Sunday, February 18, 2018

MALILA: THE FAREWELL FLOWER (2017, Anucha Boonyawatana, A+30)

MALILA: THE FAREWELL FLOWER (2017, Anucha Boonyawatana, A+30)

1.ชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆนะ แต่ชอบ “อนธการ” มากกว่า 555 ซึ่งอันนี้ไม่เกี่ยวกับว่าหนังเรื่องไหนดีกว่ากัน แต่เราว่าน่าจะเกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิตและสภาพจิตของตัวเราเองมากกว่า คือเราว่าสาเหตุที่เราชอบอนธการมากกว่ามะลิลา อาจจะเป็นสาเหตุเดียวกับที่เราชอบ MOONLIGHT (2016, Barry Jenkins) มากกว่า CALL ME BY YOUR NAME ก็ได้ นั่นก็คือดวงจิตของเรามี “ความโกรธเกลียดเคียดแค้นชิงชัง” เป็นเจ้าเรือน ดวงจิตของเราไม่ได้มี “ความรัก ถวิลหา อาลัย” เป็นเจ้าเรือนน่ะ และเมื่อดวงจิตของเราเป็นแบบนี้ เราก็ย่อมอินและถูกดึงดูดเข้าสู่อารมณ์ในหนังแบบอนธการและ MOONLIGHT มากกว่ามะลิลาและ CALL ME BY YOUR NAME

2. MALILA นี่ต้องเป็นหนึ่งในหนังไทยที่เราชอบที่สุดในปีนี้อย่างแน่นอน แต่เราก็ยอมรับแหละว่า wavelength ของมันยังไม่ตรงกับเราแบบ 100% เต็มน่ะ คือถ้ามันจะตรงกับเราแบบ 100% เต็ม มันต้องผสมกับหนังเรื่อง SLEEP HAS HER HOUSE (2017, Scott Barley) แล้วออกมายาวสัก 3 ชั่วโมง แล้วมันอาจจะกลายเป็นหนังที่เราชอบมากกว่าอนธการ และอาจจะเป็นหนึ่งในหนังที่เราชอบที่สุดตลอดกาลไปเลย

แต่อันนี้ไม่ใช่จะบอกว่า MALILA มันมีข้อบกพร่องนะ เราแค่จะเขียนว่า “รสนิยมของเรา” เป็นแบบไหนเท่านั้น คือมันมีหลายๆฉากใน MALILA ที่ทำให้นึกถึง SLEEP HAS HER HOUSE น่ะ โดยเฉพาะในครึ่งหลังของ MALILA นั่นก็คือฉากท้องฟ้าและป่า ที่โผล่มาในหนังประมาณครั้งละ 5-10 วินาที และพอเราเห็นฉากแบบนี้ เราก็เลยจินตนาการว่า ถ้าหากฉากแบบนี้มันยาว 5-10 นาทีแบบใน SLEEP HAS HER HOUSE มันคงจะตรงกับรสนิยมของเราแบบสุดๆไปเลย คือเราอยากจ้องพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า 30 นาทีรวดไปเลย หรือจ้องฟ้าร้องฟ้าผ่า 15 นาทีรวดไปเลย แบบใน SLEEP HAS HER HOUSE อะไรแบบนี้

3.คือเรายอมรับเลยว่า เรา “มีอารมณ์” กับครึ่งแรกของ MALILA มากกว่าครึ่งหลังน่ะ 555 เราชอบเลิฟซีนในหนังมากๆ อันนี้แหละที่ตรงกับรสนิยมของเราที่สุด มากกว่าที่ผู้กำกับคนใดเคยทำได้มาก่อน คือถ้าหากให้เลือกเลิฟซีนในหนังที่เราชอบที่สุดในชีวิต เราว่าเลิฟซีนใน MALILA น่าจะติดอยู่ใน 10 อันดับแรกที่เราชอบที่สุดในชีวิต

ส่วนครึ่งหลังของหนังนั้น เราก็ชอบมากนะ แต่ถ้าถามว่าเรารู้สึก spiritual กับมันแบบสุดๆมั้ย เราก็ไม่ได้รู้สึกกับมันถึงขั้นนั้นนะ เหมือนถ้าหากเทียบกับหนังทั้งหมดที่เราเคยดูมาในชีวิต เราก็รู้สึกกับพลัง spiritual ใน MALILA ประมาณ 9/10 มั้ง ไม่ถึง 10/10 แต่นั่นเป็นเพราะตัวเราเองนะ มันขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคนว่าจะพ้องกับหนังเรื่องไหนน่ะ และเราซึ่งไม่เคยมีแฟนมาก่อน ก็ย่อมไม่อินสุดๆกับหนังในแง่นี้อย่างแน่นอน และเราก็ไม่เคยรู้สึกอาลัยอาวรณ์อย่างรุนแรงกับการเสียชีวิตของใครมาก่อนด้วยมั้ง ไม่รู้เป็นเพราะว่าในอดีตเราเคยคิดจะฆ่าตัวตายด้วยหรือเปล่า เราก็เลย relate กับ “ความตาย” ในอีกแบบนึงน่ะ คือประเด็นที่ว่า “สังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง” มันไม่ใช่ประเด็นที่ resonate กับเรามากนักน่ะ

 ซึ่งมันจะแตกต่างจากหนังอย่าง DIARY OF A COUNTRY PRIEST (1951, Robert Bresson) ที่เราอาจจะรู้สึก spiritual กับมันอย่างรุนแรงสุดๆ คือ DIARY OF A COUNTRY PRIEST มันก็พูดถึง “นักบวช” เหมือนกัน แต่นักบวชหนุ่มคนนี้ไม่ได้มีปมอดีตเกี่ยวกับคนรักหรือการฆ่าคนอะไรแต่อย่างใด แต่เหมือนเขามี “ความอ้างว้างทางจิตวิญญาณ” ที่เราอธิบายไม่ถูกน่ะ มันไม่เกี่ยวกับคนรักหรือความรัก แต่มันเกี่ยวกับ “ความเศร้าของโลกที่เราไม่อาจเยียวยาได้” เราก็เลยอินกับตัวละครในแง่นี้มั้ง

4.นอกจาก “ประสบการณ์ชีวิตของตัวเราเอง” แล้ว อีกสาเหตุที่เราไม่ได้รู้สึก spiritual กับ MALILA แบบสุดๆ คือเรื่องของรสนิยมส่วนตัวด้วยแหละ คือพอดู MALILA เราก็พบว่า “การจ้องธรรมชาติ” นี่แหละ มักจะทำให้เรารู้สึก spiritual

คือนอกจากเลิฟซีนแล้ว มันก็มีอีกสองซีนใน MALILA ที่เราชอบอย่างสุดๆน่ะ นั่นก็คือ

4.1 ซีนในภาพประกอบนี้ ซึ่งเป็นซีนที่ถ่ายคู่รัก แต่กล้องตั้งอยู่หลังใบหญ้า และเราจะเห็นใบหญ้าแกว่งไกวไปมาในฉากนี้

คือกราบฉากนี้มาก คือเรารู้สึกรุนแรงมากกับสายลมที่ทำให้ใบหญ้าแกว่งไกวในฉากนี้ ซึ่งจริงๆแล้วฉากนี้ไม่ต้องถ่ายแบบนี้ก็ได้ คือถ้าตั้งกล้องอีกแบบนึง มันก็จะถ่ายเห็นคู่รัก เล่าเนื้อหาในฉากนี้ได้ครบถ้วนเหมือนเดิม ใบหญ้าและสายลมไม่ได้มีความจำเป็นต่อ “การเล่าเรื่อง” ในฉากนี้แม้แต่น้อย แต่ปรากฏว่าใบหญ้าและสายลมนี่แหละที่ทำให้เรารู้สึกรุนแรงกับฉากนี้มากๆ ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะอะไร แต่คงเป็นรสนิยมส่วนตัวที่อธิบายไม่ได้ของเรานี่แหละมั้ง ที่ทำให้เรารู้สึกรุนแรง หรือรู้สึก spiritual หรือ sublime อะไรบางอย่างเมื่อเห็นอะไรแบบนี้

4.2 ฉากถ่ายพระเคี้ยวอาหาร แล้วแสงแดดมีการเปลี่ยนแปลง ระดับความสว่างความมืดเปลี่ยนไปในขณะที่พระเคี้ยวอาหาร

คือเราชอบ “ความเปลี่ยนแปลงของแสงแดด” ในฉากนี้มากน่ะ และถ้าตาเราไม่ฝาด มันก็มีฉากอื่นๆอีกเหมือนกันที่ระดับความสว่างของแสงแดดมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างในระหว่างที่ฉากดำเนินไป แต่อาจจะไม่ชัดเจนเหมือนฉากพระเคี้ยวอาหาร

ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า “ความเปลี่ยนแปลงของแสงแดด” ในฉากพระเคี้ยวอาหารและฉากอื่นๆ เกิดจาก “ความจงใจ” ของผู้กำกับมากน้อยแค่ไหน หรือเกิดจากการปล่อยไหลไปตามธรรมชาติ แต่ไม่ว่ามันจะเกิดจากธรรมชาติหรือความจงใจ เราก็พบว่าอะไรแบบนี้นี่แหละที่ทำให้เรารู้สึกรุนแรงสุดๆ

คือพอเราพบว่า เรารู้สึกรุนแรงสุดๆกับ “สายลม” และ “แสงแดด” ในสองฉากข้างต้นนี้แล้ว แต่เราไม่ได้รู้สึก spiritual แบบสิบเต็มกับตัวละคร, ปมในใจของตัวละคร หรือเนื้อเรื่อง เราก็เลยจินตนาการต่อได้เลยว่า หนังเรื่องนี้มันจะกลายเป็นหนังที่เข้าทางเราแบบ 100% เต็ม ถ้ามันถ่ายธรรมชาติแบบเนิ่นนานอย่าง SLEEP HAS HER HOUSE น่ะ

คือจริงๆแล้วเราก็ชอบ SLEEP HAS HER HOUSE ในระดับพอๆกับ MALILA นะ นั่นก็คือชอบในระดับ ONE OF MY MOST FAVORITE FILMS OF THE YEAR แต่ไม่ได้ชอบในระดับ ONE OF MY MOST FAVORITE FILMS OF ALL TIME น่ะ แต่เราจินตนาการว่า ถ้าหากเอาหนังสองเรื่องนี้มาผสมเข้าด้วยกัน มันจะเกิด ONE OF MY MOST FAVORITE FILMS OF ALL TIME ขึ้นมา เหมือนกับหนังของ Marguerite Duras และ Chantal Akerman น่ะ คือเราว่า SLEEP HAS HER HOUSE มันเป็น “นามธรรม” เกินไปหน่อยสำหรับเรา มันเป็นการจ้องลมฟ้าอากาศแบบเนิ่นนาน และไม่มีเนื้อเรื่องเป็นก้อนแข็งๆอะไรให้เรายึดจับได้เลย มันมีแต่ลมฟ้าอากาศตลอดทั้งเรื่องจริงๆ ซึ่งเราก็รู้สึก spiritual กับมันมากๆ แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้น “ที่สุดในชีวิต” อะไรแบบนั้น ส่วน MALILA นั้น มันมีเนื้อเรื่องเป็นก้อนแข็งๆให้เรายึดจับได้สบาย แต่เราดันไม่ fit in กับเนื้อเรื่องของมันแบบเต็มที่ (เพราะประสบการณ์ชีวิตและรสนิยมส่วนตัวของเรา) แต่เนื้อเรื่องครึ่งหลังของมันใช้ setting หรือ environment ที่ทำให้นึกถึง SLEEP HAS HER HOUSE มากๆ เราก็เลยจินตนาการว่า ถ้าหากเอาสองเรื่องนี้มาผสมเข้าด้วยกัน มันจะเกิดอะไรที่เข้ากับรสนิยมของเราพอดี เหมือนกับว่า SLEEP HAS HER HOUSE มี “น้ำ” เยอะไป ส่วน MALILA ก็ “แห้ง” เกินไป แต่ถ้าหากเอามาผสมเข้าด้วยกัน มันจะเกิดเป็น “แกงขลุกขลิก” ที่เราต้องการ เหมือนหนังของ Duras และ Akerman ที่มีเนื้อเรื่องบางๆให้ยึดเกาะ แต่ก็ให้ความสำคัญกับ “บรรยากาศ” อย่างรุนแรงมากๆ

เรื่องรสนิยมส่วนตัวของเราเองนี้ ในแง่นึงมันก็ทำให้นึกถึงตัวละครในเรื่องด้วยแหละ คือเราว่าคนแต่ละคนจะมีวิธีการที่เฉพาะและเหมาะกับตัวเองในการ “ยกระดับสภาพจิตใจ” ของตัวเองน่ะ คือพิชใช้ “การทำบายศรี” เพื่อสร้างความสุขทางใจให้แก่ตัวเอง ส่วน “หลวงพี่ผู้พัน” ก็ใช้การทำอสุภกรรมฐาน ในการยกระดับจิตใจตัวเอง คือคนแต่ละคนจะมีวิธีการที่เหมาะกับตัวเองแตกต่างกันไปน่ะ และเราก็ค้นพบว่า การจ้องธรรมชาติหรือ “บรรยากาศ” แบบใน SLEEP HAS HER HOUSE หรือหนังของ Teeranit Siangsanoh นี่แหละ คือการทำกรรมฐานที่เหมาะกับตัวเราเอง นี่แหละคือวิธีการสร้างความรู้สึก spiritual ของเรา เพราะฉะนั้นการที่เราไม่ได้รู้สึก spiritiual สุดๆกับหนังเรื่องนี้จึงไม่ใช่ข้อบกพร่องของหนังแต่อย่างใด มันเป็นเรื่องของประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกันของแต่ละคน และต่อม spiritual ของแต่ละคนที่จะถูกกระตุ้นได้ด้วยอะไรที่แตกต่างกัน

5.เหมือนจะพูดถึงแต่ประเด็นที่ว่า “ทำไมหนังเรื่องนี้ถึงไม่ตรงกับรสนิยมของเราแบบสุดๆ” นะ 555 เพราะเราต้องการบันทึกความรู้สึกของเราเป็นหลักน่ะ และถ้าเราไม่บันทึกสิ่งนี้ไว้ ก็จะไม่มีคนอื่นมาเขียนแทนเราได้ แล้วเราก็กลัวว่าเราจะลืมมันไปในอนาคต เราก็เลยต้องรีบบันทึกไว้เอง ส่วนความดีความงามของหนังเรื่องนี้นั้น เพื่อนๆหลายคนได้เขียนถึงไปแล้ว และเราก็เห็นด้วยอย่างสุดๆ และเราก็แชร์มาหน้าวอลล์เราเยอะแล้ว เพราะเราขี้เกียจเขียนเอง 555

ลิสต์ของสิ่งที่เราชอบในหนังเรื่องนี้ แบบคร่าวๆ

5.1  ชอบที่ตัวละครนำทั้งสามตัวมีอดีตที่เจ็บปวด ทั้งพิชที่มีแม่ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบ และเขาก็เคยผิดหวังจากเชนที่ไม่ยอมหนีตามเขาไป, เชนเองก็ติดเหล้า, ลูกตาย, เมียทิ้ง ส่วนหลวงพี่ผู้พันก็มีอดีตบางอย่างคอยหลอกหลอน

ชอบที่พิชกับหลวงพี่ผู้พัน “ป่วยทั้งกายและมีบาดแผลทางใจ” ด้วย คือนอกจากตัวละครสองตัวนี้จะมีอดีตที่เจ็บปวดแล้ว พิชก็ป่วยเป็นมะเร็ง ส่วนหลวงพี่ผู้พันก็ดูเหมือนจะมีสภาพร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวยให้เขาสามารถทำตามใจต้องการได้

5.2 ชอบที่หนังเจาะลึกเข้าไปใน “อารมณ์ความรู้สึก” ของตัวละครเลยตั้งแต่ครึ่งแรก คือเราว่าถ้าหากเป็นหนังทั่วไป มันจะเน้น “เล่าเรื่อง” น่ะ มันจะเน้นแสดงให้เห็นว่า “ใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร” แต่เราว่าหนังเรื่องนี้เน้นสะท้อน “อารมณ์ความรู้สึก” ของตัวละคร มากกว่า “เหตุการณ์” ตั้งแต่ครึ่งเรื่องแรกเลยน่ะ ซึ่งมันเป็นอะไรที่ยาก แต่หนังเรื่องนี้ทำได้สำเร็จอย่างงดงาม

5.3 การจัดแสงของหนังเรื่องนี้หนักมาก เราว่ามันจัดแสงงามมากทุกฉาก ซึ่งต้องชมทั้งผู้กำกับ, ตากล้อง และคนทำ post production ด้วยมั้ง

การจัดแสงที่ติดตาเรามากที่สุด คือ “แสงอาทิตย์ที่ตกกระทบขนรักแร้ของเวียร์” 555 คือมันมีฉากที่เวียร์นอนอยู่ในบ้าน หลังจากได้รับพวงมาลัยจากพิชน่ะ แล้วมันมีฉากที่แสงอาทิตย์ตกกระทบขนรักแร้ของเขาแล้วเกิดเป็นอะไรที่งดงามติดตาตรึงใจมากๆ 555 ไม่รู้ฉากนั้นจัดแสงกันได้ยังไง มันถึงตกกระทบขนรักแร้ได้งามแบบนี้ หรือเป็นฝีมือของ colorist ที่ทำให้มันออกมาเป็นแบบนี้

5.4 เราชอบที่หนังใส่ใจในรายละเอียดดีมากด้วยแหละ อย่างเช่นฉากทำอสุภกรรมฐาน แล้วเราจะเห็นว่าจีวรพระทั้งสองรูปมี “รอยเหงื่อ” อยู่กลางหลังน่ะ ซึ่งเราว่ามันจริงดี คือพระที่อยู่ในป่าแบบนี้ ก็คงต้องมีเหงื่อออกแบบนี้นี่แหละ

5.5 ชอบมากๆที่หนังพูดถึงศิลปะการทำบายศรี ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่เคยรับรู้มาก่อน และชอบมากๆที่หนังพูดถึง “บายศรี” ในฐานะสิ่งประดิษฐ์อันงดงามที่มีอายุอันแสนสั้น คือจุดนี้ทำให้นึกถึงหนังสารคดีเรื่อง WHEEL OF TIME (2003, Werner Herzog) มากๆ เพราะ WHEEL OF TIME เล่าถึงประเพณีของวัดทิเบต ที่ต้องสร้างศิลปะที่งดงามมากๆจากทราย แล้วพอสร้างเสร็จ ชื่นชมมันได้แป๊บนึง ก็ต้องทำลายมันไป เพื่อสอนเรื่อง “อนิจจัง”

5.6 ชอบมากๆที่หนังพูดถึงกิจวัตรบางอย่างของพระด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราแทบไม่เคยเห็นในหนังเรื่องอื่นๆมาก่อนเช่นกัน อย่างเช่นการมองเส้นลายมือในตอนเช้ามืด เพื่อใช้ตัดสินใจว่าควรเริ่มออกบิณฑบาตหรือยัง, การปักกลดธุดงค์, การนับคำเคี้ยวอาหาร, และที่ชอบสุดๆก็คือการทำอสุภกรรมฐานนี่แหละ เป็นอะไรที่หนักมากๆ และน่าสนใจมากๆ ชอบมากๆที่หนังหยิบเรื่องนี้มานำเสนอ

6. ชอบความคล้องจองกันของครึ่งแรกกับครึ่งหลังด้วย อย่างเช่น

6.1 มีฉากกอดศพลูกในครึ่งแรก และครึ่งหลังก็มีตัวละครกอดศพเหมือนกัน
6.2 มีการพูดถึง “ความรุนแรงในสังคม” ทั้งในครึ่งแรกและครึ่งหลัง โดยครึ่งแรกเป็นเรื่องการทรมานผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบ ส่วนครึ่งหลังคือการสู้รบกันในป่า
6.3 มีฉากตัวละครอ้วกทั้งในครึ่งแรกและครึ่งหลัง
6.4 มีฉากตัวละครช่วยเหลือคนป่วยทั้งในครึ่งแรกและครึ่งหลัง
6.5 ตัวละครแสวงหา “สถานที่แห่งความสุข” สำหรับตัวเอง ทั้งความสุขทางโลกย์ในครึ่งแรกและความสุขทางธรรมในครึ่งหลัง โดยสถานที่นั้นในครึ่งแรกเป็นเหมือนเพิงกลางทุ่งสำหรับคู่รัก ส่วนสถานที่นั้นในครึ่งหลังคือป่าที่มีศพ
6.6 มีการลอยน้ำทั้งในครึ่งแรกและครึ่งหลัง                                          

7.สรุปว่าเป็นหนังที่ชอบสุดๆน่ะแหละ แต่ยอมรับว่าเราติดใจ “รสกาม” มากกว่า “รสพระธรรม” ในหนังเรื่องนี้ 555 คือผู้กำกับคนนี้มี taste เรื่องผู้ชายใกล้เคียงกับเรามั้ง รสกาม” ที่ได้จากหนังเรื่องนี้หรือหนังอย่าง EROTIC FRAGMENT NO. 1, 2, 3 (2011, Anucha Boonyawatana) ก็เลยเข้าปากเราอย่างสุดๆ แทบไม่มีผู้กำกับคนไหนจะแซงหน้าในด้านนี้ได้ ส่วนรสพระธรรมในหนังเรื่องนี้นั้น เราก็ “admire” มันอย่างสุดๆนะ ชอบที่มันเป็นตัวของตัวเองมากๆ ทั้งลึกซึ้งมากๆและแตกต่างจากหนังหลายๆเรื่องที่เราเคยดูมา เพียงแต่ว่าต่อม spiritual ของเราอาจจะไม่ตรงกับหนังเรื่องนี้ซะทีเดียวน่ะ 555

                                                                                  

No comments: