THE TIMES OF HARVEY MILK (1984, Rob Epstein, documentary, A+30)
1.ตอนแรกรู้สึกขี้เกียจไปดูหนังเรื่องนี้ เพราะเราเคยดู
MILK (2008, Gus Van Sant) มาแล้ว เราก็เลยคิดไปเองว่า
หนังสองเรื่องนี้มันก็คงจะเล่าเรื่องเดียวกัน แล้วเราจะไปดู THE TIMES OF
HARVEY MILK ทำไม แต่เนื่องจากช่วงนี้หนังโรงแทบไม่มีอะไรดู เพราะ CAPTAIN
MARVEL กวาดโรงไปเกือบหมด เราก็เลยตัดสินใจไปดู THE TIMES OF
HARVEY MILK แล้วก็พบว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องมากๆ
จริงๆแล้วความแตกต่างกันระหว่าง THE TIMES OF HARVEY MILK กับ MILK มันสะท้อนให้เห็นได้ดีจากชื่อเรื่องของหนัง
คือถึงแม้หนังสองเรื่องนี้จะเล่าเรื่องเดียวกัน แต่มันมาด้วย approach ที่แตกต่างกัน เพราะ MILK เหมือนเป็นภาพ extreme
close up ที่เหมือนพยายามจะเจาะลึกเข้าไปในชีวิต, อารมณ์,
ความรู้สึกของ Harvey Milk และฆาตกรที่ฆ่าเขา ส่วน THE
TIMES OF HARVEY MILK เล่าเรื่องเดียวกัน แต่เหมือนมันมาในภาพแบบ extreme
long shot ที่เน้นสะท้อน “บรรยากาศ”, “สังคม”, “การเมือง” ในยุคนั้น
แทนที่จะเจาะลึกไปที่อารมณ์ความรู้สึกของ Harvey Milk เพียงคนเดียว
เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่า หากมองเผินๆแล้ว
หนังสองเรื่องนี้จะเล่าเรื่องเดียวกัน แต่มันก็แตกต่างกันมากๆ และมันช่วยส่งเสริมกันและกันได้ดีมากๆ
พอดูแล้วก็ต้องขอบคุณ Gus Van Sant จริงๆที่หยิบเรื่องของ Harvey Milk
มาเล่าใหม่ในปี 2008 แต่เล่าในแบบที่ไม่ซ้ำซ้อนกับหนังปี 1984
2.นอกจากจุด focus ของหนังสองเรื่องนี้จะแตกต่างกันแล้ว (MILK
สะท้อนชีวิตกับความรู้สึกของ Milk ส่วน THE
TIMES OF HARVEY MILK สะท้อนสังคมการเมืองในสหรัฐช่วงทศวรรษ 1970)
อารมณ์ของหนังยังแตกต่างกันด้วย
เพราะยุคสมัยที่สร้างหนังสองเรื่องนี้มันแตกต่างกัน เพราะ THE TIMES OF
HARVEY MILK บรรจุอารมณ์โกรธแค้น ขุ่นข้อง
ทุกข์ระทมของชาวเกย์ในยุคนั้นเอาไว้ได้อย่างรุนแรงมาก เนื่องจากหนังมันสร้างขึ้นในปี
1984 ซึ่งเป็นปีที่ Dan White ฆาตกรผู้ฆ่า Milk กับนายกเทศมนตรีซานฟรานซิสโก ถูกปล่อยตัวออกจากคุกหลังจากติดคุกเพียง 5
ปีกว่า และสิทธิเสรีภาพของเกย์ในยุคนั้นก็มีปัญหามากๆ ดังนั้นหนังที่สร้างขึ้นในปี
1984
จึงได้ช่วยบันทึกอารมณ์โกรธแค้นต่อความอยุติธรรมและการกดขี่ข่มเหงจากสังคมในยุคนั้นเอาไว้ด้วย
ส่วน MILK นั้นสร้างขึ้นในปี 2008 ซึ่งห่างจาก THE
TIMES OF HARVEY MILK ราว 24 ปี และในช่วง 24 ปีที่ผ่านมานี้
สิทธิเสรีภาพของเกย์ดีขึ้นมากๆ ซึ่งถ้าหากเราจำไม่ผิด ตอนที่เราดู MILK เรารู้สึกว่าหนังมันดีมากๆ แต่มันไม่ได้มีอารมณ์เหมือนกับว่า “ฉันถูกกดขี่จากสังคมอย่างรุนแรง
ฉันไม่ได้รับความเป็นธรรม คนในสังคมคิดว่าฆ่าเกย์ไม่บาป” อะไรทำนองนี้ เหมือน
MILK มันไม่ได้มีอารมณ์โกรธเกลียดเคียดแค้นชิงชังแบบ THE
TIMES OF HARVEY MILK น่ะ การดู MILK มันเหมือนกับการได้ดูภาพ
portrait สีน้ำที่มีโทนสีอ่อนละมุนตา ส่วนการดู THE
TIMES OF HARVEY MILK มันเหมือนการได้ดูภาพ expressionist ที่ใช้โทนสีจัดจ้านรุนแรง ซึ่งมันก็คงเป็นเพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป
และปัญหาของเกย์ก็เปลี่ยนแปลงไป THE TIMES OF HARVEY MILK สร้างขึ้นในยุคที่เกย์เพิ่งเผชิญกับร่างกฎหมาย
“อนุญาตให้ไล่เกย์ออกจากการเป็นครูได้” ส่วนเกย์ในปี 2008 ไม่ได้มีปัญหาแบบนั้นแล้ว
แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องสิทธิในการจดทะเบียนสมรสอะไรแบบนั้นมากกว่า
สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วง 24 ปีที่ผ่านมา จึงส่งผลต่ออารมณ์โดยรวมของหนังสองเรื่องนี้ด้วย
3.THE TIMES OF HARVEY MILK บันทึกความอยุติธรรมในการพิจารณาคดีฆาตกรรม
Harvey Milk เอาไว้ เพราะ Dan White ซึ่งเป็นฆาตกรที่ไล่ยิง Harvey
Milk กับนายกเทศมนตรีในครั้งนั้น อ้างว่าตนเองมีอาการป่วยทางประสาท
เพราะกินอาหาร junk food มากเกินไป และในที่สุดคณะลูกขุน
(ซึ่งไม่มีชนกลุ่มน้อยอยู่เลย) ก็ตัดสินให้เขาติดคุกเพียงแค่ไม่กี่ปี
ทั้งๆที่เขายิงคนตายสองคนอย่างจงใจและเลือดเย็น
พอผลตัดสินของศาลออกมาแบบนี้
กลุ่มเกย์ในซานฟรานซิสโกก็เลยก่อเหตุจลาจล เผาหน่วยงานราชการ,รถตำรวจกัน
พอมาดู THE TIMES OF HARVEY MILK ในยุคปัจจุบัน ปี 2019
เราก็รู้สึกว่าหนังที่สร้างขึ้นในปี 1984 เรื่องนี้ เหมือนจะ “ทำนาย”
ถึงภัยร้ายแรง 2 อย่างที่สหรัฐจะต้องเผชิญในอีกหลายปีต่อมา นั่นก็คือ 1) คำตัดสินอย่างอยุติธรรมของคณะลูกขุน แบบในคดี Rodney King ในปี 1992 ซึ่งก่อให้เกิดเหตุจลาจลอย่างรุนแรงมากตามมา และ 2) เหตุกราดยิงคน ซึ่งหลายครั้งผู้กราดยิงก็คือ “ผู้ชายผิวขาว”
ไม่ใช่ชนกลุ่มน้อยแบบที่สังคมชอบหวาดระแวงกัน
มันเหมือนกับว่า ถ้าหากคุณปล่อยให้เกิดความอยุติธรรมแบบในคดี Harvey Milk ขึ้นแล้ว
แล้วคุณยังไม่สำเหนียกอีก ปล่อยให้ความอยุติธรรมแบบนี้ดำเนินต่อไป
ภัยร้ายแรงก็จะเกิดขึ้นในสังคมของคุณเองในอนาคต หนังเรื่อง THE TIMES OF
HARVEY MILK เหมือนได้เตือนเรื่องนี้ไว้แล้วล่วงหน้าในปี 1984
4.ชอบที่หนัง focus ไปที่ “ชาวเอเชีย”
ด้วย มันเหมือนกับหนังพยายามโยงให้เห็นว่า ประเด็นเกย์
กับประเด็นคนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ มันคือประเด็นที่เกี่ยวข้องกัน
มันคือสิทธิมนุษยชนที่ควรได้รับการปกป้องเหมือนกัน
5.โดยส่วนตัวแล้ว ชอบบรรยากาศของช่วงปลายทศวรรษ
1970 ในหนังมากๆด้วย เพราะเราเกิดในปี 1973 และการได้ดูหนังเรื่องนี้
มันเหมือนกับช่วยทำให้นึกถึงบรรยากาศของละครทีวีจากอเมริกาที่เราได้ดูในตอนเด็กๆน่ะ
เพราะละครทีวีที่เราได้ดูตอนเด็กๆ ก็คงสร้างขึ้นในยุคเดียวกัน
ดูแล้วนึกถึงนิยายชุด TALES OF THE CITY ของ
Amistead Maupin ด้วย
6.Harvey Fierstein ผู้ให้เสียงบรรยายในหนังเรื่องนี้
นำแสดงในหนังเกย์เรื่อง TORCH SONG TRILOGY (1988, Paul Bogart, A+30) ในเวลาต่อมา
พอมาดู THE TIMES OF HARVEY MILK แล้ว
เราก็เลยเหมือนเข้าใจเลยว่า อารมณ์เกรี้ยวกราด คับแค้นใจของตัวละครเกย์ใน TORCH
SONG TRILOGY มันมาจากไหน มันเหมือนกับว่าตัวละครเกย์ใน TORCH
SONG TRILOGY มันได้รับความขมขื่นจากสังคมมากๆ และระเบิดอารมณ์นั้นออกมาในฉากสำคัญฉากนึง
และพอเราได้มาดู THE TIMES OF HARVEY MILK มันก็เลยเหมือนทำให้เราเข้าใจความคับแค้นใจของตัวละครเกย์ใน
TORCH SONG TRILOGY มากยิ่งขึ้น
คือเราเดาว่ามันเป็นเรื่องประเด็นทางศาสนาและสังคมด้วยแหละ
คือแน่นอนว่าเราก็ใช้ชีวิตของเราในทศวรรษ 1970 และ 1980 เหมือนคนใน THE TIMES OF HARVEY MILK และ TORCH SONG TRILOGY แต่พอเราอยู่ในสังคมไทย
ปัญหาที่เจอมันก็จะเป็นอีกแบบนึง ในขณะที่สหรัฐซึ่งดูเหมือนเสรีกว่าไทยมากๆ
กลับเหมือนมีองค์กรทางศาสนาบางองค์กรที่ต่อต้านเกย์อย่างรุนแรง
มันก็เลยทำให้แรงกดดันที่มีต่อเกย์ในสังคมสหรัฐ บางทีมันอาจจะรุนแรงกว่าที่เราจะเข้าใจได้โดยง่าย
และการได้ดู THE TIMES OF HARVEY MILK ก็เลยทำให้เราเข้าใจแรงกดดันนั้นได้มากขึ้น
7.ตอนนี้ Rob Epstein กลายเป็นผู้กำกับหนังคนโปรดอีกคนนึงของเราไปแล้ว
อันนี้เป็นหนังเรื่องที่สามของเขาที่เราได้ดู ต่อจาก WORD IS OUT (1977) และ HOWL (2010) เราชอบหนังของเขาทั้งสามเรื่องมากๆเลย
หนังทั้งสามเรื่องพูดถึงสิทธิเกย์เหมือนๆกัน และเราว่าเขาบันทึก/ถ่ายทอดประเด็นอะไรต่างๆเหล่านี้ได้ดีมากๆ
No comments:
Post a Comment