BANGKOK DWELLERS (2009, Jarurat Theslamyai, Kissada Kamyoung, Alisa
Santasombat, 25min, second viewing, A+30)
ดีใจมากๆที่ได้ดูหนังเรื่องนี้รอบสอง
1.ชอบมากๆที่ตัวละครในหนังเรื่องนี้พูดทั้งภาษาสเปน, ฝรั่งเศส,
อังกฤษ, ญี่ปุ่น และไทย
เรานึกไม่ออกว่ามีหนังไทยเรื่องอื่นๆที่ตัวละครพูดคุยกันด้วยภาษามากมายเท่าหนังเรื่องนี้หรือเปล่า
2.ส่วนแรกของหนังพิศวงมาก ถ้าเราจำไม่ผิด มันเป็นเรื่องของชายหนุ่มที่น่าจะเป็นคนไทย
ที่อยู่ดีๆก็สูญเสียความทรงจำเกี่ยวกับภาษาไทย และพูดได้แต่ภาษาสเปน
เขาไปเดินเที่ยวกับสาวญี่ปุ่น (หรือญี่ปุ่น-บราซิล เราจำไม่ได้เหมือนกัน)
ที่บอกว่าเขาเคยมีบุญคุณกับคุณตาของเธอมาก่อน หรืออะไรทำนองนี้
และชายหนุ่มคนนี้ก็รู้สึกเหมือนเขาไม่มีตัวตนในสายตาของคนอื่นๆ หรือในเมืองนี้
คือส่วนนี้พิศวงมาก เราไม่สามารถตีความอะไรได้เลย แต่ก็ชอบมากๆอยู่ดี
3.ส่วนที่สองของหนังเป็นส่วนที่เราชอบที่สุด
และดูเหมือนจะสื่อสารกับคนดูอย่างตรงไปตรงมาที่สุด มันเป็นเรื่องของชายหนุ่มคนไทยกับคนฝรั่งเศสเล่นหมากกระดานอะไรสักอย่างด้วยกัน
และพูดคุยกันเกี่ยวกับกรุงเทพ โดยหนุ่มฝรั่งเศสพูดว่าเขามาอยู่กรุงเทพเพราะเขาชอบ “ความไร้ระเบียบ”
ของกรุงเทพ ซึ่งจุดนี้ทำให้เรานึกถึงเพื่อนคนไทยของเราที่เคยไปใช้ชีวิตอยู่เยอรมนีแล้วด่า
“ความไร้ระเบียบ” ของกรุงเทพ/เมืองไทยให้เราฟัง คือเราชอบเรื่องแบบนี้มากๆ
เพราะเราไม่เคยไปเมืองนอกน่ะ เราเลยไม่เคยมีประสบการณ์ตรงในจุดนี้ และไม่สามารถเปรียบเทียบได้ว่า
เมืองไทยกับประเทศที่เจริญแล้ว มันต่างกันยังไงบ้าง เราก็เลยชอบหนังตรงจุดนี้
เพราะมันนำเสนอมุมมองของชายฝรั่งเศสคนหนึ่งที่มีต่อเมืองไทย เหมือนอย่างหนัง BANGKOK NITES (2016, Katsuya
Tomita, 183min) ที่นำเสนอมุมมองของชายญี่ปุ่นที่มีต่อเมืองไทย
เพราะมุมมองของคนต่างชาติมันช่วยให้เราเห็นสิ่งที่เราไม่เห็นหรือไม่ทันได้คิดถึงมาก่อน
เพราะเราคุ้นชินกับมันมากเกินไป เรามองว่าหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตของเราเป็น “เรื่องปกติ”
แต่ถ้าหากหนุ่มต่างชาติบางคนมามอง เขาอาจจะมองว่า “สิ่งปกติ”
ต่างๆเหล่านี้ในชีวิตประจำวันของเรา มันอาจจะเป็น “ความไร้ระเบียบ”
อย่างรุนแรงก็ได้
เราไม่มีปัญหากับการนำเสนอทัศนคติของชายฝรั่งเศสในหนังเรื่องนี้นะ
เพราะมันอาจจะไม่ใช่ “ทัศนคติของหนัง” คือถึงแม้ตัวละครในหนังเรื่องนี้จะเชิดชูความไร้ระเบียบ
หนังก็ไม่ได้บอกว่าหนังเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับตัวละครตัวนี้
คือจริงๆแล้วเราว่าหนังอาจจะต้องการ “เสียดสี” หรือ “ด่าความไร้ระเบียบในทางอ้อม”
ก็ได้
4.ส่วนที่สามของหนังเราก็ชอบมาก
เพราะเราไม่สามารถลงความเห็นอะไรได้เลย 555
คือส่วนที่สามของหนังนำเสนอเพียงแค่หญิงสาวคนหนึ่งเดินไปเรื่อยๆในกรุงเทพ
โดยมีการเดินชนคนตรงจุดนึง แล้วก็นั่งพักตรงจุดนึงเท่านั้นเอง
คือดูจบแล้วเราก็ไม่สามารถบอกได้ว่า
4.1 หญิงสาวคนนี้เป็นนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
หรือเป็นคนกรุงเทพที่เดินเที่ยวเล่นชมเมืองไปเรื่อยๆในวันนึง
4.2 หญิงสาวคนนี้เป็นคนเชื้อชาติอะไร
4.3 เราไม่รู้ว่าหนังต้องการจะชมหรือด่ากรุงเทพ
คือถ้าหากจะบอกว่าหนังด่ากรุงเทพ เราก็ไม่แน่ใจ คือตัวละครมีการเดินชนคน
และมีการนั่งพักในจุดที่น่าจะนั่งไม่สบายนัก
แต่เราก็รู้สึกว่าตัวละครไม่ได้แสดงอาการ “ไม่สบาย” หรือร้อนใจ
หรืออึดอัดอะไรออกมา
การที่เราหาข้อสรุปอะไรไม่ได้เลยจากหนังส่วนที่สาม
เป็นสิ่งที่เราชอบมาก เพราะเราว่านี่แหละคือประสบการณ์จริงๆของมนุษย์ที่มีต่อโลกล่ะมั้ง
คือประสบการณ์จริงบางทีมันสรุปออกมาเป็นข้อคิดอะไรง่ายๆไม่ได้หรอก (นึกถึงในหนัง BLADE RUNNER 2049 ที่บอกว่า
เราสามารถแยกแยะระหว่าง memory จริงกับ memory เทียม ได้ ด้วยการดูว่า memory นั้นมัน messy
มั้ย คือถ้า memory นั้นมัน messy มันก็คือ memory จริง)
จริงๆหนังส่วนนี้อาจจะมีสารที่ต้องการสื่อก็ได้นะ
แต่เราอาจจะตีความไม่ออกเองก็ได้ แต่เราก็ชอบหนังส่วนนี้มากๆอยู่ดี
No comments:
Post a Comment