Saturday, July 20, 2024

THE CURSED LAND

 BAD NEWZ (2024, Anand Tiwari, India, 142min, A+15)


Spoilers alert
--
--
--
--
--
--
--
--
---
--
เป็นหนัง romantic comedy ที่เดาเนื้อเรื่องได้ง่ายไปหน่อย แต่ชอบไอเดียบางอย่างในพล็อตของหนัง ซึ่งก็คือการเอาเรื่องของ Heteropaternal Superfecundation มาทำเป็นหนัง

หนังเรื่องนี้ทำให้นึกถึง "รักหนูมั้ย" CALL ME DADDY (2020, Phuwanet Seechompoo, A+30) ในบางจุดด้วย คิดว่า "รักหนูมั้ย" ดีกว่ามาก ๆ และตัวละครของ "รักหนูมั้ย" ก็ออกมาเป็นมนุษย์กว่า BAD NEWZ มาก ๆ

แต่เราเข้าใจว่า BAD NEWZ  ก็มีบางจุดที่น่าสนใจที่ "รักหนูมั้ย" ไม่มี ซึ่งก็คือแง่มุมทางการเมือง/ศาสนา หรือเปล่า เพราะถ้าหากเราเข้าใจไม่ผิด นางเอกตั้งท้องกับชายชาวฮินดูและชายชาวซิกข์พร้อมกัน เพราะฉะนั้นหนังที่ดูเผิน ๆ เหมือนบ้องตื้น ไม่มีพิษภัยอะไร จริง ๆ แล้วอาจจะเป็นหนังที่  break the taboo ในสังคมอินเดียหรือเปล่า เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน

ลองจินตนาการว่า ถ้า "รักหนูมั้ย" เปลี่ยนให้ตัวละครพระเอกสามคน กลายเป็นคนที่นับถือศาสนาต่างกัน บางทีหนังที่มันแรงอยู่แล้ว ก็อาจจะดูรุนแรงขึ้นกว่าเดิมอีกก็ได้

--

DIARIES FROM LEBANON (2024, Myriam El Hajj, Lebanon, documentary, 110min, A+30)

ชอบสุดขีดมาก ๆ เหมือนกับเป็น sequel ของชุดหนังสารคดีที่กำกับโดย Jocelyn Saab เพราะ Jocelyn Saab กำกับหนังสารคดีเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองในเลบานอนหลายเรื่องในทศวรรษ 1970-1980 แต่ถึงแม้สงครามกลางเมืองในเลบานอนสงบลงไปแล้ว ประเทศนี้ก็ยังคงไม่สงบอยู่ดี เพียงแต่ว่าปัญหาในประเทศนี้ในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้รุนแรงเท่าในซีเรีย, อิสราเอล, อิรัก และอิหร่าน ดังนั้นเราก็เลยไม่ค่อยได้เห็นหนังจากเลบานอนที่พูดถึงปัญหาในปัจจุบันมากนัก

ชอบที่หนังเรื่องนี้นำเสนอประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจในเลบานอนในปัจจุบัน ทั้งการที่ warlords จากยุคสงครามกลางเมืองกลับมาเรืองอำนาจอีกครั้ง, บาดแผลจากสงครามกลางเมือง, มุมมองจากอดีตนักรบในสงครามกลางเมือง, การที่เลบานอนดูเหมือนจะประกอบด้วยคนหลายกลุ่มหลายฝ่ายมาก ๆ, การต่อสู้อย่างยากลำบากของนักการเมืองหญิงและ activist หญิงในปัจจุบัน, ปัญหาภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงสุดขีดมาก, การใช้ชีวิตในยุควิกฤติโควิด และการระเบิดครั้งใหญ่ในท่าเรือกรุงเบรุต คือเหมือนประเทศนี้เป็นประเทศต้องสาปจริง ๆ เจอแต่ปัญหาชิบหายอะไรก็ไม่รู้ไม่ได้หยุดไม่ได้หย่อน กูจะบ้า

เหมือนเราเห็นแว้บ ๆ ว่า “เพอร์ล่า โจ มะลุลี” activist หญิงในหนังเรื่องนี้สะพายย่ามรูปช้างที่มีคำว่า Thailand ปักไว้ด้วย แต่ไม่รู้ว่าเราตาฝาดไปหรือเปล่า ฉากที่เราเห็นย่ามนี้คือฉากที่มะลุลีพยายามจะเปิดประตูบ้าน แต่เปิดไม่ออก ซึ่งก็อาจเป็นเพราะแรงระเบิดจากท่าเรือทำให้โลหะตรงประตูบ้านมันผิดรูปหรือเคลื่อนที่ไป

เหตุการณ์สำคัญที่ถูกอ้างถึงในหนังเรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ที่น่าสลดหดหู่มาก นั่นก็คือเหตุการณ์ที่กลุ่ม Phalangist ซึ่งเป็นกลุ่มชาวคริสเตียนฝ่ายขวาในเลบานอนสังหารหมู่ชาวปาเลสไตน์ 27-28 คนในรถบัสคันหนึ่งในกรุงเบรุตในวันที่ 13 เม.ย. 1975 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามกลางเมืองในเลบานอน ซึ่งเหตุการณ์นี้มีที่มาที่ไปที่ซับซ้อนพอสมควร
https://en.wikipedia.org/wiki/1975_Beirut_bus_massacre

ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด ตัว subject คนหนึ่งในหนังเรื่องนี้คือหนึ่งในผู้นำของกลุ่ม Phalangist กลุ่มนั้น หนังเรื่องนี้ก็เลยน่าสนใจมาก ๆ เพราะเราเองก็อยากรู้ว่า คนที่เคยมีส่วนร่วมในสงครามกลางเมืองในตอนนั้น มีแนวคิดอย่างไร, เขามีชีวิตอย่างไรในปัจจุบัน และเขามองความวุ่นวายในเลบานอนในปัจจุบันด้วยสายตาแบบใด

สิ่งที่น่าเศร้าก็คือว่า เราเดาว่าปัญหาในเลบานอนอาจจะยังไม่สงบลงในเร็ว ๆ  นี้ก็ได้ ซึ่งก็เป็นเพราะว่าสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในปัจจุบันนี้ มันส่งผลกระทบไปถึงกลุ่ม Hezbollah ในเลบานอนด้วย เราก็เลยเดาว่าตราบใดที่ปัญหาปาเลสไตน์ยังแก้ไขไม่ได้ เลบานอนก็อาจจะยังคงได้รับผลกระทบต่อไป เราก็ได้แต่หวังว่านักต่อสู้ในเลบานอนในหนังเรื่องนี้จะยังคงยืนหยัดสู้ชีวิตกันต่อไป

ดูในเทศกาลภาพยนตร์ Signes de Nuit in Bangkok

---
A MAN IMAGINED (2024, Melanie Shatzky, Brian Cassidy, Canada, documentary, 62min, A+30)

หนังที่ตามถ่ายทอดชีวิตของชายชราคนหนึ่งที่มีปัญหาทางจิต ชอบที่หนังเรื่องนี้พาเราไปเข้าใกล้ชีวิตของคนที่เราคงไม่กล้าเข้าใกล้ในชีวิตจริง และหนังก็เหมือนพยายามจะถ่ายทอดให้เรารับรู้โลกผ่านทางผัสสะของเขาด้วย เพราะหนังมีฉากหลอน ๆ ที่ไม่ได้เล่าเรื่องหรือถ่ายทอดข้อมูลแทรกเข้ามาเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะฉากบ้านไฟไหม้ เหมือนกับว่าฉากเหล่านี้คือการถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในหัวหรือความรู้สึกของ subject ออกมาให้ผู้ชมได้รับรู้

สิ่งที่หลอนสุดขีดคือเราไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วเกิดอะไรขึ้นกับพ่อและแม่ของ subject เพราะ subject เล่าว่าพ่อกับแม่ของเขาถูกฆ่าตาย แต่สิ่งที่เขาเล่าก็สับสนมาก ๆ จนน่ากลัว และตัวทีมงานหนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้ไปสอบสวนด้วยว่า จริง ๆ แล้วเกิดอะไรขึ้นกับพ่อและแม่ของ subject

ดูในเทศกาลภาพยนตร์ Signes de Nuit in Bangkok
---
RIP MANFRED KIRCHHEIMER (1931-2024)

เพิ่งได้ดูหนังของเขาแค่เรื่องเดียว ซึ่งก็คือ FREE TIME (2019, documentary, A+30) ซึ่งเราก็ชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุด ๆ
---
THE CURSED LAND แดนสาป (2024, Panu Aree, Kong Rithdee, A+30)

1.เราว่ามันน่าสนใจดีที่หน้าหนังมันเป็นหนังสยองขวัญ หรือ “เปลือก” ของมันเป็นหนังสยองขวัญที่ไป ๆ มา ๆ แล้วก็ทำให้เรานึกถึง THE EXORCISM (2024, Joshua John Miller, A+15) ที่เข้าฉายในเวลาไล่เลี่ยกันโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะว่า THE EXORCISM ก็พูดถึงชายวัยกลางคนที่มีอาการทางจิต, เขาหมกมุ่นกับการตายของภรรยา, เขาติดเหล้า, เขาทำงานแทบไม่ได้ และความป่วยไข้ทางจิตของเขาอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้เขาถูก “ปีศาจ” เข้าสิง อย่างไรก็ดี เขามีลูกสาววัยรุ่นที่เป็นมนุษย์ปกติที่พยายามช่วยเหลือประคับประคองคุณพ่อที่ป่วยไข้ทางจิตอย่างสุดกำลัง

พอเราได้ดูหนังสองเรื่องนี้ในเวลาไล่เลี่ยกัน เราก็เลยรู้สึกว่ามันตลกดีที่หนังสองเรื่องนี้เหมือนมี “เปลือกหุ้มห่อ” ที่คล้าย ๆ กัน 55555 แต่แก่นของหนังสองเรื่องนี้ก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงนะ เพราะ THE EXORCISM เหมือนให้ความสำคัญกับอาการทางจิตหรือความป่วยไข้ทางจิตของพระเอกเป็นหลัก ในขณะที่ประเด็นเรื่องการ abuse ที่โบสถ์ทำกับเด็ก ๆ เหมือนจะไม่ใช่ประเด็นที่ THE EXORCISM ให้ความสำคัญมากนักแต่อย่างใด

ส่วน THE CURSED LAND นั้น ในขณะที่ “เปลือกห่อหุ้ม” ของหนังอาจจะมีส่วนคล้าย ๆ THE EXORCISM แต่เราก็คิดว่าจริง ๆ แล้วประเด็นเรื่องอาการทางจิตของตัวละครของอนันดาในเรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งสำคัญมากนัก เพราะเราเดาว่าจริง ๆ แล้วหนังเรื่องนี้ต้องการพูดถึงการอยู่ร่วมกันของคนต่างศาสนาในชุมชนเดียวกัน, ความเข้าใจผิด ๆ ของชาวพุทธที่มีต่อชาวมุสลิม, ประวัติศาสตร์บาดแผลตั้งแต่ช่วงตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ และความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนใต้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

2.สิ่งที่เราชอบที่สุดในหนังก็คงเป็นการที่หนังเรื่องนี้พูดถึงประวัติศาสตร์บาดแผลที่เกิดขึ้นเมื่อราว 200 ปีก่อน คือพอดูหนังจบเราก็ต้องไป search อ่านข้อมูลในอินเทอร์เน็ตต่อ ซึ่งก็มีที่สุจิตต์ วงษ์เทศเขียนไว้
https://www.matichonweekly.com/culture/article_10106

ถ้าหากเราจำไม่ผิด หนังเรื่องนี้ก็คงถือเป็นหนังยาวเรื่องแรกที่เราได้ดูที่พูดถึงประวัติศาสตร์ส่วนนี้ และก็เป็นเรื่องบังเอิญที่นิทรรศการ “แสนแสบ” ของ Prach Pimarnman ที่จัดแสดงอยู่ในช่วงนี้พูดถึงประวัติศาสตร์ที่เหมือนเกี่ยวข้องกัน เพียงแต่ว่าตัวนิทรรศการ (ซึ่งรวมถึง video installation) พูดถึงผู้ที่ถูกเกณฑ์มาขุดคลองแสนแสบ ส่วนตัวหนังเรื่อง THE CURSED LAND พูดถึงคนที่ถูกเกณฑ์ไปหนองจอก

3.เราคิดว่าประวัติศาสตร์ส่วนนี้มันน่าสนใจมาก ๆ เพราะเราแทบไม่เคยได้รับการบอกสอนเรื่องราวพวกนี้มาก่อน และไม่เคยได้ดูหนังที่พูดถึงประเด็นนี้มาก่อน และเราก็รู้สึกว่าการเอาเปลือกหนัง horror ไปห่อหุ้มประวัติศาสตร์ส่วนนี้ไว้มันน่าสนใจดี คือพอเราดูหนังเรื่องนี้แล้วเราก็ตั้งข้อสงสัยเล่น ๆ ว่า ทำไมถึงไม่มีการทำหนังพีเรียดที่พูดถึงเหตุการณ์ยุคนั้นอย่างตรงไปตรงมาไปเลย ทำไมถึงทำเป็นหนัง horror ที่ห่อหุ้มประเด็นนี้เอาไว้ ซึ่งเราก็ให้คำตอบแก่ตัวเองเล่น ๆ ว่า

3.1 เพราะภาวะ internal colony ยังคงดำรงอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นการจะทำหนังที่พูดถึงประเด็นนี้ตรง ๆ จึงยังคงเป็นเรื่องที่ยากอยู่ในปัจจุบัน เพราะมันเสี่ยงต่อการเผชิญกับอำนาจบางอย่างในทางการเมือง

3.2 หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก ๆ ที่พูดถึงประเด็นนี้ ดังนั้นในการที่จะทำให้ประเด็นนี้เข้าถึงคนหมู่มาก การสอดแทรกมันไว้ในหนัง horror จึงน่าจะช่วยให้ประเด็นนี้เข้าถึงคนหมู่มากได้มากกว่าการทำหนังอิงปวศ.อย่างตรงไปตรงมา

3.3 การหาทุนทำหนัง horror ก็ง่ายกว่าด้วย

3.4 การทำเป็นหนัง horror ในยุคปัจจุบันก็ช่วยแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างอดีตกับปัจจุบันได้ด้วย และช่วยตอบคำถามที่ว่า ทำไมเราถึงต้องสนใจอดีตตรงส่วนนั้นด้วย มันสำคัญกับปัจจุบันอย่างไร

4.เพราะฉะนั้นเราก็เลยแอบตั้งความหวังว่า หนังเรื่องนี้น่าจะเป็น “ก้าวแรก” ในการพูดถึงประเด็นแบบนี้ และมันจะมีก้าวต่อ ๆ ไปในเวลาต่อมา และเราก็หวังว่าสถานการณ์ทางการเมืองในอนาคตจะมีเสรีภาพมากยิ่งขึ้น เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะได้มีการสร้างหนังที่พูดถึงประเด็นนี้อย่างตรงไปตรงมาได้ง่ายยิ่งขึ้น

คือพอดู THE CURSED LAND แล้ว เราก็แอบตั้งความหวังว่า ในอนาคตอาจจะมีการสร้างหนังอิงปวศ.ที่พูดถึงประเด็นนี้อย่างตรงไปตรงมาก็ได้ หนังที่พูดถึงชีวิตของคนที่ถูกกวาดต้อนมาในยุคนั้นอย่างตรงไปตรงมา และหนังเรื่องนั้นอาจจะทรงพลังแบบ 12 YEARS A SLAVE (2013, Steve McQueen) หรือ THE CAMP AT THIAROYE (1988, Ousmane Sembene, Thierno Faty Sow, Senagal) ก็ได้
---

SARFIRA (2024, Sudha Kongara, India, 155min, A+30)

1.หนังเมนสตรีมอินเดียที่ "จงใจเร้าอารมณ์" แบบสูตรสำเร็จมาก ๆ แต่ดูแล้วยอมจริง ๆ เขาแม่นในการเร้าอารมณ์จริง ๆ

รู้สึกว่าหนังแต่ละชาติมีความถนัดในการเร้าอารมณ์ต่างกันไปด้วยแหละ อย่างหนังเมโลดราม่าอิตาลีก็มักจะเป็นประเด็นเรื่องครอบครัว, ของญี่ปุ่นก็เป็นเรื่อง ครอบครัว+ความรัก+กีฬา, หนังฮ่องกงก็เป็นหนังบู๊, หนังอเมริกันก็เป็น horror ส่วนอินเดียนั้นนอกจากจะถนัดในการทำหนังกีฬาแล้ว ก็ถนัดในการทำหนัง "social melodrama"  แบบหนังเรื่องนี้มาก ๆ ด้วย และเราก็แพ้ทางให้หนัง  social melodrama ของอินเดียจริง ๆ ซึ่งชาติอื่น ๆ ก็อาจจะไม่ค่อยถนัดในการทำหนังแนวนี้มากเท่าอินเดีย เพราะชาติอื่น ๆ (โดยเฉพาะญี่ปุ่น) อาจจะไม่ได้มีวัตถุดิบเรื่องปัญหาสังคมแบบนี้มากเท่าอินเดีย

2.เหมือนหนังรู้ว่าพระเอกแก่แล้ว ก็เลยหา "เพื่อนพระเอก" หนุ่มหล่อ 2 คน มาคอยประกบคู่กับพระเอก 555
--
สำหรับคนที่ชอบใช้ผ้าเช็ดแว่นของ muji แล้วเจอปัญหาสินค้าขาดตลาด เราจะบอกว่า ร้าน matsukiyo ก็มีผ้าเช็ดแว่นขายเหมือนกันนะคะ
---
DOG'S PALATIAL HOUSE (2022, Araya Rasdjarmrearnsook, video installation, A+30)

NECESSITY'S RHYTHM (2020, Araya Rasdjarmrearnsook, video installation A+30)

---
บันทึกความทรงจำไว้ว่า เมื่อวานนี้ดิฉันดู KAN KAUNG (2023, Win Lwin Htet, Myanmar, A+15) ไปสองรอบติดกันค่ะ เพราะดูแล้วรู้สึกซาบซึ้งในรสพระธรรมมาก ๆ เป็นหนังที่เหมาะกับผู้มีจิตฝักใฝ่ในธรรม คนธรรมะธัมโม สามี จิปฏิปันโน แบบดิฉันมาก ๆ ค่ะ เป็นหนังที่ดูแล้วก่อให้เกิดพลังแบบ "เนกขัมมะ" อย่างรุนแรงที่สุดค่ะ
--
--
--
--
--
--
--
--
--
--
ความจริงก็คือว่า สาเหตุที่ดูสองรอบติดกัน เพราะตอนดูรอบแรก ดิฉันหลับไปในครึ่งชั่วโมงแรกค่ะ 555 ดิฉันก็เลยตัดสินใจซื้อตั๋วรอบสองต่อเลย แล้วก็เข้าไปดูแค่ครึ่งชั่วโมงแรกเท่านั้นในรอบที่สอง เพราะไม่งั้นมันจะค้างคาใจไปอีกนานว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในครึ่งชั่วโมงแรกที่ตัวเองหลับไป

ซึ่ง KAN KAUNG นี่ถือเป็นหนังเรื่องที่ 4 แล้วในปีนี้ที่ดิฉันต้องดูรอบสอง เพราะดูรอบแรกแล้วหลับไปในช่วง 30-45 นาทีแรก ซึ่งก็ไม่ใช่ความผิดของหนังเหล่านี้แต่อย่างใดเลย แต่เป็นเพราะสังขารของดิฉันที่ย่างเข้าสู่วัยชรา เพราะฉะนั้นคืนไหนที่ดิฉันนอนต่ำกว่า 7 ชั่วโมง แล้วต้องมาทำงานในออฟฟิศต่ออีก 8-10 ชั่วโมง แล้วก็ไปดูหนังต่อในตอนเย็น ดิฉันก็เลยมักจะผล็อยหลับไปในช่วงแรก ๆ ของหนังค่ะ เพราะหัวสมองมันเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการทำงานมามากแล้ว

ส่วนหนังอีก 3 เรื่องที่ดิฉันต้องซื้อตั๋วดู 2-3 รอบในปีนี้ เพราะดูรอบแรกแล้วหลับสนิทก็คือ

1. ON THE ADAMANT (2023, Nicolas Philibert, France, documentary, A+30)

อันนี้ดูไป 3 รอบ 5555 แต่ชอบหนังอย่างสุดขีดนะ เหมือนยิ่งดูก็ยิ่งชอบมากขึ้นเรื่อย ๆ

2. MY BOO อนงค์ (2024, Komgritt Triwimol)

3. THE GARFIELD MOVIE (2024, Mark Dindal, animation)

ตอนนี้ก็ได้แต่ทำใจยอมรับความร่วงโรยของสังขารตัวเองค่ะ
---
ความเศร้าที่เลือนลาง (2024, Sireethon Isaravesttakoon)

ท่อน (2024, Burapa Pittayanusart)

รสชาติแห่งความสุข (2024, Rattikarn Srisang)

ฉันรักเขา Robert Webber from 12 ANGRY MEN (1957, Sidney Lumet, A+30)

No comments: