายๆตลอดเวลาด้วยในช่วงครึ่งแรกของเรื่อง แต่มึงเสือกแส่หาเรื่องเอง อยู่ดีไม่ว่าดีแท้ๆ เพราะฉะนั้นเราก็เลย “ไม่เข้าข้าง” เด็กๆในเรื่อง หรือไม่ได้เอาใจช่วยเด็กๆในเรื่องมากนัก

ส่วนตัวละครของ Kevin Bacon นั้น แน่นอนว่ามันเป็นผู้ร้ายที่เราไม่น่าจะ identify ด้วย แต่ก็อย่างที่เราบอกไว้ข้างต้นนั่นแหละ เราว่าหนังมันน่าสนใจมากๆ ที่มันเน้นไปยังจุดที่ว่า ตัวละครผู้ร้ายใจโหดตัวนี้ จะใช้ไหวพริบปฏิภาณในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างไร เพราะฉะนั้นหนังจึงทำให้คนดูตกอยู่ในสถานะที่น่าสนใจมากๆ เพราะคนดูไม่รู้ว่าควรจะรู้สึกอย่างไรดีกับสถานการณ์ที่ผู้ร้ายตัวนี้เผชิญอยู่ โดยเฉพาะในฉากอย่าง “การใช้เชือกผูกรองเท้า” เราซึ่งเป็นคนดู ควรจะเอาใจช่วยตัวละครตัวนี้ให้ใช้เชือกผูกรองเท้าได้สำเร็จดีมั้ย และในฉากที่ Kevin Bacon เจอตำรวจสั่งให้หยุดรถด้วยเช่นกัน เราควรจะเอาใจช่วยให้ตัวละครตัวนี้เอาตัวรอดได้มั้ย


คือในแง่นึงมันก็ทำให้เรานึกถึง FUNNY GAMES (1997, Michael Haneke) นะ เพราะมันทำให้เราลุ้นให้คนตัวร้ายเอาตัวรอดไปได้เรื่อยๆน่ะ คือรู้ทั้งรู้ว่ามันเป็นคนร้ายที่ชั่วมากๆ เลวมากๆ แต่เราก็ลุ้นให้มันเอาตัวรอดไปได้เรื่อยๆ “เพื่อความสนุกของเรา” เพราะถ้าหากคนร้ายมันล้มเหลวซะตั้งแต่ต้นเรื่องหรือกลางเรื่อง ความสนุกก็อาจจะจบลง เราก็เลยลุ้นให้คนร้ายเอาตัวรอดไปให้ได้เรื่อยๆก่อน หนังจะได้มีความสนุกต่อไป 555 

No comments: