Monday, June 11, 2018

GAHOLMAHORATUEK (2018, Worrawit Kattiyayothin, TV Series, 26 episodes, A+30)


GAHOLMAHORATUEK (2018, Worrawit Kattiyayothin, TV Series, 26 episodes,  A+30)
กาหลมหรทึก (วรวิทย์ ขัตติยโยธิน)

พอป่วย ก็เลยต้องนอนซมอยู่บ้าน เมื่อวานก็ออกไปดูหนังไม่ได้ วันนี้ก็ออกไปทำงานไม่ได้ ก็เลยได้ดูกาหลมหรทึกจนจบ :-)

1.ชอบที่ละครมันดัดแปลงออกมาให้แตกต่างจากนิยายมากพอสมควร แล้วก็ทำออกมาได้ดี ทำให้นึกถึงละครทีวีอีกสองเรื่องที่เราคิดว่าทำได้ดีแบบนี้เหมือนกัน ซึ่งก็คือ “กฤตยา” (1989, วรยุทธ พิชัยศรทัต) ที่สร้างจากบทประพันธ์ของทมยันตี และนำแสดงโดย ชุดาภา จันทเขตต์ กับ “ล่า” (1994, สุพล วิเชียรฉาย) ที่สร้างจากบทประพันธ์ของทมยันตี คือเราว่าละครทีวีสองเรื่องนี้กับ กาหลมหรทึก แสดงให้เห็นว่าคนเขียนบทละครทีวี “คิดหนักมาก” น่ะ เพราะแทนที่คนเขียนบทจะแค่เขียนบทไปตามตัวนิยาย แต่คนเขียนบทเหมือนเอาตัวนิยายเดิม มากลั่นกรองใหม่อย่างจริงจัง แล้วใช้จินตนาการอันล้ำเลิศของตัวคนเขียนบทละครมาช่วยผสมผสานเติมแต่งเข้าไป แล้วแปรรูปเนื้อเรื่องในตัวนิยายให้มันแตกต่างไปจากเดิมเป็นอย่างมาก

อีกอย่างที่ชอบสุดๆในบทละครทีวีเรื่องนี้ ก็คือการให้ความสำคัญกับตัวประกอบยิบย่อยมากมายหลายตัว และพยายามทำให้ตัวประกอบยิบย่อยหลายตัวนั้นดูเป็นมนุษย์ขึ้นมาจริงๆ  ตั้งแต่บทนายฉม, หลวงพ่อเปิ่น (ไมเคิล เชาวนาศัย), นายลิ่ว (พลภัคค์ วัชรพงศ์หิรัญ), พ่อบ้านของเถ้าแก่ฮวด, คุณนายสังวาลย์ ประพนธ์ธรรม (ณหทัย พิจิตรา), สาวใช้ชื่อ บัว (อัจฉรียา โพธิพิพิธธนากร), นายอ่ำ (วรกร ศิริสรณ์) และยายอร (รัดเกล้า อามระดิษ) ตัวละครเหล่านี้ดูมีมิติความเป็นมนุษย์ขึ้นมามาก เพราะบทละครทีวีช่วยไว้

2.งาน production design และการคิดฉากคิดซีนหลายๆซีนก็ทำออกมาได้ดีนะ อย่างที่เราทยอยโพสท์ถึงไปเรื่อยๆแล้วในแต่ละตอน 555 บรรยายไม่หมดหรอกว่ามีฉากไหนบ้างที่เราชอบมากในละครเรื่องนี้

3.ในส่วนของการแสดงนั้น เราชอบการแสดงของรัดเกล้ามากสุด และชอบการแสดงของโอ อนุชิตเป็นอันดับสอง

ส่วนวิว วรรณรท สนธิไชย, แทค ภรัณยู กับพลวัฒน์ มนูประเสริฐนั้น เราว่าเล่นใช้ได้เลย คืออาจจะไม่ถึงขั้นเทพแบบสองคนข้างต้น แต่ก็ถือว่าสอบผ่านสำหรับเรา

สรพงษ์ ชาตรีก็เล่นได้ดีมาก แต่มันไม่น่าแปลกใจ เพราะมันเป็นมาตรฐานของแกอยู่แล้ว

ในส่วนของพระเอกนั้น เราว่าก็พอถูไถไปได้ คือสาเหตุหนึ่งอาจจะเป็นเพราะบทไม่เอื้อด้วยแหละ เหมือนบทพระเอกหนังเรื่องนี้ กับบทประเภท Hercule Poirot มันเป็นบทที่ไม่เปิดโอกาสให้นักแสดงได้แสดงอะไรมากนักก็ได้มั้ง คือจะว่าพระเอกเล่นไม่ดี เราก็พูดได้ไม่เต็มปาก คือเรารู้สึกว่าตัวละครนี้มันไม่น่าประทับใจมากเท่าตัวละครคนอื่นๆ แต่ความไม่น่าประทับใจของตัวละครตัวนี้ มันไม่ได้เกิดจากฝีมือของนักแสดงเพียงอย่างเดียว แต่มันเกิดจากตัวนิยาย/บทละครทีวีด้วย ที่สร้างตัวละครพระเอกที่แบนๆ เหมือนตัวละครประเภท Hercule Poirot (ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรในนิยาย genre นี้) คือเราว่านักแสดงก็พยายามแสดงสีหน้าสีตาเคร่งเครียด ถมึงทึง คิดหนัก อะไรไปตามบทนั่นแหละ ซึ่งก็อาจจะเป็นการแสดงที่ดีที่สุดเท่าที่บทจะเอื้อให้แสดงได้แล้ว

ส่วนนักแสดงที่ดูเหมือนเล่นแย่ที่สุด แต่เราไม่ว่าอะไรทั้งสิ้น ก็คือยุกต์ ส่งไพศาล 555 คือเขาโผล่มาฉากเดียว แต่การแสดงของเขา เหมือนเขากำลัง “เล่นกับกล้อง” มากกว่าเล่นกับตัวละครที่อยู่ในฉากเดียวกัน 555 คือตอนดูจะสงสัยว่า มึงเป็นตัวละครที่กำลังคุยอยู่กับตัวละครด้วยกัน หรือมึงเป็นนายแบบที่กำลังเล่นกับกล้อง 555

4.แน่นอนว่าสิ่งที่ชอบที่สุดอย่างนึงในละครทีวีเรื่องนี้ ก็คือนักแสดงชายหน้าตาดีจำนวนมาก โดยเฉพาะยุทธนา เปื้องกลาง ในบทพระมหาสุชีพ กับชลวิทย์ มีทองคำ ในบทหมวดกบี่

ความจิ้นวายที่ใส่เข้ามาในเรื่องก็ดีมาก ทั้งระหว่างแชน-กบี่ และนายกล้า-นายอ่ำ

5.แต่ตอนดูก็แอบนึกเสียดายเหมือนกันว่า ถ้าหากไม่ได้อ่านนิยายมาก่อน เราจะสนุกกับมันมากกว่านี้เยอะไหม 555 ซึ่งเรื่องนี้เป็นจุดอ่อนของนิยายแบบ WHODUNIT โดยทั่วไปนั่นแหละ คือความสนุกสุดขีดของมันอยู่ตรงที่การไม่รู้เนื้อเรื่องมาก่อน และผู้อ่าน/ผู้ชมได้ขบคิด คาดเดาไปพร้อมๆกับตัวละครเอกว่าใครเป็นฆาตกร อย่างตอนที่เราอ่านนิยายเรื่องนี้ เราก็เดาตัวละครฆาตกรและจอมบงการไม่ออกเหมือนกัน และมันทำให้เรา surprise มากเมื่ออ่านนิยายมาถึงช่วงท้ายเรื่อง

จุดอ่อนของเรื่องประเภทนี้ก็คือว่า พอเรารู้คำเฉลยหมดแล้ว อรรถรสของมันก็จะลดลงไปส่วนนึงน่ะ

จำได้ว่าตอนเด็กๆเคยดูละครทีวีเรื่อง “ทะเลเลือด” (1986, อดุลย์ ดุลยรัตน์) ที่สร้างจาก DEATH ON THE NILE ของ Agatha Christie ตอนนั้นเราไม่รู้เนื้อเรื่องในตัวนิยายมาก่อน และเราจำได้ว่าตอนดู “ทะเลเลือด” นี่ “เปลี่ยนความคิดทุกเบรคโฆษณา” ว่าใครคือฆาตกร คือมันลุ้นมากๆ และคนเขียนบทละครทีวีเรื่อง “ทะเลเลือด” นี่ก็เก่งมากๆด้วยแหละ คือมีการใส่ clue เข้ามาเพื่อเปลี่ยนความคิดคนดูทุกช่วงเบรค คือพอเราดูเบรคนึง เราอาจจะคิดว่า อมรา อัศวนนท์เป็นฆาตกร แต่พอดูอีกเบรคนึง เราก็คิดว่า พรพรรณ เกษมมัสสุเป็นฆาตกร แล้วก็จะเปลี่ยนความคิดไปเรื่อยๆในทุกเบรคโฆษณา

ละครทีวีอีกเรื่องนึงที่ประทับใจมากๆในแง่การคาดเดา ก็คือ “พรสีเลือด” (1978, อดุลย์ กรีน) ที่นำแสดงโดยนาท ภูวนัย, มยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช กับช่อเพชร ชัยเนตร คือ “พรสีเลือด” นี่มันสร้างจาก AND THEN THERE WERE NONE ของ Agatha Christie แต่ตอนที่เราดู “พรสีเลือด” นี่ เราไม่รู้เนื้อเรื่องมาก่อน เราก็เลยลุ้นสุดๆตอนดู แต่ไม่ได้ลุ้นว่าใครเป็นฆาตกรนะ แต่ลุ้นว่าใครจะอยู่หรือใครจะตาย เพราะตัวละครจะค่อยๆถูกสังหารโหดไปทีละคน ทีละคน เหมือนในละครหนึ่งตอน จะมีตัวละครถูกฆ่าตายหนึ่งคน ถ้าจำไม่ผิด

ก็เลยแอบเสียดายนิดหน่อย ที่อ่านนิยายเรื่อง “กาหลมหรทึก” มาก่อน 555

แต่ถึงแม้รู้เนื้อเรื่องมาแล้ว เราก็ยังดูละครเรื่องนี้สนุกอยู่ดีนะ เพราะละครก็ทำออกมาได้ดี, มีการดัดแปลงเนื้อเรื่องไปเยอะ และมีการเฉลยฆาตกรและจอมบงการเร็วกว่าในนิยายเยอะมาก

6.ถึงแม้เราจะประทับใจกับละครทีวี กาหลมหรทึก มากๆ โดยเฉพาะในแง่ “บทละครทีวี” แต่ถ้าหากถามว่า มันเข้าทางเราจริงๆหรือเปล่า เราก็อาจจะตอบว่า มันเข้าทางเราแค่ 75% มั้ง 555

เหมือนกับว่าเราเองก็ไม่ได้ชอบนิยายแนว WHODUNIT ของ Agatha Christie หรือ Mary Higgins Clark มากแบบสุดๆเหมือนตอนเด็กแล้วน่ะ คือนิยายหรือเนื้อเรื่องประเภท Whodunit นี่ อาจจะไม่ใช่แนวทางเราแล้ว

ตอนนี้เราชอบเรื่องราวฆาตกรรมแบบในหนังของ Claude Chabrol หรือพวกหนังที่สร้างจากนิยายของ Ruth Rendell, Patricia Highsmith และ Georges Simenon มากกว่า คือในหนังกลุ่มนี้ มันจะมีเหตุการณ์ฆาตกรรมเกิดขึ้น แต่ประเด็นที่ว่าใครคือฆาตกรไม่ใช่ประเด็นสำคัญอีกต่อไป เพราะหนังกลุ่มนี้มันจะเน้นเจาะลึกไปที่จิตใจมนุษย์แต่ละคนที่เกี่ยวข้องโดยตรงหรือโดยอ้อมกับคดีฆาตกรรมนั้น และอะไรแบบนี้ก็เป็นสิ่งที่เข้าทางเรามากที่สุด (ก็ดูจาก cover photo ของดิฉันสิคะ cover photo ของดิฉันเป็นภาพจากหนังเรื่อง LA CEREMONIE ที่กำกับโดย Claude Chabrol และสร้างจากนิยายของ Ruth Rendell)

 สรุปว่า ชอบละครทีวี “กาหลมหรทึก” มากๆ มันเป็นการดัดแปลงนิยายออกมาเป็นละครทีวีที่แตกต่างไปจากบทประพันธ์ดั้งเดิมได้ดีมาก และมันแสดงให้เห็นว่าตัวคนเขียนบทละครทีวีทำงานหนักมากในแง่การดัดแปลง และมีการคิดฉากคิดซีนต่างๆที่น่าประทับใจออกมาได้หลายซีนเกือบตลอดทั้งเรื่อง แต่เราก็ยอมรับนะว่าละครทีวีเรื่องนี้อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เข้าทางเราจริงๆจ้ะ



No comments: