AMSTERDAM (2016, Dith Tanasetvilai + Muangthai Jirawongnirandon,
A+30)
สิ่งที่ชอบมากในหนังเรื่องนี้ไม่ใช่เนื้อเรื่อง แต่เป็น texture ของภาพ
หรือสไตล์ของภาพ
เรารู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ให้ความสำคัญกับสไตล์ของภาพในทุกๆช็อตทุกๆซีน
มันมีการคิดออกแบบมาเป็นอย่างดี และสไตล์ของภาพที่เป็นฟิล์มขาวดำเก่าๆก็เข้ากับรสนิยมเรา
ส่วนเนื้อเรื่องแบบโรแมนติกของหนังก็ไม่ได้ถูกเล่าแบบ “เน้นเนื้อเรื่อง” แต่มันเหมือนหนังต้องการถ่ายทอด
“อารมณ์ความรู้สึก” ด้วยภาพเป็นหลัก แทนที่จะให้ความสำคัญกับการเล่าว่าใครทำอะไรที่ไหนเมื่อไรอย่างไร
จริงๆแล้วถ้าหากหนังเรื่องนี้ไปฉายในเทศกาลหนังทดลองที่เมืองนอก
มันอาจจะไม่ได้ดู “พิเศษ” แบบนี้ก็ได้นะ
แต่เรารู้สึกว่าการดูหนังเรื่องนี้ในเวลานี้สำหรับเรา มันทำให้หนังดู “พิเศษ” มากๆ
เพราะเราแทบไม่ได้เห็นหนังแบบนี้แล้วน่ะ ทั้งในงานฉายหนังของม.บูรพา, มศว.,
นิเทศจุฬา ก็ดูเหมือนไม่ค่อยมีหนังแบบนี้ออกมา
คือมันยังมีคนทำหนังทดลองดีๆอยู่หลายคนน่ะแหละ
แต่ส่วนใหญ่มันเป็นหนังทดลองที่ไม่ได้ออกมาแนวนี้ หนังอย่าง “วัฏจักรวาล” (2016, Patawee Emtanom) ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นหนังทดลองที่สุดยอดมากๆ
แต่มันก็เป็นหนังที่มีความแข็งแรงที่ “ประเด็น” มากกว่า texture ของภาพ มันก็เลยทำให้ AMSTERDAM มีความโดดเด่นแตกต่างจากหนังทดลองของนักศึกษาคนอื่นๆ
เราแทบนึกไม่ออกว่ามีหนังเรื่องไหนบ้างที่เราสามารถเทียบกับ AMSTERDAM ได้แบบหนึ่งต่อหนึ่ง
สำหรับเราแล้ว AMSTERDAM มันเหมือนเป็นการรวมเอาข้อดีที่เราชอบในหนังหลายๆเรื่องเข้ามาไว้ในเรื่องเดียวกัน
แต่ถ้าหากต้องเลือกฉายหนังเรื่องนี้ควบกับหนังเรื่องอืนๆ
เราก็คงเลือกฉายหนังเรื่องนี้ควบกับหนังเรื่อง “กรุงเทพสามทุ่มสี่สิบสองนาที”
(2001, Thanes Maneejak) กับ ROUGH NIGHT (2001,
Samart Imkham) เพราะหนังทั้งสามเรื่องนี้
ถ่ายภาพกรุงเทพในยามค่ำคืนได้อย่างวับวาวสุกสกาวมากๆเหมือนกัน และมีการสอดแทรกเนื้อหาที่โรแมนติกเข้าไปในหนังด้วย
แต่หนังทั้งสามเรื่องนี้ต่างก็ให้ความสำคัญกับบรรยากาศมากกว่าเนื้อหาของเรื่อง
BANGKOK TAXI (2016, Pisut Penkul, 63min, A+30)
ผู้กำกับคนนี้คือคนเดียวกับที่ทำหนังเรื่อง BURNER (2015) ใช่ไหม
เพราะเราว่าสิ่งที่เราชอบในหนังเรื่อง BANGKOK TAXI กับเรื่อง
BURNER คือสิ่งเดียวกัน นั่นก็คือหนังทั้งสองเรื่องนี้ “ถ่ายทอดความวังเวงในใจตัวละคร”
ออกมาได้อย่างสุดตีน ตรงรสนิยมเรามากๆ และเราจูนติดกับความวังเวงในใจตัวละครในหนังทั้งสองเรื่องนี้มากๆ
เราว่าเรื่องแบบนี้มันเป็นเรื่องของ “พรสวรรค์” หรือ “ความสามารถส่วนตัว”
นะ เพราะเอาเข้าจริงๆ เราก็บอกไม่ได้เหมือนกันว่าถ้าผู้กำกับคนไหนต้องการถ่ายทอดความวังเวงในใจตัวละครออกมาอย่างทรงพลัง
เขาควรทำยังไง มันเหมือนเป็นความถนัดเฉพาะตัวของผู้กำกับแต่ละคนน่ะ
เราเองก็อาจจะอธิบายไม่ได้ด้วยซ้ำว่า “ความวังเวงในใจตัวละคร” มันคืออะไร
มันเหมือนเป็นสิ่งที่อธิบายได้ยาก แต่เราสัมผัสมันได้
เอาเข้าจริงๆมันก็มีผู้กำกับหนังไทยหลายคนที่ทำหนังเหงาๆช้าๆนะ
เอาแค่เด็กธรรมศาสตร์นี่ก็มีอย่าง “ทศพล บุญสินสุข” ที่ทำหนังเรื่อง AFTERNOON TIMES (2005, 90min) และวิศรุต ดีพร้อม ที่ทำหนังเรื่อง STILL (2008, 52min) ที่เรายกให้เป็นหนังไทยคลาสสิคในดวงใจเราไปแล้วทั้งสองเรื่อง แต่ถ้าดูกันจริงๆแล้ว
ความเหงาๆช้าๆในหนังอย่าง AFTERNOON TIMES, STILL และ BANGKOK
TAXI นี่มันก็มีความแตกต่างกันอย่างมากๆอยู่ และเราว่าสิ่งที่น่าสนใจใน BURNER และ BANGKOK TAXI ก็คือว่า
มันเหมือนไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักกับ “ความโรแมนติก” น่ะ
คือหนังเหงาๆช้าๆที่นักศึกษาทำส่วนใหญ่มักจะให้ความสำคัญกับ “ความโรแมนติก”
เป็นหลัก หรือพูดถึง “มิตรภาพระหว่างเพื่อน” เป็นหลัก
เพราะมันเป็นประเด็นสำคัญในชีวิตตอนเป็นนักศึกษา แต่ใน BURNER กับ BANGKOK TAXI นั้น มันอาจจะมีความโรแมนติกเจือปนอยู่ก็จริง
แต่มันเหมือนให้ความสำคัญกับ “ความว่างเปล่าของชีวิต” หรือ “คำถามเกี่ยวกับการมีชีวิตอยู่”
หรืออะไรทำนองนี้มากๆด้วย มันก็เลยทำให้ BURNER กับ BANGKOK
TAXI มีความพิเศษมากๆสำหรับเรา
และแตกต่างไปจากหนังนักศึกษาเรื่องอื่นๆ
หวังว่าผู้กำกับคนนี้คงได้มีโอกาสทำหนังแนวนี้ต่อไปนะ
บางทีเขาอาจจะเป็น auteur คนใหม่ของไทยก็ได้
อีกจุดนึงที่เราจูนติดกับ BANGKOK TAXI ก็คือ “ความเคว้งในชีวิตของพระเอก”
น่ะ คือเหมือนกับว่าพระเอกทำงานขับแท็กซี่
ซึ่งเป็นงานที่อาจจะไม่ได้เหมาะกับตัวเขามากที่สุด แต่ก็ไม่ได้เป็นงานที่ทำให้เขาลำบากมากนัก
มันก็เลยทำให้นึกถึงตัวเราเองหรือชีวิตมนุษย์หลายๆคนที่ต้อง “ยังชีพ”
ไปเรื่อยๆแบบนี้ คือทำงานอะไรสักอย่างที่เราอาจจะชอบแค่ในระดับปานกลาง
มันไม่ใช่งานที่เลวร้าย แต่ก็ไม่ใช่งานที่จะทำให้เรา happy กับมันอย่างเต็มที่
มันเหมือนกับชีวิตมนุษย์ที่ต้องทนอยู่แบบแกนๆไปเรื่อยๆแบบนี้น่ะแหละ
DON’T WORRY BE HAPPY ขอให้เมืองนี้มีแต่ความสุขสันต์
(2016, Vasupol Suwanjuta, 40min, A+30)
ปกติเราไม่ชอบหนังตลกนะ
เพราะฉะนั้นหนังเรื่องนี้ก็เลยถือว่าเป็นหนังที่พิเศษมากๆเพราะเป็นหนังตลกไม่กี่เรื่องที่เราชอบสุดๆ
555
สิ่งที่ทำให้เราชอบหนังเรื่องนี้สุดๆก็คือการเลือกใช้ genre ตลกในการพูดถึงประเด็นการเมืองไทยน่ะแหละ
เพราะถ้าหากดูหนังสั้นไทยที่พูดถึงประเด็นการเมืองในช่วงที่ผ่านมา
หนังที่ออกมาดีมากส่วนใหญ่ก็มักจะออกมาในเชิงเคร่งขรึม, ซีเรียสจริงจัง
หรือทดลองไปเลย อย่างเช่นเรื่อง 329 (2014, Tinnawat Chankloi), DOGMATIST
(2015, Patipol Teekayuwat), ภาษาที่เธอไม่เข้าใจ (2014,
Wachara Kanha), เด็กฉลาดชาติเจริญ (2015, Sarnt Utamachote),
THAT XXXX (2014, SeriphabSutthisri) มีอยู่น้อยมากที่เป็นหนังตลก/การเมืองแล้วออกมา
work
แต่ก็เห็นด้วยกับสิ่งที่วิทยากรพูดนะ ที่ว่าฉากที่พระเอกกับผู้นำเผด็จการปะทะกันนั้น
บทสนทนาในฉากนั้นไม่คมเท่าที่ควรน่ะ แต่เราก็เข้าใจนะว่ามันยากมากๆน่ะแหละที่จะทำหนังเกี่ยวกับการเมืองไทยที่ตัวละครสามารถปะทะโต้เถียงกันอย่างแหลมคมจริงๆได้
คือคนเขียนบทสนทนาในฉากนั้นมันต้อง “แตกฉาน” หรือ “ตกผลึกทางความคิด”
มากพอสมควรน่ะ มันถึงจะเขียนบทสนทนาในฉากนั้นออกมาได้ดี เท่าที่เรานึกออก
เราว่ามีผู้กำกับหนังไทยเพียงแค่ไม่กี่คนที่สามารถทำฉากสนทนาการเมืองออกมาอย่างดีสุดๆได้
และผู้กำกับเพียงไม่กี่คนนั้นก็คือ Prap Boonpan, Ratchapoom Boonbunchachoke และ Teerath Whangvisarn
No comments:
Post a Comment