Friday, April 13, 2018

HORIZON (2017, Nutthachai Khruesena, 6min, A+30)


HORIZON ขอบฟ้า (2017, Nutthachai Khruesena, 6min, A+30)

ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่นี่
https://www.youtube.com/watch?v=aNMhdIgS51s

1.ดูแล้วชอบสุดๆ งดงามมากๆ ดูแล้วแทบร้องไห้ ถ้าถามว่ามีอะไรที่เราอยากให้แก้ไขในหนังเรื่องนี้ เราก็นึกไม่ออกเหมือนกัน เพราะเราว่าทุกอย่างมันดีมากๆ

2.จุดหลักสองจุดที่ชอบในหนังก็คือความสามารถในการดึงพลังจาก locations และการ “ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกออกมาเป็นภาพ” นะ

คือเราชอบการถ่ายตรอกและดาดฟ้าในหนังเรื่องนี้น่ะ เราชอบที่หนังเหมือนทิ้งจังหวะแป๊บนึงตอนที่ตัวละครจะเดินออกจากตรอก เพื่อให้เราได้เห็นสภาพตรอกและก้นบุหรี่ที่ทิ้งไว้ เราว่า moment นี้แหละมันเข้าทางเรา มันทำให้ “ตรอก” มันดูติดตา และไม่ได้เป็นเพียงแค่สถานที่ที่เกิดเหตุการณ์ แต่เป็นสถานที่ที่มีพลังอะไรบางอย่างที่น่าจดจำ

การถ่ายดาดฟ้าในหนังเรื่องนี้ก็ดีสุดๆ คือพอแว้บแรกที่หนังตัดไปที่ฉากดาดฟ้า เราก็แอบเบ้ปาก เพราะนึกว่ามันจะเหมือนหนังสั้นของนักศึกษาไทยอีก 1000 เรื่องที่เราเคยดูมา ที่ต้องมีฉากดาดฟ้า หรืออย่างดีมันก็เป็นได้แค่ another variation of THE BLUE HOUR (2015, Anucha Boonyawatana) อะไรทำนองนี้

แต่พอดูไปเรื่อยๆ เราก็รู้สึกว่าหนังมันถ่ายดาดฟ้าออกมาได้มีชีวิต มีเสน่ห์ ทรงพลังมากๆในสายตาของเรา มันดูเป็นดาดฟ้าที่ไม่ clean และนั่นทำให้มันดูมีชีวิต มันเหมือนเป็นดาดฟ้าที่มีชีวิตจริงๆ ที่เคยรองรับผู้คนมาแล้วมากมายก่อนจะเกิดฉากนี้ มันเป็นดาดฟ้าที่มีชีวิตเป็นของตัวเอง ไม่ได้ดำรงอยู่เพียงแค่รองรับฉากนี้หรือตัวละครสองคนนี้เท่านั้น อะไรทำนองนี้น่ะ  

จริงๆแล้วเราก็บรรยายไม่ค่อยถูกเหมือนกัน แต่เราว่าหนังมันดึงพลังจาก locations ออกมาได้ดีมากๆ ดีกว่าหนังสั้นไทยอีกหลายๆเรื่อง หรือถ้าเปรียบเทียบง่ายๆก็คือดีกว่า PANORAMA หมุนตัวเองเข้าหาแสง (2016) ของผู้กำกับคนเดียวกัน 555 คือ PANORAMA ก็ดูเหมือนเป็นหนังที่ให้ความสำคัญกับ locations เหมือนกัน แต่ PANORAMA ไม่สามารถดึงพลัง, มนต์เสน่ห์ หรือความมีชีวิตออกมาจาก locations ในหนังได้เลยน่ะ locations ต่างๆใน PANORAMA ดูเป็นแค่ “สถานที่” แต่ locations ใน HORIZON ดูเป็น “สถานที่ที่มีพลัง หรือมีจิตวิญญาณ” ซึ่งนั่นก็แสดงให้เห็นว่าผู้กำกับหนังเรื่องนี้พัฒนาฝีมือตัวเองมาในทางที่ถูกต้องมากๆในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

3.เราชอบช่วงท้ายของหนังอย่างสุดๆเลยด้วย เราว่ามันเป็นการถ่ายทอดความรู้สึกออกมาเป็นภาพได้อย่างยอดเยี่ยมและงดงามมากๆ

คือถ้าพูดตรงๆแล้ว เราว่า “เนื้อเรื่อง” ของหนังมันก็ดูไม่น่าสนใจมากนักนะ คือประเด็น “เกย์ที่ไม่ได้รับการยอมรับจากคนบางกลุ่มในสังคม” นี่ พูดจริงๆมันก็คือชีวิตเราเองเหมือนกัน เราก็เจอปัญหานี้มาในชีวิตตัวเองเหมือนกัน แต่เราก็ยอมรับว่า เราเคยดูหนังเกย์ที่พูดถึงประเด็นนี้มาแล้วมาไม่ต่ำกว่า 100 เรื่องน่ะ เพราะฉะนั้นถึงแม้ประเด็นนี้ของหนังจะตรงกับชีวิตเราเอง แต่ตัวประเด็นก็ไม่ได้มีความน่าสนใจมากนัก เพราะมันดูเหมือนไม่ได้มีอะไรใหม่หรือแตกต่างอย่างชัดเจนจากหนังเกย์จำนวนมากที่เคยสร้างกันมาก่อนหน้านี้

เพราะฉะนั้นเราจะทำอย่างไร ถ้าหากเราจะสร้างหนังที่พูดถึงประเด็นที่มันไม่น่าสนใจ ไม่ใหม่ เราก็ต้องทำให้หนังมันทรงพลังในด้านอื่นๆแทน เพราะหนังมันไม่สามารถพึ่งพาพลังจากตัวเนื้อเรื่องหรือประเด็นได้

และเราว่าหนังเรื่องนี้ทำได้สำเร็จ เพราะเราว่าช่วงสุดท้ายของหนังมันสื่ออารมณ์ความรู้สึกเศร้าของตัวละครออกมาได้ดีมากๆ คืออารมณ์ความรู้สึกหรือการกระทำของตัวละครในฉากสุดท้ายนี่มันก็ไม่ใหม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่ทำให้มันทรงพลังมากๆสำหรับเราก็คือ “การถ่ายทอดออกมาเป็นภาพ” น่ะ

คือเราชอบสองช็อตสุดท้ายของหนังมากๆ ช็อตนึงเหมือนเป็น medium shot ถ่ายตัวละครนั่งรำพึงรำพันเศร้าๆ ในห้อง โดยถ่ายตัวละครให้ดูเหมือนเป็น silhouette หรือเงามืด ในขณะที่ด้านนอกห้องดูสว่าง ส่วนอีกช็อตเป็นการ close up หน้าตัวละครผ่านกระจก โดยมีการปรับสีให้ดูเป็นสีฟ้าขุ่น

คือเราว่าพลังอย่างรุนแรงจากสองช็อตสุดท้าย ที่ทำให้เราดูแล้วแทบร้องไห้ มันมาจาก “การออกแบบช็อต” หรือ “การออกแบบซีน” ล้วนๆเลยน่ะ คือถ้ามันไม่ถ่าย silhouette ปะทะแสงสว่างแบบนี้, ไม่ออกแบบสีให้เป็นสีฟ้าแบบนี้, ไม่ใส่เพลงประกอบที่เหมาะสมเข้ามาในเวลาที่เหมาะสมแบบนี้ พลังมันจะไม่รุนแรงแบบนี้น่ะ

คือถ้าผู้กำกับไม่เจ๋งจริง ซีนนี้มันก็อาจจะออกมาเป็น ถ่ายตัวละครนั่งร้องไห้ รำพึงรำพันนานๆ คือถ้ามันถ่ายออกมาแบบ “ทื่อๆ ตรงๆ” มันก็จะเป็นแค่ “การเล่าเรื่อง ว่าตัวละครรู้สึกยังไง” โดย “ไม่มีพลังทางภาพ” น่ะ และพอมันขาดพลังทางภาพไป ความรู้สึกเศร้าของตัวละคร ก็อาจจะสื่อมาถึงคนดูไม่ได้ นอกจากว่ามันจะมีองค์ประกอบอื่นๆมาทดแทน อย่างเช่น monologues ที่เจ๋งจริง หรือการแสดงที่เจ๋งจริง อะไรทำนองนี้

เราก็เลยชอบ HORIZON ทั้งเรื่องอย่างสุดๆ โดยเฉพาะสองช็อตสุดท้าย เพราะเราว่านี่แหละคือ “การถ่ายทอดความรู้สึกออกมาเป็นภาพ” ได้อย่างดีงามากๆ และไม่ล้นเกินจนเกินไปด้วย

สิ่งที่ตรงข้ามกับสองช็อตสุดท้ายของหนังเรื่องนี้ ก็คือช่วงท้ายของหนังสั้นเรื่อง “1 วันในมหาวิทยาลัย “ฟ้า”” (2015) ของผู้กำกับคนเดียวกันนี้นี่แหละ 555 คือเราว่าผู้กำกับคนนี้พัฒนามาในทางที่ถูกต้องจริงๆ เพราะหนังเรื่อง 1 วันในมหาวิทยาลัย “ฟ้า” ก็เป็นหนังที่ต้องการสื่ออารมณ์เศร้าเหมือนกัน แต่ในหนังเรื่องนั้น อารมณ์มันล้นเกินจนเกินไปมากๆ มันพยายามยัดเยียดอารมณ์ให้คนดูมากๆ และมันก็เป็นการพยายามสื่ออารมณ์อย่างทื่อๆตรงๆ จนเราดูแล้วตลก แทนที่จะเศร้า อันนี้คือยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆน่ะแหละ ว่าทำไมสองช็อตสุดท้ายของ HORIZON เราถึงเศร้าไปพร้อมกับตัวละคร ในขณะที่ในหนังปี 2015 นั้น ตัวละครร้องไห้ แต่เราหัวเราะก๊าก

4.ชอบการเล่นกับ “ความกว้าง”, “ความแคบ” ด้วย เพราะในหนังเราจะเห็นทั้ง“ท้องฟ้า” ที่กว้าง, ตรอกที่แคบ, การถ่ายดาดฟ้าให้ดูกว้างโล่งมากๆในตอนแรก, การถ่ายดาดฟ้าผ่านรูประตูที่แคบในช่วงท้ายของซีน, ห้องของตัวละครที่ดูแคบเมื่อเทียบกับดาดฟ้า และการถ่าย close up ตัวละครในตอนจบที่ให้ความรู้สึกที่แคบมาก

เหมือนหนังมีการสร้างอารมณ์ dramatic ที่น่าสนใจจากการเล่นกับความกว้างความแคบอะไรแบบนี้น่ะ และเราว่ามันดีงามมากๆ และเห็นได้ชัดจากการถ่ายดาดฟ้าสองแบบในตอนต้นกับตอนท้ายของซีนที่ดูแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

เราว่าประเด็นเรื่อง ความกว้าง-ความแคบ อะไรแบบนี้เป็นสิ่งที่พบได้ในหนังเรื่อง PANORAMA (2016) ของผู้กำกับคนนี้เหมือนกันนะ เหมือนใน PANORAMA เราจะเห็นการถ่าย “ห้อง” ที่ดูแคบและอึดอัดในตอนแรก เพราะเป็นการมองเข้ามาข้างในห้อง, หลังจากนั้นตัวละครก็ออกไปเที่ยวในสถานที่โล่งกว้างหลายแห่ง แล้วในตอนหลังหนังก็ถ่ายห้องของตัวละครเหมือนกัน แต่ใช้วิธีการถ่ายที่ทำให้ห้องดูไม่อึดอัดคับแคบเหมือนตอนแรก เพราะถ่ายด้วยการเลือกมุมที่มองจากข้างในออกไปยังวิวข้างนอกห้อง และตัวละครก็เปิดม่านออกรับหาแสง (นึกถึงฉากเปิดกับฉากปิดของหนังเรื่อง A ROOM WITH A VIEW (1985, James Ivory))

5.เราชอบความ “obscure” ของ HORIZON ด้วยแหละ หมายถึงว่าหนังไม่บอกหรือไม่เล่าอะไรบางอย่างตรงๆน่ะ และมันช่วยให้หนังเข้าทางเรามากขึ้น

อย่างเช่นในฉากสุดท้ายนี่ เราก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เราไม่รู้ว่าหนุ่มรอยสักหายไปไหน บางทีตัวละครแทนอาจจะแค่ไม่ได้เจอหน้าหนุ่มรอยสักมาแค่อาทิตย์นึงก็ได้, บางทีเขาอาจจะย้ายไปต่างจังหวัด, ย้ายไปต่างประเทศ, มีแฟนใหม่, ตายไปแล้ว ฯลฯ เราก็ไม่รู้เหมือนกัน และเราก็ไม่รู้แน่ชัดด้วยว่า ตัวละครพระเอกมีปัญหาหนักใจอะไรมากมายในตอนท้าย เขาแค่มีปัญหากับเพื่อน+ครูที่โรงเรียนเหมือนที่เล่าไปในฉากดาดฟ้า หรือมีปัญหาอื่นๆอีก

เพราะฉะนั้นฉากสุดท้ายของหนังจึงเป็นการสื่ออารมณ์ความรู้สึกเศร้าจนทนไม่ไหว ความรู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดายเป็นหลักน่ะ โดยเราไม่รู้ “สถานการณ์ที่จำเพาะเจาะจง” ของตัวละคร

ซึ่งมันก็เลยทำให้เราเอาตัวเองเข้าไปสวมกับอารมณ์ตัวละครในฉากสุดท้ายได้ง่ายขึ้นนะ เพราะพูดจริงๆก็คือว่า เราเป็นคนที่คิดจะฆ่าตัวตายบ่อยมากตั้งแต่ตอนเป็นวัยรุ่นน่ะ อารมณ์ประเภทที่ว่า “กูไม่ไหวแล้ว” นี่เป็นอารมณ์ที่เราเข้าใจได้ดีสุดๆเลย เพราะฉะนั้นเราก็เลยเข้าใจหรือ identify กับอารมณ์ของตัวละครในฉากสุดท้ายได้เต็มที่

แต่ไม่ใช่ว่า ถ้าหากหนังมันเล่าเรื่องชัดเจนตรงจุดนี้ แล้วมันจะผิดนะ คือมันจะดีกันไปคนละอย่างน่ะ คือสมมุติว่าถ้าหากหนังเรื่องนี้ขยายเป็นหนังยาว แล้วหนังเล่าเรื่องอย่างชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้น พระเอกถูกกดดันจากอะไรบ้าง แล้วหนุ่มรอยสักหายไปไหน คนดูก็อาจจะเข้าใจตัวละคร และ “มีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละคร” น่ะ (อย่างเช่นฉากสุดท้ายของ CALL ME BY YOUR NAME)   เพียงแต่ว่าเราจะไม่สามารถนำเอา “ประสบการณ์จากชีวิตจริงของเราเอง” เข้าไปสวมทับกับตัวละครได้อย่างเต็มที่ เพราะประสบการณ์ของเราเองกับประสบการณ์ของตัวละครมันจะแตกต่างกัน

แต่พอหนัง HORIZON มันคลุมเครือตรงจุดนี้ มันก็เลยเหมือนเปิด “ช่องว่าง” ให้เราเอาประสบการณ์ของตัวเองเข้าไปผูกกับอารมณ์เศร้าของตัวละครได้ง่ายขึ้นน่ะ มันก็เลยเหมือนดีกันไปคนละแบบ คือหนังจะเล่าเรื่องแบบชัดเจนก็ได้ แต่ที่ทำออกมาคลุมเครือแบบนี้ มันก็ดีในอีกแง่นึงเหมือนกัน (คืออย่าง CALL ME BY YOUR NAME เราก็ชอบฉากจบมากๆ แต่เราไม่ได้ดูฉากนั้นแล้วร้องไห้ เพราะเราไม่เคยมีประสบการณ์ชีวิตแบบพระเอกของหนัง ในขณะที่ HORIZON นั้น เราดูแล้วอยากร้องไห้ เพราะความคลุมเครือของฉากจบมันคือการเปิดช่องว่างให้เราเอา “ความเศร้าจากชีวิตจริงของเรา” ใส่เข้าไปในหนังได้ง่ายขึ้น)

6.อีกจุดนึงที่ดีมากในแง่ความคลุมเครือของหนัง คือบทสนทนาเรื่องความเท่าเทียมอะไรนี่แหละ 555

คือตัวละครในหนังมีการพูดกันถึงเรื่องความเท่าเทียมอะไรพวกนี้นะ แต่คุยกันแบบ “งงๆ” น่ะ คือตอนดูจะงงๆว่าที่ตัวละครพูดถึงความเท่าเทียม มันหมายถึงอะไรยังไงกันแน่

ซึ่งบทสนทนาที่ดูงงๆหรือคลุมเครือนี้ มันมีข้อดีสองอย่างนะ

6.1 คือพอเห็นตัวอักษรที่ปักบนเสื้อตัวละคร มันก็เลยทำให้สงสัยว่า หนังมันแค่พูดเรื่องสิทธิเกย์ หรือพูดถึงเรื่องสิทธิอื่นๆด้วย ความคลุมเครือของบทสนทนาในแง่นี้มันก็เลยเหมือนทำให้ประเด็นของบทสนทนามันขยายกว้างมากยิ่งขึ้น

6.2 มันช่วยลดอาการ “สั่งสอนคนดู” ลงได้น่ะ คือพอบทสนทนามันคลุมเครือ มันก็เลยเหมือนกับว่าหนังไม่ได้ต้องการสั่งสอนคนดูตรงๆ หรือบอกคนดูตรงๆ

แต่ถ้าพูดกันจริงๆแล้ว เราว่า “บทสนทนา” ของหนังเรื่องนี้ คือจุดที่เราชอบน้อยที่สุดของหนังนะ คือเราว่าหนัง cast นักแสดงมาได้ดี เพราะลุคของนักแสดงดูไม่เหมือนในหนังเกย์ทั่วๆไป,  การถ่ายภาพ การออกแบบช็อตอะไรต่างๆก็ดีมาก เหมือนอย่างที่เราเขียนไปแล้ว, ประเด็นของหนังอาจจะไม่ใหม่ แต่ก็ไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นจุดด้อยของหนัง แต่ในส่วนของ dialogues + monologues ของหนังเรื่องนี้นั้น เรารู้สึก “กลางๆ” กับมันน่ะ คือไม่ได้คิดว่ามันแย่จนต้องปรับปรุง เพียงแต่คิดว่ามันไม่ได้ดีเลิศเท่ากับองค์ประกอบด้านอื่นของหนัง

แต่พอดูเทียบกับหนังเก่าๆของผู้กำกับคนนี้แล้ว เราว่าเขาก็พัฒนาตรงจุดนี้มาได้มากนะ คือเราว่าในหนังเก่าๆของผู้กำกับคนนี้นั้น จุดอ่อนที่เห็นได้ชัดเลยคือ “บทสนทนาช่วงยิงธีม” น่ะ โดยเฉพาะในหนังเรื่อง “อีกา” (2017) และ “PANORAMA” คือเราว่าอีกาเป็นหนังที่ถ่ายภาพได้สวยมาก นึกว่าหนังของ Nicolas Winding Refn แต่บทสนทนาของหนังในช่วงยิงธีมนี่ทำได้ทื่อมะลื่อมาก ส่วน PANORAMA นั้น บทสนทนาช่วงยิงธีมของตัวละครนี่ทำให้เรากลุ้มใจมาก 555

เพราะฉะนั้น HORIZON ก็เลยเหมือนแก้จุดอ่อนตรงนี้ได้สำเร็จน่ะ คือการพูดถึงความเท่าเทียมของตัวละครในหนังเรื่องนี้มันดูไม่ยัดเยียดมากเท่ากับการยิงธีมในหนังเรื่องก่อนๆ เราก็เลยไม่รู้สึกต่อต้านมัน เพียงแต่ว่าบทสนทนาคงยังไม่ใช่ “จุดแข็ง” ของหนังเรื่องนี้

ถ้าจะถามว่าควรพัฒนายังไงในด้านนี้ เราก็ไม่รู้เหมือนกัน 555 ไม่รู้ว่าการอ่านงานวรรณกรรมดีๆหรือการดูละครเวทีดีๆจะช่วยพัฒนาในด้านนี้ได้หรือเปล่า เพราะเราว่าผู้กำกับคนนี้มีจุดแข็งที่ visual น่ะแหละ แต่ “บท” อาจจะไม่ใช่จุดแข็งของหนัง คือการยิงธีมของหนังผ่านทางบทสนทนา มันอาจจะดูยังไม่ลงล็อคนัก หรือไม่ทรงพลังมากนัก หรือไม่เช่นนั้นหนังก็ต้องสื่อธีมหรือประเด็นผ่านทางการคิดซีนหรือสถานการณ์อื่นๆแทนที่จะยิงธีมผ่านทางบทสนทนา (อย่างเช่นใน MALILA ที่หนังทรงพลังทั้งงานด้านภาพ และการคิดซีนหรือสถานการณ์ต่างๆ)

คือเราว่า HORIZON “ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครออกมาเป็นภาพ”  ได้อย่างงดงามน่าพอใจมากๆแล้วแหละ แต่ถ้าหากจะหันไปทำหนังเรื่องอื่นๆที่พูดถึง “ประเด็นสังคม” หรือหนังที่ต้องการสื่อ “ข้อคิด” อะไรบางอย่างแก่ผู้ชม สิ่งที่อาจจะเป็นจุดอ่อนหรือต้องระวังก็คือ “บทภาพยนตร์” และ “บทสนทนา” ของตัวละครน่ะ แต่งานด้าน visuals นี่หายห่วงได้แล้ว งดงามมากๆ

No comments: