Friday, January 11, 2013
TEEN STORIES (2010, Béatrice Bakhti, Switzerland, documentary, 6 hours 37 minutes, A+30)
TEEN STORIES (2010, Béatrice Bakhti, Switzerland, documentary, 6 hours 37 minutes, A+30)
หนึ่งในหนังที่เราชอบที่สุดในปี 2012 คือหนังสารคดีเรื่องนี้ หนังมีความยาว 397 นาที และแบ่งออกเป็น 4 ภาคด้วยกัน แต่เราไม่ได้ดูภาคแรก เราได้ดูแค่ภาค 2,3,4 เพราะเราดูหนังเรื่องนี้ทางสถานีโทรทัศน์ TV5MONDE และตอนที่ทางสถานีเอาภาคแรกมาฉาย ทางสถานีคงทำอะไรผิดพลาดสักอย่าง ซับไตเติลภาษาอังกฤษก็เลยไม่ขึ้นมาบนจอ เราก็เลยอดดูภาคแรกไป แต่ถึงเราได้ดูหนังเรื่องนี้แค่ 3/4 ของเรื่อง หนังเรื่องนี้ก็กลายเป็นหนึ่งในหนังที่เราชอบที่สุดของปี
หนังสารคดีเรื่องนี้ติดตามถ่ายทำชีวิตเด็ก 7 คนในสวิตเซอร์แลนด์ในปี 2002-2008 ตั้งแต่เด็กพวกนี้อายุ 12 ปีจนกระทั่งพวกเขาอายุ 18 ปี สิ่งที่เราชอบมากๆในหนังเรื่องนี้ก็มีเช่น
1.ความยาวของระยะเวลาการถ่ายทำ เราว่ามันสุดยอดมากๆที่หนังติดตามถ่ายทำชีวิตเด็กๆกลุ่มนี้เป็นเวลาถึง 7 ปี การได้เฝ้ามองพวกเขาค่อยๆเติบโตขึ้นมันเป็นอะไรที่ดีมากๆ และมันทำให้เรารู้สึกผูกพันกับพวกเขามากๆ ทางทีมงานผู้สร้างภาพยนตร์ก็ต้องใช้ความอดทนสูงมากเช่นกันในการรอนานถึง 7 ปีกว่าหนังจะถ่ายเสร็จ
2.ความยาวของหนัง ซึ่งยาวถึง 6 ชั่วโมงครึ่ง มันทำให้หนังสามารถลงลึกในกิจวัตรประจำวันและสิ่งละอันพันละน้อยในชีวิตของเด็กๆเหล่านี้ได้ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้หนังเรื่องนี้มีความได้เปรียบกว่าหนังสารคดีเรื่องอื่นๆ อย่างเช่น FINAL SCORE (2007, Soraya Nakasuwan, 95min, A+) และ POOL OF PRINCESSESS (2007, Bettina Blümmer, Germany, 92min, A+) ที่ติดตามถ่ายทำชีวิตเด็กๆวัยรุ่นเหมือนกัน คือเราคิดว่า FINAL SCORE กับ POOL OF PRINCESSES เป็นหนังที่ดีมาก แต่มันไม่พีคเท่า TEEN STORIES เพราะ "ระยะเวลาในการถ่ายทำ" และ "ความยาวของหนัง" นี่แหละ การได้ใช้เวลา 6 ชั่วโมงครึ่งเฝ้าดูชีวิต 7 ปีของเด็กวัยรุ่น มันย่อมทำให้เรารู้สึกอินอย่างรุนแรงกว่าการได้ใช้เวลา 90 นาทีดูชีวิต 1 ปีของเด็กวัยรุ่น
3.ความไว้วางใจที่เด็กๆและครอบครัวของเด็กๆมีให้กับทีมงานสร้างภาพยนตร์ ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เด็กๆในหนังเรื่องกล้าตีแผ่ชีวิตของตัวเองต่อหน้ากล้องมากพอสมควร และพ่อแม่ของเด็กๆกลุ่มนี้ก็กล้าพอที่จะให้ทีมงานสร้างภาพยนตร์เข้ามาคลุกคลีอยู่ในบ้านได้ และอนุญาตให้ถ่ายฉากที่สมาชิกครอบครัวตบตีด่าทอกันอย่างรุนแรงได้
4.การที่เด็กทั้ง 7 คนเป็นตัวละครหลัก ไม่มีใครต้องถูกลดบทบาทลงเป็น "ตัวประกอบ", "พระรอง" หรือ "นางรอง" ให้กับตัวละครคนอื่นๆ ซึ่งสิ่งนี้อาจจะเป็นสิ่งที่ทำได้ยากในหนัง fiction คือหนัง fiction ส่วนใหญ่มันมักมีการกำหนดตัว "พระเอก" "นางเอก" น่ะ และปัญหาของเราก็คือว่าถ้าหากเราสามารถ identify ตัวเองกับนางเอกของหนังเรื่องนั้นได้ หนังเรื่องนั้นก็รอดตัวไป แต่ถ้าหากเรา identify ตัวเองกับนางเอกของหนังเรื่องนั้นไม่ได้ แต่ไป identify กับตัวประกอบคนอื่นๆ และตัวประกอบตัวนั้นถูก treat ไม่ดีจากเนื้อเรื่อง เราก็จะรู้สึกแย่มากๆกับหนังเรื่องนั้น ซึ่งสิ่งนี้เป็นปัญหาที่ทำให้เราไม่ค่อยชอบหนัง/ละครเวทีอย่าง "สิ่งเล็กๆที่เรียกว่ารัก" (2010, พุฒิพงศ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร + วศิน ปกป้อง, A-/B+) และ "ลำซิ่งซิงเกอร์" (2012, ปิยะกานต์ บุตรประเสริฐ, A-) น่ะ เพราะเรา identify ตัวเองกับตุ๊กกี้ใน "สิ่งเล็กๆที่เรียกว่ารัก" และโอปอล์ใน "ลำซิ่งซิงเกอร์" และเรารู้สึกว่าหนัง/ละครเวทีมัน treat ตัวละครที่เรา identify ด้วยในแบบที่เราไม่ชอบในช่วงท้ายเรื่อง เราก็เลยรู้สึกเหมือนเราถูก treat แย่ๆไปด้วย
แต่สิ่งนี้ไม่ปรากฏใน TEEN STORIES เพราะเด็กๆทั้ง 7 คนได้รับความสำคัญอย่างเท่าเทียมกัน เด็กๆ 7 คนนี้ประกอบด้วยเด็กชาย 3 คน และเด็กหญิง 4 คน ซึ่งเด็กที่เรา identify ด้วยได้มากที่สุดคือ Virginie ซึ่งเป็นคนที่สวยน้อยที่สุดในเรื่อง และรองลงมาก็คงจะเป็น Mélanie ซึ่งเป็นเด็กสาวที่มีเรื่องด่าทอตบตีกับแม่ตลอดเวลา ในขณะที่เด็กสาวอีกสองคนคือ Aurélie กับ Rachel มีหน้าตาค่อนข้างดี ทั้งนี้ ถ้าหากหนังเรื่องนี้เป็นหนังวัยรุ่นทั่วไป Aurélie กับ Rachel ก็คงจะเป็นนางเอก และ Virginie กับ Mélanie ก็คงจะเป็นตัวประกอบ แต่โชคดีที่ TEEN STORIES ไม่ได้ทำเช่นนั้น ถึง Virginie อาจจะสวยสู้อีก 3 คนไม่ได้ หนังก็ให้ความสำคัญกับเธออย่างเท่าเทียมตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง และในทางกลับกัน ถ้าหากหนังเรื่องนี้กำกับโดยผู้กำกับหนังอาร์ทจากยุโรปอย่าง Catherine Breillat และ Jessica Hausner ตัวละครอย่าง Virginie และ Mélanie ก็คงจะเป็นนางเอก เพราะพวกเธอดูมีปัญหาทางจิตใจและอารมณ์สูงกว่า Aurélie กับ Rachel แต่ TEEN STORIES ก็ไม่ได้ทำเช่นนั้น หนังสารคดีเรื่องนี้ให้ความสำคัญกับเด็กสาวทั้ง 4 อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเธอจะสวยหรือไม่สวย, มีปัญหาทางจิตใจหรือไม่มีปัญหาทางจิตใจ
5.ตัวละครที่เราชอบที่สุดในเรื่องนี้คือ Xavier เราขอบรรยายสั้นๆถึงตัวละครตัวนี้ว่าเหมือน Chulayarnnon Siriphol จบ
แต่สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยกับ Chulayarnnon เราขอบรรยายถึง Xavier ว่า เรารู้สึกว่าเขามีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
5.1 เป็นคนที่หน้าตาดีพอประมาณ
5.2 เป็นคนที่น้ำนิ่งไหลลึก คือเราไม่รู้ว่าเขาเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่านะ แต่เราจินตนาการว่าเขาเป็นคนแบบนั้น เรารู้สึกว่า Xavier ไม่ได้แสดงอารมณ์ออกมาทางสีหน้าและคำพูดมากนักน่ะ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเด็กคนอื่นๆ เราว่าเขาเก็บงำอารมณ์และความคิดต่างๆเอาไว้ข้างในสูงมาก หน้าเขามักจะนิ่งๆ น้ำเสียงเขาก็นิ่งๆ เขาไม่ค่อยแสดงอารมณ์ฟูมฟาย แต่บางทีพอเขาพูดอะไรออกมา เราจะรู้สึกว่า "แม่ง คิดได้ยังไงเนี่ย เด็กจริงหรือเปล่า ทำไมฉลาดอย่างนี้"
เราว่า Xavier เป็นอะไรที่น่าสนใจมากๆในแง่ที่ว่า เราไม่ค่อยเจอพระเอกหนัง fiction วัยรุ่นแบบนี้น่ะ คือพระเอกที่ขรึม, ไม่แสดงอารมณ์ทางสีหน้า, ไม่แสดงอารมณ์ทางคำพูดและน้ำเสียง และก็ไม่ได้มี action บู๊อะไรด้วย เพราะ action ที่สำคัญที่สุดคือสิ่งที่อยู่ในหัวสมองของเขา ซึ่งเราซึ่งเป็นผู้ชมไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเขาคิดอะไรอยู่ จนกว่าเขาจะปริปากพูดออกมาสักครั้งนึง
โดยปกติแล้วเรามักจะเจอตัวละครพระเอกประเภท "พูดน้อยต่อยหนัก" หรือพระเอกหน้าตายแบบในหนังของ Jean-Pierre Melville แต่เราไม่ค่อยเจอพระเอกประเภท "พูดน้อย" "ไม่ต่อย" "ไม่ action" "ไม่แสดงอารมณ์" แต่เน้น "คิดอยู่ในหัวอย่างเดียว" แบบ Xavier ซึ่งสิ่งนี้อาจจะเป็นเพราะว่าพระเอกแบบนี้มันไม่ spectacle สำหรับผู้ชมภาพยนตร์โดยทั่วไปมั้ง แต่เราว่าตัวละครแบบนี้มันน่าดึงดูดมากๆสำหรับเรา
6.หนึ่งในจุดที่ชอบที่สุดในหนังเรื่องนี้คือการที่แม่ของ Jordann ไปแจ้งตำรวจให้ไปจับลูกชายของตัวเอง หัวใจเธอมันน่ากราบมากค่ะ คุณแม่คนนี้
7. ส่วนคุณแม่ที่น่าขันที่สุดในเรื่องคือคุณแม่ของ Aurélie ซึ่งไม่ต้องการให้ลูกสาวแต่งตัวเซ็กซี่ ซึ่งสิ่งนี้อาจจะไม่ใช่สิ่งที่แปลกประหลาดมากนักโดยเฉพาะในสังคมไทย แต่สิ่งที่ฮามากก็คือการแต่งกายของตัวคุณแม่เอง คือเธอแต่งตัวซะนึกว่าเป็นเด็กหญิงอายุ 12 ขวบน่ะ หนูสงสาร Aurélie มากค่ะในเรื่องนี้
8. หลังจากหนังเรื่องนี้ฉายจบลง ทางช่อง TV5MONDE ได้เชิญเด็กทั้ง 7 คนให้มาออกรายการทอล์คโชว์ และเราก็ดีใจมากๆที่พบว่า Mélanie ซึ่งเคยมีเรื่องด่าทอตบตีกับคุณแม่ตลอดเวลา ได้รับรางวัลในชีวิตแล้วด้วยการได้หนุ่มหล่ออย่าง Jordann เป็นแฟน
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment