Thursday, January 01, 2015

TOP TEN FAVORITE FILMS OF 2014

TOP TEN FAVORITE FILMS I SAW IN 2014

I intended to make a list of 200 favorite films I saw in 2014, but that list will come out later. As for now, this is just a top ten list I made for Wiwat Filmsick Lertwiwatwongsa.

1.GOODBYE TO LANGUAGE 3D (2014, Jean-Luc Godard)
นี่เป็นหนึ่งในหนังแนวที่ชอบมากที่สุด นั่นก็คือหนังที่ไม่ได้เน้นการเล่าเรื่อง แต่เน้นการเล่นสนุกเถิดเทิงกับองค์ประกอบต่างๆทางภาพยนตร์แทน เราชอบความชิบหายวายป่วงของการไม่ต้องรู้เรื่องรู้ราวอะไรอีกต่อไปในหนังมากๆ มันเหมือนกับว่าเนื้อเรื่องไม่ได้มีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งอีกต่อไป สิ่งที่สำคัญกลับกลายเป็นตำแหน่งแห่งที่ที่ดูเหมือนจะผิดที่ผิดทางไปจากปกติแทบทั้งหมดขององค์ประกอบต่างๆทางภาพยนตร์ ทั้งภาพสองมิติ, ภาพสามมิติ, เสียง, บทสนทนา, ดนตรีประกอบ, การจัดองค์ประกอบภาพ, ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่อยู่ offscreen กับสิ่งที่อยู่ในภาพ, สี, ตัวละคร, text, subtitle ทุกอย่างดูมี function ที่ไม่ได้เหมือนในภาพยนตร์ปกติอีกต่อไป

หนังมีฉากที่น่าประทับใจหลายฉาก ทั้งฉากที่ตาของเราสองข้างจะเห็นภาพไม่เหมือนกัน, ฉากหมาลอยออกไปในลำธาร, ฉากที่มีเสียงคนตะโกนถามหา concept เกี่ยวกับแอฟริกา, ฉากที่เหมือนมีเสียงคนอุจจาระแบบลำโพงรอบทิศทาง

มีตัวละครหญิงคนหนึ่งเหมือนจะพูดในหนังประมาณสองครั้งว่า “I am here to tell you no, and to die.” และประโยคนี้เป็นประโยคที่ทรงพลังมากที่สุดสำหรับเราในปีนี้ คือเราไม่รู้หรอกว่าประโยคนี้มีความหมายอย่างไรในหนังเรื่องนี้ เรารู้แต่ว่าประโยคนี้มันกินใจเราอย่างสุดๆ

เราชอบหนังเรื่องนี้มากกว่าหนังหลายๆเรื่องของโกดาร์ดนะ เพราะหนังเรื่องนี้มันอลหม่านมาก และมันเหมือนจะแทบทิ้งเนื้อเรื่องไปเลย เราก็เลยไม่ต้องมานั่งตีความเนื้อเรื่องหรือนั่งปะติดปะต่อเนื้อเรื่องอีก คือหนังเรื่องนี้มันมีเนื้อเรื่องและมีสารที่มันต้องการจะสื่อของมันน่ะแหละ แต่เราเป็นคนที่ตีความอะไรพวกนี้ไม่ออกไง และเราก็พบว่า สำหรับ GOODBYE TO LANGUAGE 3D นั้น ถึงเราจะจับเนื้อเรื่องมันไม่ได้ และไม่เข้าใจสาระสำคัญอะไรในหนังเรื่องนี้เลย เราก็ยังคงรู้สึกสนุกสุดขีดกับการเล่นเอาเถิดเจ้าล่อขององค์ประกอบต่างๆทางภาพยนตร์ในหนังเรื่องนี้อยู่ดี ในขณะที่หนังเรื่องอื่นๆของโกดาร์ดมันไม่ทำให้เรารู้สึกสนุกสุดขีดแบบนี้ อาจจะมียกเว้นก็แต่ WEEK-END (1967)

พอเทียบ GOODBYE TO LANGUAGE 3D กับหนังในยุคหลังของโกดาร์ดที่เราได้ดูแล้วจะเห็นชัดน่ะ คือ SLOW MOTION (1980), PASSION (1982), FIRST NAME CARMEN (1983), DETECTIVE (1985), KING LEAR (1987) และ IN PRAISE OF LOVE (2001) มันมีเนื้อเรื่องอยู่บ้างน่ะ และเวลาดูเราก็จะงงๆกับเนื้อเรื่อง พยายามหาทางปะติดปะต่อเนื้อเรื่อง พยายามตีความมัน และมันก็เลยไม่ได้ทำให้เรา “สนุกหฤหรรษ์” กับมันมากนัก ในขณะที่ GOODBYE TO LANGUAGE 3D มันไม่ได้ดึงดูดให้เราหาทางปะติดปะต่อเนื้อเรื่องและตีความมันเหมือนกับหนัง 6 เรื่องนี้ เราก็เลยสนุกหฤหรรษ์กับมันได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี หนัง 6 เรื่องนี้ต่างก็มีข้อดีของมันเองแหละ คือถึงแม้มันจะไม่ได้สนุกเหมือน GOODBYE TO LANGUAGE 3D มันก็มีข้อดีอื่นๆมาทดแทน

แต่เราไม่ได้นับรวม JLG/JLG – AUTOPORTRAIT DE DÉCEMBRE (1994, Jean-Luc Godard) ไว้รวมกับ 6 เรื่องข้างต้นนะ เพราะถึงแม้ JLG/JLG จะเป็นหนังยุคหลังเหมือนกัน แต่มันก็ดูเหมือนจะไม่มีเนื้อเรื่องแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี สำหรับเราแล้ว JLG/JLG ไม่ใช่หนังที่ดูสนุกบันเทิงแบบ GOODBYE TO LANGUAGE 3D น่ะ แต่มันเป็นหนังที่กระตุ้นความคิดเรามากๆ และเป็นหนังที่ดีสุดๆ แต่โทนอารมณ์ของมันจะแตกต่างจาก GOODBYE TO LANGUAGE 3D คือ JLG/JLG จะเหมือนเป็นนักปรัชญาที่สุขุมคัมภีรภาพ ส่วน GOODBYE TO LANGUAGE 3D จะเหมือนเป็นนักปรัชญาที่เสียสติไปแล้ว เราก็เลยจูนติดกับ GOODBYE TO LANGUAGE 3D มากกว่า

แต่หนังที่เราชอบมากที่สุดของโกดาร์ดอาจจะยังคงเป็น LA CHINOISE (1967) นะ เพราะ LA CHINOISE มันทำให้เรานึกถึงความสนุกของการไปนอนค้างบ้านเพื่อนและสร้างโลกจินตนาการร่วมกับเพื่อนๆน่ะ LA CHINOISE ก็เลยเป็นหนังที่โดนเราเป็นการส่วนตัวมากๆ และยังคงครองตำแหน่งหนังที่เราชอบที่สุดของโกดาร์ดมาจนถึงปัจจุบันนี้

อีกประเด็นหนึ่งที่อยากจะพูดก็คือว่า ความสนุกที่เราได้รับจาก GOODBYE TO LANGUAGE 3D มันทำให้เรานึกถึงความสนุกที่เราเคยได้รับจากหนังเรื่อง POLITICALLY LAWYER AND NARRATIVE CINEMA (2009, Chaloemkiat Saeyong) เพราะในหนังของเฉลิมเกียรติ แซ่หย่องเรื่องนี้ มันมีการเล่นสนุกกับองค์ประกอบต่างๆทางภาพยนตร์เหมือนกัน โดยเฉพาะในช่วงกลางเรื่องที่มันทำให้เราฟินน้ำแตกมากๆ เมื่อหนังไม่ได้คิดจะเล่าเรื่องด้วยภาพและเสียงในแบบขนบปกติอีกต่อไป


สรุปว่าอยากให้มีคนทำหนังแบบ Jean-Luc Godard และ Chaloemkiat Saeyong ออกมาอีกเยอะๆ

2.AWARENESS ภาษาที่เธอไม่เข้าใจ (2014, Wachara Kanha)
ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่นี่

อันนี้เป็นหนังที่ดูแล้วบาดใจที่สุด เพราะมันสะท้อนความรู้สึกในใจเราได้เป็นอย่างดี มันเป็นความรู้สึกของคนที่สื่อสารไม่เข้าใจกันอีกต่อไปเพราะความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน

เราว่าในแง่นึงหนังเรื่องนี้มันเข้ากับหนึ่งในงานเขียนที่เราชอบมากที่สุดในชีวิตด้วย ซึ่งก็คือบทกลอน “ก่อนลั่นดาล” ของไอดา เพราะบทกลอนนั้นก็มีบางส่วนที่สะท้อนความอัดอั้นตันใจในทำนองนี้เหมือนกัน

อย่างไรก็ดี สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างหนังเรื่องนี้กับ “ก่อนลั่นดาล” อาจจะเป็นท่าทีในตอนจบ เพราะหนังเรื่องนี้เหมือนกับจะบอกว่า “หวังว่าสักวันหนึ่ง เธอจะเข้าใจฉัน” แต่บทกลอน “ก่อนลั่นดาล” บอกว่า

“แหละประตูทุกบานจักปิดตาย
ไม่อีกแล้ว ไม่อีกต่อไป ไม่ใช่ขี้ข้า
ไม่เข้าใจ ก็(ไม่)ต้องเข้าใจ เมื่อถึงเวลา”

ซึ่งจริงๆแล้วเราจะรู้สึกแบบเดียวกับ “ก่อนลั่นดาล” มากกว่า เพราะเรามาถึงจุดที่ “ถ้ามึงไม่เข้าใจกู มึงก็ไม่ต้องเข้าใจกู”  เราไม่อยู่ในจุดที่ “หวังว่าเธอจะเข้าใจฉัน” อีกต่อไป เราผ่านจุดนั้นมานานหลายเดือนแล้ว

สรุปว่าวชร กัณหามีหนังติดอันดับประจำปีของเรามาติดต่อกัน 5 ปีแล้ว โดยปี 2010 เขาติดอันดับของเราจากเรื่อง “เฟื่อง”, ปี 2011 เขาติดอันดับจากเรื่อง “นครอัศจรรย์ ไตรภาค”, ปี 2012 เขาติดอันดับจาก “ชิงชัง” และปี 2013 เขาติดอันดับจาก “ดาวที่เป็นน้ำแข็ง”

3.OLDS (2014, Watcharapol Seangarunroj)

เขียนถึงหนังเรื่องนี้ไว้แล้วที่นี่

4.DREILEBEN – BEATS BEING DEAD (2011, Christian Petzold, Germany)
DREILEBEN – DON’T FOLLOW ME AROUND (2011, Dominik Graf, Germany)
DREILEBEN – ONE MINUTE OF DARKNESS (2011, Christoph Hochhäusler, Germany)

ในหนังไตรภาคชุดนี้ เราชอบ BEATS BEING DEAD มากที่สุด รองลงมาก็เป็น DON’T FOLLOW ME AROUND ส่วน ONE MINUTE OF DARKNESS ชอบน้อยสุด แต่ก็ชอบในระดับ A+30 อยู่ดี

BEATS BEING DEAD ดูแล้วร้าวรานใจสุดๆ ดูแล้วอินมากๆด้วย คือเรามักจะอินกับหนังที่นางเอกยากจนแล้วตกหลุมรักผู้ชายที่รวยกว่าน่ะ เพราะในชีวิตจริงเราก็จนเหมือนกัน

แล้วทำไมเราถึงไม่อินกับหนังไทย/ละครไทยที่มีเนื้อหาทำนองนี้ล่ะ มันเป็นเพราะว่าหนังไทย/ละครไทยที่นำเสนอความรักต่างชนชั้นแบบนี้ ตัวนางเอกมักจะเป็น “คนดี” เกินไปน่ะ กูก็เลย identify ตัวเองกับนางเอกประเภทรักนวลสงวนตัว กุลสตรีแบบนี้ไม่ได้

แต่นางเอก BEATS BEING DEAD ไม่ได้ทำตัวเป็นกุลสตรีแบบหนังไทย เราก็เลย identify ตัวเองเข้ากับนางเอกคนนี้ได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะฉากที่เธอแผลงฤทธิ์กลางงานปาร์ตี้นี่มันเป็นฉากที่สุดตีนมากๆ สะใจมากๆ จัดเป็นหนึ่งในฉากที่ชอบที่สุดในปีนี้เลย

เราว่า Christian Petzold เก่งในการทำหนังที่ดีมากๆจากเนื้อเรื่องที่เอื้อต่อการเป็นเมโลดราม่าน่ะ คือหนังของเขาอย่าง GHOSTS (2005), JERICHOW (2008) และ BEATS BEING DEAD มันมีเนื้อเรื่องบางส่วนที่คล้ายกับละครน้ำเน่าอยู่ด้วย เพราะใน GHOSTS นั้น นางเอกเป็นเด็กยากจนที่จริงๆแล้วอาจจะเป็นลูกคนรวยที่ถูกลักพาตัวไปตั้งแต่เด็ก โดยสิ่งที่จะพิสูจน์ได้ว่านางเอกเป็นลูกคนรวยก็คือปานที่หลังนางเอก ส่วน JERICHOW ก็มีเนื้อหาเกี่ยวกับนางเอกที่นอกใจสามีที่เป็นคนรวยด้วยการไปเอากับหนุ่มหล่อล่ำ คือเนื้อหาของหนัง 3 เรื่องนี้จริงๆแล้วมันดัดแปลงเป็นละครน้ำเน่าได้ง่ายมากๆ แต่ Petzold กลับไม่ทำมันออกมาเป็นละครน้ำเน่า แต่ทำมันออกมาเป็นหนังที่ดูแล้วร้าวรานใจเหี้ยๆ

ส่วน DON’T FOLLOW ME AROUND ของ Dominik Graf นั้น ตอนที่ดูจบ เราให้เกรดหนังเรื่องนี้แค่ A+20 แต่พอเวลาผ่านไป เราก็พบว่าเราชอบหนังเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

เราว่าบทภาพยนตร์ของหนังเรื่องนี้น่าสนใจมากๆ เพราะในขณะที่บทภาพยนตร์โดยทั่วไปมักจะนำเสนอ protagonist ในการต่อสู้เพื่อเอาชนะอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่อันนึง แต่หนังเรื่องนี้นำเสนอตัวละครนางเอกในแบบที่ดูสมจริงกว่าหนังทั่วไป เพราะนางเอกของเรื่องนี้ดูเหมือนจะต้องรับมือกับปัญหาหลายอย่างในชีวิตพร้อมๆกัน ทั้งในการตามจับฆาตกรโรคจิต, การสืบการทุจริตในสำนักงานตำรวจ และการรับมือกับเพื่อนเก่าและอดีตของตนเอง ซึ่งในที่สุดแล้ว สิ่งที่น่าสนใจที่สุดกลับไม่ใช่การตามจับฆาตกรโรคจิตและการจัดการกับตำรวจที่ทุจริต แต่เป็นปัญหาหลายๆอย่างในจิตใจของนางเอกเอง ซึ่งรวมถึงการที่นางเอกมักจะไม่รับมือกับปัญหาบางอย่างด้วยตัวเอง แต่ส่งคนอื่นๆไปรับมือกับปัญหานั้นแทน

ส่วน ONE MINUTE OF DARKNESS นั้น เป็นหนังเกี่ยวกับคนบริสุทธิ์ที่ถูกเข้าใจผิดและถูกบีบคั้นจากสังคมจนทำให้เขาเปลี่ยนไป ตอนที่ดูหนังเรื่องนี้เราชอบสุดๆในระดับ A+30 นะ แต่พอเวลาผ่านไปนาน เรากลับพบว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้ “ค้างคาใจ” เรามากเท่ากับ DON’T FOLLOW ME AROUND คือเราว่าบทของ DON’T FOLLOW ME AROUND มัน deep หรือมัน dense มากๆน่ะ เพราะมันพูดถึงคนที่มีปัญหาหลายๆอย่างในชีวิตในขณะเดียวกัน ซึ่งรวมถึงปัญหาที่ซับซ้อนมากๆในทางจิตใจด้วย มันนำเสนอ complications of life ได้สุดๆมาก ในขณะที่ ONE MINUTE OF DARKNESS พอมันจะเล่าเรื่อง “คนบริสุทธิ์ที่ถูกเข้าใจผิด” มันก็เลยไม่ได้ดำดิ่งลงไปในปัญหาอันซับซ้อนในใจคนธรรมดาเหมือนอย่าง DON’T FOLLOW ME AROUND

คือเราว่าการที่ DON’T FOLLOW ME AROUND พูดถึงความซับซ้อนในใจคนธรรมดา มันเป็นสิ่งที่น่าสนใจสุดๆน่ะ ในขณะที่พล็อตของ ONE MINUTE OF DARKNESS มันดูง่ายกว่า เพราะมันเป็นเรื่องของ protagonist ที่ต้องเอาชนะอุปสรรคใหญ่อันเดียวแบบหนังทั่วไป

5.LONG FOR ขอให้น้ำแข็งละลาย (2014, Phawinee Sattawatsakul)

อันนี้เป็นหนังแนวที่เรามักจะชอบสุดๆอยู่แล้ว นั่นก็คือหนังเกี่ยวกับเด็กสาววัยรุ่นที่มีปัญหาหงุดหงิดงุ่นง่านอะไรบางอย่างอยู่ในใจ ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมเราถึงอินกับหนังประเภทนี้อยู่เสมอ

นางเอกสองคนในหนังเรื่องนี้เล่นดีมากๆ คนนึงทำหน้าเย็นชาได้ดีมากๆ (โตขึ้นเธออาจจะเป็น Isabelle Huppert ของเมืองไทย) ส่วนอีกคนก็ถ่ายทอดความทุกข์ใจของตัวละครออกมาได้ดีมาก

อันนี้เป็นลิสท์หนังเกี่ยวกับเด็กสาววัยรุ่นที่เราชอบสุดๆ แต่เป็นลิสท์ที่ทำไว้ในปี 2008 เพราะฉะนั้นก็เลยไม่มีหนังอย่าง OTHER GIRLS (2000, Caroline Vignal) และ RESTLESS (2009, Laurent Perreau) ที่เราได้ดูหลัง 2008 รวมเอาไว้ด้วย

6.THIS YEAR IN CZERNOWITZ (2004, Volker Koepp, Germany, documentary)
อันนี้เป็นหนังสารคดีที่เราชอบที่สุดในปีนี้ (ส่วนอันดับสองคือ IMAGES OF THE WORLD AND THE INSCRIPTION OF WAR ของ Harun Farocki) เราเคยเขียนถึงหนังเรื่องนี้ไว้แล้วที่นี่

7.VILLAGE OF HOPE วังพิกุล (2013, Boonsong Nakphoo)

ถือเป็นหนังยาวของไทยที่เราชอบที่สุดในปีนี้ (อันดับสองคือแหม่มแอนนา หัวนม มาคารอง โพนยางคำ และการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของ Ratchapoom Boonbunchachoke) เราเคยเขียนถึงหนังเรื่องนี้ไว้แล้วที่นี่

8.TAPROBANA (2014, Gabriel Abrantes, Portugal)

เป็นหนังเสียสติในแบบที่เราชอบมากๆ ตัวละครในเรื่องทำแร่ดร่าน ทำพฤติกรรมบ้าๆบอๆ เกิดเหตุการณ์เหี้ยห่าจัญไรที่กู่ไม่กลับอีกต่อไป มันเป็นหนังที่ให้อารมณ์ใกล้เคียงกับหนังของ Carmelo Bene, Alejandro Jodorowsky, Werner Schroeter, Ulrike Ottinger และ Joaquim Pedro de Andrade

TAPROBANA ถือเป็นหนังสั้นต่างชาติที่เราชอบมากที่สุดในปีนี้ ส่วนอันดับสองเป็นของ THE KARMAN LINE (2014, Oscar Sharp) และอันดับสามเป็นของ WARS (2001, Josef Dabernig)

9.TNT (2006, Robert Vater, Germany)

ดูแล้วฮามาก อันนี้เป็น video installation ที่นำเสนอพฤติกรรมประหลาดๆของชายหญิงคู่นึง เราดูแล้วรู้สึกเหมือนกับว่าชายหญิงคู่นี้เป็นสามีภรรยาที่เหมือนกำลังจะเลิกกันน่ะ แล้วก็แสดงอากัปกิริยาอะไรบางอย่างต่อกัน คือวิดีโอชิ้นนี้เหมือนเป็นการเล่นกับอากัปกิริยาและปฏิกิริยาที่ผู้ชายกับผู้หญิงมักทำต่อกัน โดยการที่วิดีโอชิ้นนี้ focus ไปที่อากัปกิริยา โดยไม่มีเนื้อเรื่อง มันก็เลยทำให้อากัปกิริยาพวกนี้ดูเด่นชัดขึ้นมาแล้วดูตลกมากๆ

ยกตัวอย่างเช่นการที่ผู้หญิงเปิดประตู ทำเหมือนจะเดินออกจากห้อง แล้วทิ้งผู้ชายในห้องไป แต่จริงๆแล้วเธอทำมันอย่างอิดๆออดๆเพราะหวังว่าผู้ชายจะรั้งเธอไว้ คือในหนังปกติ เราจะมองว่ากิริยา “อิดๆออดๆ” นี่เป็นเรื่องปกติ เป็นแค่ส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่อง ขณะที่เนื้อเรื่องพุ่งตรงไปข้างหน้า แต่ในวิดีโอชิ้นนี้ กิริยา “อิดๆออดๆ” นี้มันถูกโฟกัสน่ะ คนดูต้องเพ่งความสนใจไปที่อากัปกิริยานี้ แล้วมันก็เลยดูตลกมากๆ แล้วมันก็เลยทำให้ได้คิดว่า อ๋อ ผู้หญิงมักจะทำมารยาท่วงท่าลีลาต่างๆแบบนี้ใส่ผู้ชายนี่เอง และผู้ชายก็มักจะวางมาด วางก้าม วางท่าไม่ใส่ใจ ทำตัวขึงขังต่อหน้าผู้หญิงแบบนี้นี่เอง คือในแง่นึงวิดีโอชิ้นนี้มันทำให้เราได้มุ่งความสนใจไปที่อากัปกิริยาบางอย่างของมนุษย์ที่เรามักจะมองข้ามทั้งในชีวิตจริงและในภาพยนตร์น่ะ

หนังเรื่องนี้มีช่วงที่ทำให้นึกถึง “ภาษาที่เธอไม่เข้าใจ” ของวชร กัณหาด้วย เพราะในที่สุดแล้ว ผู้ชายกับผู้หญิงคู่นี้ก็เหมือนจะพูดจาคนละภาษากัน เหมือนผู้ชายจะพูดภาษา “ฮึ่ม ฮึ่ม” ส่วนผู้หญิงก็จะพูดภาษา “แกว๊ก แกว๊ก”  แล้วก็สื่อสารกันไม่ได้อีกต่อไป

ส่วน video installation ที่เราชอบมากเป็นอันดับสองของปีนี้คือ ICH TANK (2003, David Larcher)  และอันดับสามเป็น YOU WOULD COME BACK THERE TO SEE ME AGAIN TOMORROW (2013, Tsuda Michiko)

10.WEATHERBEATEN MELODY (1943, Hans Fischerkoesen, Germany, animation)
ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่

อันนี้เป็นอะนิเมชั่นที่เราชอบมากที่สุดในปีนี้ คือเราเป็นคนที่ชอบหนังที่พูดถึงคนธรรมดา, ชีวิตประจำวัน และอะไรสามัญธรรมดาน่ะ และเราก็ว่าอะนิเมชั่นเรื่องนี้มันให้อารมณ์แบบเดียวกัน เพราะมันพูดถึงแมลงตัวเล็กตัวน้อยนานาพันธุ์ที่ร่วมกันขับเสียงเพลงในท้องทุ่งแห่งนึง คือการที่หนังเรื่องนี้โฟกัสไปที่แมลงตัวเล็กตัวน้อยหลากหลายประเภทในท้องทุ่ง มันก็เหมือนเป็นการโฟกัสไปที่อะไรเล็กๆน้อยๆที่เรามักจะมองข้ามในชีวิตประจำวันเหมือนกันน่ะ มันก็เลยเข้าข่ายหนังกลุ่มที่เราชอบ

อีกปัจจัยนึงก็คือว่า เราว่าหนังเรื่องนี้มันมีมุมมองที่อ่อนโยน ละเอียดอ่อนยังไงไม่รู้ ดูแล้วรู้สึกว่าคนที่ทำหนังแบบนี้ออกมาได้มันต้องเป็นคนที่มีความละเอียดอ่อนทางใจมากๆในระดับนึง จนแทบไม่น่าเชื่อว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังเยอรมันที่ผลิตออกมาในยุคที่นาซีเรืองอำนาจสูงสุดและมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้น

แต่เรายังไม่ได้อ่านประวัติผู้กำกับคนนี้นะ เราว่าเขาก็คงไม่ได้ชอบนาซีหรอก แต่เราก็สงสัยว่าคนที่น่าจะมีจิตใจละเอียดอ่อนแบบเขาจะรู้สึกอย่างไรบ้างที่ต้องทำงานในเยอรมนีในยุคนั้น

เราชอบเพลงประกอบของหนังเรื่องนี้มากๆด้วย และอีกปัจจัยนึงที่ทำให้เราชอบหนังเรื่องนี้มากๆ ก็คือว่า มันมีลักษณะบางอย่างที่คล้ายกับการ์ตูนฝรั่งที่เราได้ดูทางโทรทัศน์ตอนเด็กๆ หรือคล้ายกับหนังสือนิทานภาพที่เราได้อ่านตอนเป็นเด็กเล็กๆน่ะ

ส่วนอะนิเมชั่นที่เราชอบมากเป็นอันดับสองของปีนี้คือ SEVEN TIMES A DAY WE BEMOAN OUR LOT AND AT NIGHT WE GET UP TO AVOID OUR DREAMS (2013, Susann-Maria Hempel) ส่วนอันดับสามเป็นของ MAMAN (2013, Ugo Bienvenu + Kevin Manach)

ส่วนอันดับหนังเต็มๆแบบ 200 อันดับนี่ เดี๋ยวรอไปก่อนนะ เดี๋ยวเรากะจะเอาเวลาไปทำอันดับของปี 2010 ด้วย เพราะเรายังไม่ได้ทำอันดับหนังที่เราชอบของปี 2010 เลย

อันดับหนังที่เราชอบในปีเก่าๆ
1.My list of 2001 (BEAU TRAVAIL +  THE DEATH OF MARIA MALIBRAN)

2.My list of 2002 (BUNNY + BEFORE THE STORM)

3.My list of 2003 (DIVINE INTERVENTION)

4.My list of 2004 (BIRTH OF THE SEANEMA)

5.My list of 2005 (AFTERNOON TIME)

6.My list of 2006 (ANAT(T)A)

7.My list of 2007 (CRY IN SILENCE)

8.My list of 2008 (I-BE AREA and DANGER (DIRECTOR’S CUT))

9.My list of 2009 (I FORGOT THE TITLE + POLITICALLY LAWYER AND NARRATIVE CINEMA)

10.My list of 2011 (ZOETROPE + LEASTWAYS/MODERATE WAYS/EXTREME WAYS)

11.My list of 2012 (COMING ATTRACTIONS + I’M GONNA BE A NAIVE)

12. My list of 2013 (ECLIPSES + ความลำบากยากเย็นในช่วงชีวิตของนายบิว + GRINDHOUSE FOR UTOPIA)

13.My list of 100 most favorite films of all time (made in 2009)

รูปจาก DREILEBEN – BEATS BEING DEAD



No comments: