#BKKY (2016, Nontawat Numbenchapol, A+30)
1.ดีใจมากๆที่เห็นเพื่อนๆใน Facebook หลายคนที่มีอายุน้อยกว่าเรา 20-25 ปีชอบเนื้อหาในหนังเรื่องนี้ เพราะเราไม่ได้ชอบมากนัก
หรือไม่รู้สึกอินมากนักกับเนื้อหาส่วนที่เป็น fiction ในหนังเรื่องนี้
แต่นั่นไม่ใช่เพราะหนังไม่ดี แต่เป็นเพราะความแตกต่างทางอายุ, ความสนใจส่วนตัวของเรา
และ “ความตั้งใจของหนัง” ด้วย
2.ที่เราบอกว่า “ความตั้งใจของหนัง” เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เราไม่อิน
เพราะเราว่าหนังตั้งใจใช้วิธีการคล้ายๆละครเวทีแบบ Brechtian ในการเตือนคนดูเป็นระยะๆว่า
“เรากำลังดูหนังอยู่” เพื่อให้ผู้ชมไม่มีอารมณ์ร่วมกับเนื้อเรื่องและตัวละครน่ะ คือหนังทำลาย
“อารมณ์ร่วม” ทั้งด้วยการใส่ฉาก “การถ่ายหนัง” เข้ามา
และด้วยการใส่บทสัมภาษณ์ของเด็กวัยรุ่นหลายๆคนเข้ามาเป็นระยะๆ
และวิธีการแบบนี้ก็เลยทำให้เราไม่มีอารมณ์ร่วมกับตัวละคร
ทั้งๆที่เราว่าถ้าหากผู้กำกับจะทำเป็น “หนังเร้าอารมณ์ดราม่า” แบบหนังทั่วไป
เขาก็มีฝีมือที่จะทำให้มันเป็นหนังดราม่าที่ทรงพลังอย่างรุนแรงมากๆได้
ที่เราว่าเขาน่าจะมีฝีมือ เพราะเราว่าฉาก “บอกเลิก” ที่กล้องตั้งนิ่งๆถ่ายโจโจ้กับคิ้วคุยกันในร้านกาแฟ/ร้านอาหารนี่
มันทรงพลังสุดๆเลยน่ะ มันเจ็บปวดสุดๆสำหรับเรา
โดยที่หนังไม่ต้องเร้าอารมณ์อะไรมากมายเลย และนี่ก็เลยเป็นฉากที่เราชอบที่สุดในหนังเรื่องนี้
คือเราเดาเอาเองว่า ถ้าหากหนังเรื่องนี้เลือกใช้วิธีการแบบหนังดราม่าปกติ
เราก็อาจจะชอบหนังเรื่องนี้มากเท่าๆกับ BERMUDA (2016, Phawinee Sattawatsakul) ก็ได้ คือ BERMUDA เป็นหนังไทยที่เราชอบมากเป็นอันดับ
9 ของปีที่แล้วน่ะ และมันพอจะเปรียบเทียบกับส่วน fiction ของหนังเรื่องนี้ได้ในแง่ที่ว่า
BERMUDA มันนำเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์แบบไบเซ็กชวล
หรือเลสเบียน หรือ “ไม่มีคำจำกัดความ” ของวัยรุ่นหญิงเหมือนกัน,
นางเอกมีปัญหากับพ่ออย่างรุนแรงเหมือนกัน และถ้าเราจำไม่ผิด นางเอกก็ใช้นักแสดงคนเดียวกับหนังเรื่องนี้ด้วย
เราก็เลยเดาเอาว่า ถ้าหาก #BKKY มันเลือกทำตัวเป็นหนังปกติ
เราก็อาจจะได้หนังดราม่าที่ทรงพลังแบบ BERMUDA เพิ่มขึ้นมาอีกเรื่องนึงก็ได้
3.แต่การที่ #BKKY เลือกใช้ form การเล่าเรื่องที่แปลกประหลาดไม่เหมือนใครแบบนี้
มันก็เลยเหมือนเป็นการ “ได้อย่าง เสียอย่าง” สำหรับเราน่ะ คือมันเสีย “การมีอารมณ์ร่วมอย่างรุนแรง”
สำหรับเราไป ทั้งในส่วนของ fiction และในส่วนของสารคดี
แต่มันได้ “ความไม่ซ้ำแบบใคร” มาทดแทน คือแทนที่มันจะได้ “หนังดราม่าที่ทรงพลังแบบ
BERMUDA” หรือหนังสารคดีที่เนื้อหาน่าสนใจแบบ 101
RENT BOYS (2000, Fenton Bailey, Randy Barbato) ที่สัมภาษณ์ผู้ชายขายตัว
101 คน และนำเสนอบทสัมภาษณ์แบบตรงไปตรงมา มันกลับได้การผสมผสานกันของ fiction
กับ non-fiction ในแบบแปลกๆ
ซึ่งเราก็ไม่คิดว่า “มันผสมผสานกันได้อย่างลงตัวสุดๆ” หรือ “มันทรงพลังมากๆ”
แต่อย่างใดสำหรับเรานะ แต่ถึงมันไม่ลงตัวสุดๆ และไม่ทรงพลังขั้นสูงสำหรับเรา
เราก็ชอบความไม่ซ้ำแบบใครของมันอยู่ดี
4.อีกสาเหตุที่ทำให้เราไม่อินมากนัก หรือไม่ได้ชอบ “เนื้อหา”
ของหนังเรื่องนี้มากนัก เป็นเพราะ “รสนิยมส่วนตัว” ของเราด้วยแหละ
คือเรารู้สึกว่าชีวิตของโจโจ้ในหนังเรื่องนี้ มันไม่น่าสนใจมากนักสำหรับเราน่ะ
คือโดยส่วนตัวแล้ว เราพบว่า เราสนใจชีวิตของวัยรุ่น/นักศึกษาในหนังสารคดีของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครมากกว่า
โดยเฉพาะชีวิตนักศึกษามหาลัยที่ต้องเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย อย่างเช่นในหนังสารคดีเรื่อง
“เพียงรัก” (EVERYTHING IS FAMILY) (2016, Wisaruta Rakwongwan) ที่เล่าเรื่องของนักศึกษาสาวที่เลี้ยงลูกไปด้วย,
ทำงานไปด้วย, เรียนไปด้วย, หนังสารคดีเรื่องMICHIN
(2016, Raweenipa Taeoun) ที่เล่าเรื่องของหญิงสาวที่ทำงานเพื่อหาเงินไปซื้อตั๋วคอนเสิร์ตศิลปินเกาหลี
หรือหนังสารคดีเรื่อง PARTY SINGER (2015, Tunwa
Singkru) ที่เล่าเรื่องหญิงสาวที่ทำงานเป็นนักร้องงานเลี้ยง
อะไรทำนองนี้
คืออันนี้อาจจะเป็นเรื่องของ “ฐานะ” ด้วยมั้ง เพราะช่วงที่เราเป็นวัยรุ่นนั้น
เราต้องอดข้าวกลางวัน 20 วันในช่วงปิดเทอม เพื่อเอาเงินไปซื้อวิดีโอหนังเรื่อง TOP GUN (1986, Tony Scott) หรืออดข้าวกลางวัน 1 สัปดาห์ เพื่อเอาเงินไปซื้อเทปเพลง 1 ม้วนน่ะ
เพราะฉะนั้นพอเราได้ดูหนังสารคดีชีวิตวัยรุ่นของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
เราก็เลยอินมากๆ หรือรู้สึกว่ามันโดนใจมากๆ และเราจะรู้สึกห่างเหินในระดับนึงจากวัยรุ่นชนชั้นกลางในหนังเรื่องอื่นๆ
และยิ่งพอ #BKKY มันลดทอน “emotional involvement” แบบหนังดราม่าทั่วไปลงไปด้วย เราก็เลยยิ่งรู้สึก “เหินห่างทางอารมณ์”
จากชีวิตตัวละครมากยิ่งขึ้นไปอีก
5.คือรสนิยมของเราอาจจะชอบ “อารมณ์ความรู้สึกข้างใน” และ “ความแตกต่างกันของมนุษย์แต่ละคน”
ด้วยก็ได้มั้ง เพราะฉะนั้นพอหนังเรื่องนี้ลดทอนการบีบเค้นอารมณ์ความรู้สึกข้างในตัวละคร
และดูเหมือนจะแสวงหา “จุดร่วมกันของชีวิตวัยรุ่นชนชั้นกลางในกรุงเทพ” แทนที่จะเน้นย้ำเรื่องที่ว่า
“มนุษย์แต่ละคนไม่เหมือนกัน และแต่ละคนต่างก็มี passion ต่ออะไรแตกต่างกัน”
มันก็เลยทำให้หนังเรื่องนี้ไม่สะเทือนเราในส่วนของ “เนื้อหา”
เหมือนหนังสารคดีเรื่องอื่นๆที่ติดตามถ่ายทำคนรุ่นหนุ่มสาวที่มี passion ต่อสิ่งที่แตกต่างกันไปน่ะ
ยกตัวอย่างง่ายๆก็คือว่า ใน #BKKY มีตัวละครสองหนุ่มหล่อนักเล่นสเก็ตบอร์ด
แต่หนังไม่ได้เน้นนำเสนอ passion ต่อการเล่นสเก็ตบอร์ดอย่างรุนแรงของสองหนุ่มหล่อนี้
ซึ่งมันจะแตกต่างจากหนังสารคดีเรื่อง WEIRDROSOPHER WORLD (2005, Nontawat
Numbenchapol + Rthit Punnikul) ที่เน้นนำเสนอ passion นี้อย่างรุนแรงน่ะ
หรือพอเรานึกถึงหนังสารคดีชีวิตหนุ่มสาวคนไทยเรื่องอื่นๆ ที่เราชอบสุดๆ
เราก็พบว่า เรามักจะชอบหนังที่นำเสนอ passion เฉพาะตัวของหนุ่มสาวคนนั้น
หรือ “ความไม่เหมือนใคร” ของหนุ่มสาวคนนั้นน่ะ อย่างเช่น TO REACH THE
DREAM (2016, Kulyada Jampunyakul) ที่เล่าเรื่องของสาวที่มุมานะกับการตีแบดมินตัน
หรือ Q&A: QUEEN & ANXIETY (2014, Punyama Uchanarasamee) ที่สำรวจความกังวลใจเฉพาะตัวของหญิงสาวคนหนึ่ง
อย่างเช่นความกังวลใจว่าถ้าย้อมสีผมแล้วจะโดนแม่ด่า
เพราะฉะนั้นที่เขียนมาก็เลยจะบอกว่า content ของหนังเรื่องนี้มันไม่เข้าทางเราเท่าไหร่น่ะ
เรามักจะอินกับหนังสารคดีชีวิตหนุ่มสาวไทยที่นำเสนอชีวิตคนโดยเน้นไปที่ “ความไม่เหมือนใคร”
ของคนๆนั้น, หรือ passion อย่างรุนแรงในชีวิตของคนๆนั้น
หรือหนุ่มสาวที่มีปัญหาทางการเงิน และต้องหาเลี้ยงชีพด้วยตัวเองอะไรทำนองนี้
เพราะฉะนั้น content ของหนังเรื่องนี้ในส่วนที่เป็น fiction
ก็เลยเป็นส่วนที่เรา “ดูได้เพลินๆ
แต่ไม่ได้รู้สึกอะไรกับมันอย่างรุนแรงมากนัก” น่ะ
6.เราชอบส่วนที่เป็นสารคดีมากกว่าส่วนที่เป็น fiction นะ
เราว่าตัวคนให้สัมภาษณ์แต่ละคนดูเหมือนให้สัมภาษณ์อย่างมี passion, เปิดเผย, ได้อารมณ์ดีมากๆ
แต่ปัญหาก็คือว่า หนังมันแสวงหา “ความเหมือนกัน” ของชีวิตแต่ละคนนี่แหละ
เราว่าถ้าหากหนังเรื่องนี้จะเข้าทางเราจริงๆ หนังก็คงต้องเลือก focus ที่ “ความไม่เหมือนกัน”
ของผู้ให้สัมภาษณ์แต่ละคนแทน อย่างเช่นให้เนติวิทย์พูดเรื่องการเมืองไปเลย 30
นาที, ให้เด็กเกย์เล่าเรื่องประสบการณ์ทางเพศสมัยมัธยมไปเลย 15 นาทีอะไรทำนองนี้
คือในแง่นึง หนังเรื่องนี้ตอกย้ำความเชื่อของเราโดยที่หนังไม่ได้ตั้งใจน่ะ
นั่นก็คือความเชื่อที่ว่า “การทำตามคนอื่นๆเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ
การเป็นตัวของตัวเอง ไม่ซ้ำแบบใคร ทำตามความต้องการของตัวเองจริงๆนี่แหละ คือสิ่งที่ดี”
เพราะฉะนั้น “ประสบการณ์ที่ตรงกัน” ของวัยรุ่นหลายคนในหนังเรื่องนี้
ก็เลยกลายเป็นสิ่งที่น่าเบื่อเล็กน้อยสำหรับเรา ในขณะที่ประสบการณ์ที่ไม่ตรงกัน
อย่างเช่นประสบการณ์ของเนติวิทย์ในส่วนที่ไม่ได้รับการถ่ายทอดผ่านทางหนังเรื่องนี้
ก็เลยกลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับเรา
7.เหมือนจะเน้นเขียนถึงแต่สิ่งที่ “ไม่เข้าทางเรา” ในหนังเรื่องนี้
แต่จริงๆแล้วเราก็ชอบหนังเรื่องนี้ในระดับ A+30 นะ
และเราก็รู้สึกว่าเพื่อนๆใน facebook ของเราเขียนถึงข้อดีของหนังเรื่องนี้กันไปมากแล้ว
เหมือน “ความรู้สึกชอบ” ของเราที่มีต่อองค์ประกอบอื่นๆในหนังเรื่องนี้ มันได้รับการระบายผ่านทางสิ่งที่เพื่อนๆเราเขียนไปหมดแล้ว
555
เพราะฉะนั้นเราก็เลยเน้นจดบันทึกความรู้สึกของเราในส่วนที่ไม่ได้รับการระบายออกผ่านทางคนอื่นๆแทน
8.ก็ขอสรุปอีกครั้งแล้วกันว่า เราชอบ form มากกว่า content
ในหนังเรื่องนี้ คือ content ในหนังเรื่องนี้มันก็ดีและน่าสนใจในระดับนึง
แต่เพราะ “ฐานะของเรา”, “รสนิยมส่วนตัวของเรา” “วัยวุฒิของเรา” และ “วิธีการทำลาย emotional
involvement” ของหนังเรื่องนี้ มันก็เลยทำให้เราไม่ได้ชื่นชอบ content
ของหนังเรื่องนี้แบบสุดๆ
แต่ในส่วนของ form นั้น
เราว่ามันแปลกประหลาดไม่ซ้ำแบบใครดีมาก มันทำให้เรานึกถึงหนังที่เราชอบ form
อย่างสุดๆอีกสองเรื่องด้วยกันน่ะ ซึ่งก็คือ DANGER (DIRECTOR’S
CUT) (2008, Chulayarnnon Siriphol) และ MY AMERICAN UNCLE
(1980, Alain Resnais) ที่มีการนำเสนอ “เรื่องราวดราม่าที่น่าสนใจ”
ในแบบที่สกัดกั้นผู้ชมจากการมี emotional involvement กับตัวละครเหมือนๆกัน
แต่หนังสองเรื่องนี้ใช้วิธีการที่แตกต่างจาก #BKKY นะ
เพราะในขณะที่ #BKKY ใช้ “การถ่ายทำหนัง” และ “การสอดแทรกบทสัมภาษณ์สารคดี”
เข้ามาสกัดกั้นการมีอารมณ์ร่วมกับตัวละครโจโจ้ DANGER (DIRECTOR’S CUT) ก็เล่าเรื่องของการฆาตกรรมในอพาร์ทเมนท์
โดยใส่ text บทภาพยนตร์ กับ “คำวิจารณ์จากอาจารย์สอนภาพยนตร์”
เข้าไปในตัวหนังด้วย และการใส่อะไรแบบนี้เข้าไปก็เลยทำให้อารมณ์ลุ้นระทึกแบบหนังฆาตกรรมทั่วไปหายไปจนหมด
แต่กลับได้อารมณ์ที่รุนแรงสุดๆแบบใหม่ที่เกิดจากการปะทะกันระหว่าง “ความคิดของผู้สร้างหนัง”,
“ตัวหนัง” และ “ความเห็นในเชิงลบของผู้ชมบางคน” ขึ้นมาแทน
ในส่วนของ MY AMERICAN UNCLE นั้น ถ้าเราจำไม่ผิด
หนังเล่าเรื่องราวดราม่าชีวิตของตัวละครกลุ่มนึงแบบหนังชีวิตทั่วไปน่ะ แต่อยู่ดีๆก็มีตัวละครอีกตัวนึงมานำเสนอทฤษฎีพฤติกรรม+ทฤษฎีจิตวิทยา
เพื่อใช้วิเคราะห์ชีวิตของตัวละครกลุ่มแรก และเขามองชีวิตดราม่าของตัวละครกลุ่มแรกเป็นเหมือนกับ
“หนูทดลองในโครงการทางวิทยาศาสตร์” น่ะ
เพราะฉะนั้นหนังเรื่องนี้ก็เลยมีการลดทอนอารมณ์ดราม่าแบบหนังทั่วไปลงไป
แต่มันเกิดความสนุกตื่นเต้นแบบใหม่ขึ้นมาแทน เพราะมันมีการปะทะกันระหว่าง “ชีวิตตัวละครกลุ่มแรก”,
“ทฤษฎีที่นำเสนอโดยตัวละครนักวิเคราะห์พฤติกรรม” , “ความเห็นของผู้ชมแต่ละคน
ที่อาจจะสอดคล้องหรือไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงกับนักวิเคราะห์พฤติกรรม” และ “ความไม่รู้หีรู้แตด
ไม่เข้าใจอะไรอีกต่อไปในหนังเรื่องนี้” อยู่ด้วย เราก็เลยรู้สึกว่า form ของ MY AMERICAN UNCLE นี่เป็นอะไรที่มันรุนแรงมากๆ
และเราว่าหนังที่มันมี form ที่เป็นตัวของตัวเองแบบนี้
มันเป็นอะไรที่หายากมากๆน่ะ โดยเฉพาะในหนังไทย เพราะฉะนั้นเราก็เลยชอบ #BKKY
มากๆ ที่กล้าคิด form แปลกใหม่อะไรแบบนี้ขึ้นมา
9.อยากได้เจฟฟ์กับแจสเปอร์มากๆ ตัดสินไม่ได้เลยว่าจะเลือกใครดี
นี่มันผู้ชายในฝันทั้งสองคนเลย กรี๊ดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดด
10.สรุปว่าหนังที่เราชอบมากที่สุดของ Nontawat Numbenchapol ก็ยังคงเป็น GAZE AND HEAR (2010) จ้ะ
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าหนังเรื่องนี้ “ดีที่สุด” นะ แต่เป็นเพราะว่า
มันเป็นเรื่องของรสนิยมส่วนตัว และเรื่องของ target group น่ะแหละ
และเราว่ารสนิยมส่วนตัวของเรา ชื่นชอบอะไรแบบ GAZE AND HEAR มากที่สุด
No comments:
Post a Comment