Tuesday, June 12, 2018

TOIRALLEL TIMES (2018, Chanasorn Chaikitiporn, 45min, A+30)


TOIRALLEL TIMES (2018, Chanasorn Chaikitiporn, 45min, A+30)
สุขากาลเวลา

SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
1.ชอบความประหลาดของหนัง เราว่าหนังมันแปลกดี และชอบที่ตัวละครที่แปลกแยก 4 คนมาเจอกัน โดยที่แต่ละคู่เหมือนเป็นการเจอกับตัวเองในอนาคต หรือเจอกับตัวเองในอดีต และมันก็เลยเศร้า เมื่อเราที่แปลกแยกจากสังคมในวัยรุ่น โตขึ้นก็กลายเป็นผู้ใหญ่ที่แปลกแยกจากสังคมอยู่ดี

2.ประเด็นของหนังก็น่าสนใจและ thought provoking ดี มันเหมือนพูดถึง เชื้อโรคที่มนุษย์รังเกียจ, ห้องส้วม ที่มนุษย์รังเกียจ, ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ และตัวละครที่ประสบปัญหาทั้งจาก “ปัญหาภาคใต้” และจาก “ปัญหาในครอบครัวตัวเอง”

ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด หนังอาจจะพยายามเปรียบเทียบสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกัน ปัญหาความเกลียดชังหรือความหวาดระแวงคนต่างศาสนา หรือปัญหาความรุนแรงที่รัฐกระทำกับประชาชน อาจจะเหมือนอคติของคนที่มีต่อเชื้อจุลินทรีย์ และอคติของคนที่มีต่อห้องส้วม และตัวละคร 4 คนนี้ ที่แปลกแยกจากทั้งสังคม (เพราะอพยพจากภาคใต้มาอยู่เมืองอื่น) และจากครอบครัวตัวเอง ก็เลยมาเจอกันในห้องส้วม และต่อมาตัวละครบางคนก็ไปปรากฏตัวใน “ลานจอดรถ” ซึ่งเป็นสถานที่ที่ desperate มากๆ เพราะมันเป็นสถานที่สำหรับคนที่ “ไม่อยากกลับบ้าน” แต่ก็ “ไปไหนไม่ได้” จริงๆ คนที่ “ไม่อยากกลับไปเจอครอบครัวตัวเอง” แต่ก็ไม่รู้จะไปที่ไหนดีแบบนี้ บางทีก็เหมือนวิญญาณเคว้งคว้าง เปลี่ยวเหงา และต้องเตร็ดเตร่อยู่ในสถานที่ที่ “พักพิงไม่ได้” อย่างเช่น ห้องส้วมและลานจอดรถแบบนี้

3.ชอบฉากอุโมงค์มากๆ ไม่รู้เหมือนกันว่ามันคืออะไร แต่มันทำให้เรานึกถึงอุโมงค์กาลเวลา มันเหมือนตั้มเป็นอนาคตของน้องต้น และตาลเป็นอนาคตของน้องเตย และฉากอุโมงค์นี้ก็คือการเชื่อมอดีตกับอนาคตของตัวละครเหล่านี้เข้าด้วยกัน

ฉากอุโมงค์นี้ทำให้นึกถึงฉากคลาสสิคใน SOLARIS (1971, Andrei Tarkovsky) ด้วย

4.แต่จริงๆแล้วเราชอบพวกฉาก insert ในหนังมากกว่าฉากหลักที่เป็นตัวละคร 4 คนคุยกันนะ เราว่าพวกฉากที่ตัดอะไรมากมายมาปะติดปะต่อกัน, ฉาก graphic เชื้อโรคอะไรพวกนี้ มันดูดี แต่ฉากหลักที่เป็นตัวละคร 4 คนคุยกัน เรามีปัญหาอยู่บ้าง

5.ฉากหลักที่เป็นตัวละครคุยกัน และฉากขี้ตอนต้นเรื่อง เรามีปัญหากับมัน คือในแง่นึงเราว่ามันเป็น dilemma ของการนำเสนอสิ่งที่ disgusting  หรือสิ่งที่ไม่สวยงามน่ะ และเราเองก็ยังไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเราควรจะลงความเห็นยังไงดีต่อ dilemma นี้

คือเราว่าฉากขี้ตอนต้นเรื่อง มัน disgusting เกินไปผ่านทางความสมจริงแบบทื่อๆของมันน่ะ และฉากที่เป็นตัวละครคุยกัน มันก็ขาดเสน่ห์ทางภาพอย่างมากๆในความเห็นของเรา เพราะมันดูเหมือนนำเสนอห้องน้ำแบบสมจริง ทื่อๆแบนๆไปเลย โดยไม่ต้องจัดแสง ออกแบบเฟรมภาพ สร้างบรรยากาศ หรือหาทางสร้างความงดงามทางภาพใดๆทั้งสิ้น

คือในแง่นึง ผู้สร้างหนังก็สามารถให้เหตุผลได้นะ ว่าการนำเสนออะไรที่สมจริงแบบนี้ เพราะต้องการให้คนดูรู้สึก disgusting กับขี้จริงๆ และต้องการให้คนดูรู้สึกได้ถึง “ห้องน้ำ” จริงๆ ที่ไม่สวย ไม่น่าอยู่อะไรเลย ซึ่งถ้าผู้กำกับให้เหตุผลแบบนี้ มันก็ฟังขึ้นนะ 555

แต่เราก็ยอมรับว่า มันไม่เข้ากับ taste ของเราน่ะ มันหนักข้อเกินไปสำหรับเรา และอาจจะเป็นเพราะว่าเราเคยชินกับ “หนังที่ถ่ายสวย” น่ะ พอมาเจออะไรที่สมจริงเกินไปแบบนี้ เราก็เลยรู้สึกว่ามันมากเกินไปสำหรับเรา

และเราคิดว่ามันอาจจะลักลั่นก็ได้นะ เพราะจริงๆแล้ว เนื้อหาในฉากที่ตัวละคร 4 คนคุยกันนั้น มันก็ไม่ได้สมจริงจริงๆน่ะ เราว่าเนื้อหาของฉากตัวละครคุยกันนี้ จริงๆแล้วมัน surreal เพราะฉะนั้นการถ่ายห้องน้ำแบบ “สมจริง” มากๆแบบนี้ มันอาจจะไม่จำเป็นกับฉาก surreal แบบนี้ก็ได้ 555

6.แต่ก็ชอบไอเดียการถ่ายแบบ long take เคลื่อนกล้องไปเรื่อยๆนะ รู้สึกว่าตากล้องและผู้กำกับต้องคิดหนักพอสมควรถึงจะถ่ายออกมาได้แบบนี้ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังที่ห้องน้ำมีกระจกเยอะมาก แล้วตากล้องคงต้องคอยหลบเงาตัวเองในกระจกด้วย

แต่เราว่าถึงแม้การ long take จะเป็นสิ่งที่ดี และอาจจะมีเหตุผลรองรับในหนังเรื่องนี้ โดยเหตุผลก็อาจจะมีอย่างเช่น เพื่อนำเสนอสภาพห้องน้ำตามความเป็นจริง, เพื่อ observe ความจริง และก็เลยได้ภาพห้องน้ำที่ทื่อๆแบนๆ ไร้ชีวิตจิตใจ ไม่น่าอยู่แบบนี้ออกมา แต่เราก็ยอมรับว่า ใจจริงของเรานั้น ก็ต้องการ “ความงดงามด้านภาพ” มากกว่านี้อยู่ดีนะ

7.แล้วเราเคยชินกับหนังแบบไหน หรือต้องการการถ่ายภาพแบบหนังแบบไหนเหรอ เราก็อาจจะยกตัวอย่างได้ดังนี้

7.1 คือเราก็เคยดูหนังที่มี “ขี้” หลายเรื่องนะ ทั้ง KINGS OF THE ROAD (1976, Wim Wenders), SALO OR THE 120 DAYS OF SODOM (1975, Pier Paolo Pasolini), SWEET MOVIE (1974, Dusan Makavejev) แต่เราว่าหนังเหล่านี้นำเสนอขี้ได้อย่างมีรสนิยมน่ะ 555 มันก็เลยดูไม่น่าพะอืดพะอมมากนักเวลาดูหนังเหล่านี้ จะมีก็แต่ PINK FLAMINGOS (1972, John Waters) เท่านั้นมั้ง ที่นำเสนอขี้ได้อย่างน่าขยะแขยง แต่เราว่า TOIRALLEL TIMES นี่นำเสนอขี้ได้อย่างน่าขยะแขยงกว่า PINK FLAMINGOS หลายเท่า

คือเราคิดว่าผู้สร้างหนังคงมีเหตุผลในการนำเสนอขี้ในแบบน่าขยะแขยงเต็มที่แบบนี้นะ แต่เราก็ยอมรับว่า มันมากเกินไปสำหรับเราน่ะ เราต้องการขี้ที่มันไม่น่ารังเกียจเกินไปแบบใน หนัง 3 เรื่องข้างต้นที่เรายกตัวอย่างมามากกว่า

7.2 ในส่วนของการถ่ายฉากคุยกันในห้องน้ำนั้น ผู้สร้างหนังอาจจะมีเหตุผลของตัวเองในการนำเสนอห้องน้ำแบบ “สมจริง” แต่ถ้าหากพูดถึงรสนิยมของเราแล้ว เราอยากได้ห้องน้ำที่ “น่ารังเกียจ” แต่มี “เสน่ห์ทางภาพ” ในเวลาเดียวกันน่ะ ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่จะทำเหมือนกันนะ โดยตัวอย่างของการนำเสนอ “สภาพที่น่ารังเกียจ” แต่ “มีเสน่ห์ทางภาพ” ในภาพยนตร์ ก็มีเช่น

7.2.1 หนังหลายๆเรื่องของ Bela Tarr ซึ่งเป็นเจ้าของ quote เปิดหนังเรื่องนี้ คือหนังของ Bela Tarr, Sharunas Bartas, Artur Aristakisian, Fred Kelemen อะไรพวกนี้ มันเสนอภาพชีวิตแร้นแค้น สลัมน้ำครำ คนจน แต่จริงๆแล้ว “ภาพมันสวยมากๆ” น่ะ คือเนื้อหาของภาพมันสะท้อนสภาพชีวิตแร้นแค้นก็จริง แต่ผู้กำกับมันสามารถถ่ายออกมาให้สวยมากๆได้

7.2.2 ถ้าตัวอย่างใกล้ๆตัว ก็คือ THE BLUE HOUR (2015, Anucha Boonyawatana) ที่มีทั้งฉากกองขยะ และฉากห้องน้ำโสโครก แต่ผู้กำกับก็สามารถถ่ายทั้งสองฉากนี้ให้ออกมาดูมีความงดงามด้านภาพ ได้ทั้งความน่ารังเกียจ และมนตร์เสน่ห์ทางภาพในเวลาเดียวกัน

7.2.3 หนังของ Lav Diaz และ Weerapong Wimuktalop ก็ชอบถ่ายอะไรที่ไม่สวยงามเหมือนกัน หนังของ Weerapong ชอบถ่ายบ้านร้างและกองขยะจริงๆ หนังของ Lav Diaz อย่างเช่น STORM CHILDREN: BOOK ONE (2014) ก็เป็นหนังสารคดีที่มีการถ่ายกองขยะจริงๆเป็นเวลาเนิ่นนาน แต่เรากลับจ้องมองกองขยะได้เป็นเวลานานๆในหนังของ Lav Diaz โดยไม่รู้สึกเบื่อเลย เพราะมันมีมนตร์เสน่ห์ทางภาพบางอย่างที่ยากจะอธิบายได้

ตัวอย่างหนังของ Weerapong Wimuktalop

7.2.4 หนังอีกกลุ่มที่น่าสนใจ ก็คือหนังกลุ่ม slum cinema ของฟิลิปปินส์ คือมีหนังฟิลิปปินส์หลายเรื่องที่ชอบใช้ฉากเป็นสลัมโสโครกน่ะ ซึ่งรวมถึงหนังบางเรื่องของ Lino Brocka, Khavn de la Cruz และ Brillante Mendoza แต่หนังพวกนี้ก็ไม่ได้ถ่ายสลัมออกมาทื่อๆแบนๆนะ คือภาพสลัมในหนังพวกนี้อาจจะไม่ได้มี “พลังทางจิตวิญญาณ” หรือ “สวยสุดขีด” แบบภาพบ้านเมืองแร้นแค้นในหนังของผู้กำกับกลุ่ม 7.2.1 แต่มันก็เป็นภาพสลัมที่โสโครกแต่ดูดีบนจอภาพยนตร์ในเวลาเดียวกันน่ะ

เราว่าความแตกต่างระหว่างการถ่ายแบบทื่อๆแบนๆ กับการถ่ายภาพ “สิ่งเลวร้าย แต่มีความงดงามด้านภาพ” ในเวลาเดียวกัน มันอาจจะคล้ายๆภาพข่าวน่ะ โดยเฉพาะภาพข่าวสงคราม คือภาพข่าวสงครามบางอัน เวลา google ดูแล้วเราแทบอ้วกน่ะ คือมันน่าขยะแขยงพอๆกับฉากขี้ใน TOIRALLEL TIMES นี่แหละ คือมันนำเสนอความจริงโดยไม่ต้องสร้างความงดงามด้านภาพใดๆทั้งสิ้น คือดูแล้วอ้วกออกมาเลย

แต่มันมี “ภาพข่าวสงคราม” ประเภทที่สามารถโชว์ในแกลเลอรี่ และนำออกมาขายรวมเล่มปกแข็งได้น่ะ และภาพข่าวสงครามประเภทนี้ มัน “นำเสนอเนื้อหาที่เลวร้ายมากๆ สะท้อนความเลวร้ายมากๆ แต่มันมีความงดงามทางภาพ และมีมนตร์เสน่ห์ทางภาพ” ในเวลาเดียวกัน

ซึ่งเรื่องนี้มันก็เป็น dilemma มากๆ ถ้าเข้าใจไม่ผิด Susan Sontag เคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับประเด็นนี้ด้วย แต่เรายังไม่เคยอ่าน คือมันเป็น dilemma ประเภทที่ว่า เราควรจะ “แสดงออกอย่างไรดี” เวลาเจอภาพ “ศพถูกแขวนคอ ที่ถ่ายสวยมากๆ” อะไรทำนองนี้

เรายอมรับว่า ปัญหาที่เรามีกับ TOIRALLEL TIMES ทำให้เรานึกถึง dilemma ข้างต้นน่ะ คือเราว่าหนังเรื่องนี้ถ่ายไม่สวย ขาดมนตร์เสน่ห์ทางภาพ โดยเฉพาะในฉากที่ตัวละครคุยกัน และเราอยากให้หนังมันถ่ายสวยๆกว่านี้ ยิ่งได้อารมณ์แบบ Bela Tarr, Anucha Boonyawatana หรือ Lav Diaz ก็จะยิ่งดีมากๆ แต่เราก็ยอมรับว่า ผู้สร้างหนังก็อาจจะมีเหตุผลของตัวเองเหมือนกัน ในการถ่ายห้องน้ำให้ดู “ไม่น่าอยู่” หรือ “ไม่สวย” แบบนี้


No comments: