Sunday, August 27, 2017

SILENCE (2016, Martin Scorsese, A+30)

SILENCE (2016, Martin Scorsese, A+30)

1.พอดูหนังเรื่องนี้ เราก็เลยเพิ่งตระหนักว่า Martin Scorsese เป็นหนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์ที่เราชื่นชอบมากๆ ทั้งๆที่เราแทบไม่เคย “อิน” หรือ identify กับตัวละครหลักในหนังของเขาเลย คือตัวละครหลักในหนังของเขามักจะมีความเป็น “ผู้ชายมากเกินไป” จนเราไม่อินด้วย หรือมีความอะไรบางอย่างทางศีลธรรมหรือแนวคิดที่ทำให้เราไม่อินด้วย คือตัวละครมันมักจะสีเทาเข้มเกินไปหรือไม่ก็ดีเกินไปจนเราไม่อินด้วย ทั้งตัวละครหลักใน TAXI DRIVER (1976), RAGING BULL (1980), AFTER HOURS (1985), THE COLOR OF MONEY (1986), THE LAST TEMPTATION OF CHRIST (1988), GOODFELLAS (1990), THE AGE OF INNOCENCE (1993), CASINO (1995), GANGS OF NEW YORK (2002), THE AVIATOR (2004), THE WOLF OF WALL STREET (2013) แต่เราก็ชอบหนังพวกนี้มากๆอยู่ดี เพราะมันมีองค์ประกอบอื่นๆที่ทำให้เรา enjoy มัน บางทีอาจจะเป็นเพราะมันมีความ cinematic ก็ได้มั้ง เราก็เลย enjoy หนังของเขามาก ถึงแม้เราจะรู้สึกมีระยะห่างจากตัวละครของเขามากกว่าหนังแนว drama ของผู้กำกับคนอื่นๆที่เราชื่นชอบสุดๆก็ตาม

เราว่า SILENCE ก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน คือเราชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ ทั้งๆที่เราก็ไม่ได้อินหรือ identify กับตัวละครหลักของเรื่องแต่อย่างใด เราว่าหนังมันมีความ cinematic บางอย่าง หรือมันสามารถสร้าง imagery ที่น่าจดจำมากๆในหลายๆฉาก โดยเฉพาะฉากการตายของตัวละครบางตัว ที่มันกลายเป็นภาพที่ออกมางดงามมากๆ เราก็เลยประทับใจกับหนังเรื่องนี้มากๆ

แต่ถ้าหากพูดถึงตัวละครที่เราพอจะรู้สึกอินอยู่บ้างในหนังของ Scorsese แล้ว ก็จะมี
1.1 Masha (Sandra Bernhardt) ใน THE KING OF COMEDY (1982)
1.2 Alice Hyatt (Ellen Burstyn) ใน ALICE DOESN’T LIVE HERE ANYMORE (1974)
1.3 Leigh Bowden (Jessican Lange) ใน CAPE FEAR (1991)

2.เราว่า SILENCE มันประทับใจเรามากๆ เพราะมันเป็นหนังที่ทำให้เรารู้สึก “ก้ำกึ่ง” กับตัวละครพระเอกตลอดเวลาน่ะ คือเราจะไม่รู้สึกเทิดทูนบูชาเขาเป็น hero แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเขาเป็นมนุษย์ที่น่ารังเกียจมากๆ ซึ่งความรู้สึกก้ำกึ่งแบบนี้มันเป็นสิ่งที่เรามักจะรู้สึกกับตัวละครพระเอกในหนังของ Scorsese อีกหลายๆเรื่องเช่นกัน และสิ่งนี้มันแตกต่างเป็นอย่างมากจากหนังเกี่ยวกับบาทหลวงในหนังเรื่องอื่นๆที่เราเคยดูมาด้วย

คือหนังเกี่ยวกับบาทหลวง/แม่ชีเรื่องอื่นๆที่เราเคยดูมา มักจะทำให้เราเข้าข้างตัวละครอย่างสุดๆไปเลย หรือเกลียดตัวละครอย่างสุดๆไปเลยน่ะ อย่างเช่น CHOICES OF THE HEART (1983, Joseph Sargent), THE MISSION (1986, Roland Joffe), FIGHT FOR US (1989, Lino Brocka), PRIEST (1994, Antonia Bird) ที่เราจะเข้าข้างตัวละครบาทหลวง/แม่ชีอย่างสุดๆไปเลย แต่ถ้าหากเป็นหนังเกี่ยวกับ “การล่าแม่มด” หรือสถาบันศาสนาในอดีตที่กดขี่ประชาชน, หรือกดขี่คนในประเทศอาณานิคม อย่างเช่น THE DEVILS (1971, Ken Russell หรือ A SHORT FILM ABOUT THE INDIO NACIONAL (2005, Raya Martin, Philippines) หรือหนังวิพากษ์ศาสนาอย่าง THE MILKY WAY (1969, Luis Buñuel) เราก็อาจจะเกลียดตัวละครบาทหลวงบางตัวอย่างสุดๆไปเลย หรือไม่ก็มอง “สถาบันศาสนา” ในแง่ลบอย่างรุนแรงมาก

เพราะฉะนั้นเราก็เลยชอบ SILENCE มากๆ ในแง่ที่มันทำให้เรารู้สึกก้ำกึ่งกับตัวละครพระเอกตลอดเวลา คือเราชอบที่หนังมันไม่ได้ glorify พระเอกมากเกินไปน่ะ หนังมันทำให้เราเห็นศรัทธาอย่างแรงกล้า และความอดทนอย่างถึงที่สุดของพระเอก แต่ในขณะเดียวกัน หนังมันก็ “เปิดโอกาสให้เราตั้งข้อสงสัย” ต่อความคิด, คำพูด และการกระทำของพระเอกตลอดเวลาด้วย และเราว่าสิ่งนี้นี่แหละคือความงดงามที่แท้จริงของหนังเรื่องนี้ในสายตาของเรา

อย่างเช่นในฉากที่พระเอกดูเหมือนจะพูดกับพระเจ้า หรือตั้งคำถามต่อพระเจ้า และมีเสียงของผู้ชายที่คล้ายๆเสียงของ Liam Neeson พูดตอบกลับมาน่ะ คือหนังมันเปิดโอกาสมากๆให้เราคิดกับเสียงนี้ยังไงก็ได้ จะมองว่ามันเป็นเสียงของพระเจ้าก็ได้ หรือมองว่ามันเป็นเสียงของพระเอกพูดคุยกับตัวเองก็ได้

3.คิดเหมือนเพื่อนๆหลายๆคนเลยว่า ดูแล้ว นึกถึง “ไผ่ ดาวดิน” มากๆ และคิดถึงประเทศไทยในปัจจุบันด้วย เพราะคนไทยในปัจจุบันก็ถูกกดขี่ด้วยกฎหมายที่ไม่ยุติธรรมอย่างรุนแรงที่สุด และขาดเสรีภาพในการแสดงออกในแบบที่คล้ายกับในญี่ปุ่นยุคนั้นเหมือนกัน
              

ประเด็นเรื่อง “ทางเลือกในการเอาชีวิตรอดภายใต้ระบอบเผด็จการ” ใน SILENCE ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง THE FAREWELL -- BERTOLT BRECHT’S LAST SUMMER (2000, Jan Schütte, Germany) ด้วย รู้สึกว่าตัวละครในหนังสองเรื่องนี้เผชิญกับ dilemma ที่นำมาเทียบเคียงกันได้ นั่นก็คือ เราจะยอมก้มหัวให้เผด็จการหรือไม่ และตัวละครในหนังทั้งสองเรื่องนี้ก็ดูเหมือนจะยอมทำตามที่เผด็จการบีบบังคับมา “ด้วยความไม่เต็มใจ” และหนังทั้งสองเรื่องนี้ก็ไม่ได้ประณามตัวละครที่ตัดสินใจแบบนั้นด้วย แต่มองตัวละครด้วยความเห็นอกเห็นใจที่ต้องทำในสิ่งที่ดูเหมือน “ผิด” แต่เป็นความผิดที่ทำเพื่อให้ตัวเองมีชีวิตรอด และมันเจ็บมากๆที่ได้เห็นตัวละครจำเป็นต้องทำในสิ่งที่ดูเหมือนผิดแบบนั้น

4.อีกจุดนึงที่ชอบในหนังเรื่องนี้ คือมันทำให้เรานึกถึง “spiritual crisis” แบบในหนังเรื่อง FOREIGN BODY (2014, Krzysztof Zanussi, Poland) น่ะ และเราชอบอะไรแบบนี้มากๆ

คือในหนังเรื่อง FOREIGN BODY มันจะมีการพูดถึงความเชื่อเรื่อง “dark night of the soul” หรือ spiritual crisis ในทำนองที่ว่า มนุษย์บางคนที่มีความศรัทธาในความดีงามอะไรบางอย่าง บางทีในบางช่วงของชีวิตมันจะต้องเผชิญกับวิกฤติหนักในแบบที่มันมาสั่นคลอนความศรัทธาของตนเองน่ะ คือเป็นวิกฤติชีวิตหรือมรสุมชีวิตประเภทที่ทำให้ตัวละครต้องตั้งคำถามว่า “ทำไมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรานับถือถึงนิ่งเงียบ ไม่ยอมช่วยเหลือเรา”,  “ทำไมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ถึงปล่อยให้เราต้องเผชิญชะตากรรมแบบนี้ ทั้งๆที่เราทำดีมาโดยตลอด” หรือ “ทำดีแล้วจะได้ดีจริงหรือ ทำไมเราทำดีแล้วต้องติดคุก ถ้าหากเราทำชั่ว เราก็ไม่ต้องติดคุกโหดในรัสเซียไปแล้ว” (ในกรณีของ FOREIGN BODY)

คือพอดูตัวละครใน FOREIGN BODY เผชิญกับ dark night of the soul แล้วมันทำให้เรานึกถึงมรสุมชีวิตของตัวเองในปี 2016 มากๆน่ะ เราก็เลยชอบหนังเรื่อง FOREIGN BODY อย่างรุนแรงมาก คือมันเป็นวิกฤติที่นอกจากจะสร้างความทุกข์ทรมานทางกายและทางใจแล้ว มันยังสั่นคลอนความศรัทธาของตนเองด้วย คือถ้าเป็นคนในบางศาสนาก็อาจจะตั้งคำถามว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเองศรัทธามันมีจริงหรือเปล่า หรือถ้าหากเป็นคนในศาสนาพุทธก็อาจจะตั้งคำถามว่า กฎแห่งกรรมมีจริงหรือเปล่า เราจะทำดีต่อไปเพื่ออะไรกัน ถ้าหากทำดีแล้วต้องติดคุก หรือเผชิญกับชะตากรรมที่เลวร้าย

เพราะฉะนั้นพอดู SILENCE เราก็เลยชอบตรงจุดนี้ด้วย เพราะเราว่าตัวละครก็เผชิญกับ spiritual crisis คล้ายกับใน FOREIGN BODY เพียงแต่ว่ามันอาจจะเป็น spiritual crisis ที่ทั้ง “โหดร้ายกว่า” และ “กินเวลายาวนานกว่า” ใน FOREIGN BODY

แต่เราชอบ FOREIGN BODY มากกว่า SILENCE นะ เพราะเรา identify กับตัวละครใน FOREIGN BODY ได้มากกว่า คือตัวละครใน FOREIGN BODY มันเหมือน “คนธรรมดา” ที่เผชิญกับ spiritual crisis หรือ dark night of the soul ที่กินเวลาแค่หลายเดือนหรือปีนึงน่ะ ในขณะที่ตัวละครพระเอกใน SILENCE มันเหมือนต้องเป็นคนระดับไผ่ ดาวดินน่ะ ในขณะที่คนธรรมดาอย่างเราอาจจะใกล้เคียงกับตัวละครประเภท Kichijiro (Yosuke Kubozuka) มากกว่า

5.ถ้าพูดถึงในแง่เนื้อหาแล้ว SILENCE ใช้ฉากหลังที่ใกล้เคียงกับหนังเรื่อง LOVE AND FAITH (1978, Kei Kumai) และ THE EYES OF ASIA (1991, João Mário Grilo, Portugal) ที่พูดถึงญี่ปุ่นในยุคของการกวาดล้างชาวคริสต์เหมือนกัน


แต่ถ้าหากพูดถึงในแง่พลังทางภาพยนตร์แล้ว เราว่า SILENCE เหนือชั้นกว่า LOVE AND FAITH และ THE EYES OF ASIA เยอะเลยนะ และเราว่าถ้าหากจะฉาย SILENCE ควบกับหนังเรื่องไหน เราก็คงเลือกฉายควบกับ NAZARIN (1959, Luis Buñuel) น่ะ เพราะหนังทั้งสองเรื่องนี้ cinematic ในระดับทัดเทียมกัน และนำเสนอตัวละครบาทหลวงได้อย่างทรงพลังสุดๆเหมือนกัน และเราว่าหนังทั้งสองเรื่องนี้ไม่ได้เชิดชู “ศาสนา” แต่เชิดชู “มนุษย์ที่มีศรัทธาในศาสนา” พร้อมกับตั้งคำถามต่อตัวละครมนุษย์ที่มีศรัทธาในศาสนาไปด้วยพร้อมๆกัน โดยเฉพาะคำถามที่ว่าความศรัทธาในศาสนาของตัวละครตัวนั้นให้ประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ได้จริงหรือไม่ เราก็เลยชอบหนังทั้งสองเรื่องนี้อย่างสุดๆ เพราะมันทั้งเชิดชูความศรัทธาของตัวละคร และตั้งคำถามต่อความศรัทธาของตัวละครไปด้วยพร้อมๆกันนี่แหละ 

No comments: