Thursday, June 14, 2018

็HAPPY HOUR VS. BOOK CLUB

นอกจากหนัง 5 เรื่องที่จะฉายที่ห้องสมุดม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ในวันอาทิตย์ที่ 1 ก.ค . ในเวลา 13.00 น.แล้ว ยังมีหนังอีกมากมายหลายเรื่องที่เราอยากพูดถึง หรืออยากลิสท์รายชื่อเอาไว้ด้วยกัน เพราะเราชอบการนำเสนอชีวิตคนธรรมดา หรือ ORDINARY LIVES, ORDINARY PEOPLE ในหนังกลุ่มนี้มากๆ

หนึ่งในหนังที่เราชอบสุดๆในแง่การนำเสนอ “ชีวิตคนธรรมดา” ได้อย่างมีเสน่ห์และงดงามสุดๆ ก็คือ

6.HAPPY HOUR (2015, Ryusuke Hamaguchi, Japan, 5hours 17mins) ที่หลายคนคงดูไปแล้ว

พอดีช่วงที่ผ่านมาเราเพิ่งได้ดู BOOK CLUB (2018, Bill Holderman) ไป ซึ่งนำเสนอชีวิตผู้หญิง 4 คนเหมือนกับ HAPPY HOUR และเราก็เขียนไปแล้วว่า เราชอบเจตนาตั้งต้นของ BOOK CLUB มาก เพราะมันต้องการนำเสนอความต้องการทางเพศที่แตกต่างกันไปของหญิงวัย 60 ปี ซึ่งเป็นประเด็นที่หนังเรื่องอื่นๆไม่กล้าแตะมาก่อน

แต่ถึงแม้เราจะชอบเจตนาตั้งต้นของ BOOK CLUB เรากลับพบว่าตัวหนังมันออกมาไม่น่าพอใจสักเท่าไหร่ ซึ่งปัจจัยหนึ่งมันก็คือความแตกต่างอันสำคัญระหว่าง BOOK CLUB กับ HAPPY HOUR นั่นก็คือ BOOK CLUB พยายามบีบชีวิตตัวละครให้ดำเนินไปตาม “เส้นกราฟสูตรสำเร็จทางภาพยนตร์” และมันบีบจนชีวิตตัวละครนำ 3 ใน 4 ตัวดูไม่เป็นธรรมชาติในความเห็นของเรา

ซึ่งนั่นแตกต่างจากหนังอย่าง HAPPY HOUR ที่พาชีวิตตัวละครที่เป็น “คนธรรมดา” ให้ไหลไปได้เรื่อยๆอย่างเป็นธรรมชาติกว่ามากๆ

จริงๆแล้วความแตกต่างระหว่าง HAPPY HOUR กับ BOOK CLUB อาจจะอธิบายได้ด้วยสิ่งที่ Ray Carney เคยเขียนไว้ในหนังสือ FILMVIRUS เล่มสอง ของคุณสนธยา ทรัพย์เย็น โดย Ray Carney เขียนว่า

“วิธีที่หนังพยายามชี้นำและเป็นอยู่ คือนำเสนอการสืบสานสายพันธุ์ของความเน่าฟอน หนังตั้งปัญหาขึ้นมาให้ตัวละครประสบ และหมดเวลาไปกับการให้ตัวละครสาธิตกระบวนการแก้ไข วิธีดำเนินเรื่องงอกมาจากการจัดวางทางธุรกิจ ซึ่งเป็นตัวสร้างปัญหาส่วนใหญ่ในวัฒนธรรมของเราตั้งแต่แรก  หนังเหล่านี้ไม่เคยตั้งคำถามกับความเชื่อที่ว่า เรามีที่มาจากสิ่งที่เรา “ทำ” จากสิ่งที่เรา “ควบคุม” จากสิ่งที่เราเป็น “เจ้าของ” เราอยู่ในโลกวัตถุนิยมที่ติดงอมกับคุณค่าของ “การกระทำ” แต่ในชีวิตจริงนั้นส่วนของการกระทำ (doing) เกี่ยวข้องน้อยกว่า สิ่งที่เราเป็น (being) ถ้าหนังของคุณขึ้นลงอยู่กับการกระทำ หรือการบรรลุผลสำเร็จ คุณย่อมเป็นส่วนหนึ่งของความเน่าฟอนนั้นด้วย คุณกำลังทำหนังให้บริษัท IBM โดยไม่รู้ตัว เราคุ้นเคยแต่กับหนังพวกนี้ เพราะผู้กำกับฮอลลีวู้ดส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจมากกว่าศิลปิน”

BOOK CLUB คือหนังแบบ doing ตัวละครถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ “มีปัญหา และหาทางแก้ปัญหา”

HAPPY HOUR คือหนังแบบ being เรารู้สึกว่าเราได้ซึมซับกับชีวิตในหลายๆแง่มุมและจิตวิญญาณที่แท้จริงของตัวละคร โดยที่ตัวละครไม่ได้ดำรงอยู่เพียงแค่ “รับมือกับปัญหาสำคัญ และแก้ปัญหาให้ได้ในฉาก climax แล้วก็จบไป”

No comments: