Sunday, June 19, 2005

TWISTER (MICHAEL ALMEREYDA, A)

--วันนี้ได้ดู THE POINTSMAN (1986, JOS STELLING, A-) กับ TWISTER (1990, MICHAEL ALMEREYDA, A) ค่ะ

ความเห็นจิปาถะที่มีต่อหนังทั้งในและนอกเทศกาลฝรั่งเศส

LOOK AT ME

--ฉากนึงที่ชอบมากใน LOOK AT ME คือฉากที่ LOLITA บ่นให้ SYLVIA ฟังว่าหลายๆคนทำดีกับเธอเพียงเพราะต้องการใช้เธอเป็นสะพานก้าวข้ามไปหาพ่อของเธอ ฉากนี้ให้ความรู้สึกเจ็บแสบมาก เพราะ SYLVIA เองพอได้ฟังประโยคนี้ก็คงรู้สึกสะอึกอย่างรุนแรงเหมือนกัน

การที่ตัวละครบางคนใน LOOK AT ME ทำดีกับคนอื่นๆเพียงเพราะต้องการใช้เป็นสะพาน ทำให้นึกถึงหนังเรื่องนึงที่ชอบสุดๆค่ะ นั่นก็คือเรื่อง THE CASTLE (1997, MICHAEL HANEKE, A+) เพราะในหนังเรื่องนี้ K. (แสดงโดย ULRICH MUHE) ซึ่งเป็นพระเอกของเรื่อง ก็ทำดีกับทุกๆคนที่เขานึกว่ามีเส้นสายอยู่ใน “ปราสาท” พอเขารู้ว่าตัวละครคนไหนน่าจะเข้าถึงตัว “ปราสาท” ได้ เขาก็ทำดีกับคนๆนั้นทันที

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ K. จะไม่จริงใจ แต่เขาก็ไม่ใช่คนเลวซะทีเดียว เขาเป็นตัวละครที่ “คบคนเพื่อหวังผลประโยชน์” แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็เป็นคนที่น่าสงสารมากๆ เพราะการคบคนของเขาไม่ได้ทำให้เขาได้เข้าใกล้ปราสาทซะที มีแต่จะทำให้เขายิ่งเดือดร้อนเหนื่อยยากลำเค็ญมากยิ่งขึ้น

จุดนี้ก็ทำให้นึกถึง LOOK AT ME เหมือนกัน รู้สึกว่าตัวละครแต่ละคนใน LOOK AT ME มีข้อดีและมีจุดบกพร่องอยู่ในตัวที่น่าสนใจมาก เหมือนที่คุณ merveillesxx บอกว่าหนังเรื่องนี้ไม่มีใครดีใครร้ายอย่างชัดเจน

ประเด็นเรื่อง “เวลาที่ตัวละครตัวนึงอยากจะพูด” กับ “เวลาที่ตัวละครตัวนึงอยากจะฟัง” ใน LOOK AT ME ก็ทำให้นึกถึงหนึ่งในฉากที่ทำให้ดิฉันรู้สึกเศร้าที่สุดใน THE CASTLE ค่ะ นั่นก็คือฉากที่ K. ได้พบกับชายอ้วนที่สามารถแก้ไขปัญหาของเขาได้ ชายอ้วนคนนั้นตัดสินใจจะรับฟังปัญหาของ K. เพื่อแก้ปัญหาให้ K. แต่ K. เหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าอย่างมากจากการระหกระเหินตบตีกับผู้คนมาตลอดทั้งวันทั้งคืน เขาผล็อยหลับไปวูบหนึ่ง พอเขาตื่นขึ้นมา และได้โอกาสที่จะพูดถึงปัญหาของเขาให้ชายคนนั้นรับฟัง ก็ดันมีคนมาดึงตัว K. ไปที่อื่น และในที่สุดปัญหาของ K. ก็ไม่ได้รับการแก้ไขอีกตามเคย ฉากนี้เป็นฉากที่ฝังใจดิฉันอย่างรุนแรงค่ะ เพราะ “ช่วงเวลาที่ตัวละครตัวนึงพร้อมจะพูด” กับ “ช่วงเวลาที่ตัวละครอีกตัวนึงพร้อมจะรับฟัง” มันคลาดเคลื่อนห่างจากกันเพียงแค่ไม่กี่นาที แต่เวลาที่คลาดเคลื่อนกันเพียงแค่ไม่กี่นาทีนี่แหละ ที่ทำให้ชีวิตของ K. ต้องตกอยู่ในนรกต่อไป (เหมือนกับตัวละครบางคนใน LOOK AT ME ที่อาจจะยังคงไม่เข้าใจกันต่อไป)

ประเด็นเรื่องการพูดกับการฟังยังทำให้นึกถึงหนังที่ชอบสุดๆอีกเรื่องนึงด้วยค่ะ นั่นก็คือ BU SU (1987, JUN ICHIKAWA, A+) จุดนึงที่ดิฉันชอบในหนังเรื่องนี้ ก็คือถึงแม้หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องของหญิงสาวในโรงเรียนไฮสกูล แต่ดิฉันรู้สึกว่าเกือบตลอดทั้งเรื่องนี้ แทบไม่มีฉากที่นางเอกได้พูดคุยจริงๆจังๆกับเพื่อนๆเลย นางเอกมักจะอยู่คนเดียว และเฝ้ามองคนอื่นๆอยู่ห่างๆ หรือถึงแม้นางเอกอยู่กับเพื่อน ก็มักจะเป็นการทำกิจกรรมร่วมกัน แต่หนังไม่ได้แสดงให้เห็นว่านางเอกคุยเล่นกับเพื่อนเรื่องอะไรบ้าง

อย่างไรก็ดี ใน BU SU มีอยู่ฉากนึงที่แสดงให้เห็นนางเอกคุยกับเพื่อนผู้หญิงเป็นเวลานานๆ แต่มันเป็นการคุยที่ประทับใจดิฉันมากๆ

จำประโยคที่นางเอกคุยกับเพื่อนใน BU SU ไม่ได้แน่นอน แต่มันออกมาในทำนองคล้ายๆอย่างนี้

นางเอก: ฉันอยากไปเที่ยวทะเล
เพื่อน: คนบางคนได้แต่งงานมีครอบครัว

นางเอก: ที่ชายหาดมีปู
เพื่อน: บางครอบครัวมีลูก แต่บางครอบครัวไม่มีลูก

นางเอก: เราไปขุดหาปูที่ชายหาดกันเถอะ
เพื่อน: ฉันอยากทำงานบริการผู้ชาย เพราะก่อนตายจะได้สัมผัสรสมือผู้ชายบ้าง

นางเอก:ที่ชายหาดมีคนไปเที่ยวกันเป็นครอบครัวเยอะแยะ
.....

นางเอก Bu Su กับเพื่อนคุยกันทำนองนี้ไปเรื่อยๆ แต่จริงๆแล้วพวกเขาไม่ได้ “คุยกัน” เลย พวกเขาเหมือนกับคุยกับตัวเองไปเรื่อยๆ มากกว่า เพียงแต่สลับกัน “พูดกับตัวเอง” คนละครั้งเท่านั้นเอง ดิฉันประทับใจกับฉากนี้มากๆค่ะ เพราะมันฮามากๆๆ และมันทำให้รู้สึกว่าถึงแม้นางเอกจะได้เพื่อนสนิทในโรงเรียนแล้ว และได้กลุ่มเพื่อนของตัวเองแล้ว หนังก็ยังคงแสดงให้เห็นถึงความแปลกแยกและโลกส่วนตัวของตัวละครแต่ละคนต่อไป

ดิฉันขอยกให้ฉากดังกล่าวใน BU SU เป็น “หนึ่งในฉากตัวละครคุยกันที่ประทับใจดิฉันมากที่สุด” ค่ะ



THE LIGHT
http://www.imdb.com/title/tt0388562/

--ฉากนึงที่ชอบมากใน THE LIGHT คือฉากแมวถูก “จับใส่ตะกร้าล้างน้ำ” สงสารแมวจังเลย แต่ถ้ามันไม่ตะกละ มันก็คงไม่พาตัวเองเดินเข้าไปติดกับในอุปกรณ์จับปลาอันนั้น

--ฉากที่แมวโดนลมพัดจนลอยหวือปลิวกระเด็น ก็ชอบมากเหมือนกันค่ะ ฉากนี้ทำให้นึกถึงฉากนึงที่ฮามากใน TWISTER (1996, JAN DE BONT, B) ซึ่งก็คือฉากที่มีวัวโดนพายุทอร์นาโดพัดลอยขึ้นไปในอากาศโดยไม่รู้อีโหน่อีเหน่

--รู้สึกว่า THE LIGHT นำเสนอความหล่อของ GREGORI DERANGERE ออกมาได้ดีมากๆ ในเรื่องนี้เขาดูหล่อกว่าใน BON VOYAGE (2003, JEAN-PAUL RAPPENEAU, A) เสียอีก ประโยคนึงที่ฮามากใน THE LIGHT คือประโยคที่ชาวบ้านคนนึงถามพระเอกในทำนองที่ว่าถูกสาวๆในโรงงาน EATEN ALIVE แล้วยัง

--จริงๆแล้วรู้สึกไม่ค่อยอินกับความรักของ MABE กับ ANTOINE สักเท่าไหร่ แต่ชอบที่คุณ grappa เขียนไว้ในบล็อกของคุณ ITซียูมากๆค่ะ ทำให้เข้าใจความรู้สึกของ MABE มากยิ่งขึ้น

--แต่จุดนึงที่ชอบมากใน THE LIGHT ก็คือการที่หนังไม่ได้เน้นความสัมพันธ์ระหว่าง MABE AND ANTOINE มากเกินไป แต่ใส่ประเด็นอื่นๆเข้ามาในหนังด้วย ในความเห็นส่วนตัวแล้ว คิดว่าถ้าหากหนังเน้นแต่ความสัมพันธ์ระหว่าง MABE AND ANTOINE หนังเรื่องนี้ก็อาจจะเข้าใกล้ THE BRIDGES OF MADISON COUNTY (CLINT EASTWOOD, A+) มากเกินไป และก็คงเป็นการยากที่หนังเรื่องนี้จะสร้างความซาบซึ้งได้เท่า THE BRIDGES OF MADISON COUNTY

--ความแตกต่างระหว่าง THE LIGHT กับ THE BRIDGES OF MADISON COUNTY คือสิ่งที่ทำให้ดิฉันชอบ THE LIGHT มากๆค่ะ และจุดที่แตกต่างกันก็คือ THE LIGHT ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่าง YVON กับ ANTOINE มากพอสมควร และจุดที่ทำให้รู้สึก “จี๊ด” ในหนัง ไม่ใช่การตัดสินใจของ MABE ว่าจะทำยังไง แต่เป็นการตัดสินใจของ YVON ว่าจะทำยังไง การที่หนังเลือกที่จะให้ฉากไคลแมกซ์ในเรื่องเกี่ยวข้องกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายสองคน แทนที่จะเป็นชาย-หญิง ทำให้ดิฉันรู้สึกว่า THE LIGHT เลือกเดินมาถูกทางแล้ว

--นอกจากจะชอบความสัมพันธ์ระหว่าง YVON AND ANTOINE แล้ว จุดที่ชอบมากๆใน THE LIGHT ก็รวมถึงความเป็นคนนอกของ ANTOINE และประเด็นเรื่องแอลจีเรียด้วยค่ะ



ARSENE LUPIN

--ในบรรดาหนังที่ดูในช่วงนี้ หนังที่ทำให้ดิฉันรู้สึกอินกับความรักของตัวละครมากที่สุด ก็คือ ARSENE LUPIN ค่ะ เพราะดิฉันชอบความสัมพันธ์ระหว่าง ARSENE LUPIN กับ JOSEPHINE (KRISTIN SCOTT THOMAS) มาก ไม่รู้ว่าพวกเขารักกันจริงหรือเปล่า แต่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ทำให้ดิฉันรู้สึกอินมากที่สุดเมื่อเทียบกับความสัมพันธ์ของตัวละครชายหญิงคู่อื่นๆที่ได้ดูมาค่ะ

จุดที่ทำให้ความสัมพันธ์ของ LUPIN กับ JOSEPHINE แตกต่างจากความสัมพันธ์ของหญิงชายในหนังเรื่องอื่นๆอาจจะรวมถึง

1.ฝ่ายหญิงมีอายุมาก แต่ฝ่ายชายมีอายุน้อย ดิฉันชอบเรื่องอย่างนี้มากๆค่ะ โฮะ โฮะ โฮะ โฮะ โฮะ

2.ความสัมพันธ์ของทั้งสองเกี่ยวข้องกับ “ความหลงใหลในด้านมืด”

3.ความสัมพันธ์ของทั้งสองนำมาซึ่ง “การทำลายล้าง”

4.ทั้งสองไม่ได้เป็นเพียงแค่คู่รักกัน แต่ยังเป็นทั้งคู่แข่งและคู่อาฆาตซึ่งกันและกัน ในขณะที่ชายหญิงซึ่งรักกันในหนังเรื่องอื่นๆเจอแค่เพียงปัญหาว่า “เราจะนอกใจคนรักดีหรือไม่” แต่ชายหญิงใน ARSENE LUPIN ต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราจะฆ่าคนรักดีหรือไม่”

ดิฉันชอบหนังที่ตัวละครต้องลังเลใจอยู่ตลอดเวลาว่าจะฆ่าคนรักดีหรือไม่ค่ะ และหนังอีกเรื่องนึงที่เข้าข่ายนี้ก็คือ BETRAYED (1988, COSTA-GAVRAS, A+) ในขณะที่ MR. & MRS. SMITH (2005, DOUG LIMAN, B+) ไม่ประทับใจดิฉันในจุดนี้สักเท่าไหร่ เพราะขณะที่ดู ดิฉันรู้สึกว่ายังไงๆ ตัวละครพระเอกนางเอกใน MR. & MRS. SMITH ก็ไม่น่าจะก้าวพ้นกรอบศีลธรรมจนกลายไปเป็นคนชั่วร้ายอย่างรุนแรง การที่ดิฉันรู้สึกว่าตัวละครพระเอกนางเอกไม่มีวันก้าวพ้นกรอบ ก็เลยทำให้ไม่เกิดความรู้สึกลุ้นระทึกในขณะที่ดู MR. & MRS. SMITH สักเท่าไหร่ ไม่เหมือนกับใน BETRAYED และ ARSENE LUPIN ที่ตัวละครฝ่ายใดฝ่ายนึงในคู่รัก ได้กลายเป็นคนเลวชนิดกู่ไม่กลับ ไม่มีวันไถ่บาปได้อีกแล้ว และเมื่อตัวละครกลายเป็นคนเลวสุดๆไปแล้ว “ความรู้สึกลุ้นว่าตัวละครจะตัดสินใจฆ่าคนรักหรือไม่ อะไร ยังไง” จึงเพิ่มสูงยิ่งขึ้น

5.ในหนังบางเรื่อง ตัวละครหญิงร้ายผู้ทรงอำนาจ มักจะเสียท่าเพราะพวกนางมีจุดอ่อน นั่นก็คือดันไปหลงรักพระเอกหรือไปไว้วางใจพระเอกเข้า JOSEPHINE ก็เกือบๆจะเข้าข่ายนี้เหมือนกัน

ตัวละครที่มีจุดอ่อนเพราะดันไปหลงรักพระเอกหรือไว้วางใจพระเอกในหนังเรื่องอื่นๆรวมถึง

5.1 ตงฟานปุ๊ป้ายใน “เดชคัมภีร์เทวดา ภาคสอง” (A+)

5.2 ราชินี อาคาชา (AALIYAH) ใน QUEEN OF THE DAMNED (2002, MICHAEL RYMER, A+)


6.ตอนนี้ JOSEPHINE ติดทำเนียบตัวละครหญิงในดวงใจดิฉันไปแล้วล่ะค่ะ ตัวละครหญิงที่นั่งอยู่ในหัวใจดิฉันเหมือนกับ JOSEPHINE ก็คือราชินีอาคาชา ดิฉันรู้สึกว่าโจเซฟีนกับราชินีอาคาชามีบางส่วนคล้ายกันด้วยค่ะ เพราะพวกเธอดูท่าทางจะมีอายุยืนนานเหมือนๆกัน

อย่างไรก็ดี ดิฉันรู้สึก “ลุ้นเอาใจช่วย” โจเซฟีนมากกว่าเอาใจช่วยราชินีอาคาชาในระหว่างดูหนังสองเรื่องนี้ค่ะ ซึ่งสาเหตุอาจจะเป็นเพราะว่า ราชินีอาคาชามีอิทธิฤทธิ์สูงลิบลิ่วจนยากจะหาผู้ใดมาประฝีมือกับเธอได้ ก็เลยไม่ทำให้รู้สึกว่าเธออาจจะพลาดท่าศัตรูได้ทุกเมื่อเหมือนโจเซฟีน