Saturday, January 10, 2015

THE CIRCLE (2014, Stefan Haupt, Switzerland, documentary, A+25)


THE CIRCLE (2014, Stefan Haupt, Switzerland, documentary, A+25)

ความรู้สึกที่มีต่อหนังเรื่องนี้

1.รู้สึกว่ามันเป็นส่วนเติมเต็มของสิ่งที่เราอยากดูใน THE CASE AGAINST 8 (2014, Ben Cotner + Ryan White, A+25) เพราะตอนที่เราดู THE CASE AGAINST 8 นั้น เราอยากให้หนังเจาะลึกชีวิตของคู่รักเกย์-เลสเบียนมากกว่านี้ แทนที่จะนำเสนอชีวิตของพวกเขาอย่างผิวเผิน (แต่นั่นก็ไม่ใช่ความผิดของ THE CASE AGAINST 8 นะ คือเราก็เข้าใจว่า THE CASE AGAINST 8 ต้องมุ่งประเด็นไปที่การต่อสู้กับข้อเสนอทางกฎหมาย ก็เลยไม่ได้ focus ไปที่ชีวิตของคู่รักเกย์ แต่ถึงแม้เราจะเข้าใจว่าเพราะเหตุใด THE CASE AGAINST 8 ถึงไม่ได้เป็นอย่างที่เราต้องการแบบ 100% เต็ม เราก็ยังคงรู้สึกต้องการบางสิ่งที่มันไม่มีอยู่ในหนังอยู่ดี)

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏอยู่ใน THE CIRCLE ก็เลยตอบสนองความต้องการของเราได้มากพอสมควร เพราะเราอยากรู้เรื่องราวแบบนี้แหละ เรื่องราวของคู่รักเกย์ในชีวิตจริง ว่าพวกเขาพบกันได้อย่างไร ทำความรู้จักกันได้อย่างไร และผ่านพบเหตุการณ์อะไรมาบ้างก่อนจะครองรักกัน และต้องรับมือกับอะไรบ้างขณะที่ครองรักกัน และแต่ละคนมีข้อดีข้อด้อยจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร

2.แต่ที่เราไม่ได้ชอบหนังเรื่อง THE CIRCLE ในระดับ A+30 หรือชอบสุดๆนั้น มันก็ไม่ใช่ความผิดของ THE CIRCLE เช่นกัน แต่มันเป็นด้วยรสนิยมของเราเอง คือในช่วงท้ายของ THE CIRCLE เรารู้สึกว่าหนังมันขาดอะไรบางอย่างที่มันสอดคล้องกับรสนิยมของเรา นั่นก็คือ “sense ของชีวิตประจำวัน”

คือเราชอบหนังที่นำเสนอชีวิตประจำวันของคนธรรมดาน่ะ แต่สิ่งที่ THE CIRCLE ทำกับ subject ของหนังในช่วงท้ายมันค่อนข้างสวนทางกับรสนิยมของเรามากพอสมควร เพราะในช่วงท้ายของหนังเรื่องนี้ หนังก็เล่าเหตุการณ์ของ subject จนกระทั่งมาถึงปี 1968 แล้วหนังก็ตัดมาเป็นทศวรรษ 2000 เมื่อหนึ่งใน subject ประกาศตัวว่าเป็นเกย์ และจดทะเบียนเป็น partner กับคู่รักเลย

ขณะที่ดู เราก็เลยนึกสงสัยว่า แล้วช่วงปี 1970-2000 นี่ มันมีอะไรเกิดขึ้นบ้างในชีวิตของ subject คู่นี้ มันเป็นช่วงของ happily ever after ที่ไม่มีอะไรน่ากล่าวถึงเลยเหรอ ซึ่งมันอาจจะเป็นเช่นนั้นจริงๆก็ได้ แต่เรารู้สึกเหมือนกับว่า หนังปฏิบัติต่อ subject คู่นี้เหมือนกับว่า “ชีวิตคุณสำคัญ ก็ต่อเมื่อชีวิตคุณได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญเท่านั้น ถ้าหากชีวิตคุณช่วงไหนไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญ มันก็ไม่ควรถูกนำเสนอออกมา”

ซึ่งลักษณะการมองคน, การมองชีวิต, ลักษณะของ narrative หรือลักษณะของหนังแบบนี้มันสวนทางกับรสนิยมของเราน่ะ แต่หนังเรื่อง THE CIRCLE ก็ไม่ได้ทำอะไรผิดนะ เพราะชื่อหนังก็บอกอยู่แล้วว่ามันเน้นไปที่นิตยสาร THE CIRCLE มากกว่าจะเน้นไปที่ชีวิตของคู่รักเกย์คู่นี้ เพราะฉะนั้นการที่หนังไม่ได้เน้นนำเสนอชีวิตประจำวันของคู่รักเกย์คู่นี้ ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้

สรุปว่า THE CIRCLE ช่วยเติมเต็มเราในสิ่งที่ขาดหายไปจาก THE CASE AGAINST 8 แต่ในอีกแง่นึง เราก็รู้สึกว่าหนังอย่าง SOMBOON (2014, Krisada Tipchaimeta, A+30) ช่วยเติมเต็มเราในสิ่งที่ขาดหายไปจาก THE CIRCLE เพราะ SOMBOON นำเสนอทั้งเรื่องราวในอดีตและชีวิตประจำวันของคู่รักวัยชราคู่หนึ่ง โดยการที่หนังให้ความสำคัญกับชีวิตประจำวันของคู่รักคู่นี้มากพอสมควร มันเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับรสนิยมของเรามากๆ

สำหรับปัญหาที่เรามีต่อการปฏิบัติต่อ subject ในช่วงท้ายของ THE CIRCLE นั้น มันทำให้เรานึกถึงหนังเยอรมันเรื่องนึงที่เรายังไม่ได้ดู แต่เคยอ่านถึงน่ะ ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจว่าเราจำสิ่งที่อ่านมาถูกต้องหรือเปล่านะ คือเราเคยได้ยินมาว่า มันมีหนังเยอรมันเรื่องนึงที่ต่อต้าน narrative และวิธีการเขียนประวัติศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์บางประเภทมากเกินไปน่ะ อย่างเช่น “การคลอดลูก” คือในหนังทั่วๆไปนี่ มันจะมีฉากตัวละครคลอดลูกใช่มั้ยล่ะ แต่หนังมันจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับตัวละครหญิงตั้งครรภ์คนนั้น “ขณะที่ตั้งครรภ์อยู่หลายเดือน” คือตัวละครหญิงคนนั้นมันจะได้รับความสำคัญก็ต่อเมื่อมัน “คลอดลูก” ออกมาเท่านั้น มันเหมือนกับว่าการคลอดลูกเป็นสิ่งที่ “HIStory” ให้ความสำคัญ และ narrative ให้ความสำคัญ แต่ช่วง moment หลายเดือนก่อนหน้านั้นถูก HIStory และ narrative ทำให้กลายเป็นสิ่งไม่สำคัญ หนังเยอรมันเรื่องนี้ก็เลยพยายามจะต่อต้าน HIStory แบบนี้ด้วย HERstory หรืออะไรทำนองนี้ และก็เลยมีฉากที่ตัวละครหญิงตั้งครรภ์คนหนึ่งประกาศอย่างกึกก้องต่อหน้าคนอื่นๆว่า “เด็กยังไม่เกิด” เพื่อต่อต้านวิธีการที่หนังเรื่องอื่นๆและการเขียนประวัติศาสตร์ให้ความสำคัญเฉพาะ moment ที่ “เด็กเกิดแล้ว” และละเลย moment แบบอื่นๆไป

สรุปว่า ถ้าหาก THE CIRCLE ให้ความสำคัญมากหน่อยกับชีวิตประจำวันของคู่รักวัยชราคู่นี้ หนังมันก็จะเข้าทางเราอย่างสุดๆจ้ะ เพราะเราอยากเห็นชีวิตของสองคนนี้ได้รับความสำคัญบนจอภาพยนตร์ โดยที่ช่วงชีวิตนั้นไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องแต่อย่างใดกับเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์การต่อสู้ของสิทธิเกย์

3.สรุปว่าข้อสองที่เราเขียนไป เป็นเพียงแค่การอธิบายว่าเพราะเหตุใดเราถึงไม่ได้ชอบ THE CIRCLE ในระดับ A+30 นะ แต่เราก็ชอบหนังเรื่องนี้อย่างมากๆๆๆ อยู่ดี และสาเหตุนึงเป็นเพราะว่า มันช่วยเติมเต็มในสิ่งที่เราอยากรู้มานานน่ะว่า คู่รักเกย์ที่อยู่กันมาอย่างยืดยาวนี่ ชีวิตพวกเขาผ่านอะไรมาบ้าง

คือดูหนังเรื่องนี้แล้วมันทำให้เรานึกถึงคู่รักเกย์แก่ๆหลายคู่ที่เราเคยเห็นที่พัทยาน่ะ คือเวลาเราเห็นคู่รักเกย์แก่ๆเหล่านี้ เรามักจะสงสัยว่า ชีวิตในอดีตของพวกเขาเป็นอย่างไรบ้างนะ และหนังเรื่องนี้ก็เหมือนจะตอบสนองความอยากรู้ของเราในจุดนี้

4.เราชอบหลายๆฉากที่สมาชิกของ THE CIRCLE ถกเถียงกันด้วยเรื่องต่างๆ คือเราชอบการที่ตัวละครแต่ละคนเป็นเกย์ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของเกย์เหมือนๆกัน แต่แต่ละคนก็มีจุดยืนที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเด็น เราว่าการที่เกย์แต่ละคน debate กันและแสดงความเห็นที่แตกต่างกันไปในหนังเรื่องนี้ เป็นสิ่งที่ดีมากๆ

5.ฉากที่สะเทือนใจเรามากที่สุดคือฉากของบก.นิตยสารตอนที่นิตยสารปิดตัวลง มันเป็นฉากที่น่าเศร้ามากๆ และมันทำให้เรานึกถึงนิตยสารหลายๆเล่มที่เราเคยอ่านตอนเด็กๆ อย่างเช่น “สตรีสาร” ซึ่งเป็นนิตยสารที่เราเติบโตกับมันมานานเป็นสิบปี ก่อนที่มันจะต้องปิดตัวลงตามกาลเวลา

คือการปิดตัวของนิตยสาร THE CIRCLE มันมีสาเหตุส่วนนึงเป็นเพราะว่า “โลกเปลี่ยนไป” ด้วยแหละ และเราก็มักจะสะเทือนใจกับเรื่องราวอะไรแบบนี้ เพราะเราเป็นคนที่ปรับตัวไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกเหมือนกัน 555 คือเรื่องราวอะไรแบบนี้มันทำให้นึกถึงทั้ง “พนักงานโรงหนัง stand alone ที่ต้องปิดกิจการลง” และเรื่องราวของ “ค่ายเพลงที่ปิดตัวลง เพราะคนไม่ซื้อซีดีกันแล้ว” และ “ร้านวิดีโอ/ดีวีดีที่ปิดกิจการลงด้วย” คือการล่มสลายของธุรกิจเหล่านี้มันไม่ได้เกิดจากทั้งความผิดของผู้ประกอบธุรกิจและลูกค้าของพวกเขาน่ะ มันเป็นการล่มสลายที่เกิดขึ้นเพียงเพราะว่าโลกมันเปลี่ยนไปเท่านั้นเอง แต่เรื่องราวแบบนี้มันก็ทำให้เรารู้สึกเศร้าใจมากๆ โลกมันอนิจจังจริงๆ



No comments: