Monday, February 08, 2016

NO REGRETS FOR OUR YOUTH (1946, Akira Kurosawa, A+20)

NO REGRETS FOR OUR YOUTH (1946, Akira Kurosawa, A+20)

1.ต้องยกให้ Akira Kurosawa เป็นยอดฝีมือในด้าน visual จริงๆ คือเราประทับใจการ “สร้างภาพ” ของเขานะ คือช็อตหลายๆช็อตในหนังเรื่องนี้มันสร้าง “ภาพที่ติดตา” เรามากๆ เราว่าเขาสามารถถ่ายทอด “เนื้อเรื่อง” ออกมาเป็น “ภาพ” ได้อย่างติดตาสุดๆ

แต่เราก็เห็นด้วยกับ Jean-Luc Godard นะที่บอกว่า Akira Kurosawa “ติดอยู่ในกับดักของ the false glitter of the picturesque” คือในความเห็นส่วนตัวของเรานั้น เราว่า Akira Kurosawa ไม่ผิดแต่อย่างใดที่สามารถทำหนังที่สร้างภาพออกมาได้อย่างติดตาเรามากๆขนาดนี้ เพียงแต่เรารู้สึกว่าหนังของเขามันไม่ละเอียดอ่อนทางอารมณ์มากเท่ากับ Kenji Mizoguchi และ Mikio Naruse น่ะ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า Akira Kurosawa ผิดแต่อย่างใดนะ เพราะมันไม่มีผู้กำกับคนไหนที่จะทำทุกอย่างได้ดีสมบูรณ์แบบอยู่แล้ว ทุกคนต่างก็ต้องมีทั้งจุดเด่นจุดด้อยของตัวเองที่ไม่เหมือนคนอื่นๆอยู่แล้วทั้งนั้นแหละ เพราะฉะนั้นเราก็เลยรู้สึกว่า Akira Kurosawa เขาก็เก่งในแบบของเขาเองนั่นแหละ และ “ภาพ” ในหนังของเขานี่มันน่าประทับใจสุดๆจริงๆ แต่ในเรื่อง “อารมณ์ความรู้สึก” ของตัวละครนั้น เราชอบ Mikio Naruse มากกว่า

2.ช็อตที่เราว่าคลาสสิคมากๆสำหรับเราก็มีอย่างเช่น

2.1 ช็อตต้นเรื่องตอนที่ตัวละครนักศึกษาวิ่งกันในป่าละเมาะ มันออกแบบซีนมาได้งดงามสุดๆ

2.2 ช็อตที่นักศึกษาคนหนึ่ง (ไม่แน่ใจว่าเป็น Setsuko Hara หรือเปล่า) พูดว่าชอบ “ดิน”, อีกคนบอกว่าชอบ “ท้องฟ้า” อีกคนบอกว่าชอบ “ลม” หรืออะไรทำนองนี้ ช็อตนี้ไม่ได้มีจุดเด่นอยู่ที่ “ภาพ” แต่มีจุดเด่นอยู่ที่ “บทพูดของตัวละคร”

2.3 ช็อตเสียงนินทาด่าทอของชาวบ้าน ที่สื่อออกมาเป็นภาพ “ลมพัดผ่านต้นไม้”

2.4 ช็อต Setsuko Hara โพสท์ท่า 5 แบบหน้าประตูห้องภายในเวลา 5 วินาที

2.5 ช็อต Susumu Fujita หัวเราะร่าในโรงหนัง ในขณะที่ Setsuko Hara น้ำตาริน

3.เราชอบเนื้อเรื่องของหนังมากๆเลยนะ มันเป็นเรื่องของ “ผู้มาก่อนกาล” หรือคนที่ทวนกระแสสังคมฟาสต์ซิสต์ในแต่ละยุคสมัยน่ะ ในแง่นึงมันก็ทำให้นึกถึงทั้งเรื่องของ “ศรีบูรพา”, หนังเรื่อง SOPHIE SCHOLL – THE FINAL DAYS (2005, Marc Rothemund), GIE (2005, Riri Riza, Indonesia) อะไรทำนองนี้ และมันแสดงให้เห็นว่า คนที่ต่อต้านฟาสต์ซิสต์นั้น มันต้องเจอกับความทุกข์ยากลำเค็ญ และต้องตบตีกับคนในสังคมอย่างไรบ้าง

4.เราว่าตัวละครนางเอกมันน่าสนใจมากๆเลยด้วย ในแง่ที่ว่า เธอไม่ใช่คนที่มีความเป็น activist โดยกำเนิดน่ะ เธอไม่ใช่คนที่มุ่งมั่นจะอุทิศตัวเพื่อสังคมโดยกำเนิด แต่เธอเป็นคนที่รู้สึกว่าชีวิตตัวเธอเองว่างเปล่าน่ะ บทพูดของเธอที่บอกกับสามีว่า “ฉันต้องการทำงานอะไรสักอย่าง ซึ่งเป็นงานที่สามารถทำให้ฉันรู้สึกได้ว่า ฉันต้องการจะทุ่มเทให้กับมันอย่างเต็มที่” ทำให้เรารู้สึกว่าตัวละครตัวนี้มันน่าสนใจมาก คือถ้าหากเป็นผู้หญิงปกติ เธอก็คงจะเน้นการใช้ชีวิตสบายๆ เล่นเปียโน ทำเล็บ ทำสวยๆไปเรื่อยๆ หรือถ้าหากเป็นผู้หญิงอีกแบบนึง เธอก็อาจจะกลายเป็น activist อย่างเต็มตัว แต่ตัวละครนางเอกของเรื่องนี้ ไม่ได้อยากเป็น activist แบบนั้น แต่เธอก็รู้สึกว่า การทำตัวสวยๆไปเรื่อยๆ ทำงานกิ๊กก๊อกไปเรื่อยๆ มันเหมือนก่อให้เกิดความว่างเปล่าทางจิตวิญญาณน่ะ เธอก็เลยต้องการ “งานหนักบางอย่างที่สามารถถมความว่างเปล่าในจิตใจตัวเองได้”

เรารู้สึกว่าตอนที่เธอยังมีสามีอยู่ สามีของเธอสามารถถมความว่างเปล่าในใจเธอได้ในระดับนึงน่ะ แต่พอเธอไม่อยู่กับสามีแล้ว เธอก็เลยใช้ “การอุทิศตัวอย่างรุนแรงเพื่อครอบครัวของสามี” มาถมความว่างเปล่าในจิตใจของเธอแทน

5.ดูแล้วแอบอินกับนางเอกและหนังด้วยเหตุผลส่วนตัว เพราะว่าบทพระเอกของหนังเรื่องนี้ (Susumu Fujita) ที่เป็น “นักต่อต้านฟาสต์ซิสต์ผู้กล้าหาญและเข้มแข็ง” นั้น ทำให้เรานึกถึงเกย์คนหนึ่งที่เราแอบหลงรักเขาในเฟซบุ๊คมานาน 4 ปีแล้ว เอ๊ะ จะมีเพื่อนเราคนไหนเดาได้ไหมนะว่าบทพระเอกของหนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงใคร

6.แต่เราก็ไม่ได้ชอบหนังในระดับ A+30 นะ เพราะเราว่าวิธีการที่หนังใช้ถ่ายทอด “ความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า” ของนางเอกในช่วงท้ายของหนัง มันเหมือนทำให้ตัวนางเอกกลายสภาพจากมนุษย์ไปเป็นเครื่องมือในการ propaganda ให้ประชาชน “เสียสละอย่างรุนแรง” เพื่อประเทศชาติและมนุษยชาติน่ะ ซึ่งมันเป็นปัญหาเดียวกับที่พบในหนังของ Akira Kuroasawa เรื่องอื่นๆ อย่างเช่น THE MOST BEAUTIFUL (1944) และ RED BEARD (1965)


อันนี้เป็นภาพของ Susumu Fujita จาก SANSHIRO SUGATA (1943, Akira Kurosawa) กับ NO REGRETS FOR OUR YOUTH

No comments: