Tuesday, July 19, 2016

CORE NANG 2016

THE RETURN (2016, Patiparn Amorntipparat, 45min, A+30)

1.ชอบความพิศวงของหนัง ดูจบแล้วก็ยังไม่แน่ใจว่าหนังต้องการจะสื่ออะไร 555 เรื่องราวของพ่อที่ฟื้นคืนชีพในเรื่องนี้เป็นสัญลักษณ์หรือว่าเป็น allegory แทนอะไรหรือไม่ หรือว่าไม่มีความหมายใดๆแอบแฝง

2.ดูแล้วนึกถึง CEMETERY OF SPLENDOUR (2015, Apichatpong Weerasethakul) และหนังของจักรวาล นิลธำรงค์ ซึ่งอาจจะมีอิทธิพลโดยตรงต่อ THE RETURN และนึกถึงหนังเรื่อง BODY CRITICISM กายวิพากษ์ (2009, Chaiwat Wiansantia) ที่มีฉากหลอดไฟ กับหนังเรื่อง THE RETURN (2008, Tulapop Saenjaroen) ที่พูดถึงพ่อที่ตายไปแล้วด้วย แต่คิดว่า THE RETURN ของปฏิภาณคงไม่ได้รับอิทธิพลมาจากหนังของ Chaiwat Wiansantia และ Tulapop Saenjaroen แต่อย่างใด

3.การตั้งกล้องนิ่งๆนานๆ และการถ่ายตัวละครในระยะห่างๆแบบนี้ ทำให้นึกถึงหนังของ Lav Diaz ด้วยเหมือนกัน 

4.จริงๆแล้วก็ชอบหนังของปฏิภาณทุกเรื่องเท่าที่ได้ดูมา แต่เรารู้สึกว่า หนังเรื่อง บ้าน” (2014) กับ INTERVIEW ถาม-ตอบ (2014) ของเขา เป็นเหมือนหนังที่พูดกับเราด้วยน้ำเสียงเป็นกันเองน่ะ เหมือนผู้พูดแสดงความรู้สึกออกมาอย่างจริงใจให้เพื่อนๆฟัง ในขณะที่หนังเรื่อง MIRROR (2015) และหนังเรื่อง THE RETURN ก็เป็นหนังที่ดี แต่มันเหมือนกับเป็นการพูดจาอย่างเป็นทางการให้อาจารย์หรือลูกค้าฟัง แทนที่จะเป็นการพูดจากับเพื่อนๆอย่างสนิทสนมเหมือนอย่าง บ้านและ INTERVIEW

5.ชอบความรู้สึก ชืดชาที่มีต่อการฟื้นคืนชีพของพ่อในหนังเรื่องนี้ เพราะมันช่วยสร้าง ความหลากหลายได้ดี และมันช่วยแสดงให้เห็นว่าครอบครัวแต่ละครอบครัวมันไม่เหมือนกัน เพราะก่อนหน้านี้เพิ่งได้ดูหนังสั้นบางเรื่องที่นำเสนอการกลับมาของวิญญาณพ่อในแบบซาบซึ้งประทับใจ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ดีที่มันมีหนังสั้นไทยออกมาทั้งสองแบบ แทนที่จะมีแต่เพียงแบบใดแบบหนึ่ง

INACTION (2016, Verapath Pakayangkul, 45min, A+20)

รู้สึกว่าหนังถ่ายทอดความทุกข์ใจ ความอึดอัดคับข้องทรมานใจของตัวละครเอกออกมาได้ดีพอสมควร ก็เลยชอบมันมากๆในระดับนึง แต่คิดว่าการพูดสรุปธีมในตอนจบของเรื่องมันฟังดูตลกๆ

P.O.V. มุม (2016, Thitimon Sinorat, A+20)

สิ่งที่ชอบมากใน P.O.V. และ INACTION ก็คือการถ่ายทอดความทุกข์ใจของชายในวัยกลางคน อาจจะเป็นเพราะเราก็อยู่ในวัยกลางคนเหมือนกันด้วยมั้ง ก็เลยทำให้อินกับตัวละครเอกในหนังสองเรื่องนี้ในระดับนึง และโดยปกติแล้วเรามักจะอินกับตัวละครที่ประสบปัญหาทางการเงินแบบในหนังเรื่อง P.O.V. ด้วย 555

แต่เหมือน P.O.V. จะทรงพลังน้อยกว่า INACTION หน่อยนึงนะ สาเหตุเป็นเพราะว่า P.O.V. เล่าทั้งเรื่องของพ่อและเรืองของลูกชาย และไม่สามารถเค้นความทุกข์ของตัวละครให้ออกมาได้ทรงพลังเท่ากับ INACTION น่ะ เหมือนกับว่า INACTION นำเสนอความทุกข์ของตัวละครพ่อออกมาได้ 9 หน่วย ส่วน P.O.V. นำเสนอความทุกข์ของตัวละครพ่อออกมาได้ 5 หน่วย และนำเสนอความรู้สึกของลูกชายออกมาได้ 3 หน่วย มันก็เลยไม่ทรงพลังเท่า INACTION

ปัญหาพ่อ-ลูกชายใน P.O.V. ก็น่าสนใจดีนะ แต่ดูแล้วแอบคิดถึงหนังสั้นไทยเรื่อง OLDS (2014, Watcharapol Seangarunroj) ที่มีตัวละครประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน แต่ OLDS มีวิธีการนำเสนอที่ดูมีชั้นเชิงน่าสนใจกว่ามาก และสามารถสร้างอารมณ์สะเทือนใจได้รุนแรงกว่ามาก

SOLAR BOY (2016, Nattapong Pipattanasub, 35min, A+15)

1.คิดว่าถ้าหากหนังเรื่องนี้ฉายเมื่อ 10-15 ปีก่อน มันจะดู ธรรมดามากกว่านี้เยอะ เพราะเหมือนอารมณ์ฮาๆบ๊องๆแบบนี้เป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปจนอาจจะกลายเป็นน่าเบื่อในหนังนักศึกษาไทยเมื่อ 10-15 ปีก่อน แต่พอหนังเรื่องนี้มาฉายในงาน core หนังปีนี้ มันก็เลยกลายเป็นหนังที่โดดเด่นขึ้นมาในทันที เพราะอารมณ์ของมันแตกต่างจากหนังเรื่องอื่นๆอย่างชัดเจน

2.ชอบการใช้โลเกชั่นเป็นร้านขายโคมไฟมากๆ มันดูแปลกตาดี ไม่ค่อยเห็นในหนังเรื่องอื่นๆ 

3.เหมือนหนังเรื่องนี้เป็น ตัวอย่างสำหรับนำไปเสนอนายทุนเพื่อสร้างเป็นหนังใหญ่นะ เพราะเราว่าโครงเรื่อง, ไอเดีย หรือพล็อตหลักมันดี แต่มันขาดรายละเอียดที่จะช่วยสร้างความสนุกความบันเทิงในระหว่างทางน่ะ มันเหมือนกับว่าถ้าหนังเรื่องนี้มันจะดีจริงๆ มันต้องมีวายร้ายที่น่ากลัวกว่านี้ กำจัดยากกว่านี้ ตัวละครต้องเผชิญอุปสรรคเยอะกว่านี้ มีตัวประกอบเหี้ยๆห่าๆมาช่วยสร้างความชิบหายๆมากกว่านี้ ในกรณีที่หนังเรื่องนี้ต้องการจะพัฒนาเป็นหนังใหญ่นะ

4.แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่า หนังเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการจะเป็น หนังแอคชั่นที่เน้นสร้างความสนุกลุ้นระทึกอยู่แล้วน่ะ แต่เหมือนเป็นหนังที่ต้องการนำเสนอความชราภาพของ superhero คนนึงและปัญหาต่างๆในชีวิตเขามากกว่า และต้องการสร้างอารมณ์ dramatic สะเทือนใจหรืออะไรทำนองนั้นด้วย ซึ่งนี่เป็นจุดประสงค์ที่ดี แต่ดูเหมือนหนังเรื่องนี้ก็ยังทำจุดนี้ได้ไม่สำเร็จเท่าที่ควร 

5.เราก็เลยมองว่า หนังเรื่องนี้มีไอเดียที่น่าสนใจ, ทำได้ ดีในระดับนึงในด้านความ drama แต่ในด้านความสนุกนั้น หนังเรื่องนี้ทำได้แค่ในระดับปานกลางเท่านั้น

6.อย่างไรก็ดี เราว่าหนังเรื่องนี้จัดอยู่ในกลุ่มหนังที่น่าสนใจนะ นั่นก็คือกลุ่มหนัง ปัญหาชีวิตของ superhero ซึ่งเป็นอะไรที่พบได้น้อยมาก เท่าที่เรานึกออก หนังในกลุ่มนี้ก็อาจจะรวมถึงหนังอย่าง เรื่องน้ำเน่าของแพรว” (2008, Janenarong Sirimaha), THE WEDDING OF PROUD (2015, Janenarong Sirimaha), THE FUCKING LIFE (2014, Karan Wongprakarnsanti), VINCENT (2014, Thomas Salvador) และ ONE OF A KIND (2013, François Dupeyron)

BE A PAST (2016, Weerasu Worrapot, 35min, A+15)

1.รู้สึกว่าตัวละครคุณแม่ในหนังเรื่องนี้เป็นตัวละครประเภทที่ปกติแล้วจะเข้าทางเราอย่างสุดๆ เพราะเธอเป็นผู้หญิงวัยกลางคนที่ยังคงมีความต้องการทางเพศ หรือต้องการความรักอยู่ นอกจากนี้ เธอยังมีปัญหาชีวิตอื่นๆ อย่างเช่นการตกงาน, การเลี้ยงลูกด้วย และหนังเรื่องนี้ก็นำเสนอปัญหาชีวิตต่างๆของตัวละครตัวนี้ออกมาได้ดีในระดับนึงด้วย โดยหลีกเลี่ยงการนำเสนอในแบบฟูมฟาย หรือแบบเร้าอารมณ์มากเกินคว

2.แต่ไปๆมาๆแล้ว เรากลับไม่อินกับตัวละครนำหญิงทั้งสองตัวในหนังเรื่องนี้มากเท่าที่ควร ทั้งๆที่โดยปกติแล้ว ตัวละครหญิงทั้งสองตัวนี้มันเอื้อให้เรา identify ด้วยมากๆ ทั้งตัวคุณแม่ที่ยังคง want ผู้ชาย และตัวคุณลูกที่ก็ want ผู้ชายเหมือนกัน

เราเดาว่าปัญหาที่เรามีกับหนังเรื่องนี้มันคือปัญหาเดียวกับที่เรามีกับหนังหลายๆเรื่องของ Yasujiro Ozu น่ะ นั่นก็คือมันไม่ใช่ความผิดของตัวหนังที่เราไม่อินกับมัน แต่มันเป็นเพราะว่าเรามักจะอินกับหนังที่นำเสนอความปรารถนาทางเพศของตัวละครหญิงออกมาได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะหนังของ Mikio Naruse และหนังของ Nagisa Oshima แต่เราไม่เจอ ความปรารถนาทางเพศอย่างแรงกล้าในตัวละครหญิงในหนังของ Ozu ที่เราได้ดู และเราก็สัมผัสสิ่งนี้ไม่ได้ในหนังเรื่องBE A PAST นี้ด้วย คือมันเหมือนกับว่าตัวละครหญิงทั้งสองตัวใน BE A PAST มันมีความปรารถนาทางเพศ แต่หนังไม่ทำให้เรารู้สึกถึงสิ่งนี้ได้น่ะ เราก็เลยไม่อินไปกับมัน 

3.มันมีตัวเปรียบเทียบด้วยแหละ คือขณะที่ดู BE A PAST เราจะนึกถึงหนังสองเรื่อง ซึ่งก็คือ DON’T WORRY, BE HAPPY (2015, Anuwat Amnajkasem) ที่มีตัวละครคุณแม่ที่มีแรงผลักดันทางเพศเหมือนกัน และหนังเรื่อง BE WITH ME (2015, สุพิชญา ศรีทอง) ที่มีตัวละครหญิงสาวที่ want ครูสอนดนตรีอย่างรุนแรงมากเหมือนกัน และเราอินกับตัวละครสองตัวนี้อย่างสุดๆ 

4.แต่ก็ไม่ใช่ความผิดของ BE A PAST หรือหนังของ Yasujiro Ozu นะ ที่ไม่ทำให้เราอิน 555 เราเพียงแค่จะบอกว่าเราไม่อินเพราะสาเหตุอะไรเท่านั้นเอง ส่วนการที่หนังพยายามนำเสนอความรักความผูกพันระหว่างแม่กับลูกสาวนั้น มันเป็นสิ่งที่เรามักจะไม่อินโดยปกติอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราก็เลยไม่ได้คาดหวังอะไรจากจุดนี้ของหนัง


GRANDPA (2016, Weerapat Tembundit, A+15)

1.ชอบ cinematography ของหนังเรื่องนี้

2.ชอบประเด็นเรื่องคนที่ไม่ได้เป็นครอบครัวเดียวกัน แต่มาผูกพันกันเหมือนคนในครอบครัวเดียวกันนะ คือเราจะอินกับประเด็นนี้เป็นการส่วนตัวน่ะ เพราะเราไม่ชอบ การผูกพันกันทางสายเลือดเพราะฉะนั้นการที่ตัวละครนำสองตัวในหนังเรื่องนี้ เลือกที่จะผูกพันกันเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกันทั้งๆที่ไม่ได้มีสายเลือดเดียวกัน ก็เลยเป็นสิ่งที่เราชอบมากๆ

แต่หนังก็ยังถ่ายทอดจุดนี้ได้ไม่ซึ้งแบบสุดๆเท่าไหร่นะ

3.เข้าใจว่านางเอกเลือกที่จะผูกพันกับคนแก่ในหนังเรื่องนี้ เพื่อทดแทนคนแก่คนนึงที่นางเอกสูญเสียไปในฉากเปิดเรื่อง เราชอบที่หนังเหมือนนำเสนอปมในใจนางเอกในระดับที่พอดีๆน่ะ โดยมีการบอกเพียงเล็กน้อย ไม่ต้องบอกชัดเกินไป

DRAFT จากนี้...ตลอดไป (2016, Witchayut Suthiranart, 53min, A+15)

1.มีความพยายามดีมาก เพราะเรารู้สึกว่าการสร้างหนังเพลงในไทยไม่ใช่เรื่องง่าย (แต่คงเป็นเรื่องง่ายถ้าหากเป็นหนังอินเดีย) ผู้สร้างต้องพยายามหนักกว่าปกติเพื่อจะสร้างหนังเพลงออกมา ต้องตั้งใจทำทั้งการคิดคำร้อง, ทำนอง และการออกแบบการเคลื่อนไหวของตัวละครและกล้องในแต่ละฉาก และเรารู้สึกว่าผู้สร้างหนังเรื่องนี้มีความพยายามสูงมาก

2.แต่เราไม่ใช่แฟนหนังเพลงน่ะ 555 นั่นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราไม่ชอบหนังเรื่องนี้มากนัก จริงๆแล้วเนื้อหาของหนังเรื่องนี้อาจจะเทียบได้กับหนังรัก 3 เส้าอย่าง WE WISH วันที่ไม่มีเรา (2014, Surawee Woraphot) นะ แต่ในขณะที่เราดู WE WISH แล้วร้องห่มร้องไห้อย่างรุนแรง เรากลับไม่ได้อินไปกับตัวละครใน DRAFT เท่าไหร่นัก ซึ่งนั่นคงเป็นเพราะว่าเราจูนติดกับวิธีการเล่าเรื่องแบบ WE WISH มากกว่า ในขณะที่สไตล์ของหนังเพลงเป็นสิ่งที่เราจูนไม่ค่อยติดเท่าไหร่

3.แต่ชอบตอนจบของ DRAFT มากๆ คือถ้ามันจบไปในอีกทางนึง เราคงชอบน้อยกว่านี้เยอะ แต่พอมันเลือกจบแบบนี้ เรารู้สึกว่า มัน จริงดี

CONVERSATION OF MARS (2016, Yollamon Thongrueng, A+15)

ชอบช่วงแรกมากๆ จนระดับความชอบมาหล่นลงในช่วงท้ายของหนังที่มันเฉลยว่าคือช่วงแรกของหนังเราจะนึกถึงหนังสั้นสองเรื่องรวมกัน ซึ่งก็คือเรื่อง THE DAY BEFORE REVOLUTION (2007, Pass Patthanakumjon) ที่เล่าเรื่องของชายหนุ่มสองคนที่เป็นเพื่อนกันคุยกันอย่างยืดยาวตลอดทั้งเรื่อง และหนังเรื่อง เพิ่งกลับจากดินแดนเวทมนตร์อันไกลแสนไกล” (2011, Pass Patthanakumjon) ที่ตัวละครหลักเหมือนกลับมาจากดินแดนลึกลับอะไรสักอย่าง และเสน่ห์ส่วนหนึ่งของหนังคือความคลุมเครือว่าตัวละครมันกลับมาจากไหน หรือมันหายไปไหนก่อนที่มันจะกลับมาในช่วงต้นเรื่อง

แต่พอ CONVERSATION OF MARS เฉลยอะไรบางอย่างในช่วงท้ายเรื่อง เสน่ห์ของความคลุมเครือมันก็เลยลดลงน่ะ 

DEAR SISTER (2016, Peeranat Rungchawannont, A+15)

ดูแล้วนึกถึงหนังสองเรื่อง ซึ่งก็คือ IF YOU’RE A BIRD, I’LL BE YOUR SKY (2015, Visuta Matanom) ที่เล่าเรื่องของนักเขียนที่มีอะไรหลอนๆหรือมีภาวะทางจิตที่ไม่น่าไว้วางใจเหมือนกัน กับหนังเรื่อง THE RING FINGER (2005, Diane Bertrand) ที่มันมีห้องปริศนาอยู่ในหนังเหมือนกัน และทั้ง THE RING FINGER กับ DEAR SISTER ต่างก็ไม่เฉลยในตอนจบว่า มันมีอะไรอยู่ในห้องนั้นกันแน่

แต่เราว่า DEAR SISTER มันขาดการสร้างบรรยากาศหลอนๆ หรือ tension บางอย่างที่เรามักจะพบในหนังจิตวิทยาทำนองนี้นะ คือตอนที่เราดู IF YOU’RE A BIRD, I’LL BE YOUR SKY เราว่ามันสร้างบรรยากาศหรือมู้ดได้ดีแบบหนังอย่าง ENEMY (2013, Denis Villeneuve) เลยน่ะ ส่วน THE RING FINGER นั้นมันก็กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของเราได้ดีตลอดทั้งเรื่อง ว่ามันมีอะไรอยู่ในห้องนั้นกันแน่ ถึงแม้เราจะไม่ได้รับคำตอบในตอนจบก็ตาม

ส่วน DEAR SISTER นั้น บรรยากาศหรือมู้ดมันไม่ค่อยมีเสน่ห์มากนักน่ะ และพอดูๆไป เราก็เริ่มไม่แคร์แล้วว่าน้องสาวมันมีตัวตนจริงหรือเปล่า เหมือนกับว่ามีจริงหรือไม่มีจริงมันก็ไม่สำคัญแล้ว 

FLY AWAY (2016, Suppachitta Visuttichaikit, A-)

เสียดายมากๆ เพราะปกติเราจะชอบหนังที่ตัวละครคุยกันตลอดทั้งเรื่อง แต่เราว่าบทสนทนาในหนังเรื่องนี้มันไม่โดนใจเราเลยน่ะ เหมือนมันเพ้ออะไรก็ไม่รู้ และพูดถึงแต่ในสิ่งที่เราไม่สนใจเลย

ถ้าหากจะพูดถึงหนังไทยที่ตัวละครคุยกันตลอดทั้งเรื่องแล้ว มันก็มีหนังที่เราชอบมากๆนะ อย่างเช่น ปฏิรัก UNCONSCIOUSNESS IN THE TIME OF CRISIS (2013, Jutha Saovabha) และคนละโลก THE OTHER WORLD (2007, Chutchon Ajanakitti) 

ขอแนะนำว่า ถ้าหากผู้กำกับคนไหนจะทำหนังเกี่ยวกับหนุ่มสาวคุยกันตลอดทั้งเรื่องให้เข้าทางเราแล้วล่ะก็ ก็ขอให้ดูหนังของ Eric Rohmer เป็นตัวอย่างจ้ะ โดยเฉพาะหนังอย่าง THE GREEN RAY (1986), FOUR ADVENTURES OF REINETTE AND MIRABELLE (1987), RENDEZVOUS IN PARIS (1995), หนัง 6 เรื่องในชุด SIX MORAL TALES, หนัง 6 เรื่องในชุด COMEDIES AND PROVERBS และหนัง 4 เรื่องในชุด TALES OF FOUR SEASONS

No comments: