Tuesday, May 05, 2015

BETWEEN (2015, Ben Busarakamwong + Nikorn Sae Tang, stage play, A+25)

BETWEEN (2015, Ben Busarakamwong + Nikorn Sae Tang, stage play, A+25)
ระยะใกล้อันเวิ้งว้าง


เราได้ดูแค่รอบเดียวนะ นั่นก็คือเหมือนเราได้ดูเพียงแค่ครึ่งเดียวของละครเรื่องนี้เท่านั้น ส่วนความรู้สึกของเราที่มีต่อละครเรื่องนี้มีดังต่อไปนี้

1.ละครอาจจะพูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์นะ แต่ตอนที่เราดูเราจะนึกถึงประเด็นสองประเด็นที่ละครเรื่องนี้อาจจะไม่ได้ตั้งใจพูดถึงด้วย เราก็เลยขอบันทึก “สิ่งที่ละครเรื่องนี้ไม่ได้ตั้งใจจะพูด แต่ทำให้เรานึกถึงโดยบังเอิญ” ก็แล้วกัน ซึ่งก็คือเรื่องจุดยืนทางการเมือง กับเรื่องความสัมพันธ์ทางเฟซบุ๊ค

ก่อนอื่นต้องขอย้ำว่าสองประเด็นนี้ไม่ใช่สิ่งที่ละครตั้งใจจะพูดนะ เพราะสิ่งที่เราคิดถึงต่อไปนี้มันไม่สามารถใช้อธิบายอะไรหลายๆอย่างในละครเรื่องนี้ได้ มันเป็นเพียงแค่บาง moment ในละครเท่านั้นที่ทำให้เรานึกถึงสองประเด็นนี้ขึ้นมาโดยบังเอิญ

ที่เรานึกถึงจุดยืนทางการเมืองขึ้นมาก็เป็นเพราะว่า ละครเรื่องนี้ให้เราตัดสินใจตั้งแต่ต้นเรื่องเลยว่า เราจะเลือกข้างไหน ซ้ายหรือขวา หรืออยู่ตรงกลาง (between) แต่ไม่ว่าคุณจะเลือกอยู่จุดไหน หรือวิ่งไปวิ่งมาเปลี่ยนจุดยืนไปมาตลอดเวลา คุณก็ไม่สามารถรับรู้เรื่องราวทั้งหมดได้อยู่ดี นอกจากว่าคุณจะดูสองรอบ เราก็เลยนึกถึงเรื่องจุดยืนทางการเมือง เราเลือกข้างตั้งแต่ในตอนแรก (ห้องเบญ) และในขณะที่เราเลือกข้าง เราก็เลือกได้อีกด้วยว่า เราจะอยู่ในจุดแบบ moderate หรือ extreme ทางความเชื่อนั้น เพราะมันมีบางจุดในห้องเบญที่เราจะเห็นแต่เบญ (มันเหมือนกับว่าจุดนั้นเป็นจุด extreme/radical เราจะบูชาแต่คนคนนี้เท่านั้น เราจะไม่สนใจอีกฝ่ายหนึ่งเป็นอันขาด) และมันมีบางจุดในห้องเบญที่เราจะมองข้ามไปเห็นห้องนิกรด้วย (มันเหมือนกับว่าจุดนั้นเป็นจุดของคนที่มีความคิดแบบ moderate ที่ไม่เอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแบบสุดขั้วมากเกินไป)

และแน่นอนว่าคนที่เลือกข้างแต่ละข้างหรือห้องแต่ละห้องแล้ว ย่อมรับรู้ข้อมูลต่างกัน ไม่ได้รับรู้ข้อมูลทั้งหมด และแต่ละคนจะมีความเข้าใจต่อเรื่องไม่ตรงกัน เพราะแต่ละคนจะอยู่ในจุดยืนที่แตกต่างกันตลอดเวลาเมื่อเนื้อเรื่องดำเนินไป และส่วนนี้ก็ทำให้เรานึกถึงการเลือกข้างทางการเมืองด้วย เพราะแต่ละขั้วการเมืองจะมีความเข้าใจไม่ตรงกันเลยต่อเรื่องๆเดียวกัน (หนังสั้นที่พูดถึงประเด็นนี้ได้ดีมากๆคือ “ภาษาที่เธอไม่เข้าใจ” (2014, Wachara Kanha))

ส่วนคนที่อยู่ตรงกลางเป็นหลักนั้น ก็จะได้เห็นความเคลื่อนไหวของทั้งสองฝ่าย แต่อาจจะไม่ได้ใกล้ชิดกับผู้นำของทั้งสองฝ่าย และจะอยู่ในฐานะที่ “วางตัวลำบาก” เพราะคนที่เข้าไปอยู่ในห้อง หรือคนที่เลือกข้างแล้ว จะมีที่นั่งเป็นหลักแหล่ง แต่คนที่เลือกที่จะอยู่ตรงกลางระหว่างทั้งสองห้อง จะไม่มีที่นั่งเป็นหลักแหล่ง และจะอยู่ในภาวะที่หวาดระแวงตลอดเวลาว่า กูจะไปเกะกะขวางทางใครหรือเปล่า กูจะไปขวางทางเดินนักแสดงหรือเปล่า กูควรจะขยับไปยืนตรงไหนดีเวลาการแสดงมันเคลื่อนมาตรงจุดนั้นตรงจุดนี้

ภาวะ “ลำบาก” ของการวางตัวเป็นกลาง หรือการมีจุดยืนแบบก้ำกึ่ง ถูกตอกย้ำด้วยฉากหนึ่งของละครเรื่องนี้ที่พูดถึงการเลือกสีห้องเป็น Dodger Blue ด้วย เพราะการเลือก “เฉดสี” ที่ไม่สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง มันสร้างความลำบากในการสื่อสารกับคนทั่วๆไป และจุดนี้มันทำให้เรานึกถึงเพื่อนเราหลายๆคน หรือแม้แต่ตัวเราเอง ที่ไม่อยากจะ label ตัวเองว่าอยู่ฝ่ายใด เพราะแต่ละฝ่ายหรือขั้วการเมืองต่างก็มีทั้งคนเหี้ยๆและคนดีๆอยู่ในขั้วการเมืองนั้น ฝ่าย “เสื้อแดง” เองก็อาจจะเรียกได้ว่ามีอย่างน้อย 40 เฉดสีของความเป็นเสื้อแดง จุดนี้ของละครเวทีก็เลยทำให้เรานึกถึงเรื่องการเมืองโดยที่ละครไม่ได้ตั้งใจเหมือนกัน

อีกจุดที่ชอบมากก็คือนอกจากตัวเราจะต้องเปลี่ยนจุดยืนไปมาในระหว่างการชมละครเวทีเรื่องนี้แล้ว นักแสดงสองคนก็เปลี่ยนจุดยืนไปมาตลอดเวลาด้วย บางทีนักแสดงทั้งสองก็ข้ามไปอยู่ด้วยกันในอีกห้องนึง บางทีนิกรก็มาแสดงเดี่ยวในห้องเบญ และบางทีทั้งสองก็ไปแสดงด้วยกันตรงกลาง

จุดนี้ก็ทำให้เรานึกถึงเรื่องการเมืองโดยไม่ได้ตั้งใจเหมือนกัน เพราะผู้นำทางการเมืองของบางขั้วการเมืองก็เอาแน่เอานอนไม่ได้ บางทีเขาก็ทำในสิ่งที่เราชื่นชม บางทีเขาก็ทำในสิ่งที่น่าคลางแคลงใจ และหลายทีเขาก็ทำในสิ่งที่น่าประณาม บางทีเราก็เห็นด้วยกับการประนีประนอมของเขา แต่บางทีเมื่อเขาประนีประนอมกับฝ่ายตรงข้ามมากไป เราก็ขอเลือกที่จะไม่ร่วมวงด้วยดีกว่า (เหมือนอย่างตอนที่เบญเข้าไปอยู่ในห้องนิกร แล้วเราตัดสินใจไม่ตามเข้าไป)

อีกจุดที่ชอบมากในละครเรื่องนี้ก็คือ เราต้องสังเกตตลอดเวลาด้วยว่า คนดูคนอื่นๆเลือกที่จะยืนอยู่ตรงจุดไหน เราควรจะแห่ตามเขาไป หรือว่าเราควรจะปักหลักในจุดยืนของเรา เราอยู่ในจุดที่ยืนบังสายตาคนอื่นหรือเปล่า เราควรจะนั่งลงเพื่อให้คนอื่นมองเห็นด้วยหรือเปล่า เราเกะกะขวางทางนักแสดงหรือเปล่า

จุดนี้มันทำให้นึกถึงประเด็นการเมืองในแง่ที่ว่า เวลาเกิดปัญหาแต่ละปัญหาขึ้นมา บางทีจุดยืนของเราก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆตามสถานการณ์และตามประเด็นแต่ละประเด็นน่ะ บางทีเราก็เห็นด้วยกับความเห็นของเพื่อนเราที่มีต่อประเด็น A แต่บางทีเราก็เห็นตรงข้ามกับเพื่อนเราในประเด็น B เราไม่สามารถคล้อยตามเพื่อนเราและผู้นำทางการเมืองขั้วเดียวกับเราได้ในทุกๆประเด็น คือละครเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา มีประเด็นปัญหาทางการเมืองใหม่ๆขึ้นมาให้ถกเถียงด่าทอกันได้ทุกสัปดาห์ และเราก็จะมีความเห็นแตกต่างกันไปต่อประเด็นแต่ละประเด็นน่ะ

ในขณะที่เราดูละครเรื่องนี้นั้น การที่เราต้องขบคิดตลอดเวลาว่าเราจะ position ตัวเองในจุดไหนในแต่ละสถานการณ์ โดยต้องสังเกต “ความเคลื่อนไหวของนักแสดง” และ “ความเคลื่อนไหวและจุดยืนของคนรอบข้าง” ไปพร้อมๆกันในแต่ละสถานการณ์ที่ไม่หยุดนิ่ง มันเป็นอีกจุดที่ทำให้เรานึกถึงเรื่องการวางตัวในแต่ละสถานการณ์ทางการเมืองน่ะ

แต่ถ้าหากเรามองละครเรื่องนี้โดยยึดประเด็นเรื่องการเมือง เราอาจจะอธิบายไม่ได้นะ ว่าทำไมบางทีนิกรถึงมาแสดงเดี่ยวในห้องเบญ แล้วเบญไปแสดงเดี่ยวในห้องนิกร แต่ก็นั่นแหละ คือที่เราเขียนมาไม่ใช่การตีความละครเรื่องนี้นะ มันเป็นแค่สิ่งที่ละครเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงโดยบังเอิญเท่านั้น

ส่วนเรานั้นพยายามปักหลักอยู่ห้องของเบญ แล้วก็ออกมาอยู่ตรงกลางบ้างเป็นบางช่วง เพราะจริงๆแล้วเรารู้สึกเหนื่อย+แก่+อ่อนแอทางร่างกายมากๆในปีนี้ เราขี้เกียจวิ่งไปวิ่งมา เราก็เลยพยายามไม่เคลื่อนไหวองคาพยพมากนักในการดูละครเรื่องนี้ เราก็เลยอาจจะรับรู้ข้อมูลในละครเรื่องนี้ได้ไม่มากเท่ากับผู้ชมคนอื่นๆที่ active วิ่งไปวิ่งมา และพยายามหาจุดยืนที่ดีที่สุดในแต่ละสถานการณ์ให้ได้

2.อีกประเด็นที่เรานึกถึงโดยบังเอิญ ก็คือเรื่องการสื่อสารทางเฟซบุ๊ค เพราะการปิดห้อง กันผู้ชมออกไป+กันคนนอกเข้ามา และการเปิดห้องในแต่ละครั้ง มันทำให้เรานึกถึง status ในเฟซบุ๊คที่เป็น friends only หรือ custom กับ status ที่เป็น public น่ะ มันเหมือนกับว่าเรามีคู่กรณีสองคน และเราต้องเลือกว่าจะเป็น friend กับคนไหน หรือว่าไม่เป็น friend กับทั้งสองคนเลย คือถ้าคุณเลือกที่จะไม่เป็น friend กับทั้งสองคนเลย คุณก็จะได้อ่านแต่ public status ของสองคนนี้เท่านั้น แต่ถ้าคุณเลือกที่จะเป็น friend กับเบญ คุณก็จะได้อ่าน status ที่เป็น friends only ของเบญด้วย แต่คุณจะไม่ได้อ่าน status ที่เป็น friends only ของนิกร

แต่การมองละครเรื่องนี้โดยนำไปเปรียบเทียบกับ facebook ก็อาจจะใช้อธิบายหลายๆอย่างในละครเรื่องนี้ไม่ได้นะ เราก็เลยไม่ได้คิดว่าละครเรื่องนี้ตั้งใจจะพูดถึง facebook เราแค่คิดว่าการปิดห้อง+เปิดห้องในละครเรื่องนี้ มันทำให้เรานึกถึงลักษณะการสื่อสารบางอย่างใน facebook โดยที่ละครเรื่องนี้ไม่ได้ตั้งใจ

3.ไม่ว่าละครเรื่องนี้จะพูดถึงอะไร เราก็ว่าละครเรื่องนี้มัน thought provoking ดีมากแหละ และมันไม่ได้ thought provoking แบบทำตัวซีเรียสด้วยนะ มันทำตัวสบายๆเล่าเรื่องที่ดูเหมือนชิลล์ๆไปเรื่อยๆ คือทำตัว low intensity มากพอสมควรน่ะ และเราก็ชอบลักษณะแบบนี้

ศัพท์ low intensity นี่เราคิดขึ้นมาเองเป็นการเฉพาะกิจนะ คือละครเวทีและหนังทั่วๆไปมันจะเล่าเรื่องที่เน้นไปที่ conflict และความขัดแย้งก็ทวีความตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆจนถึงจุดระเบิดในฉากไคลแมกซ์ แต่มันจะมีละครเวทีและหนังบางเรื่อง อย่างเช่นละครเวทีของวิชย อาทมาทและหนังอย่าง DILLINGER IS DEAD (1969, Marco Ferreri) หรือ THE SWAMP (2001, Lucrecia Martel) ที่เหมือนนำเสนอฉากที่แทบไม่มี conflict อะไรเลยไปเรื่อยๆ แต่จริงๆแล้วมันอาจจะแอบหยอดอะไรไว้นิดๆหน่อยๆ ก่อนจะมาถึงจุดที่คนดูต้องตบเข่าฉาดในตอนจบ เราไม่รู้เหมือนกันว่าหนังประเภทนี้เขาเรียกว่าอะไร เราก็เลยขอเรียกลักษณะหนัง/ละครเวทีแบบนี้ว่า low intensity ไปก่อนแล้วกัน แต่บางทีเขาอาจจะเรียกหนังประเภทนี้ว่า slow burning ก็ได้นะ เราไม่แน่ใจเหมือนกัน

4.สรุปว่าชอบมาก ละครมี concept ที่น่าสนใจมาก ละครอาจจะพูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์ก็จริง แต่เราชอบที่ละครเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงประเด็นอื่นๆโดยที่ละครไม่ได้ตั้งใจด้วย



No comments: