Wednesday, March 19, 2014

GO TO YESTERDAY (2014, Weerasu Worrapot, A+15)


GO TO YESTERDAY (2014, Weerasu Worrapot, A+15)

 

ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่นี่


 

SPOILERS ALERT

 

 

 

 

 

อันนี้เป็นความรู้สึกที่มีต่อหนังเรื่องนี้ครับ (ดัดแปลงมาจากที่เขียนคุยกับใครบางคน) :-)

 

1.ชอบช่วงกลางเรื่องมากๆๆๆๆๆ ที่เป็นฉากนักเรียนต่อยตีกันไปเรื่อยๆ โดยแทบไม่รู้อีกแล้วว่าใครเป็นใคร ฝ่ายไหนเป็นฝ่ายไหน สาเหตุที่ชอบเป็นเพราะว่ามันดูสิ้นหวังดีครับ คือผมเป็นคนที่ชอบหนังแนวๆมองโลกในแง่ร้าย หรือเน้นอารมณ์ความรู้สึกสิ้นหวังน่ะครับ และช่วงกลางเรื่องมันก็สะท้อนอารมณ์ในช่วงนี้ออกมาได้ดีมากๆ มันเหมือนกับการดูสังคมสังคมหนึ่งที่กำลัง spiral downward หรือดิ่งลงสู่เหวนรกลงไปเรื่อยๆโดยที่เราไม่สามารถยับยั้งอะไรมันได้

 

2.ผมว่าหนังเรื่องนี้สะท้อนความรู้สึกของผมที่มีต่อปัญหาการเมืองไทยในช่วงนี้ได้ดีด้วยครับ ผมไม่แน่ใจว่าจุดประสงค์ของผู้สร้างหนังคืออะไร แต่ผมเดาว่าไม่น่าจะเป็นเพียงแค่การสะท้อนปัญหาช่างกลตีกัน ผมเดาว่าน่าจะเป็นการสะท้อนปัญหาการใช้ความรุนแรงทางการเมืองในช่วงนี้มากกว่า แต่ไม่ว่าจุดประสงค์ของผู้สร้างหนังจะเป็นอย่างไร ผมก็รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มันตอบสนองอารมณ์ความรู้สึกของผมที่มีต่อปัญหาความรุนแรงทางการเมืองในช่วงนี้ได้ดีมากๆครับ

 

ย่อหน้านี้อาจจะไม่เกี่ยวกับหนังโดยตรง แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมมองว่าในตัวคนแต่ละคน ก็มีทั้งส่วนดีและส่วนไม่ดีในตัวคนๆเดียวกัน และในฝ่ายคู่ขัดแย้งทางการเมืองในตอนนี้ ก็มีทั้งคนดีและคนไม่ดีอยู่ในทั้งสองกลุ่ม ผมมองว่าในทั้งสองกลุ่ม จะมีคนบางคนที่ต้องการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ซึ่งถ้าหากคนที่ชอบใช้ความรุนแรงในทั้งสองกลุ่มออกมาห้ำหั่นกัน ประเทศไทยก็อาจจะเกิดสงครามกลางเมืองแบบรวันดาได้ หนังเรื่องนี้ก็เลยสะท้อนความเห็นของผมหรือความหวาดกลัวของผมที่มีต่อสถานการณ์ทางทางการเมืองในช่วงนี้ได้ดีมากๆครับ โดยที่หนังเรื่องนี้อาจจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ได้

 

3.บางคนอาจจะมองว่าหนังเรื่องนี้ตามเนื้อเรื่องได้ยากหน่อย เพราะเราจะแยกตัวละครไม่ค่อยออก ว่าใครเป็นใคร ตอนไหนฝ่ายไหนถูกทำร้าย แต่ผมชอบตรงจุดนี้ครับ เพราะถ้าหากหนังเรื่องนี้เน้นเล่าเรื่องให้เข้าใจง่าย หนังเรื่องนี้ก็อาจจะเลือกใช้วิธีเล่าเรื่องผ่านทางมุมมองของตัวพระเอกเป็นหลัก และเล่าเรื่อง narrative แบบ 1, 2, 3, 4 ไปเรื่อยๆ โดยเน้นให้คนดูจำหน้าตัวละครแต่ละตัวได้ ว่าเพื่อนพระเอกแต่ละคนหน้าตาเป็นยังไง ชื่ออะไรบ้าง และฝ่ายตรงข้ามหน้าตาเป็นยังไง ชื่ออะไรบ้าง และเล่าเรื่องเรียงตามลำดับเวลา

 

แต่ถ้าหากหนังเรื่องนี้ใช้วิธีการข้างต้น มันจะน่าเบื่อมากๆๆๆๆสำหรับผมครับ เพราะมันจะกลายเป็นเพียงแค่หนังที่ต้องการสอนผู้ชมว่า “อย่าทำตัวเป็นช่างกลตีกันนะ มันไม่ดี”, “อย่าอาฆาตแค้นกันนะ มันไม่ดี”, “เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร” ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ผู้ชมส่วนใหญ่ก็รู้ดีกันอยู่แล้ว และคำสอนแบบนี้ก็ไม่มีความจำเป็นอยู่แล้วสำหรับผู้ชมส่วนใหญ่

 

แต่การที่หนังเรื่องนี้ถอยห่างออกมาจากตัวพระเอกในระดับนึง และการที่หนังเรื่องนี้ทำให้เราได้เห็นฉากนักเรียนตีกันหลายๆฉากในช่วงกลางเรื่อง โดยที่เราแทบไม่รู้ว่าใครเป็นใครอะไรยังไงอีกต่อไป มันเหมือนกับว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้มองเหตุการณ์เหล่านี้จากมุมมองของพระเอกเพียงอย่างเดียว แต่มองจากมุมมองของ “ชาวบ้านร้านตลาด” ด้วย ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากตัวละคร A  และ B ที่ส่งข้อความคุยกันและแสดงความกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

 

ตัวละคร A และ B และมุมมองแบบนี้ของหนัง มันสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของผมที่มีต่อสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาได้ตรงมากๆๆเลยครับ มันเป็นความรู้สึกของคนที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อความรุนแรง แต่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง จะออกมาเดินในซอยก็กลัว จะเดินทางไปห้างก็กลัว จะนัดเจอเพื่อนก็กลัว เพราะไม่รู้ว่าจะมีการยิงกันตีกันที่ไหนเมื่อไหร่ สิ่งที่เราทำได้ก็มีเพียงแค่รับรู้เหตุการณ์ตีรันฟันแทงที่เกิดขึ้น โดยที่เราไม่สามารถเข้าไปยับยั้งอะไรมันได้ มันเหมือนกับการที่เรามองสังคมๆหนึ่งที่ดิ่งลงเหวไปเรื่อยๆ โดยที่เราแทบจะช่วยอะไรมันไม่ได้เลย

 

จากเหตุผลข้างต้น ผมก็เลยชอบวิธีการนำเสนอในหนังเรื่องนี้มากๆครับ คือแทนที่หนังเรื่องนี้จะเน้นการเล่าเรื่องแบบให้ผู้ชมตามเนื้อเรื่องได้ง่ายๆ หรือเล่าเรื่องแบบเชยๆ และยัดเยียดคำสอนแก่ผู้ชมอย่างทื่อมะลื่อ หนังเรื่องนี้กลับเน้นไปที่บรรยากาศของความสิ้นหวังของสถานการณ์การใช้ความรุนแรงที่มันรังแต่จะทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ ผมก็เลยชอบสุดๆเลยครับ เพราะโดยปกติแล้วผมมักจะชอบหนังที่เน้น “บรรยากาศ” มากกว่า “เนื้อเรื่อง” อยู่แล้ว

 

4.ผมชอบชื่อหนังด้วยครับ เพราะคำว่า GO TO YESTERDAY ในแง่นึงมันก็สะท้อนความสิ้นหวังออกมาได้ดีมาก เพราะมันเป็นสิ่งที่ “ไม่มีวันเป็นจริงได้” เพราะไม่มีมนุษย์คนไหนในโลกนี้ที่สามารถย้อนเวลาหรือย้อนอดีตได้ สิ่งที่เราทำได้มีเพียงแค่การมองย้อนกลับไปในอดีตเพื่อเรียนรู้จากมันและยอมรับความผิดพลาดของตัวเองในอดีตเท่านั้น

 

ผมมองว่าชื่อหนัง GO TO YESTERDAY มันสะท้อนการเล่าเรื่องแบบไม่เรียงตามลำดับเวลาในหนังได้ดีด้วยครับ ตอนที่ผมดูหนังเรื่องนี้รอบแรก ผมจะงงๆเล็กน้อย เพราะผมนึกว่าคนชื่อโจ้ที่ได้รับบาดเจ็บอยู่บนเตียงพยาบาลในฉากที่สอง คือคนเดียวกับที่โดนชกที่ท่าพระจันทร์ในฉากแรกของเรื่อง แต่พอดูไปเรื่อยๆ ถึงได้รู้ว่าหนังมันตัดสลับเวลากัน และฉากช่วงท้ายเรื่องก็กระตุ้นความคิดได้ดีมากว่า มันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนไหน เกิดขึ้นก่อนหรือหลังเหตุการณ์อะไร

 

ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด ฉากท้ายเรื่องคงเป็น if clause ของเหตุการณ์ที่อยู่ระหว่างฉากที่หนึ่งกับฉากที่สอง คือหลังจากพระเอกมีเรื่องกับหนุ่มเจ้าชู้ที่ท่าพระจันทร์ในฉากแรก พระเอกก็คงไปทำร้ายเขาในซอย และทำให้หนุ่มเจ้าชู้คนนั้นมาทำร้ายโจ้จนต้องเข้าโรงพยาบาล ฉากท้ายเรื่องก็เลยน่าจะเป็น if clause ในความคิดของพระเอก ว่าถ้าหากเขาไม่ไปทำร้ายหนุ่มเจ้าชู้คนนั้นในซอย โจ้ก็คงไม่ต้องโดนทำร้ายในเวลาต่อมา

 

ผมไม่รู้ว่าตัวเองเข้าใจลำดับเหตุการณ์ในหนังถูกหรือเปล่า แต่สรุปว่าผมชอบชื่อหนัง GO TO YESTERDAY มากๆครับ เพราะมันดูสิ้นหวังดี (คนเราย้อนอดีตไม่ได้ ไม่ว่าเราจะต้องการย้อนอดีตมากแค่ไหนก็ตาม) และเพราะผมชอบการเล่าเรื่องแบบไม่เรียงตามลำดับเวลาในหนังเรื่องนี้ด้วย

 

5.แต่สาเหตุที่ผมไม่ได้ชอบหนังเรื่องนี้ในระดับ A+30 ซึ่งเป็นเกรดสูงสุดของผม คงเป็นเพราะว่าตอนจบมันดูกึ๋ยๆเล็กน้อยน่ะครับ ที่พระเอกยื่นมือให้ฝ่ายตรงข้าม และเป็นเพราะคำพูดแบบสั่งสอนของนางเอกและการถ่ายหน้านางเอกตรงๆขณะพูดจาสั่งสอนด้วย แต่ถ้าให้ผมแก้ไขหนังเรื่องนี้ ผมก็ไม่รู้ว่าจะแก้ไขยังไงเหมือนกันครับ สรุปว่าที่หนังออกมาแบบนี้ ผมก็ชอบมากๆๆๆๆแล้วครับ ผมเข้าใจว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังที่ทำส่งโครงการเชิดชูคุณธรรมความดีงามอะไรสักอย่างด้วย เพราะฉะนั้นอะไรที่ดูกึ๋ยๆหน่อย มันก็คงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ เพื่อให้ตอบโจทย์โครงการ และผมก็มองด้วยว่า หนังลดทอนระดับการสั่งสอนผู้ชมลงมาได้มากจนน่าพอใจแล้วครับ คือมันยังมีความเป็นหนังสั่งสอนผู้ชมอยู่ แต่มันนำเสนอออกมาได้โอเคหรือน่าพอใจมากแล้วในความเห็นของผม

 

6.ชอบดนตรีประกอบมากๆครับ ตัวพระเอกก็แสดงดีใช้ได้เลยครับ ส่วนตัวนางเอกนั้นบอกไม่ได้ว่าเธอเล่นดีหรือเปล่า เพราะบทนางเอกมันค่อนข้างแบนน่ะครับ เหมือนเธอมีหน้าที่เป็นแค่ moral conscience ของพระเอกเท่านั้น บทแบบนี้ก็เลยไม่สามารถใช้ตัดสินได้ว่านักแสดงเล่นดีหรือเปล่า อย่างไรก็ดี การที่บทนางเอกดูแบนๆไม่ใช่ข้อเสียในความเห็นของผมครับ เพราะหนังเรื่องนี้เป็นหนังสั้น คงไม่มีเวลาในการทำให้ตัวละครนางเอกดูลึกขึ้นได้

 

7.ชอบการแสดงอารมณ์ความรู้สึกของพระเอกด้วยครับ โดยเฉพาะในฉากที่เขาเห็นนางเอกไปมีแฟนใหม่ คือหนังไม่ได้ทำอารมณ์ฟูมฟายอะไรตรงจุดนี้เลย ผมก็เลยชอบมากๆที่หนังสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกต่างๆของพระเอกออกมา โดยไม่ขยายมันให้ใหญ่โตจนเกินจริง

 

 

No comments: