Sunday, August 13, 2017

AKA SERIAL KILLER (1969, Masao Adachi, Japan, documentary, A+30)

AKA SERIAL KILLER (1969, Masao Adachi, Japan, documentary, A+30)

1.นึกว่าต้องปะทะกับหนังเรื่อง SOUTH (1999, Chantal Akerman) ที่เป็นการถ่าย landscape ของเหตุการณ์ฆาตกรรมเหมือนกัน แต่ SOUTH จะดูง่ายกว่าเยอะ เพราะ SOUTH มีบทสัมภาษณ์ชาวบ้านกลุ่มต่างๆในเมืองที่เกิดเหตุสังหารโหด และเหตุสังหารโหดใน SOUTH มันเป็น hate crime ที่เกิดจาก racism ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เข้าใจง่ายกว่าฆาตกรโรคจิตเยอะ แต่มันเป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่าฆาตกรโรคจิต

คือเราว่าฆาตกรโรคจิตแบบใน AKA SERIAL KILLER มันน่ากลัวมากๆก็จริง แต่มันก็ฆ่าคนไปแค่ 4 คน และมันเป็นสิ่งที่ทุกคนในสังคมเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นสิ่งชั่วร้าย และมันไม่ใช่สิ่งที่จะลุกลามแพร่เชื้อต่อไปได้ง่ายๆน่ะ

แต่เหตุการณ์สังหารโหดใน SOUTH มันเป็น racism ที่คนผิวขาวกลุ่มหนึ่งฆ่าคนผิวดำคนเดียว คือมันมีเหยื่อเพียงแค่คนเดียว แต่ฆาตกรมันมีหลายคน และกลุ่มฆาตกรมันต้องได้รับการปลูกฝังแนวคิดแบบนี้มาจากโครงสร้างสังคมบางสังคมน่ะ คือเหมือนกับว่าเหตุการณ์สังหารโหดใน SOUTH มันสะท้อน “เชื้อร้าย” ที่แฝงอยู่ในตัวคนผิวขาวหลายคนในสหรัฐ และเราก็ไม่รู้ว่าคนผิวขาวคนไหนบ้างที่ถูกไอ้เชื้อร้ายนี้ครอบงำจิตใจ ความคิดความรู้สึกไปแล้ว เพราะฉะนั้นเราก็เลยรู้สึกว่า ฆาตกรโรคจิตใน AKA SERIAL KILLER เป็นอะไรที่น่ากลัว แต่ “ฆาตกรสติดี” ใน SOUTH นี่เป็นอะไรที่น่ากลัวกว่ามากๆ

2.ดูจบแล้ว เราก็ไม่สามารถหาข้อสรุปอะไรได้นะว่า ภาพ landscape และชุมชนอะไรต่างๆที่เราเห็นในหนังเรื่องนี้ มันมีส่วนทำให้คนกลายเป็นฆาตกรโรคจิตได้อย่างไรบ้าง

แต่ถึงแม้เราไม่ได้ข้อสรุปอะไร เราก็ชอบที่หนังเรื่องนี้กระตุ้นความคิดเราตลอดเวลาที่ดูน่ะ และมันเป็นสิ่งที่แตกต่างจากหนัง landscape เรื่องอื่นๆ คือหนัง landscape ของ Chantal Akerman มันก็ไม่ได้กระตุ้นความคิดเราแบบนี้, หนัง landscape ของ Marguerite Duras อย่างเช่น LE CAMION (1977) มันก็กระตุ้น “จินตนาการ” ของเรา แต่ไม่ได้กระตุ้นความคิดเชิงวิเคราะห์ของเรา,  หนังของ landscape ของ Teeranit Siangsanoh มันก็ดึงดูดเราเข้าสู่มนต์มายาของ landscape ส่วนหนัง landscape เรื่อง SELF AND OTHERS (2000, Makoto Sato) มันก็ทำให้ภาพ landscape ที่ธรรมดาสามัญ กลายเป็นอะไรที่งดงามสุดๆในสายตาของเราได้

ในส่วนของ AKA SERIAL KILLER นั้น ภาพ landscape ในหนัง ทำให้เราคิดถึงสองสิ่งในเวลาเดียวกันน่ะ นั่นก็คือ

2.1 ภาพนั้นบ่งบอกเป็นนัยถึงแรงจูงใจของฆาตกรโรคจิตหรือเปล่า คือภาพในหนังมันเหมือนกระตุ้นให้เราคิดวิเคราะห์มัน
2.2 เรา “จินตนาการ” ไปด้วยในเวลาเดียวกันว่า ถ้าหากเราเป็นคนที่ใช้ชีวิตอยู่ “ที่นั่น ในเวลานั้น” ชีวิตเราจะเป็นอย่างไรบ้าง หรือเราอาจจะรู้สึกอะไรบ้าง

3.แต่เราก็ไม่ได้ข้อสรุปนะ ว่าอะไรที่ทำให้เขากลายเป็นฆาตกรต่อเนื่อง มันคือ “โลกทุนนิยม”, “โลกอุตสาหกรรม”, “ความแตกต่างระหว่างเมืองใหญ่ที่สกปรกและแออัด กับชนบทอันโล่งกว้าง”, “การมีอยู่ของฐานทัพสหรัฐ”  หรืออะไร และหนังก็ชอบถ่ายภาพขบวนแห่หรือเทศกาลตามเมืองต่างๆเข้ามาด้วย ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่า “เทศกาลรื่นเริง” ที่ชอบจัดกันตามท้องถนนในญี่ปุ่นนี่ มันมีส่วนทำให้คนกลายเป็นฆาตกรโรคจิตได้ด้วยเหรอ (แต่ดูแล้วนึกถึงขบวนแห่ในหนังอย่าง FLORENTINA HUBALDO, CTE (2012, Lav Diaz) ในแง่ที่ว่า ขบวนแห่ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตมนุษย์มันดีขึ้นแต่อย่างใด)

คือเราคิดว่า มันต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆด้วยแหละที่จะทำให้คนเป็นฆาตกรโรคจิต ทั้งสภาพครอบครัวของเขา และความคิดจิตใจของเขาเอง เพราะถ้าหาก landscape + สภาพสังคมเพียงอย่างเดียวเป็น “ต้นเหตุ” คนญี่ปุ่นก็คงเป็นฆาตกรโรคจิตกันไป 30% แล้วล่ะ เพราะคนญี่ปุ่นทั่วไป เขาก็อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกับฆาตกรโรคจิตคนนี้ แต่เขาก็ไม่ได้ลุกขึ้นมาไล่ฆ่าคนแต่อย่างใด คือเหมือนกับว่ามีคนหนึ่งล้านคนอาศัยอยู่ใน landscape เดียวกัน แต่มี 10 ในล้านคนนี้ที่เป็นฆาตกรโรคจิต แล้วเราจะบอกว่า landscape หรือสังคมมันเป็นสาเหตุสำคัญ เราว่ามันก็ไม่น่าจะใช่ มันน่าจะขึ้นอยู่กับความคิดจิตใจของคนคนนั้นเองมากกว่า

4.แต่การที่เราตีความ landscape ในหนังเรื่องนี้ไม่ออก มันก็เป็นเพราะเราไม่มีความรู้เรื่อง landscape และสังคมในหนังเรื่องนี้นั่นแหละ เราเป็น “คนนอก” ของ landscape ในหนังเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อเราดูภาพ landscape ในหนังเรื่องนี้ มันจึงยากที่เราจะเข้าใจนัยยะแอบแฝงอะไรได้

เราเดาว่า บางทีมันอาจจะคล้ายฉาก “สี่แยกคอกวัว” และ “สี่แยกราชประสงค์” ในหนังอย่าง IN APRIL THE FOLLOWING YEAR, THERE WAS A FIRE (2012, Wichanon Somumjarn) ก็ได้มั้ง คือถ้าหากคนต่างชาติที่ไม่มีความรู้เรื่องการเมืองของไทย มาเห็นฉากคนเดินถนนกันตามปกติในสี่แยกคอกวัว และสี่แยกราชประสงค์ เขาก็อาจจะไม่เข้าใจนัยยะแอบแฝงของมันก็ได้

5.สรุปว่าเป็นหนังฆาตกรโรคจิตที่ชอบสุดๆเรื่องนึง เพราะวิธีการนำเสนอของมันไม่ซ้ำแบบใครเลย และมันกระตุ้นความคิดของเราได้ดีมากๆ โดยใช้ฉาก landscape ในแบบที่หนังเรื่องอื่นๆไม่เคยทำมาก่อน

จริงๆแล้วญี่ปุ่นทำหนังฆาตกรโรคจิตได้ดีสุดๆเลยนะ เพียงแต่มันไม่ทำออกมาเป็น thriller แบบหนังฮอลลีวู้ดเท่านั้นเอง

หนังฆาตกรโรคจิตของญี่ปุ่นเรื่องอื่นๆที่เราชอบสุดๆก็มีเช่น

5.1 VIOLENCE AT NOON (1966, Nagisa Oshima)
5.2 VENGEANCE IS MINE (1979, Shohei Imamura)
5.3 CREEPY (2016, Kiyoshi Kurosawa)


No comments: