This is an interesting article from Prachatai website about the border dispute between Thailand and Cambodia. It is written by the editor of Same Sky Magazine.
http://www.prachatai.com/05web/th/home/14109
พรมแดน แผนที่ ประวัติศาสตร์ ชาตินิยม
25 กันยายน 2548 สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผย “ทรรศนะของประชาชนต่อแนวทางของรัฐบาลในการแก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” พบว่า ประชาชนร้อยละ 79.3 เห็นว่าคำพูดของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า “จะไม่ยอมให้ใครมาแยกดินแดนภาคใต้แม้เพียงตารางนิ้วเดียว” เป็นคำพูดที่เหมาะสม
20 มิถุนายน 2551 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ขึ้นเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยปลุกพลังกู้ชาติ ย้ำภายใต้ 62 ปีแห่งการครองราชย์โดยธรรม ประเทศไทยไม่เคยเสียดินแดนแม้แต่ตารางนิ้วเดียว และจะต้องเป็นเช่นนี้ตลอดไป พร้อมประกาศเดินหน้าสู้เพื่อประเทศไทยและในหลวง
แม้จะเป็นคู่ตรงข้ามทางการเมือง แต่สิ่งที่เหมือนกันของทั้ง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร กับ นายสนธิ ลิ้มทองกุล คือทั้งคู่ต่างฉวยใช้แนวคิดชาตินิยม โดยเฉพาะที่เกี่ยวพันกับเรื่องอธิปไตยเหนือดินแดน เป็นเครื่องมือสนับสนุนการดำเนินการทางการเมืองของตน จะต่างก็ตรงที่ฝ่ายแรกนั้นใช้ชาตินิยมเพื่อสร้างความชอบธรรมในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ขณะที่ฝ่ายหลังนั้นใช้ชาตินิยมเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐบาล
เหตุที่คำโฆษณาประเภท “จะไม่ยอมเสียดินแดนแม้เพียงตารางนิ้วเดียว” หากนำไปใช้ปลุกเร้ามวลชนเมื่อไร เลือดรักชาติก็มักพุ่งฉีดซ่านเมื่อนั้น ก็เพราะมันไม่ได้ดำรงอยู่อย่างล่องลอย แต่เชื่อมโยงไปยังประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่มีฐานะครอบงำสังคมไทยอยู่ว่า บุรพกษัตริย์ของชาติได้หลั่งเลือดเพื่อรักษาผืนแผ่นดินเอาไว้ ดังนั้นหากผู้ใดทำให้ชาติต้องสูญเสียอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนไปแม้เพียงตารางนิ้วเดียว ผู้นั้นไม่เพียงแต่ทรยศต่อชาติ ทว่ายังเนรคุณต่อพระมหากษัตริย์ด้วย และด้วยเหตุนี้คนจำนวนมากจึงพร้อมที่จะต่อสู้กับพวกทรยศขายชาติ กระทั่งสามารถ “สละเลือดทุกหยาดเป็นราชพลี”
ปรากฏการณ์ล่าสุดที่ยืนยันถึงพลานุภาพของแนวคิดชาตินิยมที่ถูกปลุกขึ้นด้วยคำโฆษณาประเภท “จะไม่ยอมเสียดินแดนแม้เพียงตารางนิ้วเดียว” นั่นคือ กรณีขบวนการกู้ชาติเพื่อทวงคืนปราสาทพระวิหารนำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งอิทธิฤทธิ์ทำลายล้างของมันจะมากน้อยเพียงใดนั้น ณ ขณะนี้ยังเป็นที่คาดเดาได้ยากนัก
อย่างไรก็ดี คงไม่เป็นการสายเกินไป หากเรา-ฟ้าเดียวกัน-จะชวนให้มาทบทวน พินิจพิเคราะห์ กันอีกซักครั้ง ถึงความยอกย้อนและมายาคติว่าด้วยเรื่องพรมแดน-แผนที่-ประวัติศาสตร์-ชาตินิยม
เริ่มด้วยบทความของ ธงชัย วินิจจะกูล ว่าด้วย “ภูมิกายาและประวัติศาสตร์” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือของเขาเรื่อง Siam Mapped: A History of the Geo-Body of a Nation (1994) อันเป็นฐานทางความคิดที่สำคัญของข้อเสนอเรื่อง “ราชาชาตินิยม” ของเขาในปัจจุบัน
จากนั้นก็ชวนเข้าไปถกเถียงกันต่อในกรณีเฉพาะหน้า ได้แก่ ประเด็นร้อนว่าด้วยปราสาทพระวิหาร ผ่านบทความ “คำพากษาคดีปราสาทพระวิหาร: มโนทัศน์ต่อพื้นที่ชายขอบและข้อเสียเปรียบของไทย” ของพวงทอง ภวัครพันธุ์ และ “สี่มิติปราสาทพระวิหาร: ประวัติศาสตร์ ชาตินิยม เส้นพรมแดน แผนเศรษฐกิจ” ของสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี…
กรุณาอย่ารีรอ เชิญพลิกเข้าไปร่วมวิวาทะกับเรา-ฟ้าเดียวกัน- ท่ามกลางยุคสมัยที่มหาชนชาวไทยมิได้จินตนาการถึง “ชาติ” แบบ “เดียวกัน” อีกต่อไปแล้ว
พรมแดน แผนที่ ประวัติศาสตร์ ชาตินิยม
http://www.sameskybooks.org/2008/10/15/editorial23/
สารบัญ
http://www.sameskybooks.org/2008/10/15/fah-23/
Thursday, October 16, 2008
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment