Monday, August 14, 2017

THE COVER OF THE LAND (2016, Prapt, novel, A+30)

ห่มแดน (2016, ปราปต์, novel, A+30)

1.พอเทียบกับนิยายอีกสองเรื่องของปราปต์ที่เราได้อ่าน ซึ่งก็คือ กาหลมหรทึก (2014) กับนิราศมหรรณพ (2015)  ก็เห็นได้ชัดเลยว่า ปราปต์ยังคงรักษาความสามารถในการสร้างความสนุกตื่นเต้นลุ้นระทึกเอาไว้ได้ดีมากๆอยู่ เขาเป็นคนที่เชี่ยวชาญจริงๆเรื่องการกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของผู้อ่าน มีการสร้างปมปริศนาลับใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ ในระหว่างที่เนื้อเรื่องดำเนินไป เพื่อกระตุ้นให้ผู้อ่านอยากพลิกอ่านหน้าต่อๆไป มีการค่อยๆหยอดข้อมูลให้ผู้อ่านทีละเล็กทีละน้อย เพื่อควบคุมความคิดและการคาดเดาของผู้อ่านที่มีต่อเนื้อเรื่องหรือปริศนาต่างๆในเรื่อง คือความสามารถในการ “เร้าอารมณ์ผู้อ่าน” นี่ต้องยกให้ปราปต์จริงๆ

2.แต่สิ่งที่เราว่ามันพัฒนาขึ้นมาจาก กาหลมหรทึก และ นิราศมหรรณพ ก็คือการลงลึกในจิตใจของตัวละครพระเอกน่ะ ซึ่งอันนี้เป็นอะไรที่เข้าทางเรามากๆ คือเราว่าพระเอกในกาหลมหรทึก กับนิราศมหรรณพ เป็นพระเอกแบบขนบนิยมมากๆน่ะ พระเอกในสองเรื่องนั้นเป็นตำรวจหนุ่มหล่อ เข้มแข็ง นิสัยดี เฉลียวฉลาด คือเป็น “object” of desire มากๆ และเป็นมนุษย์ที่ดีกว่ามนุษย์ทั่วไปมากๆ

แต่แดนเลฑฑุ์ พระเอกของ ห่มแดน นี่เป็นอะไรที่หนักมากๆ คือพระเอกของเรื่องนี้เริ่มเป็น human มากกว่า object แล้ว และเป็น human ที่มีรัก/โกรธ/หลง (แต่ไม่โลภ) อยู่ในตัวอย่างเต็มเปี่ยม มีความปรารถนาทางเพศที่น่าสนใจ มี flaws ในตัวเอง และมีปมทางจิตที่หนักมากๆ คือมีปมทางจิตที่รุนแรงอย่างน้อย 3 ปมอยู่ในตัว

คือตัวละครพระเอกตัวนี้ในแง่นึงก็เหมือน Russian Doll หรือ Matryoshka doll น่ะ หรือตุ๊กตาที่ซ้อนกันอยู่หลายๆชั้น คือเราได้รู้จักเขาครั้งแรกตอนเป็นหนุ่มอายุ 38 ปี แต่พอเนื้อเรื่องดำเนินไป เราจะค่อยๆรู้จักประวัติของเขามากขึ้นเรื่อยๆ และเราก็พบว่าเขามีปมทางจิตในวัยหนุ่ม ซึ่งนั่นก็หนักพอแล้ว แต่พอเนื้อเรื่องดำเนินไปอีก เราก็พบว่าเขายังมีปมทางจิตในวัยเด็กอีก และสำหรับเราแล้ว เขาเหมือนตุ๊กตา Russian Doll ที่ซ้อนกันอยู่ 4 ชั้นน่ะ

เราว่าสิ่งนี้แตกต่างจากนิยายอีก 2 เรื่องของปราปต์ที่เราได้อ่าน การสร้างปมทางจิตและประวัติของตัวละครแบบนี้ ทำให้ตัวละครพระเอกตัวนี้ทั้งดูเป็น “มนุษย์” มากขึ้น และดู “น่าปรารถนา” มากขึ้นด้วย สำหรับเรา 555 คือเรารู้สึกว่าการที่พระเอกของเรื่องนี้มีปมทางจิต มีบาดแผลทางใจ มันทำให้เรารู้สึก “รัก” และอยากดูแล อยากปลอบโยนเขา มากกว่าพระเอกของกาหลกับนิราศมหรรณพอีกน่ะ มันเหมือนกับว่า การที่พระเอกของสองเรื่องนั้นเป็น object of desire มันกลับดึงดูดเราได้แค่ทาง “กายภาพ” แต่พอพระเอกของห่มแดน มันไม่ได้เป็น object of desire แต่เป็นมนุษย์ปุถุชน มันกลับดึงดูดเราได้ทั้งทาง physical และ mental ด้วย

สรุปว่าจุดนี้แหละ คือจุดที่เราชอบมากที่สุดใน ห่มแดน เราชอบการสร้างตัวละครเอกที่ “มีความลึก” แบบนี้มากๆ และเราว่ามันเป็นพัฒนาการที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับกาหลและนิราศมหรรณพ คือจริงๆแล้วทั้งกาหล, นิราศมหรรณพ และห่มแดน ต่างก็เป็นนิยายประเภท plot-driven เหมือนกันนั่นแหละ ไม่ใช่นิยายแบบ character-driven แต่ด้วยรสนิยมส่วนตัวแล้ว จริงๆเราชอบอะไรแบบ character-driven มากกว่า เพราะฉะนั้นพอได้อ่านนิยายแบบ plot-driven ที่มันมีการลงลึกด้านชีวิตจิตใจของตัวละครด้วย เราก็เลยชอบจุดนี้มากๆ

3.ตัวละคร “กูรข่า” นี่ก็เป็นตัวละครที่น่าจดจำมากๆ เพราะเธอแหวกขนบนางเอกนิยายไทย/หนังไทย เท่าที่เราเคยอ่านหรือดูมามากพอสมควร แต่เราก็ไม่ได้ชอบเธอแบบ personally นะ คือจริงๆเราไม่ได้เกลียดเธอ แต่เราไม่ได้ identify กับเธอ และเราอิจฉาเธอน่ะ เราอยากแย่งผัวเธอ

แต่การที่เราไม่ได้ชอบเธอมากนัก ไม่ได้หมายความว่าตัวละครตัวนี้ “ไม่ดี” นะ เราว่าที่เราไม่ชอบเธอ เป็นเพราะตัวละครตัวนี้มันได้รับการนำเสนออย่างดีมากนั่นแหละ คือตัวละครตัวนี้ไม่ได้มีแต่ด้านดี คิดดี พูดดี ทำดี แบบนางเอกหนังไทยทั่วไป แต่มันมี “ความน่าหมั่นไส้” อยู่สูงมากในตัวละครตัวนี้ด้วย หรือมันมีอุปนิสัยหรือรายละเอียดเล็กๆน้อยๆในตัวละครตัวนี้ ที่ทำให้เรารู้สึกไม่สนิทใจกับตัวละครตัวนี้ด้วย

คือความรู้สึกของเราที่มีต่อ “กูรข่า” คล้ายๆกับความรู้สึกของเราที่มีต่อ “อึ้งย้ง” ในมังกรหยกน่ะ คือมันเป็นตัวละครหญิงที่น่าสนใจมากๆ, กลมมากๆ, เป็นคนดีที่มีข้อบกพร่องในตัวเอง และทั้งอึ้งย้งและกูรข่าเป็นคนดีประเภทที่เราไม่สนิทใจด้วย หรือไม่ identify ด้วยมากนัก คือเหมือนเป็นคนดีที่มีพิษสงสูง อะไรทำนองนี้

สรุปว่า ชอบ “กูรข่า” มากในฐานะ “ตัวละคร” เหมือนกับที่เราชอบ “อึ้งย้ง” ในฐานะตัวละครน่ะ แต่ถ้าหากเจอคนแบบกูรข่าในชีวิตจริง เราก็คงไม่สนิทใจด้วย

4.แต่จริงๆแล้วก็เห็นด้วยกับความคิดของกูรข่าในหลายๆเรื่องนะ แต่พอมันออกมาจากหัวของกูรข่า เราก็เลยรู้สึกแปลกๆหน่อย อย่างเช่น ทัศนคติเรื่องความรักของกูรข่า ที่เราเคยเห็นคนอ่านคนอื่นๆ quote มาแล้วน่ะ คือมันเป็นทัศนคติที่ดีมากจริงๆ ที่ว่า

“รักเพราะมีความสุขที่จะรัก ทำเพราะมีความสุขที่จะทำ และทำเพราะจะได้เห็นเขามีความสุข ไม่ได้ทำหรือรักเพื่อจะมีความสุขหลังจากเขามารักตอบ เธอรักตัวเองมากพอแล้วจึงเผื่อแผ่เขา ไม่ใช่ทำให้เขารักเพื่อเอามาเติมเต็มตน”

เราว่า quote นี้คลาสสิคจริงๆ และมันประหลาดดีด้วยที่มาอยู่ในนิยายปริศนาฆาตกรรมแบบนี้ คือแนวคิดเรื่องความรักอะไรแบบนี้ มันสามารถไปอยู่ในนิยายแนวดราม่าชีวิต หรืออยู่ในหนังที่ปอกเปลือกจิตวิญญาณมนุษย์แบบหนังฝรั่งเศสได้เลย

5.ในส่วนของประเด็นของนิยายนั้น เราชอบมากที่นิยายเรื่องนี้พยายามนำเสนอแนวคิดแบบว่า “อย่าด่วนตัดสินใครง่ายๆ”, “อย่ามองคนด้านเดียว”, “อย่าตัดสินคนด้วยอคติหรือฉันทาคติ” อะไรแบบนี้น่ะ และมันนำเสนอประเด็นนี้ผ่านทางหลากหลายวิธี อย่างเช่น

5.1 การสร้างความลึกให้ตัวละครพระเอก เหมือนที่เราเขียนไปแล้วในข้อ 2

5.2 การที่ผู้อ่านจะเปลี่ยนความรู้สึกต่อตัวละครบางตัว เมื่อเนื้อเรื่องดำเนินไป และโดยส่วนใหญ่จะเปลี่ยนไปพร้อมๆกับพระเอก อย่างเช่นตอนแรกเราจะเกลียดกูรข่ามากๆ แต่เมื่อเนื้อเรื่องดำเนินไป เราจะค่อยๆได้เห็นหลายๆด้านของกูรข่ามากขึ้น และเราจะเริ่มเปลี่ยนความรู้สึกที่มีต่อตัวละครตัวนี้ คือเหมือนกับว่า แดนเลฑฑุ์เป็นตัวละครที่ “ลึก” ส่วนกูรข่าเป็นตัวละครที่มีหลายแง่มุม

5.3 ความซับซ้อนของคดีต่างๆในเรื่อง คือความซับซ้อนของคดีต่างๆในเรื่องนี้ มันทำให้เรามองย้อนกลับมาในโลกแห่งความเป็นจริง แล้วก็พบว่า เราไม่สามารถด่วนตัดสินอะไรได้ง่ายๆเสมอไป และยิ่งต้องระวังมากเป็นพิเศษ ในโลกยุคปัจจุบันที่กระแสความเห็นทาง social media มันรุนแรงมากแบบนี้

5.4 แต่กลวิธีที่เราชอบมากๆในนิยายเรื่องนี้ คือกลวิธีเล่าเหตุการณ์เดียวกัน แต่เล่าซ้ำ 3 ครั้งจากมุมมองของคน 3 คนที่มองเหตุการณ์ไม่เหมือนกันน่ะ คือพยานคนแรกเห็นตัวละคร A ทำพฤติกรรม ก แล้วเขาก็จินตนาการว่า A คงทำพฤติกรรม ข ต่อไป แต่พยานคนที่สองเห็นเหตุการณ์เดียวกัน เห็น A ทำพฤติกรรม ก เหมือนกัน แต่เขาจินตนาการว่า A คงทำพฤติกรรม ค ต่อไป แต่ทั้ง ข และ ค มันก็เป็นแค่จินตนาการของพยานเท่านั้น มันอาจจะไม่ใช่ความจริงก็ได้

เราว่ากลวิธีการเล่าเรื่องแบบนี้สนุกมากๆ ดูแล้วนึกถึงหนังกลุ่ม RASHOMON มากๆ และเราว่ามันสะท้อนปัญหาในชีวิตมนุษย์ได้ดีมากๆด้วย นั่นก็คือปัญหาของการจินตนาการเสริมเติมแต่งเหตุการณ์ต่างๆเอาเอง แล้วดันไปมองว่านั่นคือความจริง

6.ส่วนโครงสร้างของนิยายเรื่องนี้ ที่มีการโยงถึงสถานที่ต่างๆทั่วประเทศไทยนั้น เรามองว่ามันเก๋มากๆ และมันน่าสนใจดี เพราะมันแตกต่างจากโครงสร้างของนิยายเรื่องอื่นๆที่เราเคยอ่านมา

6.1 จุดแรกเลยก็คือว่า เราว่ามันให้ความรู้ดีด้วย เพราะสถานที่ต่างๆในนิยายเรื่องนี้เป็นอะไรที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อน การอ่านนิยายเรื่องนี้ก็เลยเหมือนได้ความรู้แบบการอ่าน “สารคดีท่องเที่ยว” ไปด้วย แต่มันสนุกกว่าการอ่าน “สารคดีท่องเที่ยว” น่ะ

คือแน่นอนว่าในแง่ “ความรู้” นิยายเรื่องนี้คงสู้สารคดีท่องเที่ยวไม่ได้อยู่แล้วนะ มันไม่สามารถแทนที่กันได้ แต่เราเป็นคนที่ชอบการผสมกันระหว่าง genre ต่างๆน่ะ เราก็เลยชอบที่นิยายแนวลึกลับตื่นเต้นแบบนี้ มีองค์ประกอบของสารคดีท่องเที่ยวแทรกเข้ามาด้วย มันเป็นการผสมกันของสอง genre ที่น่าสนใจดี

6.2 เราชอบที่บางครั้งการโยงสถานที่ต่างๆในไทย กับเนื้อหาในเรื่อง มันไม่ได้เป็นแค่การที่ตัวละครเดินทางไปยังสถานที่นั้นแบบ road movie น่ะ แต่เป็นการโยงกันผ่านทางพื้นเพของชนชั้นแรงงาน หรือตัวละครประกอบที่เป็นคนจากพื้นที่ต่างๆในชนบททั่วไทย ที่เดินทางออกจากบ้านเกิดเมืองนอน เพื่อมาทำงานในอีกเมืองนึง

เราว่าการโยงแบบนี้ มันแตกต่างจากการสร้างภูมิหลังให้ตัวละครประกอบในนิยายทั่วๆไปน่ะ คือในนิยายทั่วไปเวลาตัวละครประกอบมีภูมิหลัง เราก็จะได้รับรู้ “อดีต” ของเขาว่าเขาเคยเป็นใครทำอะไรมาบ้าง คือเราจะได้รับรู้เรื่องราวของตัวละครตัวนั้นใน “มิติเชิงเวลา” เป็นหลักน่ะ

แต่ตัวละครประกอบในนิยายเรื่องนี้ มันมี “มิติเชิงสถานที่” ด้วย มันมีการระบุชัดว่าตัวละครประกอบตัวนี้ มาจากอำเภอไหนในจังหวัดไหนของไทย แทนที่จะบอกแค่ว่า เธอมาจากชนบทแห่งหนึ่งในภาคอีสาน เพราะฉะนั้นการอ่านนิยายเรื่องนี้ มันก็เลยเหมือนมีการเพิ่มมิติหรือมุมมองที่แตกต่างจากนิยายเรื่องอื่นๆด้วย

สาเหตุที่เราชอบจุดนี้มากๆ คือมันทำให้เรามองคนในชีวิตจริงเปลี่ยนไปด้วยแหละ คือเหมือนก่อนหน้านี้ เวลาเราเดินในซอย แล้วเห็นพ่อค้าหนุ่มหล่อขายปลาหมึกย่าง, คนงานหนุ่มหล่อเข็นรถเข็น, แม่ค้าขายน้ำเต้าหู้, พ่อค้าขายเครป เราอาจจะแค่จินตนาการว่า “ชีวิตพวกเขาเป็นยังไงในปัจจุบัน พวกเขายากลำบากขนาดไหน หรือมีความสุขมากน้อยแค่ไหน” แต่พอเราอ่านนิยายเรื่องนี้ เราจะแอบสงสัยขึ้นมาว่า แต่ละคนมาจากจุดไหนของไทยด้วย คือเป็นไปได้ที่เราแค่เดินผ่านคนต่างๆ 50 คน ในซอยเราในเวลา 5 นาที คน 50 คนนั้นอาจจะมาจากจังหวัดที่ต่างกันไม่ต่ำกว่า 20 จังหวัดก็ได้ (ซอยเรามีอพาร์ทเมนท์อยู่เยอะ และเราว่าคนที่อาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนท์ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจากต่างจังหวัดที่เข้ามาเรียนมหาลัยในกรุงเทพ)

เราก็เลยชอบจุดนี้ของนิยายเรื่องนี้มากๆ คือมันเหมือนเพิ่ม “มิติเรื่องสถานที่” ให้แก่เราเวลาเรามองคนต่างๆน่ะ ซึ่งเป็นจุดที่เราไม่เคยมองมาก่อน

6.3 แต่เราว่าการโยงสถานที่บางอันก็แถมากๆจนฮานะ โดยเฉพาะตอน “สามพันโบก” นี่ เรางงมากๆ คืออ่านรอบแรกแล้วจับไม่ได้เลยว่าเนื้อหาในตอนนั้นมันโยงกับ “สามพันโบก” ตรงไหนฟะ ต้องอ่านรอบสองแล้วถึงจะพอเห็นจุดที่เชื่อมโยงกันได้ 555

7.ทั้ง “ห่มแดน” และ “นิราศมหรรณพ” นี่เราต้องอ่านสองรอบ แล้วถึงจะรู้สึกเข้าใจชัดเจนว่า ตกลงใครทำอะไรที่ไหนเพราะคำสั่งของใคร คือมันซับซ้อนมาก

คือในกาหลมหรทึกนี่ เราอ่านรอบเดียวแล้วเคลียร์เลย อาจจะเป็นเพราะมันมีตัวละครที่อธิบายเรื่องราวต่างๆได้เคลียร์ในตอนท้ายมั้ง

ส่วนใน “ห่มแดน” นี่ มันมีตัวละครผู้ร้ายหลายตัวมาก แล้วมันไม่ใช่ “ผู้ร้ายกลุ่มเดียว” ด้วยไง มันเลยเหมือนมีผู้ร้ายหลายตัวที่ไม่ได้อยู่กลุ่มเดียวกัน แล้วบางตัวก็ซ้อนแผนกัน แล้วยังมีตัวละครประเภท “นกสองหัว” หลายตัวมากๆ คืออ่านแล้วจะงง คือเรารู้ว่า A ก่อเหตุ ก แต่เราไม่รู้ว่า A ก่อเหตุ ก เพราะ A รับคำสั่งมาจาก B หรือ A รับคำสั่งมาจาก C หรืออี A คิดจะทำเอง โดยไม่ได้รับคำสั่งจากใคร

คือเหตุการณ์ปริศนาบางอันในห่มแดนนี่มันมีการบงการกันหลายชั้นมากน่ะ คือพออ่านรอบสองแล้วถึงเข้าใจได้ว่า มันมีการยุยง+บงการต่อกันเป็นทอดๆถึง 5 ชั้น อะไรทำนองนี้

แต่เราก็ชอบนะที่มันมีตัวร้ายหลายตัวแบบนี้ แต่บางทีอาจต้องมีภาคผนวกในตอนท้ายไปเลย เพื่อสรุปว่า ตกลงใครทำอะไรที่ไหนเมื่อไหร่ 555

คือตอนอ่านจบรอบแรก เราจะนึกถึงหนังเรื่อง THE BIG SLEEP (1946, Howard Hawks) ที่สร้างจากเรื่องสั้นของ Raymond Chandler น่ะ คือ THE BIG SLEEP มันจะคล้ายกับ ห่มแดน ในแง่ของการสร้างปริศนาลับอย่างไม่หยุดหย่อน ยิ่งตัวละครสืบลึกเข้าไปเท่าใด ก็ยิ่งเจอปริศนาพาสนุกต่อไปเรื่อยๆ แต่พอดูจนจบ เรื่องคลี่คลายแล้ว เรากลับสงสัยว่า “เอ๊ะ แล้วตกลงฆาตกรคนแรกคือใคร” อะไรทำนองนี้ 555 คือเหมือนมันสร้างปริศนา 1 2 3 4 5 6 7 8 9 ไปเรื่อยๆ แล้วก็ทยอยเฉลยปริศนา 8 9 5 6 4 7 3 2 แล้วก็จบเรื่อง แต่มันไม่ได้เฉลยปริศนาอันที่หนึ่ง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องทั้งหมด

แต่พออ่าน ห่มแดน รอบสอง เราก็รู้สึกว่าเรื่องเฉลยเคลียร์หมดนะ เพียงแต่มันซับซ้อนกว่านิยายทั่วไปเท่านั้นเอง

8.ถึงแม้เรารู้สึกว่า “ห่มแดน” มีการลงลึกทางจิตใจตัวละครในแบบที่เข้าทางเราสุดๆ แต่เราก็อาจจะชอบนิยายเรื่องนี้น้อยกว่ากาหลมหรทึก กับนิราศมหรรณพ หน่อยนึงนะ

คือเราว่า “ห่มแดน” มันอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงมากที่สุด เมื่อเทียบกับนิยายอีกสองเรื่องน่ะ คือตัวละครฝ่ายผู้ร้ายในเรื่องนี้ ไม่ได้มีความบ้าแบบในเรื่องอื่นๆ ตัวละครผู้ร้ายในเรื่องนี้ มีแรงจูงใจที่สมเหตุสมผลมากกว่าผู้ร้ายในเรื่องอื่นๆ แต่เราอาจจะรู้สึกว่า “ฆาตกรต่อเนื่อง” แบบในกาหลมหรทึก มัน “ระทึก” กว่าผู้ร้ายสติดีแบบใน ห่มแดนน่ะ

และเราก็ชอบ “โลกแฟนตาซี” แบบในนิราศมหรรณพมากกว่าด้วยน่ะ 555 เราว่าการที่ห่มแดนเลือกที่จะอยู่ใน “โลกแห่งความเป็นจริง” มันก็เป็นข้อดีในตัวมันเอง เพราะมันไม่ซ้ำกับในนิราศมหรรณพ และมันก็อาจจะสร้างความพึงพอใจให้ผู้อ่านบางกลุ่มด้วย

แต่ด้วยรสนิยมส่วนตัวของเรานั้น เราชอบ “โลกแฟนตาซี” แบบนิราศมหรรณพมากกว่าน่ะ มันรู้สึก “อิสระ” ดี คือการได้เข้าไปผจญภัยในโลกแฟนตาซีแบบนิราศมหรรณพ มันรู้สึกไม่มีขีดจำกัดดีน่ะ ขีดจำกัดคือ “จินตนาการของเรา” เองเท่านั้น

ใน “ห่มแดน” นั้น เรารู้สึกอึดอัดกับโลกแห่งความเป็นจริงน่ะ คือมันไม่ใช่ข้อเสียอะไรหรอก เราแค่จะบอกว่า รสนิยมส่วนตัวของเรา ชอบโลกแฟนตาซีเพราะมันทำให้เรารู้สึกอิสระ และโลกแห่งความเป็นจริงทำให้เรารู้สึกอึดอัด เท่านั้นเอง

9.ถ้าเทียบสไตล์ของนิยาย 3 เรื่องนี้แล้ว กาหลมหรทึก จะทำให้เรารู้สึกสนุกเหมือนอ่าน Agatha Christie นะ, ส่วนนิราศมหรรณพทำให้เรารู้สึกสนุกเหมือนอ่าน Dean Koontz ส่วนห่มแดนทำให้เรารู้สึกสนุกเหมือนอ่าน Sidney Sheldon

10.อ้อ อีกเทคนิคที่ชอบมากในนิยายเรื่องนี้ คือการ Flashback เราว่าการ Flashback หลายๆครั้งทำได้นุ่มนวลมากๆ เหมือนการ flashback ในหนังดีๆบางเรื่องเลย

11.ฉากที่ชอบที่สุดในนิยายเรื่องนี้ คือฉากบู๊ของกูรข่า 555 คือถ้าเรากำกับฉากนี้ในละครทีวี เราจะยืดการต่อสู้ให้นานราว 5 นาทีแบบในหนังเรื่อง SO CLOSE (2002, Corey Yuen) 555

12.ปกสวยมาก

13.สรุปว่า รัก “แดนเลฑฑุ์” กับ “โรทัน” มากๆ อาจจะรักตัวละครสองตัวนี้มากกว่าเนื้อเรื่องด้วยซ้ำ 555 คือเราชอบมากๆนะที่นิยาย 3 เรื่องที่เราอ่าน มันสนุกลุ้นระทึกสุดๆเหมือนๆกัน แต่มันมีข้อดีข้อด้อยไม่ซ้ำกัน ในส่วนของกาหลมหรทึกนั้น เราชอบ “ปริศนาพาสนุก” ในนิยายมากๆ และชอบการโยงกับกลบทของไทยมากๆ แต่เราอาจจะไม่ได้รักตัวละครตัวใดมากเป็นพิเศษ

ในส่วนของนิราศมหรรณพนั้น เราชอบโลกแฟนตาซีของมันมากๆ, ชอบที่มันโยงกับวัดเก่าๆในกรุงเทพ และวรรณกรรมเก่าของไทย และชอบการสร้างตัวละครหญิงที่น่าจดจำหลายตัว ยกเว้นตัวนางเอก 555 คือเราไม่ได้รักตัวละครหญิงเหล่านี้นะ แต่เราว่าตัวละครหญิงเหล่านี้มีอิทธิฤทธิ์สูง น่าจดจำมากๆ

ในส่วนของห่มแดนนั้น นิยายเรื่องนี้ดูสมเหตุสมผลมากที่สุด ผู้ร้ายทำในสิ่งที่มีเหตุผลกว่าในกาหลมหรทึก เนื้อเรื่องก็เกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง แต่เรากลับพบว่า มันทำให้เราอึดอัด อย่างไรก็ดี นิยายเรื่องนี้ลงลึกด้านตัวละครมากยิ่งขึ้น ทั้งตัวของแดนเลฑฑุ์และกูรข่า และมันทำให้เรา “หลงรัก” ตัวละครแดนเลฑฑุ์และโรทันด้วย นอกจากนี้ ความรักระหว่างพระเอก-นางเอกใน “ห่มแดน” ก็ดูชัดเจนมากขึ้น ไม่ลอยๆแบบในกาหลและนิราศมหรรณพ


สรุปว่า ดีมากที่นิยายแต่ละเรื่องมีความแตกต่างกัน มันทำให้เราอยากอ่านผลงานเรื่องอื่นๆของปราปต์ต่อไปจ้ะ

No comments: