Friday, October 24, 2008

FILM PROGRAM AT THAMMASAT LIBRARY

ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ร่วมกับสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เชิญชม

^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^

PAGES OF MADNESS
The Crazy Japanese Underground and Counter-Culture Cinema
ปลุกตำนานหนังใต้ดินสุดขบถจากญี่ปุ่น

^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^

ทุกวันอาทิตย์ระหว่างวันที่ 9 พฤศจิกายน – 21 ธันวาคม 2551 ตั้งแต่เวลา 12.30 น. เป็นต้นไป
ณ ห้องเรวัต พุทธินันท์ ชั้นใต้ดิน U2 หอสมุด ปรีดี พนมยงค์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
โทรศัพท์ 0-2613-3529 หรือ 0-2613-3530
ชมฟรี!!! (โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ห้องสมุดว่ามาชมภาพยนตร์ และกรุณาแต่งกายสุภาพ)

อาทิตย์ที่ 9 พฤศจิกายน 2551
12.30 น. A Page of Madness (1926) กำกับโดย Teinosuke Kinugasa
14.00 น. Donald Richie’s Shorts (1962-1967) กำกับโดย Donald Richie
15.00 น. Five Filosophical Fables (1967) กำกับโดย Donald Richie

อาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน 2551
12.30 น. The Desert Archipelago (1969) กำกับโดย Katsu Kanai
13.30 น. Good-Bye (1971) กำกับโดย Katsu Kanai
15.00 น. Funeral Parade of Roses (1969) กำกับโดย Toshio Matsumoto

อาทิตย์ที่ 23 พฤศจิกายน 2551
12.30 น. Coup d’etat (1973) กำกับโดย Yoshishige Yoshida
14.30 น. Eros+Massacre (1969) กำกับโดย Yoshishige Yoshida

อาทิตย์ที่ 30 พฤศจิกายน 2551
12.30 น. Death Powder (1986) กำกับโดย Shigeru Izumiya
14.00 น. While the Right Hand Is Sleeping (2002) กำกับโดย Shirakawa Koji

อาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม 2551
โปรแกรมพิเศษ ‘หนังคู่ผวน’
12.30 น. Moju (1969) กำกับโดย Yasuzo Masumura
14.30 น. Mujo (1970) กำกับโดย Akio Jissoji

อาทิตย์ที่ 14 ธันวาคม 2551
12.30 น. Diary of a Shinjuku Thief (1968) กำกับโดย Nagisa Oshima
14.30 น. Death by Hanging (1968) กำกับโดย Nagisa Oshima

อาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม 2551
12.30 น. The Man Who Put His Will on Film (1970) กำกับโดย Nagisa Oshima
14.30 น. The Ceremony (1971) กำกับโดย Nagisa Oshima

เรื่องย่อภาพยนตร์
A Page of Madness (1926)
หนังเงียบระดับตำนานที่ได้ชื่อว่าเป็น The Man With a Movie Camera หรือ The Cabinet of Dr. Caligari ของวงการหนังญี่ปุ่น ผลงานการกำกับของ Teinosuke Kinugasa จากบทภาพยนตร์โดย Yasunari Kawabata นักเขียนรางวัลโนเบลปี 1968 เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชายชาวประมงที่พยายามสมัครเข้าทำงานเป็นภารโรงประจำโรงพยาบาลประสาทแห่งหนึ่งเพียงเพื่อลักลอบนำตัวภรรยาของเขาซึ่งเป็นหนึ่งในคนไข้ออกมา ผู้กำกับ Teinosuke Kinugasa นำเสนอเรื่องราวด้วยเทคนิคการถ่ายภาพขาวดำอันหนักแน่นหวือหวาผนวกกับการตัดสลับเหตุการณ์ไปมาด้วยลีลาใกล้เคียงงาน Expressionist ของเยอรมันนี สร้างภาพหลอนของผู้มีอาการป่วยทางจิตออกมาได้อย่างน่าตื่นตะลึงถึงกับเคยถูกนำไปใช้เป็นกรณีศึกษาของบรรดาจิตแพทย์และนักจิตวิทยากันมาแล้ว! หนังเรื่องนี้เคยหายสาบสูญไปเกือบ 50 ปี ก่อนที่ผู้กำกับจะค้นพบฟิล์มหนังอีกครั้งในปี 1971

Donald Richie’s Shorts (1962-1967)
หนังสั้นชุดสี่เรื่องของ Donald Richie นักวิจารณ์อเมริกันที่หันไปสนใจวัฒนธรรมภาพยนตร์ในญี่ปุ่นอย่างจริงจังจนได้รับการยกย่องให้เป็นกุนซือผู้แตกฉานและเชี่ยวชาญวงการหนังญี่ปุ่นทุกยุคสมัย นอกจากจะเขียนบทความและบทวิจารณ์หลากหลายเกี่ยวกับหนังญี่ปุ่นแล้ว Donald Richie ยังเคยกำกับหนังไว้จำนวนหนึ่งด้วย สำหรับหนังสั้นที่ทางดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์จะนำมาฉายในโปรแกรมนี้ประกอบไปด้วย Wargames (1962) Atami Blues (1962) Boy with Cat (1966) และ Death Youth (1967) ขึ้นชื่อว่าเป็นนักวิจารณ์ตัวเอ้ที่หันมาทำหนังแล้วผลลัพธ์ที่ได้ย่อมไม่เหลือความเป็นปรกติธรรมดา ขอเชิญผู้ชมทุกท่านมาร่วมสัมผัสกันว่าหนังสั้นของนักวิจารณ์ที่ผ่านการดูหนังมาแบบนับไม่ถ้วนนั้นมันจะวิจิตรพิสดารพันลึกได้ถึงขนาดไหน

Five Filosophical Fables (1967)
นอกจากจะทำหนังสั้นแล้ว Donald Richie ยังเคยทำหนังขนาดย่อม (47 นาที) เอาไว้อีกเรื่องหนึ่งด้วยนั่นก็คือ Five Filosophical Fables นิทานชุดสะท้อนปรัชญาความเป็นมนุษย์จำนวนห้าเรื่องที่บอกเล่าได้อย่างคมคายและขบขันในเวลาเดียวกัน เชิญร่วมกันหาคำตอบว่าทำไมคนเราจะต้องเดินด้วยเท้า เสื้อผ้าอาภรณ์เป็นสิ่งสำคัญจำเป็นจริงหรือไม่ และมนุษย์ไม่ควรหันมากลืนกินพวกเดียวกันเองจริงหรือ!

The Desert Archipelago (1969)
ผลงานชิ้นเยี่ยมของผู้กำกับญี่ปุ่นที่ตกสำรวจไปได้อย่างไม่ควรให้อภัย Katsu Kanai ซึ่งต่อให้เขามีโอกาสได้ทำหนังเรื่องนี้เพียงเรื่องเดียวก็นับเป็นคุณูปการเพียงพอที่จะยกให้เขาเป็นคนทำหนังใต้ดินนอกคอกที่บ้าดีเดือดมากที่สุดรายหนึ่งของเกาะญี่ปุ่น The Desert Archipelago เล่าเรื่องราวของสำนักนางชีนอกรีตแห่งหนึ่งที่พฤติกรรมของผู้ครองพรหมจรรย์เหล่านั้นมันช่างห่างไกลความสำรวมเสียเหลือเกิน เมื่อเด็กชายที่ถูกชุบเลี้ยงในคอนแวนต์เริ่มโตเป็นหนุ่มใหญ่ เขาจึงหนีไม่พ้นที่จะถูกรุมสกรัมปู้ยี้ปู้ยำด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา หนังถ่ายทอดด้วยภาพขาวดำที่จัดองค์ประกอบทับซ้อนไปมาได้อย่างสุดหลอกหลอน คลอประกอบด้วยเสียงหัวเราะคิกคักของเหล่านางชีอันสุดแสนจะกวนประสาท นับเป็นประสบการณ์การชมภาพยนตร์สุดประหลาดพิสดารที่คงจะลืมเลือนกันไม่ได้ง่าย ๆ เลยทีเดียว


Good-Bye (1971)
ผลงานเรื่องที่สองที่ตอกย้ำความบ้าระห่ำแบบไม่เกรงใจใครของผู้กำกับ Katsu Kanai ได้เป็นอย่างดี หนังเริ่มต้นเรื่องราวด้วยชายหนุ่มที่มีปัญหาในการออกเสียงพูด เขาต้องใช้เวลาและความพยายามอยู่นานกว่าจะสามารถเปล่งเสียงเพียงเพื่อสั่งบะหมี่ในร้านจากพ่อครัวได้ หลังจากนั้นหนังก็เริ่มพลิกผันเรื่องราวไปสู่ประเด็นใหม่กันแบบไม่อาจจะคาดเดา เมื่อเราจะได้เห็นตัวละครสำคัญกระโดดเข้ามาร่วมวงศ์ไพบูลย์กับพ่อหนุ่มหน้าตี๋รายนี้กันแบบไม่ต้องมีตรรกะเหตุผลอะไรใด ๆ อีกต่อไป คงเหลือไว้แต่การบิดมิติหนังกันอย่างบ้าคลั่งตามอำเภอใจ ก่อนจะ Good-Bye ลาจากไปทิ้งคนดูไว้ให้จมอยู่กับอาการอ้ำอึ้ง!

Funeral Parade of Roses (1969)
หนังที่หยิบเอาตำนาน Oedipus Rex มาแต่งหน้าทาปากเสียใหม่จนกลายเป็นหนังเกย์ใต้ดินเรื่องสำคัญแห่งยุค 60’s Eddie กะเทยสาวหน้าหวานผู้มั่นอกมั่นใจในความงดงามของตัวเอง เธอทำงานให้กับบาร์เกย์แห่งหนึ่งและมีตำแหน่งเป็นนางพญาบาร์เรียกลูกค้าหนุ่ม ๆ ให้แวะเวียนมาอุดหนุนได้โดยไม่ขาดสาย แต่ความเริ่ด เชิด หยิ่ง ของเธอก็ทำให้ Eddie มักจะมีปากเสียงกับนังกะเทยแก่เมียเจ้าของบาร์อยู่เสมอ วันหนึ่งเมื่อเธอได้พบกับพ่อแท้ ๆ ของตัวเองที่เคยทิ้งไปตั้งแต่เธอยังเป็นเด็ก เรื่องราวหนหลังจึงนำไปสู่โศกนาฏกรรมอันเป็นที่มาของเรื่องราวในตำนานอย่างชวนสลด เชื่อหรือไม่ว่า Stanley Kubrick เคยให้การว่าเขาได้ยืมเอาสไตล์แปลกเปรี้ยวสุดจี๊ดในหนังเรื่องนี้ไปใช้ในผลงานดังอย่าง A Clockwork Orange ของเขาด้วย

Coup d’etat (1973)
ผลงานเด่นอีกเรื่องของ Yoshishige Yoshida หรือ Kiju Yoshida ผู้กำกับ Japanese New Wave รุ่นบุกเบิกที่อาจจะไม่โด่งดังเท่า Shohei Imamura, Nagisa Oshima, Hiroshi Teshigahara หรือ Seijun Suzuki แม้ว่าฝีไม้ลายมือจะไม่ได้ด้อยไปกว่ากันสักเท่าไร Coup d’etat เป็นหนังกึ่งชีวประวัติของ Ikki Kita นักคิดหัวสังคมนิยมผู้ผลักดันให้เกิดการรัฐประหารในญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปี 1936 แม้ว่าหนังจะอ้างอิงจากเหตุการณ์จริง แต่ผู้กำกับ Yoshishige Yoshida กลับใช้จริตลีลาเชิงหนังอันอาบเอิบไปด้วยอารมณ์กวีมาสร้างบรรยากาศแปลกใหม่กึ่งจริงกึ่งฝันได้อย่างน่าประหลาด นับเป็นงานลายเซ็นที่สะท้อนความเป็นผู้กำกับหัวขบถของ Yoshishige Yoshida ได้เป็นอย่างดี


Eros+Massacre (1969)
ผลงานระดับ Masterpiece ของหนึ่งในผู้กำกับหัวหอกของกลุ่ม Japanese New Wave เล่าเรื่องราวทับซ้อนของนักศึกษาหนุ่มสาวที่กำลังสืบสาวหาข้อมูลเกี่ยวกับความคิดอ่านทางการเมืองของจอมกบฏ Sakae Osugi และความสัมพันธ์กับหญิงสาวทั้งสามคนของเขาคือศรีภรรยาและชู้รักคนที่หนึ่งและที่สอง หนังสลับเล่าเรื่องราวของตัวละครจากสองช่วงยุคสมัยแล้วค่อย ๆ ทลายมิติเวลานำพาพวกเขามาเผชิญหน้ากันในช่วงท้าย ผ่านการถ่ายทอดด้วยบทสนทนาของตัวละครที่ประกอบไปด้วยคำกวีแบบมีปรัชญาในแทบจะทุกประโยคและงานด้านการกำกับภาพที่สุดประณีตอลังการเล่นกับฉากพื้นที่และความว่างได้อย่างสุดสร้างสรรค์ หนังที่จะฉายในโปรแกรมนี้เป็นฉบับฉายโรงความยาว 165 นาที เนื่องจากยังไม่สามารถหาฉบับความยาวดั้งเดิม 202 นาทีซึ่งใช้ตระเวนฉายตามเทศกาลพร้อมคำบรรยายภาษาอังกฤษได้

Death Powder (1986)
หนัง Sci-Fi Cyber-Punk สุดขำที่ใครดูแล้วคงต้องร้องอุทานดัง ๆ ว่า ‘ช่างคิดช่างทำออกมาได้!’ เชิญพบกับความเปิ่นเป๋อของ Special Effect และมุกตลกเด๋อด๋าแต่ยังฮาได้อย่างหน้าตายชนิดที่คงไม่มีใครคิดได้นอกจากผู้กำกับ Shigeru Izumiya รายนี้ หนังเล่าเรื่องราวในอนาคตเมื่อสามนักวิทยาศาสตร์อันประกอบไปด้วยหนึ่งหญิงสองชายต้องร่วมกันประมือกับหุ่นมนุษย์แอนดรอยด์สาวนาม Guernica ซึ่งถูกล่ามขังไว้ในโกดังร้าง เมื่อหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์เกิดพลั้งพลาดโดนพ่นผงพิฆาตจากปากของนางแอนดรอยด์สาว ผิวหนังของเขาก็เริ่มมีอาการติดเชื้อจนเหลวยุ่ยเยิ้มเฟะจนแทบไม่เหลือเค้าความเป็นมนุษย์อีกต่อไป แล้วนักวิทยาศาสตร์อีกสองคนที่เหลือจะแก้สถานการณ์นี้ได้อย่างไรคงเป็นอะไรที่ต้องติดตามกัน น่าเสียดายเหลือเกินที่หลังจาก Death Powder แล้ว Shigeru Izumiya ก็ยังไม่มีโอกาสได้ทำหนังเรื่องไหนอีกเลยกระทั่งในปัจจุบัน

While the Right Hand Is Sleeping (2002)
หนังทดลองใต้ดินระดับมหากาพย์ของผู้กำกับหนุ่มไฟแรง Shirakawa Koji ถ่ายทอดฝันร้ายของครอบครัวครอบครัวหนึ่งเมื่อจิตรกรผู้เป็นพ่อเกิดอาการติดเชื้อจนไม่สามารถขยับเขยื้อนมือขวาได้อีก ภรรยาของเขาซึ่งทำงานเป็นผู้ให้คำปรึกษาก็เริ่มหมดอาลัยตายอยากกับชีวิตของตัวเอง ส่วนลูกชายเพียงคนเดียวของทั้งสองก็เริ่มยุติการสื่อสารทางคำพูดเมื่อเขาสามารถอ่านใจคนอื่นได้ และขณะที่ครอบครัวนี้กำลังดำดิ่งไปสู่ความพลังทลาย เกย์หนุ่มนายหนึ่งก็เข้ามามีบทบาทในชีวิตพวกเขาและทำให้ชะตากรรมของครอบครัวต้องเปลี่ยนแปลงไปอีกครั้ง หนังทดลองแนวกวีความยาว 208 นาทีที่ใช้ภาษาภาพได้อย่างทรงพลังและน่าทึ่ง!

Moju (1969)
ผลงานสุดแปร่งของผู้กำกับ Yasuzo Masumura ที่ดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นของ Edogawa Rampo ถ่ายทอดเรื่องราวความลุ่มหลงในความงามของเรือนร่างอิสตรีของนักประติมากรรมตาบอดจิตป่วยที่ต้องลักพาตัวหญิงสาวมาเป็นนางแบบให้กับผลงานแห่งความงามอันสมบูรณ์พร้อมของเขาเองภายในห้องโกดังที่ประดับประดาไปด้วยชิ้นส่วนของร่างกายมนุษย์อันชวนขนหัวลุก! นับเป็นหนังใต้ดินสุดเพี้ยนที่กำกับศิลป์ได้อย่างชวนผวาและน่าซูฮกเสียจริง ๆ

Mujo (1970)
ผลงานเด่นหาชมยากในยุคแรกของผู้กำกับ Akio Jissoji ที่บอกเล่าเรื่องราวความวุ่นวายอันเกิดจากความสัมพันธ์ต้องห้ามระหว่างสองพี่น้องชายหญิงคู่หนึ่งในเมืองเล็ก ๆ ริมทะเลสาบ โดยฝ่ายพี่ชายนั้นเป็นศิลปินผู้หลงใหลในศิลปะการประติมากรรมพระพุทธรูป ในขณะฝ่ายน้องสาวก็ปฏิเสธที่จะมอบหัวใจให้ใครนอกจากพี่ชายของเธอคนเดียว หนังใช้เรื่องราวหมิ่นเหม่ศีลธรรมมาถ่ายทอดสัจธรรมแห่งความ ‘อนิจจัง’ ไม่เที่ยงแท้ของมนุษย์ตามปรัชญาพุทธผ่านงานการกำกับภาพสุดขรึมขลังอลังการไม่แพ้งานของผู้กำกับระดับบรมครูอย่าง Carl Theodor Dreyer, Andrei Tarkovsky หรือแม้แต่ Miklos Jancso เลยทีเดียว

Diary of a Shinjuku Thief (1968)
เรื่องราวชีวิตคนนอกของ Birdie โจรขโมยหนังสือหนุ่มที่ถูกพนักงานสาวประจำร้านคนหนึ่งจับได้ แต่เมื่อทั้งสองได้กลับกลายมาเป็นคนรักกันฝ่ายหญิงจึงร่วมมือกับฝ่ายชายรวมหัวกันขโมยหนังสือจากย่านชินจุกุกันแบบไม่เกรงใจใคร นับเป็นหนังที่เล่นกับมิติสีจากช่วงแรกที่เป็นขาวดำกลายเป็นการเล่นกับความแปร๋นแปร๋นด้วยสีสันและความบ้าคลั่งในช่วงหลังได้อย่างแปลกใหม่และน่าสนใจ

Death by Hanging (1968)
หนังตลกเสียดสีสุดแสบร้ายเมื่อนักโทษหนุ่มเกาหลีรายหนึ่งเกิดรอดชีวิตจากการประหารด้วยการแขวนคออย่างน่ามหัศจรรย์แต่กลับสูญเสียความทรงจำต่าง ๆ ไปหมดสิ้น พัสดีและผู้คุมชาวญี่ปุ่นจึงต้องตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรกับนักโทษเกาหลีรายนี้ เพราะเมื่อไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับคดีที่เขาลงมือทำพวกเขาก็ไม่สามารถจะเอาชีวิตนักโทษได้อย่างถูกกฎหมาย หนังใช้เทคนิคเล่นกับคนดูของ Bertolt Brecht มาขยายมิติหนังได้อย่างสร้างสรรค์จนกลายเป็นงานที่ซับซ้อนและท้าทายมากที่สุดของผู้กำกับ Nagisa Oshima เลยทีเดียว

The Man Who Put His Will on Film (1970)
เมื่อนักศึกษาหนุ่มได้ใช้กล้องถ่ายหนังถ่ายการประท้วงครั้งหนึ่งไว้ กล้องและฟิล์มของเขาก็ถูกขโมยไป เมื่อเขาพยายามแกะรอยตามหาคนขโมยเขาก็พบว่าตัวการรายนั้นได้ฆ่าตัวตายไปเสียแล้ว เรื่องราวเริ่มทวีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเมื่อฟิล์มชุดนี้ดันไปถึงมือตำรวจและพวกเขาอิดออดที่จะคืนให้กับเจ้าของ จากการบันทึกภาพการประท้วงธรรมดา ๆ มันอาจจะมีอะไรมากกว่าสิ่งที่เห็นก็เป็นได้

The Ceremony (1971)
ผลงานเด่นอีกเรื่องหนึ่งของ Nagisa Oshima ที่ถ่ายทอดวิถีวัฒนธรรมและประเพณีแบบญี่ปุ่นด้วยภาพการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเฉลิมฉลองครบครอบ การแต่งงาน งานศพ ผ่านสายตาของเด็กชายผู้เป็นทายาทของครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่ง นับเป็นหนังที่วิพากษ์วิจารณ์ความเป็นญี่ปุ่นได้อย่างแสบลึกและคมคายชวนให้ได้ใช้วิจารณญาณในการชมยิ่งนัก

หมายเหตุ ขอขอบคุณคุณ Oleg Evnin เป็นอย่างสูงสำหรับภาพยนตร์บางเรื่องที่ฉายในโปรแกรมนี้

1 comment:

celinejulie said...

เนื่องจากวันที่ 16 พฤศจิกายน นี้ ห้องสมุด ม.ธรรมศาสตร์ ปิดจึงขอเลื่อนโปรแกรมของวันที่ 16 พฤศจิกายน ไปเป็น วันที่ 28 ธันวาคม แทนขออภัยในความไม่สะดวก