Saturday, July 03, 2021

NOTES FROM THE PERIPHERY (2021, Tulapop Saenjaroen, 14min, A+30)

 

NOTES FROM THE PERIPHERY (2021, Tulapop Saenjaroen, 14min, A+30)

 

1.พิศวงมาก ดูตอนแรกก็ชอบมากนะ แต่รู้สึกว่าไม่ค่อยเข้าใจหนังเท่าไหร่ 55555 (ความรู้สึกคล้าย ๆ ดูหนังของ Jean-Luc Godard ที่ชอบมาก แต่ไม่เข้าใจ) จนกระทั่งได้เข้าไปอ่านที่คุณณัฐชนน ธัญญศรีเขียนถึงหนังเรื่องนี้ แล้วถึงค่อยเข้าใจมากขึ้น
https://www.facebook.com/photo?fbid=4423821484318221&set=a.3942748755758832

 

2.ชอบการนำสิ่งที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกันโดยตรงมาเรียงร้อยต่อกัน ตั้งแต่ปัญหาในแหลมฉบัง, การใช้ตู้คอนเทนเนอร์มาใช้เป็นเครื่องมือสกัดกั้นผู้ประท้วงฝ่ายประชาธิปไตย, การพูดถึงเพรียง (barnacles) และการที่หญิงสาวคนนึงพูดถึงการหาลู่ทางไปตั้งรกรากที่ประเทศอื่น ๆ

 

ตอนแรกก็งง ๆ กับการนำเรื่องพวกนี้มาเรียงร้อยต่อกัน แต่พอได้อ่านที่คนอื่น ๆ เขียนถึงหนังเรื่องนี้ก็เลยทำให้เข้าใจถึงการเชื่อมโยงกันมากขึ้น อย่างเช่นตู้คอนเทนเนอร์ในแหลมฉบัง ซึ่งเหมือนเป็นการรุกล้ำเพราะอิทธิพลทางเศรษฐกิจและทุนนิยมเข้ามาในแหล่งทำกินของชาวบ้าน และตู้คอนเทนเนอร์ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือของเผด็จการทางการเมืองในประเทศเดียวกันด้วย เหมือนหนังในส่วนนี้มันสะท้อนทั้งการทำร้ายกดขี่ประชาชนทั้งในการทำมาหากิน, การดำรงชีพ, เสรีภาพในการแสดงออก และนั่นย่อมทำให้คนบางส่วนในประเทศนี้ต้องการอพยพออกไป เพื่อหาสถานที่ที่ “ปลอดภัย” และสามารถ “ดำรงชีพได้” ซึ่งก็เหมือนกับเพรียง เพราะตอนแรกที่เพรียงเกิดมานั้น เพรียงจะปล่อยตัวไปตามกระแสน้ำ แต่เมื่อเพรียงเติบโตมาถึงจุดนึง เพรียงก็จะผ่านการ metamorphosis และหลังจากนั้นเพรียงก็จะต้องหาสถานที่ที่ “ปลอดภัย” และสามารถ “หาอาหารกินได้” เพื่อจะได้ฝังตัวอยู่บนพื้นผิวนั้นตลอดไป คล้าย ๆ กับมนุษย์ที่เมื่อเติบโตมาจนถึงจุดนึง ก็จะต้องหาสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการตั้งรกรากเพื่อทำมาหากินเช่นกัน เพียงแต่ว่าประเทศไทยที่ขาดไร้ซึ่งเสรีภาพในปัจจุบันมันเป็นสถานที่ที่เหมาะที่เราจะตั้งรกรากอยู่ตลอดไปหรือเปล่า แล้วถ้าเราไม่สามารถดิ้นรนหนีไปอยู่ที่อื่นได้ เราจะกลายเป็นเหมือนขวดพลาสติกเปล่าในโขดหินที่รอวันเน่าสลายไปเรื่อย ๆ ไหม

 

3.การนำเอาส่วนต่าง ๆ ที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกันโดยตรงมาเรียงร้อยต่อกันนี้ ทำให้นึกถึงหนังยุคแรก ๆ ของคุณ Tulapop เหมือนกันนะ อย่างเช่น “_____” (2006, 8min) และ OUR WAVES (2006, 12min) แต่ไป ๆ มา ๆ แล้วดูเหมือนกับว่าการที่ผู้ชมจะคิดหาทางเชื่อมโยงสิ่งต่าง  ๆ ในหนังยุคหลังของคุณ Tulapop อาจจะง่ายกว่าในหนังยุคแรก 55555 เพราะหนังยุคหลังของคุณ Tulapop มันดูเหมือนจะมีประเด็นที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมจับต้องได้ โดยเฉพาะประเด็นทางสังคม ผู้ชมก็เลยสามารถเชื่อมโยงประเด็นต่าง ๆ เข้าด้วยกันได้ง่ายขึ้น แต่หนังยุคแรกมันดูมีความเป็นนามธรรมสูงกว่า

 

แต่สิ่งที่เหมือนกันตั้งแต่หนังยุคแรกมาจนถึงหนังยุคหลังก็คือว่า เรารู้สึกว่าหนังของคุณ Tulapop มีการ “กระตุ้นความคิด” ผู้ชมสูงมาก ๆ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับหนังไทยด้วยกัน เหมือนความ thought provoking นี่เป็นจุดเด่นที่สุดจุดนึงในหนังของคุณ Tulapop

 

4.ในส่วนแรกของหนังที่พูดถึงปัญหาในแหลมฉบังนั้น สิ่งที่เราชอบมาก ๆ ก็คือว่า เราว่าหนังสามารถหาวิธีถ่ายทอด “ความเลวร้ายของสังคม” หรือ “ภาพที่จริง ๆ แล้วไม่น่ามอง” หรือ “ทัศนะอุจาด” ของท่าเรือ/นิคมอุตสาหกรรม/พื้นที่เสื่อมโทรม ให้ออกมาแล้วเป็น “ภาพที่น่าประทับใจ” หรือ visually attractive น่ะ โดยที่ยังคงสะท้อนปัญหาไปด้วย ไม่ใช่ให้ความสวยของภาพกลบปัญหาไปจนหมด

 

 คือเราว่าสิ่งนี้มันยากมากน่ะ คืออธิบายง่าย ๆ ก็เหมือนกับว่า เราจะทำยังไงที่จะถ่ายภาพกองขยะ, ศพคนตายในสงคราม, etc. ให้ออกมาดูแล้วไม่อุจาด หรือดูแล้วอ้วกพุ่ง แบบภาพหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่ก็ไม่ใช่ว่าถ่ายออกมาแล้วดูสวยงาม จนผู้ชมภาพถ่าย/ภาพยนตร์ลืมนึกถึงปัญหาสังคมอันนั้นไป เหมือนตากล้อง/ผู้กำกับภาพยนตร์ที่ทำงานด้านนี้ต้องเก่งมากจริง ๆ ถึงจะถ่ายภาพ “ความเลวร้าย” ให้ออกมาดูแล้วมีความน่าประทับใจ ไม่อุจาด มีความงดงามในแบบของมัน แต่สะเทือนอารมณ์ผู้ชมให้ตระหนักถึงปัญหาอย่างรุนแรงไปด้วยในเวลาเดียวกัน นึกถึงผลงานภาพถ่ายของ Sebastião Salgado อะไรทำนองนี้ ที่เป็นภาพถ่ายที่งดงามสุด ๆ แต่ก็ทรงพลังในแง่การสะท้อนความโหดร้ายของโลกได้ในเวลาเดียวกันด้วย

 

เราว่าส่วนแรกของหนังเรื่องนี้ ทำตรงจุดนี้ได้สำเร็จนะ เราว่าหนังมันดู visually attractive สุด ๆ น่ะ แต่ก็ดูแล้วรู้สึกได้ถึงความยากลำบากของชาวบ้าน และความไม่น่าอภิรมย์ของแหลมฉบังไปด้วยในเวลาเดียวกัน

 

5.สาเหตุที่เราดูแล้วรู้สึกว่า หนังส่วนแรกมันสวยมาก ๆ แต่ก็สะท้อนปัญหาไปด้วยได้ดีมาก อาจจะเป็นเพราะว่าหนังใช้เทคนิคดังต่อไปนี้ร่วมด้วย

 

5.1 การซ้อนภาพกันไปมา superimposition กันไปมา คือเหมือนพอภาพต่าง ๆ มันมาซ้อน ๆ กัน มันมักจะก่อให้เกิด “ความสวย” เป็นอย่างมาก ในหนังทดลองโดยทั่วไป แต่ในหนังเรื่องนี้นั้น การซ้อนภาพกันไปมา มันได้ทั้งความสวย และ sense ของความสับสนวุ่นวายน่ารำคาญของโลกอุตสาหกรรม/ทุนนิยมอำมหิตด้วย

 

5.2 การใช้เทคนิคดิจิทัลมาทำ effect กับภาพต่าง ๆ ซึ่งทำให้ภาพมันดูสวยขึ้นมาก แต่ตัวเนื้อหาของภาพนั้นมันก็ยังสามารถสะท้อนแง่มุมต่าง ๆ ของแหลมฉบังได้เหมือนเดิม

 

5.3 การย้อมสีภาพ หรือทำ color effects ให้กับวัตถุต่างๆ  ในภาพ  โดยเฉพาะการย้อมสีสันสวยสดงดงามให้กับภาพกลุ่มผู้ประท้วงที่แหลมฉบัง (ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด) หรือการย้อมสีเขียวให้กับฉากการใช้ตู้คอนเทนเนอร์กับกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตย

 

5.4 การใช้ sound effects ที่ “ไพเราะแต่กวนประสาท” ที่เราชอบสุด ๆ สุดยอดมาก ๆ คือเราว่า sound effects ในหนังมันได้ทั้งความไพเราะแบบดนตรี electronic แต่ได้อารมณ์กวนประสาท และสื่อถึงความไม่น่าอยู่ของแหลมฉบังไปด้วยในเวลาเดียวกัน

 

6.เราว่าการใช้เทคนิคต่าง ๆ ตามที่เราระบุมาในข้อ 5 มันช่วยสร้างความแตกต่างได้เป็นอย่างดีระหว่างงาน video art แบบหนังเรื่องนี้ กับหนังสารคดีด้วย คือถ้าหากเป็นหนังสารคดีที่พูดถึงปัญหาสังคม โดยส่วนใหญ่แล้วมันจะไม่ต้องทำ superimposition, digital effects, color effects, sound effects, etc.  รุนแรงขนาดนี้น่ะ แต่มันจะเน้นนำเสนอภาพความเลวร้ายตามความเป็นจริงไปเลย โดยไม่ต้องสร้างความงดงามด้านภาพมากขนาดนี้

 

คือในส่วนแรกของหนังนั้น เรานึกถึงหนังสารคดีที่เราชอบมาก ๆ 3 เรื่อง ซึ่งได้แก่

 

6.1 แหลมฉบัง คลื่นทุกข์ โถมซ้ำซาก (2012, Kunnawut Boonreak, documentary, 16min)

 

6.2 THE THIRD EYE (2013, Unaloam Chanrungmaneekul, Thitiphun Bumrungwong, documentary, 42min)

หนังเรื่องนี้นำเสนอความทุกข์ยากของชาวบ้านเพราะปัญหาแหลมฉบังเหมือนกัน

 

6.3 มาบตาพุด (2013, ทีมเข้าใจคิด, จามร ศรเพชรนรินท์, สันติ ศรีมันตะ)

เรารู้สึกว่าปัญหาของมาบตาพุดกับแหลมฉบังอาจจะมีความใกล้เคียงกัน

https://www.youtube.com/watch?v=3E_k8PgLFv8

 

คือตอนแรก ๆ เรานึกว่า NOTES FROM THE PERIPHERY มันจะพูดในสิ่งที่ซ้ำกับหนังสารคดี 3 เรื่องนี้หรือเปล่า แต่ก็ปรากฏว่ามันเหมือนละไว้ในฐานที่เข้าใจไปเลย 55555 คือไม่ต้องพูดอธิบายชี้แจงซ้ำในสิ่งที่หนังสารคดีเหล่านี้ได้ทำไปแล้ว และ NOTES FROM THE PERIPHERY ยังสามารถนำเสนองานด้านภาพที่แตกต่างจากหนังสารคดีเหล่านี้เป็นอย่างมากได้ด้วย

 

7. ส่วนครึ่งหลังของหนังนั้น ก็ทำให้นึกถึง WHERE WE BELONG (2019, Kongdej Jaturanrasamee) ด้วย ในแง่การพูดถึงหญิงสาวที่อยากหนีไปจากประเทศไทย

 

คือถ้าเปรียบเทียบง่าย ๆ ก็เหมือนกับว่า NOTES FROM THE PERIPHERY ทำให้เรานึกถึงประเด็นในหนังสารคดี 3 เรื่องข้างต้น รวมกับประเด็นในหนัง fiction เรื่อง WHERE WE BELONG น่ะ

 

ซึ่งเราก็ชอบทั้งหนังสารคดี, หนัง fiction และงาน video art แบบหนังเรื่องนี้นะ เราว่าหนังแต่ละแบบมันมีข้อดีแตกต่างกันไป หนังสารคดีอาจจะนำเสนอปัญหาแหลมฉบังได้โดยตรง แต่ก็อาจจะไม่ได้กระตุ้นความคิดเราให้นึกถึงปัญหาอื่น ๆ ที่กว้างกว่าแหลมฉบัง แบบที่ NOTES FROM THE PERIPHERY สามารถทำได้ ส่วนหนัง fiction แบบ WHERE WE BELONG ก็อาจจะสร้างอารมณ์สะเทือนใจที่เรามีต่อตัวละครได้อย่างรุนแรงกว่า แต่ก็ไม่ได้กระตุ้นความคิดเราในแบบที่ NOTES FROM THE PERIPHERY สามารถทำได้เช่นกัน  เราก็เลยรู้สึกว่า ถึงแม้ NOTES FROM THE PERIPHERY จะทำให้เรานึกถึงบางประเด็นที่คล้ายกับหนัง 4 เรื่องข้างต้น แต่มันก็มีข้อดีในแบบของมันเองที่ไม่ซ้ำกับหนังเรื่องอื่น ๆ และก็มีงานด้าน visual effects ที่น่าประทับใจไม่แพ้หนังเรื่องอื่นๆ เลยด้วย

 

8.ชอบที่หนังมันเหมือนเล่นกับอะไรบางสิ่ง อย่างเช่น

 

8.1 ตู้คอนเทนเนอร์ในแหลมฉบัง กับตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้กีดกันผู้เรียกร้องประชาธิปไตย

 

8.2 เพรียงที่ริมทะเล กับชีวิตมนุษย์ที่ต้องการสถานที่ที่ safe เพื่อจะได้ปักหลัก ตั้งรกราก แบบเดียวกับเพรียง

 

8.3 การเล่นกับคำว่า ship ที่แปลว่าเรือ กับ ship ที่ใช้เป็น suffix ที่แปลว่า “ความ” หรืออะไรทำนองนี้ 55555

 

9. ตอนแรกก็งง ๆ กับภาพรูปทรงแปลก ๆ ที่ตัวละครผู้หญิงถือในหนังเรื่องนี้ แต่เราเดาว่าภาพรูปทรงแปลก ๆ มันมาจากอะไรพวกนี้

https://www.304industrialpark.com/th/articles-detail/42/%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A1%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%87-%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A2%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88-3

 

9. พอมีฉากการเก็บหอยในหนังเรื่องนี้แล้ว เราก็เลยนึกถึง DOUBLE TIDE (2009, Sharon Lockhart) เลย 5555 แต่ฉากการเก็บหอยในหนังเรื่องนี้คือขั้วตรงข้ามของ DOUBLE TIDE เพราะในขณะที่ DOUBLE TIDE เหมือนสะท้อนความงามของธรรมชาติ ฉากการเก็บหอยหรือการหาปลาของชาวบ้านใน NOTES FROM THE PERIPHERY คือการสะท้อนความเหี้ยห่าของโลกอุตสาหกรรม/ทุนนิยม ที่เข้ามาสร้างความยากลำบากให้แก่ชาวบ้านในการหากินตามธรรมชาติ

 

10. ฉากจบของหนังเรื่องนี้ ที่เป็นขวดพลาสติกเปล่าที่ติดอยู่ในโขดหินริมน้ำนั้น ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง APPLE IN THE RIVER (1974, Aivars Freimanis, Latvia) โดยไม่ได้ตั้งใจด้วย เพราะใน APPLE IN THE RIVER ก็มีฉากแอปเปิลติดอยู่ในโขดหิน และเหมือนเป็นการอุปมาอุปไมยสะท้อนชีวิตแร้นแค้นของหนุ่มสาวในยุคสหภาพโซเวียตที่ “อับจนหนทางไป” เหมือนกัน นอกจากนี้ ตัวละครพระเอกของ APPLE IN THE RIVER ก็อาศัยอยู่ในเกาะกลางแม่น้ำในแลตเวีย แต่เขากับชาวบ้านทั้งเกาะก็ต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน เพราะถูกทางการไล่ที่ด้วย ซึ่งก็อาจคล้ายกับชีวิตชาวบ้านแถบแหลมฉบัง/มาบตาพุด ที่เผชิญกับความเลวร้ายจากความเจริญทางอุตสาหกรรมเหมือนกัน

 

สรุปว่า ไม่ว่าจะเป็นโลกทุนนิยมเผด็จการแบบไทย หรือโลกคอมมิวนิสต์ ชีวิตชาวบ้านก็ทุกข์ยากลำบากไม่แพ้กัน จบ

 

No comments: