Saturday, May 02, 2015

1971 (2014, Johanna Hamilton, documentary, A+15)

1971 (2014, Johanna Hamilton, documentary, A+15)

--เราว่าหนังเรื่องนี้สร้างความสนุกได้พอสมควรในระหว่างที่ดูนะ คือเราว่ามันเล่าเหตุการณ์ได้ดีน่ะ ก็เลยสร้าง suspense หรือความลุ้นได้บ้างในระดับนึงในขณะที่ดู คือถ้ามันเล่าไม่ดี มันจะกลายเป็นอะไรที่น่าเบื่อมากๆได้

--ชอบความเป็นคนธรรมดาของคนในหนังเรื่องนี้นะ คือเราว่าคนในหนังเรื่องนี้มีทั้งลักษณะของความเป็นคนธรรมดาและ activist อยู่ในตัวคนๆเดียวกัน เราก็เลยรู้สึกเชื่อมโยงกับคนในหนังเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้น คือถ้าหากเราได้เห็นคนพวกนี้เฉพาะในช่วงทศวรรษ 1970 เราอาจจะไม่รู้สึกเชื่อมโยงกับเขามากนัก เพราะเราไม่มีความเป็น activist อยู่ในตัวน่ะ แต่การที่เราได้เห็นคนเหล่านี้ในยุคปัจจุบัน เห็นว่าพวกเขาก็เป็นเหมือนชาวบ้านธรรมดาๆคนนึง และเห็นว่าพวกเขาบางคนแทบไม่ได้เคลื่อนไหวอะไรเลยหลังจากทศวรรษ 1970 มันก็เลยทำให้เราสนใจคนเหล่านี้ในแง่ “ความเป็นคนธรรมดา” ของพวกเขา

คือเราว่าหนังโดยทั่วไปจะเล่าเรื่องของคนที่ทำอะไรรุนแรงกว่านี้, active กว่านี้ หรือมีความพิเศษกว่าคนธรรมดาทั่วไปมากกว่าคนกลุ่มนี้น่ะ พอหนังเรื่องนี้ไปเจาะที่กลุ่มคนที่เคยทำอะไรพิเศษเพียงแค่ครั้งเดียวในชีวิต และจริงๆแล้วเหตุการณ์ที่พวกเขาทำก็ไม่ได้โด่งดังมากนัก (เพราะเราไม่เคยได้ยินเหตุการณ์นี้มาก่อนเลย) เราก็เลยชอบที่หนังให้ความสนใจกับ “กลุ่มคนที่ค่อนข้างจะธรรมดา” กลุ่มนี้

คือจริงๆแล้วพวกเขาก็ไม่ใช่คนธรรมดานะ แต่เพียงแค่ว่ามันดูธรรมดากว่า “พระเอกในหนังทั่วไป” น่ะ

ถ้าเทียบง่ายๆก็คือว่า พอพูดถึงกลุ่มคนที่ active ในทศวรรษ 1960-1970 แล้ว เราจะนึกถึงตัวละครในหนังอย่าง THE COMPANY YOU KEEP (2012, Robert Redford), THE STATE I AM IN (2000, Christian Petzold), REGULAR LOVERS (2005, Philippe Garrel), MESSIDOR (1979, Alain Tanner), THE THIRD GENERATION (1979, Rainer Werner Fassbinder) และ THE BAADER MEINHOF COMPLEX (2008, Uli Edel) น่ะ ซึ่งตัวละครเหล่านี้มันจะดูเจ็บปวดกว่า, ทุกข์ทรมานกว่า, ได้รับบาดแผลจากการกระทำของตัวเองและจากสังคมมากกว่า, โรแมนติกกว่า, บ้าคลั่งกว่า หรือกู่ไม่กลับมากกว่า “คนธรรมดา” ใน 1971

--มันก็เลยเหมือนกับว่า เหตุการณ์ในปี 1971 เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ไม่กี่ครั้งในชีวิตที่พวกเขาได้ฉายแสงของตัวเองอย่างเต็มที่น่ะ ก่อนที่พวกเขาจะกลับมาใช้ชีวิตเป็นคนธรรมดาต่อไป มันเหมือนกับนักร้องที่เคยมีเพลงขึ้นอันดับ 1 ในชาร์ทเพียงแค่เพลงเดียว แล้วก็ค่อยๆ fade away ออกจากวงการ หรือผู้กำกับหนังที่ทำหนังดังเพียงแค่เรื่องเดียว แล้วก็หันไปทำงานขายเฟอร์นิเจอร์ คือเราชอบแง่มุมนี้ของหนังน่ะ มันเหมือนเป็น  “ชะตาชีวิต” ของคนหลายๆคน คนที่ไม่ได้เกิดมาเพื่อที่จะเป็นคนดัง มีชื่อจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์ แต่เป็นคนที่ได้ลุกขึ้นมา “เปล่งประกาย” สักครั้งสองครั้งในชีวิต ได้มี “ความภาคภูมิใจเล็กๆ” เป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจที่ชาวโลกอาจจะไม่ได้ใส่ใจเลยด้วยซ้ำ กูภูมิใจในตัวกูเองก็พอแล้ว เราก็เลยเชื่อมโยงกับหนังได้มากๆในแง่นี้

--เทียบง่ายๆก็คือว่า เราว่าคนเหล่านี้เหมือนเป็น “ลูกน้องพระเอก” หรือเป็น “พระรอง” ในหนังทั่วไป มากกว่า “พระเอก” ในหนังทั่วไปน่ะ เราก็เลยชอบที่หนังให้ความสำคัญกับกลุ่มคนที่เราไม่เคยได้ยินชื่อหรือรับรู้มาก่อนกลุ่มนี้

--อีกจุดที่ชอบมาก คือการได้เห็นการคานอำนาจกันระหว่าง FBI, ประชาชน, สื่อมวลชน, สมาชิกสภาคองเกรส และตุลาการน่ะ เราว่าการทำงานของระบบพวกนี้มันน่าสนใจมากๆ และมันดีที่เหมือนไม่มีใครมีอำนาจสูงสุด เพราะแต่ละสถาบันมันทำงานตรวจสอบกันได้ ตบกันได้ คานอำนาจกันได้

--จุดนึงที่น่าสนใจมากๆก็คือการที่ FBI บางคนยอมรับในเอกสารว่า พวกเขาทำร้าย activists  ด้วยการปล่อยข่าวลือว่า เมียของ activist คนนี้มีชู้ จนครอบครัวของ activists ต้องหย่าขาดจากกัน คือมันเป็นการกระทำของ FBI ที่เหี้ยมากๆ และมันก็ทำให้เราต้องตั้งคำถามว่า ข่าวลือต่างๆที่แพร่อยู่ในสังคมทุกวันนี้ มันก็เป็นแบบเดียวกันหรือเปล่า สังคมไทยทุกวันนี้ มีการแพร่ข่าวลือแบบนี้ เพื่อทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองหรือเปล่า ซึ่งเราว่ามี (เพราะฉะนั้นถ้าหากใครได้ยินข่าวว่าเราร่าน ก็อย่าได้เชื่อนะคะ มันเป็นศัตรูทางการเมืองปล่อยข่าวลือมาค่ะ)

--หนังอาจจะไม่ได้ตั้งใจในจุดนี้นะ แต่เราว่าหนังมันสอดคล้องกับความเชื่อของเราที่ให้มองอะไรหลายๆอย่างเป็นสีเทาน่ะ ทั้ง FBI และสหรัฐ คือ FBI ในหนังเรื่องนี้อาจจะดูเลวร้าย แต่หนังก็พูดถึงการที่ FBI ส่งคนไปเป็นสายลับใน KLU KLUX KLAN ด้วย ซึ่งในความเห็นส่วนตัวของเราแล้วสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องและควรกระทำ (ควรดูหนังเรื่อง BETRAYED ของ Costa-Gavras ประกอบ) และเราก็ชอบระบบการคานอำนาจกันของสถาบันต่างๆในสหรัฐในหนังเรื่องนี้ แต่เราไม่ได้มองว่าสหรัฐเป็นสีขาวหรือสีดำนะ เรามองว่ามันเป็นสีเทา มันมีทั้งส่วนที่น่าเอาอย่างและส่วนที่ไม่ควรเอาอย่าง

--ดู 1971 แล้ว ทำให้อยากหาหนังอีกหลายๆเรื่องมาดูประกอบ เพราะเราว่ามันมีความเชื่อมโยงกันในแง่กลุ่มหัวรุนแรงในยุคนั้น อย่างเช่นเรื่อง

1.THE CAMDEN 28 (2007, Anthony Giacchino, documentary)

2.THE WEATHER UNDERGROUND (2002, Sam Green + Bill Siegel, documentary)

3.PATTY HEARST (1988, Paul Schrader)

4.SOMETHING IN THE AIR (2012, Olivier Assayas)

5.THE SECOND TIME (1995, Mimmo Calopresti, Italy)

--สรุปว่าชอบ 1971 มากพอสมควร หนังอาจจะไม่มีอะไรมาก แต่มันช่วยตอกย้ำกับเราได้ดีว่า คนธรรมดาทุกๆคนมี “พลังงานศักย์” อะไรบางอย่างซ่อนอยู่ในตัว และสถานการณ์บางอย่างมันอาจจะส่งผลให้คนธรรมดาบางคนแปรเปลี่ยนพลังงานศักย์ในตัวให้กลายเป็น “แสงสว่าง” ขึ้นมาได้ แม้จะเป็นเพียงชั่วครู่ชั่วยามก็ตาม

พอดูหนังเรื่องนี้แล้วเราก็คิดต่อไปว่า สถานการณ์ในสหรัฐในตอนนั้นมันไม่เลวร้ายมากนักด้วยแหละ สื่อมวลชนมันยังทำงานของมันได้ สมาชิกสภาคองเกรสก็มาจากประชาชน ไม่ต้องสยบให้กับ FBI สถาบันตุลาการก็ไม่ต้องสยบให้กับ FBI แล้วในที่สุดสหรัฐก็ต้องยอมแพ้ในสงครามเวียดนามไป เพราะฉะนั้น ในเมื่อสถานการณ์ในสหรัฐในตอนนั้นมันไม่เลวร้ายมากนัก บุคคลต่างๆในหนังเรื่องนี้ ก็เลยแปรเปลี่ยนพลังงานศักย์ของตนเองให้กลายเป็นแสงสว่างเพียงชั่วคราวเท่านั้น

แต่ถ้าหากเป็นในประเทศอื่นๆ สถานการณ์อื่นๆ ที่มันเลวร้ายกว่านี้มาก มีรัฐบาลเผด็จการที่กดขี่มากๆ สื่อมวลชนรายงานความจริงไม่ได้ สมาชิกรัฐสภาไม่ได้มาจากประชาชน ตุลาการก็อยู่ฝ่ายเดียวกับเผด็จการ หรือประชาชนบางกลุ่มถูกกดเป็นคนชั้นสองของประเทศ เราว่าสถานการณ์แบบนี้มันคงไม่ได้กระตุ้นให้คนธรรมดาบางคนเปลี่ยนพลังงานศักย์ในตัวเองให้กลายเป็นแสงสว่าง แต่มันอาจจะทำให้คนธรรมดาบางคนเปลี่ยนพลังงานศักย์ในตัวเองให้กลายเป็นพลังงานนิวเคลียร์ซะล่ะมากกว่า คือยิ่งกดดันมากเท่าไหร่ พลังงานก็ยิ่งถูกแปรเปลี่ยนมากเท่านั้น

คือพอเราดู 1971 แล้วเราก็ตั้งคำถามว่า ถ้าหากกลุ่มคนใน 1971 ไปเกิดในปาเลสไตน์ แทนที่จะเกิดในสหรัฐ พวกเขาจะทำอย่างไร พวกเขาจะกลายเป็นมือระเบิดพลีชีพเหมือนอย่างในหนังเรื่อง PARADISE NOW (2005, Hany Abu-Assad) หรือเปล่า เราก็ไม่รู้เหมือนกัน

ดูรอบฉายหนังเรื่องนี้ได้ที่นี่




No comments: