Sunday, January 31, 2016

RIP JACQUES RIVETTE

AN ADVENTURE OF NINON (1995, Jacques Rivette, 1 min, A+30) + RIP JACQUES RIVETTE

You can watch AN ADVENTURE OF NINON here:

เพิ่งรู้จากเพจ bookvirus and filmvirus ว่ามีหนังสั้นเรื่องนี้อยู่ในยูทูบ เราดูแล้วก็ชอบสุดๆ เพราะเราเป็นสาวกของ Rivette อยู่แล้ว และถึงแม้ว่าหนังเรื่องนี้จะสั้นเพียงแค่ 1 นาที แต่มันก็มีคุณสมบัติของสิ่งที่เราชอบสุดๆในหนังของ Rivette เรื่องอื่นๆอยู่ด้วย อย่างเช่น

1.ความรู้สึกถึงความเป็นอิสระ อันนี้เป็นสิ่งที่เราอธิบายไม่ถูกว่ามันคืออะไรกันแน่ แต่เวลาที่เราดูหนังของ Rivette มันจะมีความรู้สึกถึงความเป็นอิสระบางอย่างที่เราไม่พบไม่เจอในหนังของผู้กำกับส่วนใหญ่ มันเหมือนกับว่าหนังของ Rivette มันขจัด “กรอบ” บางอย่างที่เรามักเจอในหนังของผู้กำกับคนอื่นๆน่ะ แต่เราก็ชี้เฉพาะเจาะจงลงไปไม่ได้ว่า ไอ้ “กรอบ” นั้นมันคืออะไรกันแน่

แต่เราเดาว่า “ความเป็นอิสระ” ที่เรามักเจอในหนังของ Rivette นั้น บางทีมันอาจจะมาจากการที่

1.1 หนังของเขาไม่อยู่ภายใต้ระบบสัญลักษณ์ที่เคร่งครัดตายตัว หนังของเขามักจะไม่ค่อยมีสัญลักษณ์ให้เราต้องขบคิดตีความโดยมีคำตอบตายตัวเพียงหนึ่งเดียว

1.2 หนังของเขาไม่ถูกครอบงำโดย “สารที่ต้องการจะสื่อถึงผู้ชม” คือผู้กำกับประเภทที่ทำหนัง “ส่งสาร” มักจะเขียนบทเพื่อรองรับ “สาร” นั้น แต่ถ้าบทภาพยนตร์เรื่องใดมันต้องการจะ “ส่งสาร” มากเกินไป จักรวาลในหนังเรื่องนั้นก็จะถูกลดทอน “ความเป็นไปได้” อะไรบางอย่างออกไป และตัวละครในหนังเรื่องนั้น ก็มักจะถูกลดทอนแง่งามของความเป็นมนุษย์ออกไป

1.3 หนังของเขาไม่ถูกครอบงำโดยโลกทัศน์ของเขาเพียงคนเดียว เพราะเขามักจะเขียนบทร่วมกับนักแสดง และเราคิดว่าพอเขาทำเช่นนี้ ตัวละครในหนังของเขามันเลยเป็นอิสระมากขึ้น ตัวละครในหนังของเขามันก็เลยไม่ใช่ “ตัวละครที่ผู้กำกับคิดขึ้นมาเพื่อบังคับให้มันตอบสนองความต้องการอะไรบางอย่างของผู้กำกับอย่างเต็มที่” เพราะพอนักแสดงมันมีส่วนควบคุมลักษณะนิสัยและการกระทำของตัวละครด้วย มันก็เลยทำให้ตัวละครเป็นคนจริงๆ คนที่คิด, พูด, ทำในสิ่งที่อาจจะขัดใจกับผู้กำกับ หรือไม่ยอมปล่อยให้เนื้อเรื่องเดินตรงดิ่งไปในทางที่ผู้กำกับต้องการตลอดเวลา

1.4 หนังของเขาไม่ถูกครอบงำโดย “บทภาพยนตร์” โดยเขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า

"ผมใช้วิธีการด้นสดแบบนี้กับหนัง 3 เรื่องแล้ว โดยใช้วิธีการนี้กับหนังเรื่อง L'AMOUR FOU (1969, 252 นาที) มากกว่าใน CELINE AND JULIE GO BOATING (1974, 193 นาที) และใช้วิธีการนี้กับหนังเรื่อง OUT 1 (1971, 773 นาที) มากที่สุด ผมเกลียดความรู้สึกที่ว่าทุกอย่างถูกกำหนดไว้ตายตัวแล้ว และไม่มีอะไรที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งในระหว่างการถ่ายทำและการตัดต่อ ผมปฏิเสธ "บทภาพยนตร์" โดยสิ้นเชิง หรืออย่างน้อยก็ปฏิเสธสิ่งนี้ตามความหมายปกติของมัน ผมชอบใช้สิ่งที่เรียกว่า "โครงเรื่อง" มากกว่า เพราะสิ่งนี้บ่งชี้ถึงพลวัต, แนวคิดหรือหลักการมากมายที่เราสามารถใช้เป็นจุดตั้งต้น เพื่อที่เราจะได้ค้นหาวิธีการที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ในการถ่ายทำ ตอนนี้ผมต้องการให้ตารางการถ่ายทำของผมสั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ และต้องการให้ช่วงเวลาในการตัดต่อนานที่สุดเท่าที่จะทำได้"

อ่านประเด็นนี้เพิ่มเติมได้ในส่วน comment ของรูปในลิงค์นี้
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=4750800571304&set=a.2900190747215.2155569.1333811571&type=3&theater

2.หนังเรื่อง AN ADVENTURE OF NINON มีอีกองค์ประกอบสำคัญที่เราชอบสุดๆเหมือนในหนังของ Jacques Rivette เรื่องอื่นๆ ซึ่งก็คือ “การทำให้สถานที่ธรรมดาๆกลายเป็นสถานที่แห่งการผจญภัยแบบขำๆ”

คือหนังของ Rivette หลายเรื่องจะมีองค์ประกอบแบบนี้น่ะ มันใช้ฉากเป็นท้องถนนตึกรามบ้านช่องธรรมดาๆ แต่มันทำให้ฉากธรรมดาๆแบบนี้กลายเป็นสถานที่แห่งการผจญภัยได้ ซึ่งมันจะเข้ากับตัวเรามากๆ เพราะเราก็ชอบ “จินตนาการ” อะไรแบบนี้ คือเราไม่ได้จินตนาการโลกผจญภัยที่วิลิศมาหราแบบในหนังของ Terry Gilliam และไม่ได้จินตนาการ “การผจญภัยแบบซีเรียสจริงจัง” แบบในหนัง action thriller ทั่วๆไป แต่เรามักจะจินตนาการว่าอยากให้ไอ้ท้องถนนตึกรามบ้านช่องที่เราเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี่แหละ กลายเป็นสถานที่ที่มีเรื่องราวผจญภัยเล็กๆน้อยๆเกิดขึ้นอย่างสนุกสนานได้

ซึ่งลักษณะแบบนี้จะพบได้ในหนังหลายๆเรื่องของ Jacques Rivette โดยเฉพาะ PARIS BELONGS TO US (1961), OUT 1: NOLI ME TANGERE (1971), CELINE AND JULIE GO BOATING (1974), DUELLE (UNE QUARANTAINE) (1976), LE PONT DU NORD (1981), GANG OF FOUR (1989), UP DOWN FRAGILE (1995) และ VA SAVOIR (2001)

และถ้าหนังของผู้กำกับคนอื่นๆมีลักษณะแบบนี้ มันก็จะกลายเป็นหนังที่เราชอบสุดๆไปเลยนะ อย่างเช่นเรื่อง

2.1 SLEEPWALK (1986, Sara Driver)
2.2 MULHOLLAND DRIVE (2001, David Lynch)
2.3 TURTLES SWIM FASTER THAN EXPECTED (2005, Satoshi Miki)
2.4 THEY ALL LIE (2009, Matías Piñeiro, Argentina)
2.5 MEETING DR. SUN (2014, Yee Chih-yen, Taiwan)

3.ความคาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งสิ่งนี้ไม่ได้เกิดจากการที่ Rivette ชอบทำหนังหักมุม แต่เป็นเพราะเรารู้สึกว่าจักรวาลในหนังของ Rivette มันเป็นจักรวาลที่มี “ความเป็นไปได้” สูงกว่าในหนังทั่วๆไป หนังบางเรื่องของเขามันทำให้เรารู้สึกว่า “ถ้าอยู่ดีๆตัวละครจะเหาะขึ้นมาได้ในองก์สุดท้ายของหนังโดยไม่มีสาเหตุอะไรทั้งสิ้น เราก็จะไม่ประหลาดใจอีกต่อไป” น่ะ คือจักรวาลในหนังของเขามันทำให้เรารู้สึกอย่างนั้นจริงๆน่ะ มันทำให้เรารู้สึกถึงความเป็นไปได้ที่จะหลุดออกจากกรอบอะไรบางอย่างที่ครอบงำหนังของผู้กำกับคนอื่นๆเอาไว้ (ย้อนกลับไปอ่านข้อ 1)

อย่างใน AN ADVENTURE OF NINON นี่ก็เหมือนกัน คือตอนดูรอบแรก เรามัวแต่โฟกัสว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับตัวเด็กผู้หญิงในเรื่อง เราก็เลยประหลาดใจมากๆกับช่วงท้ายของหนัง และเราก็ชอบอะไรแบบนี้มากๆ คือเราประหลาดใจที่ “เด็กหญิง” ที่เราคิดว่าจะเป็นตัวละครที่สำคัญที่สุดในเรื่อง ไปๆมาๆแล้วกลับไม่ใช่ซะทีเดียวน่ะ

--จริงๆแล้วตัวละคร Ninon สาวสเก็ตในเรื่องนี้ เป็นตัวละครที่มาจากหนังเรื่อง UP, DOWN, FRAGILE (1995) นะ

JACQUES RIVETTE’S FILMS THAT I SAW
In preferential order

1.CELINE AND JULIE GO BOATING (1974, 193min)

2.UP DOWN FRAGILE (1995, 169min)

3.SECRET DÉFENSE (1998, 170min)

4.LA BELLE NOISEUSE (1991, 238min)

5.OUT 1: NOLI ME TANGERE (1971, 729min)

6.DUELLE (UNE QUARANTAINE) (1976, 121min)

7.GANG OF FOUR (1989, 160min)

8.WUTHERING HEIGHTS (1985, 130min)

9.PARIS BELONGS TO US (1961, 141min)

10.THE NUN (1966, 135min)

11.LUMIÈRE AND COMPANY: AN ADVENTURE OF NINON (1995, 1min)

12.VA SAVOIR (2001, 154min)

13.LE COUP DE BERGER (1956, 28min)

I made this photo album in 2011 to collect other people’s writing on Jacques Rivette.

No comments: