Monday, February 05, 2007

EDEN AND AFTER PART 2

นักวิจารณ์บางคนบอกว่าจุดร่วมกันของนักเขียนกลุ่ม NEW NOVEL คือการแสดงให้เห็นการทำงานของผู้แต่งนิยายในตัวนิยาย ซึ่งจุดนี้เห็นได้ชัดใน EDEN AND AFTER ที่เราได้เห็นว่าเรื่องราวในหนังเรื่องนี้อาจจะเกิดจากการเสกสรรค์ปั้นแต่งของตัวละครในเรื่อง อย่างเช่น

1.การแสดงในช่วงต้นเรื่องเกิดจากการแต่งเรื่องแต่งราวของเหล่านักศึกษา

2.เหตุการณ์ในช่วงต่อๆมาอาจจะเป็นได้ทั้ง

2.1 จินตนาการของ VIOLETTE ขณะที่เธออยู่ในห้อง

2.2 VIOLETTE กับเพื่อนๆเดินทางไปเล่นสนุกตามบทบาทของตัวเองที่เกาะเจอร์บา

2.3 เรื่องราวที่ชายแปลกหน้าเป็นผู้แต่งขึ้นมา

ดิฉันเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจริงๆแล้วเหตุการณ์ส่วนใดใน EDEN AND AFTER เป็นเรื่องจริงหรือเรื่องแต่งหรือเป็นการแสดงตามเรื่องแต่ง เพราะดูเหมือนหนังเรื่องนี้จะทำให้ดิฉันต้องเปลี่ยนความคิดของตัวเองในเกือบทุกฉากที่เหตุการณ์ดำเนินไป อย่างไรก็ดี “ความไม่แน่ใจ” นี้เองคือเสน่ห์ของหนังเรื่องนี้ และ “ความไม่แน่ใจ” นี้ก็ดูเหมือนจะเป็นจุดเด่นและจุดดีในนิยายของ ARG ในความเห็นของนักวิจารณ์บางคนด้วย โดยนักวิจารณ์บอกว่า นิยายของ ARG (และหนังของ ARG ในความเห็นของดิฉัน) ย้ำให้คนอ่านหรือคนดูตระหนักอยู่เสมอว่า “สิ่งที่ตัวเองคาดการณ์ไว้อาจเป็นสิ่งผิดก็ได้”

ในขณะที่นิยายทั่วไปมักจะแสดง MOTIVATION ของตัวละครแต่ละตัวว่าตัวละครตัวใดทำสิ่งใดไปเพราะอะไร นิยาย+หนังของ ARG และของผู้กำกับภาพยนตร์คนอื่นๆในกลุ่ม NEW NOVEL กลับลบ motivation และ PSYCHOLOGY ทิ้งไป ซึ่งสาเหตุหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น มีอยู่หลายครั้งที่เราไม่มีทางรู้ได้หรอกว่าคนอื่นๆทำสิ่งนั้นไปเพราะมีแรงจูงใจอะไร หรือทำสิ่งนั้นไป “เพราะอะไร” สิ่งที่เราทำได้มีแต่เพียงคาดการณ์เอาเองเท่านั้นว่าสิ่งใดที่เป็นแรงผลักดันให้เขาเหล่านั้นทำสิ่งนั้นออกมา

การที่เราคาดการณ์ว่าคนอื่นๆทำสิ่งนั้นเพราะแรงจูงใจอะไร ไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่อันตรายอาจจะเกิดขึ้นได้ถ้าหากเราทึกทักเอาเองว่าการคาดการณ์ของเราเป็นสิ่งที่ถูกต้องแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ และหลายๆคนก็มักจะทำเช่นนี้ เมื่อเขาเห็นมาดาม เอ กระทำพฤติกรรม บี เขาก็ปักใจเชื่อว่า สิ่งนี้ต้องเกิดจากปัจจัย ซี อย่างแน่นอน และนิยายหลายๆเรื่องก็อาจจะมีส่วนที่ทำให้คนเราเป็นเช่นนั้น ทำให้คนเราด่วนหาเหตุผลเอาเอง หรือสรุปสภาพจิตของผู้อื่นเอาเอง ทั้งๆที่จริงๆแล้วมันอาจจะผิดก็ได้

แต่ภาพยนตร์และนิยายของ ARG ได้ดึงเราให้กลับมาสู่ความจริงที่เราอาจมองข้ามไป นั่นก็คือความจริงที่ว่า มาดาม เอ อาจจะทำพฤติกรรม บี เพราะปัจจัย ซี “หรืออาจจะไม่ใช่ก็ได้” เราคาดการณ์แรงจูงใจของคนอื่นได้ แต่เราไม่ควรจะปักใจเชื่อ 100 % ว่าสิ่งที่เราคิดเป็นสิ่งที่ถูกต้องเป็นอันขาด
(ข้อความข้างต้นนี้ส่วนใหญ่มาจากความเห็นของ JOHN STURROCK)

ในการดูหนังเรื่องนี้นั้น ดิฉันก็ไม่สามารถปักใจเชื่อในความเห็นของตัวเองได้เลยเช่นกัน และไม่สามารถบอกได้เลยว่า สมมุติฐานแต่ละอย่างของดิฉันที่มีต่อหนังเรื่องนี้นั้น สามารถอธิบายหนังได้ทั้ง 100 % อย่างเช่น ในความเห็นส่วนตัวของดิฉันนั้น ดิฉันอยากจะจินตนาการเล่นๆว่า เนื้อหาหลายส่วนใน EDEN AND AFTER เกิดจากจินตนาการของ VIOLETTE เพราะในหนังเรื่องนี้ มีหนุ่มนักศึกษาหล่อๆ อยู่ 3 คน และ VIOLETTE ก็ได้พลอดรักกับทั้งสามหนุ่ม ราวกับว่าเรื่องแต่งนี้เกิดจากความปรารถนาในตัวไวโอเล็ตต์เอง

นักศึกษาหนุ่มหล่อ 3 คนในเรื่องนี้ได้แก่

1.MARC-ANTOINE ซึ่งดูเหมือนเป็นแฟนของไวโอเล็ตในช่วงต้นเรื่อง เพราะเขานอนคุยกับไวโอเล็ตบนเตียง

2.ฌอง-ปิแอร์

หลังจากไวโอเล็ตทำกุญแจหาย อยู่ดีๆเธอก็ขอไปค้างกับ JEAN-PIERRE และก็ร่วมรักกับฌอง-ปิแอร์ โดยที่มาร์ค-อังตวนไม่รู้ว่าหายตัวไปไหน หรือทำไมไม่แสดงอาการหึงหวงออกมา

3.บอริส ซึ่งหล่อที่สุดในเรื่อง

ช่วงที่ไวโอเล็ตถูกพันธนาการ เธอได้ใช้เสน่ห์ยั่วยวนบอริสจนหลุดออกมาจากที่คุมขังได้

อย่างไรก็ดี หนังเรื่องนี้ก็มีหญิงสาวเปลือยโผล่มาแสดงอาการวิกลวิกาลหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งนั่นไม่น่าจะเกิดจากจินตนาการของไวโอเล็ตแต่อย่างใด แต่เกิดจากจินตนาการของ ARG นั่นเอง ทุกสิ่งทุกอย่างในหนังเรื่องนี้ล้วนเกิดจากจินตนาการของ ARG สมมุติฐานของดิฉันเรื่องจินตนาการของไวโอเล็ตอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง หรือไม่อาจอธิบายหนังได้ในหลายๆส่วน แต่อย่างน้อยหนังเรื่องนี้มันก็ได้กระตุ้นให้ดิฉันได้จินตนาการเอาเองอย่างสนุกสนานว่าส่วนใดของหนังที่เกิดจากจินตนาการของตัวละครตัวใด หรือเกิดขึ้นจริงหรือไม่

สิ่งหนึ่งที่น่าประทับใจในการชมหนังของ ARG ก็คือการที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่า หนังที่เราได้ชมมันกลายสภาพแตกต่างกันไปเมื่อมันเข้าไปอยู่ในความคิดของเรา และเมื่อมันเข้าไปอยู่ในความคิดของคนอื่น หนังเรื่อง EDEN AND AFTER มันมีอยู่เรื่องเดียว แต่เมื่อมันเข้าไปอยู่ในหัวของดิฉัน ดิฉันกลับพบว่าหัวของดิฉันเต็มไปด้วยทฤษฎีหรือสมมุติฐานมากมายเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่อง โดยที่ไม่อาจแน่ใจได้ว่าสมมุติฐานไหนที่สามารถอธิบายเหตุการณ์ในเรื่องได้ดีที่สุดกันแน่ และผู้ชมคนอื่นๆต่างก็มีสมมุติฐานของตัวเองเช่นกันต่อเหตุการณ์ในเรื่องนี้ และลักษณะเช่นนี้ของ EDEN AND AFTER ก็สะท้อนโลกแห่งความเป็นจริงได้ดี โลกที่เราตั้งสมมุติฐานต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ (อย่างเช่นสมมุติฐานว่าใครวางระเบิด) แต่ก่อนที่ความจริงจะปรากฏชัด เราต้องไม่ “ด่วนตัดสิน” เป็นอันขาดว่าสมมุติฐานของเราเป็นจริงแน่นอน เราต้องเผื่อใจไว้เสมอว่า สมมุติฐานของเราที่มีต่อเหตุการณ์ต่างๆในโลกนี้ หรือสมมุติฐานของเราที่มีต่อการกระทำของคนต่างๆที่เข้ามาข้องเกี่ยวในชีวิตเรา “อาจจะเป็นสมมุติฐานที่ตรงกับความจริงก็ได้หรืออาจจะไม่ตรงก็ได้”

ในโลกที่เราใช้ชีวิตอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั้น เมื่อดวงตาของเราเห็น “เหตุการณ์ เอ” เกิดขึ้นตรงหน้าเรา เราก็มักจะคิดโดยอัตโนมัติในทันทีว่า “เหตุการณ์ เอ” นี้เกิดขึ้นจาก “ปัจจัย บี” และเราก็มักจะบันทึกไว้ในใจทันทีว่า “เหตุการณ์ เอ” และ “ปัจจัย บี” คือ “เรื่องจริง” ที่เกิดขึ้น โดยไม่ทันได้แยกแยะว่า “ปัจจัย บี” เป็นเพียง “การคาดการณ์ของเราเอง” เท่านั้น

แต่การได้ดู EDEN AND AFTER นั้น นอกจากจะทำให้ดิฉันได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินอย่างถึงขีดสุดแล้ว มันอาจจะช่วยตอกย้ำให้ดิฉันได้ตระหนักอีกด้วยว่า เราต้องรู้จักแยกแยะระหว่าง “สิ่งที่เราเห็นตรงหน้า” กับ “สิ่งที่เกิดขึ้นในหัวของเรา” ออกจากกันให้ได้ เพราะการสับสนระหว่างสองสิ่งนี้ อาจทำให้เราเข้าใจคนอื่นๆและเข้าใจโลกผิดไป นอกจากนี้ EDEN AND AFTER ยังตอกย้ำให้ตระหนักอีกด้วยว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าเรา” เป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็กน้อยของเหตุการณ์จริงอีกล้านล้านเหตุการณ์บนโลกใบนี้ เพราะฉะนั้นเราต้องไม่ปักใจเชื่อว่าสิ่งที่เราพบเจอมานั้น สามารถใช้อธิบายเหตุการณ์อีกล้านเหตุการณ์บนโลกได้ เราต้องตระหนักว่า ในชีวิตของเรานั้น เราได้รับรู้เพียงแค่ “เศษเสี้ยว” ของความจริงบนโลกนี้เท่านั้น และเราต้องไม่เอา “เศษเสี้ยวเล็กน้อย” ที่เราได้รับรู้มานี้ ไปตั้งเป็นกฎเกณฑ์ตีขลุมครอบงำความจริงอื่นๆบนโลกด้วยความมั่นใจว่ามันต้องเป็นเช่นนั้นแน่นอนเป็นอันขาด

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นึกถึงจุดนี้ คือการที่ EDEN AND AFTER นำเสนอหลายๆเหตุการณ์เหมือนเป็นเศษเสี้ยวที่ไม่ปะติดปะต่อกัน ไม่รู้ว่าเศษเสี้ยวไหนจริง เศษเสี้ยวไหนปลอม เมื่อเราเห็นฉากหนึ่งของหนัง หรือเห็นเศษเสี้ยวหนึ่งของหนัง เราก็จินตนาการไปแล้วว่าเนื้อเรื่องมันน่าจะเป็นยังงี้ แต่เมื่อเราเห็นอีกเศษเสี้ยวนึงของหนัง เราก็จะพบว่า “ทฤษฎีที่เราคิดเอาเอง หลังจากเราได้เห็นฉาก เอ” กลายเป็นทฤษฎีที่อาจจะผิดก็ได้ หรืออาจจะถูกก็ได้ แต่ละเศษเสี้ยวของหนังเรื่องนี้ ทำให้เราปรับเปลี่ยนทฤษฎีในหัวอยู่ตลอดเวลา และนั่นคือสิ่งที่เราควรจะทำในบางครั้งในโลกแห่งความจริงเช่นกัน เราต้องไม่ดื้อรั้นดึงดันหรือยึดมั่นในความเชื่อของตัวเองจนเกินไปในบางเรื่อง เพราะสิ่งที่เราเชื่อมันอาจจะเป็นสิ่งที่ผิดก็ได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราต้องเปลี่ยนความเชื่อของตัวเองอยู่เสมอ สิ่งที่เราควรทำก็เพียงแค่ยอมรับว่าสิ่งที่เราเชื่อมัน “อาจจะ” ผิดก็ได้เท่านั้นเอง

อีกจุดนึงที่ชอบใน EDEN AND AFTER ก็คือว่า ถึงแม้หนังเรื่องนี้จบลงแล้ว และเราได้เห็นเศษเสี้ยวทุกเศษเสี้ยวของหนังเรื่องนี้แล้ว ดิฉันก็ไม่สามารถนำเศษเสี้ยวทั้งหมดมาประกอบเข้าด้วยกันเป็นภาพจิกซอว์ที่สมบูรณ์โดยที่แต่ละจุดในภาพไม่ขัดแย้งกันเอง หรือไม่หักล้างกันเอง ตัวอย่างเช่น ในช่วงท้ายเรื่อง

1.ไวโอเล็ตบอกว่า “ไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้นเลย ฉันยังคงอยู่ในห้องเฉยๆ”

ประโยคนี้ทำให้ดิฉันเกิดทฤษฎีขึ้นมาในหัวว่า ทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่ต้นเรื่องนี้เป็นเพียงจินตนาการของไวโอเล็ต

2.แต่ต่อมาไวโอเล็ตก็บอกว่า “เพื่อนๆในร้านอีเดนต่างมีท่าทางเหนื่อยอ่อนราวกับกลับจากเดินทางไกล”

ประโยคนี้ทำให้ดิฉันเกิด “ความไม่แน่ใจ” ขึ้นมาในทันทีว่า แล้วเพื่อนๆพวกนี้เหนื่อยอ่อนเพราะอะไร พวกเขาเหนื่อยอ่อนเพราะสาเหตุร้อยแปดพันประการ หรือว่าพวกเขาเหนื่อยอ่อนเพราะพวกเขาเพิ่งไปเล่นละครฆ่ากันที่เกาะเจอร์บา หรืออะไรกันแน่

ในความเห็นของดิฉัน เศษเสี้ยวใน EDEN AND AFTER ไม่สามารถนำมาเรียงร้อยต่อกันใหม่ให้เป็นภาพๆเดียวได้แบบเศษเสี้ยวใน 21 GRAMS เพราะเศษเสี้ยวแต่ละเศษเสี้ยวใน EDEN AND AFTER มันเหมือนกับจะทำหน้าที่หักล้างกันเองว่าอีกเศษเสี้ยวนึงอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ การดู EDEN AND AFTER จบ ไม่สามารถทำให้ดิฉันเล่าเรื่องได้ด้วยความมั่นใจว่า เกิดเหตุการณ์ เอ แล้วเกิดเหตุการณ์ บี แล้วเกิดเหตุการณ์ ซี (เหมือนกับตอนที่ดู 21 GRAMS จบ) แต่การดู EDEN AND AFTER จบ ทำให้ดิฉันอาจจะต้องเล่าเนื้อหาในหนังเรื่องนี้ในทำนองที่ว่า อาจจะเกิดเหตุการณ์ เอ หรืออาจจะไม่เกิดก็ได้ แล้วหลังจากนั้นมันก็อาจจะเกิดเหตุการณ์ บี ก็ได้ หรือ ซี ก็ได้ หรือบางทีเหตุการณ์ ซี อาจจะเป็นเพียงจินตนาการ หลังจากเกิดเหตุการณ์ เอช แล้ว หรืออะไรทำนองนี้

ข้อความข้างต้นนี้ หลายส่วนไม่ได้เกิดจากความคิดของดิฉันเองหลังดู EDEN AND AFTER จบ ดิฉันชอบหนังเรื่อง EDEN AND AFTER มากๆ เพราะดิฉันรู้สึกมีความสุขสุดขีดที่สุดในชีวิตขณะที่ได้ดู แต่ก็ไม่แน่ใจว่า “ความสุขสุดขีดที่สุดในชีวิต” นี้ มันเกิดจากอะไรในหนังกันแน่ แต่หลังจากได้อ่านหนังสือของ JOHN STURROCK ที่ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับลักษณะต่างๆในนิยายของ ARG แล้ว ดิฉันก็พบว่าบางทีความสุขที่ดิฉันได้รับจาก EDEN AND AFTER มันอาจจะเป็นเพราะว่าหนังเรื่องนี้เข้ากันได้กับแนวคิดของดิฉันโดยที่ดิฉันไม่รู้ตัว หรือหนังเรื่องนี้ได้ปลูกฝังสิ่งดีๆบางอย่างให้ดิฉันโดยที่ดิฉันไม่รู้ตัว และมารู้ตัวเอาทีหลังว่าหนังเรื่องนี้ “อาจจะ” แอบแฝงแนวคิดดีๆอะไรก็ต่อเมื่อได้อ่านหนังสือของ JOHN STURROCK แล้ว (หนังสือนี้อยู่ในหอกลาง จุฬา เลขหมู่ 843.9 S 936 F)

No comments: