Wednesday, March 26, 2014

SEESAW (2014, Surawee Worrapot, A+10)


SEESAW (2014, Surawee Worrapot, A+10)

ไม้กระดก

 

ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่นี่


 

SPOILERS ALERT

 

 

 

 

 

หนังเรื่องนี้ทำให้นึกถึงสิ่งต่างๆดังต่อไปนี้

(ดัดแปลงมาจากสิ่งที่เขียนคุยกับใครบางคน)

 

1.จุดแรกที่ต้องชมมากๆเลยก็คือการที่หนังไม่ลงเอยด้วยการเป็นหนังสั่งสอนศีลธรรม สั่งสอนนางเอกว่าต้องรักและให้อภัยพ่ออะไรทำนองนี้ แต่เป็นหนังที่นำเสนอความสัมพันธ์พ่อลูกอย่างค่อนข้างเข้าอกเข้าใจ ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างชัดเจน และมองสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นกลาง โดยที่อารมณ์ความรู้สึกในหนังก็ไม่ได้แห้งแล้งด้วย

 

คือช่วงนาทีแรกๆที่ดูหนังเรื่องนี้นี่ ผมรู้สึกหวั่นใจสุดๆว่าหนังเรื่องนี้จะกลายเป็นหนังสั่งสอนศีลธรรมหรือเปล่า เพราะสถานการณ์และคำพูดต่างๆที่ออกมาในหนังในช่วงแรกๆนี่ มันใกล้เคียงกับความเป็น cliche ของหนังสั้นไทยมากๆ เพราะมันมีหนังสั้นไทยหลายๆเรื่องที่เล่าถึงเด็กที่มีปัญหาทะเลาะกับพ่อแม่ด้วยเรื่องต่างๆ และก็จบลงด้วยการสั่งสอนว่าเด็กเป็นฝ่ายผิด เด็กต้องเคารพผู้ใหญ่ อะไรทำนองนี้

 

เพราะฉะนั้นพอหนังจบลงด้วยการไม่สั่งสอนศีลธรรม ไม่ตัดสินตัวละคร ผมก็เลยร้องกรี๊ดดังๆอยู่ในใจตัวเอง มันเหมือนเป็นหนังที่ในตอนแรกดูเหมือนจะอยู่ใน genre นึง (genre หนังสั่งสอนเด็กที่มีปัญหากับพ่อแม่) แต่พอดูมาถึงตอนจบ เราก็พบว่าหนังมันไม่ได้ปฏิบัติตามกฎของ genre นั้นอย่างโง่ๆไปเรื่อยๆ แต่เป็นหนังที่คิดเองเป็น มีสมองเป็นของตัวเอง และแหกกฎของหนัง genre นั้นออกมาได้อย่างน่าภาคภูมิใจ

 

2.ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้ลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างชัดเจนด้วย ผมเข้าใจอารมณ์โกรธของตัวลูกดี เพราะผมก็เคยผ่านประสบการณ์แบบนั้นมาแล้วเหมือนกัน แต่หนังก็ไม่ได้ทำให้ผมเข้าข้างลูกแบบ 100% เต็ม จุดที่ผมชอบมากๆคือประโยคที่ว่า “พ่อพยายามมากเกินไป” หรืออะไรทำนองนี้ ซึ่งมันทำให้ตัวละครพ่อดูเป็นมนุษย์มากๆ มันทำให้ผมนึกถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์เราที่ในบางครั้งอาจจะหวังดีต่อกัน แต่ปัจจัยอะไรบางอย่าง อย่างเช่นความพยายามที่มากเกินไป หรือความเข้ากันไม่ได้อย่างสมบูรณ์ระหว่างคนสองคน มักจะทำให้ความสัมพันธ์ของคนสองคนนั้นไม่ราบรื่นอยู่เสมอ

 

ผมว่ามันเป็นความจริงที่น่าเศร้าของมนุษย์ ที่คนสองคนที่รักและหวังดีต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นพ่อ-ลูก, แม่-ลูก, เพื่อน-เพื่อน, ผัว-เมีย, พี่-น้อง ในบางครั้งอาจต้องจบความสัมพันธ์กันไป เพราะความไม่เข้าใจกันอะไรบางอย่าง หรือความเข้ากันไม่ได้ในบางแง่มุม ทั้งๆที่ทั้งสองคนยังคงรู้สึกรักและหวังดีต่อกัน

 

ผมก็เลยชอบมากๆที่หนังเรื่องนี้ดูเหมือนจะสะท้อนจุดนี้ออกมาได้ดี และปัจจัยสำคัญที่ทำให้หนังสามารถสะท้อนจุดนี้ออกมาได้ดีก็คือการที่หนังไม่ได้สั่งสอนศีลธรรมและไม่ได้ตัดสินตัวละคร แต่มองดูตัวละครด้วยความพยายามจะเข้าอกเข้าใจทั้งสองฝ่าย

 

3. SEESAW มีลักษณะเด่นสองอย่างที่ผมชอบมากๆและปรากฏอยู่ในหนังเรื่องอื่นๆของคุณสุระวีด้วยเช่นกัน ซึ่งได้แก่

 

3.1 การก้าวพ้น genre ของหนังกลุ่มที่คล้ายๆกัน ซึ่งสิ่งนี้คือสิ่งที่ผมเขียนในข้อ 1

 

3.2 การตัดสลับช่วงเวลาในหนังอย่างรุนแรง

 

การตัดสลับช่วงเวลาในหนังเรื่องนี้ น่าสนใจดี มันทำให้ผมนึกไปถึงประเด็นที่ว่า แต่ละปัญหาที่เราประสบในปัจจุบัน, แต่ละการตัดสินใจของเราในปัจจุบัน และแต่ละอารมณ์ความรู้สึกของเราในปัจจุบัน มันเป็นผลสะท้อนมาจากอดีตมากน้อยแค่ไหน หรือได้รับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตอะไรยังไงบ้าง การที่เราตัดสินใจทำอะไรหรือการที่เรารู้สึกอะไรในวินาทีนี้ มันได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหนจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับเราสมัยที่เราเรียนมัธยม, สมัยที่ใครบางคนยังมีชีวิตอยู่ แต่คนๆนั้นตายไปแล้ว, สมัยที่เราเคยตัดสินใจทำพฤติกรรม A แต่เรากลับรู้สึกผิดกับพฤติกรรมนั้น ตอนนี้เราก็เลยทำพฤติกรรม B แทน, etc.

 

(ผมเคยเขียนถึงลักษณะเด่นในหนังของคุณสุระวีไว้บ้างแล้วที่นี่ครับ


 

4.การที่หนังไม่ได้เล่าเรื่องเรียงตามลำดับเวลา มันทำให้ประเด็นนึงในหนังเด่นชัดมากยิ่งขึ้นด้วย นั่นก็คือประเด็นเรื่อง “ความสัมพันธ์ที่ลุ่มๆดอนๆของมนุษย์” และชื่อหนัง SEESAW หรือไม้กระดก ก็ทำให้ผมนึกถึงความสัมพันธ์ที่ลุ่มๆดอนๆของมนุษย์ด้วยเหมือนกัน ถึงแม้ผมไม่แน่ใจว่าจริงๆแล้วชื่อหนังต้องการจะสื่อถึงจุดนี้ด้วยหรือเปล่า

 

ผมชอบมากที่หนังเรื่องนี้สะท้อนความสัมพันธ์ของพ่อลูกที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆตามกาลเวลาและสถานการณ์ เพราะนี่แหละคือสิ่งสำคัญอย่างนึงในชีวิตมนุษย์ เราอาจจะรักกันในวันนี้ แต่เราอาจจะทะเลาะกันในวันพรุ่งนี้ และเราก็อาจจะรักกันอีกในวันมะรืน และอาจจะทะเลาะกันอีกในวันต่อๆไป คนเราเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ของคนเราก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาด้วย

 

ชื่อหนัง SEESAW ยังทำให้ผมนึกถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์ในแง่ที่ว่า เวลาเล่นไม้กระดก มันจะมีบางขณะที่ A อยู่บน B อยู่ล่าง แล้วก็จะมีช่วงเวลาสั้นๆที่ A กับ B อยู่ในระนาบเดียวกัน แล้วก็จะมีบางขณะที่ A อยู่ล่าง B อยู่บน สลับกันแบบนี้ไปเรื่อยๆ มันก็เลยทำให้ผมนึกถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์บางคน ซึ่งรวมถึงพ่อลูกคู่นี้ ที่ในบางครั้ง เราจะรู้สึกว่าลูกทำร้ายพ่อ แต่ในบางครั้งเราก็รู้สึกว่าพ่อทำร้ายลูก และมีบางชั่วขณะที่ทั้งสองดีต่อกัน แต่น่าเสียดายที่ช่วงเวลาดีๆนั้นมันไม่ยั่งยืน มันจะมีช่วงเวลาที่ทั้งสองผลัดกันทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่งสลับกันไปมาด้วย

 

5.นอกจากหนังจะไม่ได้เล่าเรื่องเรียงตามลำดับเวลาแล้ว หนังยังมี ellipsis หรือการตัดฉากเหตุการณ์สำคัญๆออกไปด้วย คือแทนที่หนังจะทำให้เราได้เห็นเหตุการณ์สำคัญบางอย่างโดยตรง หนังกลับสื่อถึงเหตุการณ์เหล่านั้นในในทางอ้อมแทน ซึ่งผมชอบวิธีการแบบนี้ในหนังมากๆ

 

เหตุการณ์สำคัญที่หนังไม่ได้แสดงให้เราเห็นโดยตรง ก็มีอย่างเช่น

 

5.1 การตายของแม่ ซึ่งหนังสื่อถึงเรื่องนี้ผ่านทางเสียงสนทนาทางโทรศัพท์ของลูกกับพ่อตอนที่ลูกอยู่ในห้องเรียน และภาพลูกในวัยมัธยมขณะร้องไห้ในห้องน้ำ

 

5.2 การที่ลูกถูกตำรวจควบคุมตัว จนพ่อต้องไปประกันตัวออกมา ซึ่งเราไม่รู้ว่าจริงๆแล้วมันเกิดอะไรขึ้น แต่ผมคิดว่าการที่หนังสื่อเหตุการณ์นี้ออกมาเพียงแค่นี้ก็เพียงพอแล้ว และเหตุการณ์นี้ยังทำให้ผมสันนิษฐานต่อไปได้อีกด้วยว่า มันน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พ่อไม่อนุญาตให้ลูกออกไปติวหนังสือที่บ้านเพื่อนอีก

 

5.3 การที่พ่อมีแฟนใหม่ ซึ่งหนังสื่อถึงเรื่องนี้ผ่านทางบทสนทนาทางโทรศัพท์

 

ผมชอบหนังที่มี ellipsis อะไรแบบนี้มากครับ เพราะผมคิดว่าหนังไม่จำเป็นต้องแสดงให้เราเห็นเหตุการณ์สำคัญโดยตรงในทุกๆเหตุการณ์ แต่แค่สื่อถึงมันในทางอ้อมเพื่อให้คนดูอนุมานเอาเองหรือคิดต่อเอาเองก็พอแล้ว นอกจากนี้ Robert Bresson หนึ่งในผู้กำกับคนโปรดของผม ก็มักจะใช้ ellipsis ในหนังของเขาด้วย ผมก็เลยชอบที่ได้เจอหนังเรื่องอื่นๆที่มีการเล่าเรื่องแบบนี้

 

6.น่าสนใจดีที่หนังเลือกใช้วิธีการเล่าเรื่องผ่านทางเสียงคุยทางโทรศัพท์ของลูกสาวตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง มันทำให้หนังเรื่องนี้มีเอกลักษณ์ดีครับ

 

7.นางเอกเล่นได้ดีมากๆครับในฉากที่โดนตบแล้วเอามือกุมแก้มของตนเอง สีหน้าและแววตาในฉากนั้นเป๊ะมากๆ

 

8.ชอบฉากที่นางเอกเดินดูแสงสีในแหล่งท่องเที่ยวด้วยครับ เพราะว่า


 

8.1 แสงสีในฉากนั้นถูกขับเน้นออกมาให้ดูฉูดฉาดเกินจริงหน่อยนึง แต่มันออกมาสวยและได้อารมณ์ดี

 

8.2 ฉากนั้นทำให้ผมสันนิษฐานว่า จริงๆแล้วนางเอกไม่ใช่คนแร่ดหรือเจ้าแม่แห่งแหล่งบันเทิงยามราตรีแต่อย่างใด แต่เป็นคนที่เดินดูสถานที่แบบนี้เพราะความอยากรู้อยากเห็นมากกว่า คือเธอเป็นคนธรรมดาคนนึง ไม่ใช่เด็กใจแตกที่เสียคนไปแล้ว

 

9.ตอนจบก็ทำออกมาได้ดีมากๆครับ ที่เป็นภาพ zoom out ออกมา แล้วหนังก็ให้เราได้ยินเสียงพูดของนางเอกในอดีต สมัยที่ยังรักพ่ออยู่

 

สรุปว่าชอบ SEESAW มากๆครับในแง่ที่หนังเรื่องนี้ไม่สั่งสอนศีลธรรมและไม่ตัดสินตัวละคร และการตัดต่อในหนังของคุณสุระวียังคงน่าสนใจสุดๆเหมือนหนังเรื่องก่อนๆหน้านี้  ถ้าหากคุณสุระวียังคงพัฒนาจุดเด่นจุดนี้ต่อไปเรื่อยๆ ผมก็หวังว่าในอนาคตอาจจะมีนักวิจารณ์บางคนเขียนบทความเรื่อง “เปรียบเทียบการตัดต่อในหนังของ Alain Resnais, Nicolas Roeg, Raúl Ruiz, และ Surawee Worrapot และการไหลเลื่อนของเวลาในหนังของผู้กำกับทั้งสี่” ออกมาก็ได้ครับ :-) :-) :-)

 

No comments: